Tuesday, 14 May 2024
รถไฟฟ้าสายสีม่วง

10 สถานีในภาพเดียว! สถานีใต้พิภพ ‘รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้’ ความเจริญจากเมืองกรุงสู่รอบนอก

มารอต้อนรับรถไฟฟ้าสายม่วงใต้
ภาพนี้ แอดถ่ายแล้ว อึ้งครับ

รวม 10 สถานีรถไฟฟ้าสายม่วงใต้ในหนึ่งภาพ

1.) สถานีรัฐสภา
2.) สถานีศรีย่าน
3.) สถานีวชิรพยาบาล 
4.) สถานีหอสมุดแห่งชาติ 
5.) สถานีบางขุนพรหม
6.) สถานีผ่านฟ้า
7.) สถานีสามยอด
8.) สถานีสะพานพุทธ
9.) สถานีวงเวียนใหญ่
10.) สถานีสำเหร่

แต่ท่านมองไม่เห็นหรอกครับ  
เพราะรถไฟฟ้าภายในวงแหวนรัชดาภิเษก 
ทุกสถานีอยู่ใต้ดิน

ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537
เป็นที่มาของรถไฟฟ้าสายม่วงใต้ 
วิ่งใต้ดินตั้งแต่สถานีรัฐสภาจนถึงสถานีสำเหร่
จะลอยฟ้าเมื่อออกพ้นวงแหวนที่แยกมไหศวรรย์  

หรือจุดตัดของถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินและถนนรัชดาภิเษกนั่นเอง
(ส่วนที่เราเห็น BTS ARL และสายสีทองลอยฟ้าในวงแหวนรัชดาได้ เพราะมีการยกเว้น ไว้เล่าให้ฟังกัน)

ภาพนี้ มองเห็นสิ่งก่อสร้างตามแนวรถไฟฟ้าสายม่วงใต้ ตั้งแต่สถานีแรก
สัปปายะสภาสถาน ที่สถานีรัฐสภา The Old Siam Plaza ที่สถานีสามยอด เห็นสะพานพุทธ สี่แยกบ้านแขก วงเวียนใหญ่ รถไฟฟ้า BTS ข้ามถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน และรพ.สมิติเวชที่สำเหร่ สถานีที่ 10

‘สุริยะ’ สัญญาทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เร่งผลักดัน ‘สายสีแดง-สีม่วง’ เป็นของขวัญปีใหม่

(12 ก.ย. 66) การแถลงนโยบายรัฐบาลช่วงค่ำวานนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ชี้แจงปัญหาการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ว่า เมื่อตนมารับตำแหน่งรมว.คมนาคมแล้ว หลายโครงการต้องทบทวน อะไรดีก็ทำต่อ อะไรมีปัญหาก็ต้องทบทวน เพื่อประโยชน์ประชาชน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะทำต่อไป นโยบายนี้จะเริ่มทันที เพื่อสร้างโอกาสความเท่าเทียมให้ผู้มีรายได้น้อย โดยจะรวบรวมสัมปทานเส้นทางเดินรถไฟฟ้าของเอกชนทุกสายมาเจรจา ขั้นตอนเจรจาอาจต้องใช้เวลา 6 เดือน จากนั้น 20 บาทตลอดสายจะทำได้ทันที

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ‘ตลิ่งชัน-รังสิต’ ราคา 14-42 บาท และสายสีม่วง ‘บางซื่อ-คลองบางใหญ่’ ราคา 14-42 บาท จะปรับราคาตลอดเส้นทางเป็น 20 บาท จะเร่งผลักดันภายใน 3 เดือน เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ขณะที่สายสีเขียวที่อยู่ในความรับผิดชอบของกทม. ต้องให้กทม.เป็นผู้ดำเนินการ แต่กระทรวงคมนาคมพร้อมจะสนับสนุน ยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับสายสีส้ม เนื่องจากตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ขอเวลาพิจารณารายละเอียดทุกมิติ ทั้งข้อกฎหมาย ผลประโยชน์ประชาชน จะทำด้วยความโปร่งใส เพื่อผลประโยชน์ประเทศ ทราบว่าที่ผ่านมาในรัฐบาลชุดที่แล้ว ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เคยเชิญนายสุรเชษฐ์ ปวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เคยออกมาเปิดเผยความไม่โปร่งใสเรื่องรถไฟฟ้า มารับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง แต่นายสุรเชษฐ์ไม่เคยรับคำเชิญ ดังนั้นในครั้งนี้จะขอเชิญท่านไปให้ข้อมูลอีกครั้ง

ด้านนายสุรเชษฐ์ ปวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับหนังสือเชิญจากกระทรวงคมนาคมให้ไปรับฟังข้อมูลเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ขอให้ทำหนังสือเชิญมา พร้อมจะไปรับฟังข้อมูล ซึ่งนายสุริยะตอบกลับว่า จะทำหนังสือเชิญนายสุรเชษฐ์มารับฟังข้อมูลต่อไป

‘บอร์ด รฟม.’ เคาะ!! ‘รถไฟฟ้าสายสีม่วง’ 20 บาทตลอดสาย เริ่มวันแรก 1 ธ.ค.นี้ เบื้องต้นรองรับเฉพาะผู้ถือบัตร EMV

เมื่อวันที่ 28 ก.ย.66 ที่สำนักงานใหญ่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. โดยมี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 กระทรวงคมนาคมยังมีแผนผลักดันรถไฟฟ้า 2 สาย ที่อยู่ในการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ เชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ทั้งนี้ รฟม.เตรียมนำมติบอร์ดฯ ที่เห็นชอบปรับอัตราค่าโดยสารเหลือ 14-20 บาท เสนอไปยังกระทรวงคมนาคม วันที่ 29 กันยายน เพื่อนำข้อมูลไปรวมกับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จทันใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่แน่นอน ส่วนการเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับสายสีแดงนั้น จะคิดอัตราค่าโดยสารที่ 20 บาทเช่นกัน

“นโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้ค่าโดยสารสายสีม่วงลดลงประมาณ 190 ล้านบาทต่อปี หรือลดลงประมาณ 60% ของรายได้ผู้โดยสารฯ ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อเริ่มใช้นโยบายดังกล่าว จำนวนผู้โดยสารสายสีม่วงจากเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน หรือคิดเป็น 17% จากปกติมีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 5.6 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 6.6 หมื่นคนต่อวัน โดยมีการเดินทางเฉลี่ยอยู่ที่ 8 สถานี จากจำนวนทั้งหมด 16 สถานี ค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท ส่วนการเดินทางข้ามสายระหว่างสายสีม่วงกับสายสีแดง ปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก หรืออยู่ที่ประมาณ 100-200 คนต่อวัน” นายภคพงศ์กล่าว

นายภคพงศ์กล่าวว่า การแบ่งรายได้จะใช้วิธีการเก็บจากสถานีต้นทาง ผู้โดยสารขึ้นที่สถานีสายสีม่วง รฟม.จะรับรายได้ในส่วนนั้นไป หากผู้โดยสารขึ้นจากรถไฟฟ้าสายสีแดง รฟท.จะได้รายได้ในส่วนนั้นไปเช่นกัน ทั้งหมดนี้จะให้บริการผ่านระบบ EMV หรือ การใช้บริการผ่านบัตรเครดิต และบัตรเดบิต เท่านั้น ไม่รับเงินสด หรือใช้ระบบเหรียญแบบในปัจจุบัน

ส่วนในกรณีจะใช้เงินชดเชยไปอีกกี่ปีนั้น รฟม.ขอพิจารณาก่อน หากผู้โดยสารเพิ่มขึ้นที่ 17% ต่อปี คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี รฟม.จึงจะคืนทุน ที่ผ่านมา รฟม.นำรายได้ส่งกระทรวงการคลัง ประมาณ 20-25% ต่อปี ของกำไรสุทธิ ดังนี้ ปี 2563 มีรายได้ส่งคลัง 300 ล้านบาท ปี 2564 ส่งคลัง 467 ล้านบาท ปี 2565 ส่งคลัง 311 ล้านบาท ส่วนช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ส่งคลัง 223 ล้านบาท

“นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยเบื้องต้น รฟม.ได้หารือร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ทางเอกชนอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขเกี่ยวกับการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้ ได้รับทราบจากกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาร่วมกับภาคเอกชน” นายภคพงศ์กล่าว

ข้อควรรู้!! ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง - สีม่วง’ อ่วม!! ขาดทุนหนัก 7 ล้าน / วัน

รัฐบาลมีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยจะเปิดให้บริการ 2 สายก่อน คือสายสีแดงและสายสีม่วง มาดูกันว่าในปัจจุบันรถไฟฟ้าทั้งสองสายนี้ขนผู้โดยสารวันละเท่าไหร่ มีรายได้มากน้อยเพียงใด สายสีแดงหรือสายสีม่วงขาดทุนมากกว่า?

1. รถไฟฟ้าสายสีแดง
รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีเส้นทางจากบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร และจากบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 41 กิโลเมตร ค่าโดยสารในปัจจุบัน 12-42 บาท 

จากข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 พบว่า

(1) ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 19,611 คน
(2) รายได้เฉลี่ยต่อวัน 0.59 ล้านบาท
(3) ค่าจ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาต่อวัน 1.31 ล้านบาท
(4) ขาดทุนเฉลี่ยต่อวัน 0.72 ล้านบาท

2. รถไฟฟ้าสายสีม่วง
รถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีเส้นทางจากเตาปูน-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร ค่าโดยสารในปัจจุบัน 17-42 บาท 

จากข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 พบว่า

(1) ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 56,255 คน
(2) รายได้เฉลี่ยต่อวัน 1.41 ล้านบาท
(3) ค่าจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาต่อวัน 7.39 ล้านบาท
(4) ขาดทุนเฉลี่ยต่อวัน 5.98 ล้านบาท

3. ในปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงขาดทุนรวมกันวันละเกือบ 7 ล้านบาท! รถไฟฟ้าสายสีแดงขาดทุนวันละ 0.72 ล้านบาท ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดทุนมากกว่า โดยขาดทุนถึงวันละ 5.98 ล้านบาท รวมทั้งสองสายขาดทุนวันละ 6.7 ล้านบาท

4. ถ้าเก็บ 20 บาท ตลอดสาย จะขาดทุนหนักขึ้น!!
รมว.คมนาคม บอกว่าจะเร่งผลักดันรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เฉพาะสายสีแดงและสายสีม่วงเป็นสายนำร่องให้ได้ภายใน 3 เดือน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้ผู้โดยสาร กรณีนี้หากผู้โดยสารจ่าย 20 บาท เพื่อใช้สายสีแดง (หรือสายสีม่วง) เมื่อเปลี่ยนไปใช้สายสีอื่นจะต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าโดยสารของสายนั้น ๆ 

การเก็บ 20 บาท ตลอดสาย แต่ไม่สามารถใช้ข้ามสายได้ จะไม่ทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาก และจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้โดยสารที่ในปัจจุบันจ่ายค่าโดยสารต่ำกว่า 20 บาท โดยเฉพาะผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งจ่ายเริ่มต้นเพียง 12 บาท เท่านั้น

เมื่อมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไม่มาก รายได้จากค่าโดยสารก็จะต่ำกว่าเดิม เป็นผลให้รถไฟฟ้าทั้งสองสายขาดทุนหนักขึ้น

5. สรุป
เห็นด้วยกับการทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง แต่ก่อนเริ่มใช้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย รมว.คมนาคม จะต้องรู้ว่ารัฐจะต้องสูญเสียรายได้ไปเท่าไหร่? คุ้มหรือไม่กับประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น? และที่สำคัญจะมีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกี่คน?

'เพื่อไทย' ตอกย้ำ!! ทำทันทีเพื่อประชาชน รถไฟฟ้า 'สีม่วง-แดง' 20 บาทตลอดสาย

(16 ต.ค. 66) นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีคลองบางไผ่ถึงสถานีเตาปูน และสายสีแดง สถานีกลางบางซื่อถึงสถานีรังสิต สูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 

...และทันทีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมด้วยนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย สส. และ สก.ของพรรคเพื่อไทย ได้มาร่วมทดลองใช้บริการและตรวจสอบความพร้อมการให้บริการรถไฟฟ้าในราคาค่าโดยสารใหม่ 20 บาท ที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อด้วย...

1. นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยประกาศหาเสียงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยการปรับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง จากเดิมประชาชนต้องจ่าย 14-42 บาท และสายสีแดง 12-42 บาท มาเป็นราคาเดียว 20 บาท ช่วยลดภาระค่าครองชีพ ทำให้พี่น้องประชาชนตอบรับในการเดินหน้านโยบายของพรรคเพื่อไทยตามที่ได้หาเสียงไว้ และติดตามเฝ้ารอนโยบายอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์อีกมากมายที่จะทยอยตามมา

2. นางสาวชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่พบปะประชาชน ต่างมีเสียงสะท้อนให้ สก. พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ในราคาไม่แพง ทุกคนมีสิทธิ์ใช้บริการของรัฐอย่างเท่าเทียม จึงเห็นด้วยและสนับสนุนนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ขอขอบคุณรัฐบาลที่ผลักดันให้เป็นจริงในเวลาไม่นาน และขอให้ลดค่าบริการของรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ เช่นกัน

3. คณะของพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่ตรวจความพร้อมให้บริการรถไฟฟ้าที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ประกอบด้วย สก.พรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร, นางสาวชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร, นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.ลาดกระบัง, นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก, นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ส.ก.เขตบึงกุ่ม, นางสาวมธุรส เบนท์ เขตสะพานสูง, นางสาวนภัสสร พละระวีพงษ์ ส.ก.เขตบางกะปิ นายรัฐพงศ์ ระหงษ์ อดีตผู้สมัคร สส.กทม., นายภัทร ภมรมนตรี อดีตผู้สมัคร สส.กทม., นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ อดีตผู้สมัคร สส.พรรคเพื่อไทย

‘สุริยะ’ ปลื้ม!! วันแรกรถไฟฟ้า 20 บาท ตอบรับดี ยัน!! เดินหน้าต่อเนื่อง ไม่สิ้นสุดแค่ 30 พ.ย. 67

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนนั้น

และได้มีการประกาศใช้มาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ในอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายนั้น รฟท. และ รฟม.ได้รายงานถึงผลการสอบถามความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ พบว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ให้ผลตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะระบบรางมากขึ้น

ยันมาตรการต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ 1 ปี
นายสุริยะกล่าวว่า การที่ ครม.อนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย โดยระบุจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2567 นั้น ยืนยันว่า เมื่อครบกำหนดในช่วงวันดังกล่าวจะยังไม่ได้มีการยกเลิกมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย และจะใช้มาตรการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือและลดค่าครองชีพให้แก่พี่น้องประชาชน ตามนโยบาย ‘Transport Future for All : คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน’

ส่วนการกำหนดระยะเวลาในวันที่ 30 พ.ย. 2567 ตามที่เสนอเรื่องต่อ ครม.นั้น ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปริมาณผู้โดยสาร และรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐ และคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เป็นต้น เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป

คาดผู้โดยสารเพิ่มปี 68 ใช้งบชดเชยลดลง
อย่างไรก็ตาม การเสนอต่ออายุมาตรการ 20 บาทตลอดสายในปีหน้า รัฐจะชดเชยเงินรายได้ในจำนวนที่ลดลง เนื่องจากจะมีปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น จึงต้องประเมินผลมาตรการเป็นรายปี ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ประชาชน ลดภาวะมลพิษ และการใช้พลังงานภายในประเทศ สนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค จากการเพิ่มการเดินทางของประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะด้วย

ทั้งนี้ ตามมติ ครม.ให้กระทรวงคมนาคมประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปริมาณผู้โดยสารและรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐและคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป

ส่วนขอรับชดเชยส่วนต่างของ รฟท.ซึ่งกำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีแดง เมื่อสิ้นสุดมาตรการแล้วให้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามส่วนต่างรายได้ที่เกิดขึ้น ซึ่ง รฟท.เสนอขอรับเงินชดเชยประมาณ 6.43 ล้านบาทต่อเดือนหรือ 77.15 ล้านบาทต่อปี ส่วนกรณี รฟม.ซึ่งกำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีม่วง ไม่ขอรับเงินชดเชยรายได้ของภาครัฐโดยตรง แต่จะนำเงินส่วนแบ่งรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่มีกำไรมาชดเชย

ถอดรหัสประโยชน์หลากเด้ง 'รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย' ความเหลื่อมล้ำคนเมืองที่ถูกเคลียร์ไปพร้อมๆ กับการลดราคา

หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนเลือกตั้ง นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย อย่างค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถูกปรามาสอย่างรุนแรง ว่าคงไม่สามารถทำได้จริง และมองนโยบายนี้เป็นเพียงนโยบายหาเสียงไว้เรียกคะแนนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากมองถึงวันที่นโยบายนี้ถูกเข็นออกมา…นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ยกเหตุผลประกอบที่พอฟังดี ๆ นี่ไม่ใช่แค่นโยบาย แต่จะเป็นหมัดเด็ดซื้อใจเพื่อโกยฐานคนกรุงและปริมณฑล หากมีโอกาสทำ ได้มากพอสมควร

ตอนนั้น เศรษฐา ร่ายยาวว่า ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง เป็นปัญหายอดนิยมคู่กรุงเทพฯ มานานตั้งแต่รถไฟฟ้าเริ่มเปิดบริการตั้งแต่ปี 2542 โดยเป้าหมายแท้จริงตอนที่จะเริ่มสร้างนั้น ก็เพื่อสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ในความเป็นจริง กลับตาลปัตรมิได้เป็นเช่นหวัง เพราะปัจจุบันรถไฟฟ้ากลายเป็นระบบขนส่งของชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้น เนื่องด้วยค่าบริการที่คนในสังคมหลาย ๆ กลุ่มเข้าไม่ถึง 

ที่กล่าวว่าหลายกลุ่มในสังคมเข้าไม่ถึงก็เพราะว่า ถ้าเปรียบเทียบราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ ต่อเที่ยวคิดเป็น 11% ของค่าแรง (ไปกลับก็ 22%) ซึ่งแพงมากเทียบกับอัตราส่วนเพียงแค่ 1.5% ของค่าแรงที่เกาหลีใต้ 2.9% ที่ญี่ปุ่น หรือ 3.5% ที่สิงคโปร์ ซึ่งสังเกตได้ว่าในประเทศเหล่านั้นการขึ้นรถไฟฟ้าเป็นเรื่องปกติ จนเหมือนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน 

นอกจากนี้แล้ว ประเด็นอัตราค่าโดยสารที่แพงกว่าคนอื่นนี้ ถูกซ้ำเติมโดยสภาวะเงินเฟ้อและวิกฤตโควิดในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาอีก ในเมื่อสินค้าจำเป็นแพงขึ้นและรายได้ลดลง รถไฟฟ้าก็กลายเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือยและเข้าไม่ถึงยิ่งไปกว่าเดิม ทำให้ประชาชนหลายคน ต้องยอมเสียเวลาเดินทางหลายต่อ นั่งรถตู้มาจากบ้าน ต่อรถเมล์ และเดินเพื่อให้ไปถึงที่หมาย เพียงเพราะไม่สามารถจ่ายค่ารถไฟฟ้าได้ เผลอ ๆ จะต้องเสียเวลาเดินทางเพิ่มขึ้นอีกเป็นชั่วโมง

เกมนี้ พรรคเพื่อไทย จึงฉลาดที่พยายามย้ำคำว่า “รถไฟฟ้าควรเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ประชาชนชาวไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้” และเลือกสร้างนโยบายที่จะเข้าไปแตะราคาค่ารถไฟฟ้าให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเตรียมเร่งเจรจากับทุกภาคส่วนเพื่อลดค่าโดยสารลงให้เหลือ 20 บาทตลอดสายกับเส้นสีอื่น ๆ ให้เป็นอัตราขั้นต่ำที่เข้าถึงได้ และเป็นสิ่งที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว (เช่น ฝรั่งเศส)

กล่าวโดยสรุป ประโยชน์จากนโยบายการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ก็เพื่อปลดล็อกรถไฟฟ้าให้เหมาะต่อกลุ่มคนเมืองจำนวนมาก ด้วยราคาที่ไม่เกินเอื้อม

ขณะเดียวกัน การเข้าถึงระบบการเดินทางที่มีคุณภาพ สะดวก ปลอดภัย ตอบโจทย์ จะทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวเมืองดีขึ้นอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ถ้ามองเชื่อมไปถึงประโยชน์ภาพใหญ่ของประเทศ นโยบายนี้ก็จะเพิ่ม ‘ประสิทธิภาพของเมือง’ ซึ่งตีเป็นมูลค่าเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ในทางตรง ขณะที่ในทางอ้อมนโยบายนี้ก็จะจูงใจให้คนเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น จนลดการใช้รถใช้ถนน ลดปริมาณจราจรบนท้องถนน ช่วยบรรเทาปัญหารถติด สามารถคืนเวลาทำมาหากินที่เสียไปเปล่า ๆ กับการเดินทางบนท้องถนน ซึ่งสามารถนำไปใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้มหาศาล และยังทำให้ประชาชนชาวไทย ไม่ต้องอดหลับอดนอน มีเวลากับตัวเอง กับครอบครัวมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายนี้ยังจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในทางบวก จะช่วยลดการปล่อยมลภาวะอันเกิดจากการลดอัตราการใช้รถใช้ถนน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 ซึ่งเป็นภัยเงียบของประชาชนอีกด้วย 

เรียกได้ว่า ถ้าเพื่อไทยทำแล้วเกิดผลลัพธ์เชิงบวกได้แบบโดมิโน่ แถมอาจเข้ามาเป็นฮีโร่ปลดล็อกราคาสายรถไฟฟ้าสีอื่น ๆ นอกจาก 'ม่วง-แดง' โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสายหลักสีเขียว (ไม่ต้องถึง 20 บาทก็ได้) โอกาสที่ชื่อเพื่อไทยจะไม่หลุดไกลจากสารบบคนกรุง ในวาระการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็มีความเป็นไปได้สูง

‘กรมราง’ เผย!! รถไฟฟ้าสาย ‘สีม่วง-สีแดง’ ปังไม่หยุด  ชี้!! ราคา 20 บาท ดันผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

(22 ต.ค. 66) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์แรกหลังจากมีนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท มีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,199,196 คน-เที่ยว จากเมื่อเสาร์ที่ 14 ตุลาคม มีจำนวน 1,124,698 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

1.) รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 75,524 คน-เที่ยว โดยเมื่อเสาร์ที่ 14 ตุลาคม มีจำนวน 72,634 คน-เที่ยว แบ่งเป็น ขบวนรถเชิงพาณิชย์ 30,072 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 45,452 คน-เที่ยว

2.) รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,123,672 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 71,608 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.81 เทียบเมื่อเสาร์ที่ 14 ตุลาคมมีจำนวน 1,052,064 คน-เที่ยว

โดยรถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 174 เที่ยววิ่ง จำนวน 54,703 คน-เที่ยว ,รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 22,317 คน-เที่ยว รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 12 คน-เที่ยว

รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 216 เที่ยววิ่ง จำนวน 44,417 คน-เที่ยว ,รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 324 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 9 เที่ยววิ่ง) จำนวน 367,629 คน-เที่ยว

รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,102 เที่ยววิ่ง จำนวน 594,520 คน-เที่ยว ,รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 217 เที่ยววิ่ง จำนวน 8,063 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองให้บริการ 216 เที่ยววิ่ง จำนวน 30,023 คน-เที่ยว

“จากข้อมูลข้างต้น พบว่าวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์แรก ภายหลังจากดำเนินการตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสายสีแดงและสายม่วงสูงสุด 20 บาท เมื่อเทียบกับวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา มีประชาชนมาใช้บริการสายสีแดง 22,317 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 5,946 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.32 ส่วนสายสีม่วงมีผู้ใช้บริการ 44,417 คน-เที่ยวเพิ่มขึ้น 6,880 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.33” นายพิเชฐกล่าว

นายพิเชฐกล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ใช้บริการสายสีน้ำเงิน367,629 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 32,909 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.83 เนื่องจากมีสถานีเชื่อมต่อกับสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน และมีการจัดกิจกรรมที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์นี้ ได้แก่ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 28 งาน Thailand Gameshow 2023 และงาน Homepro Living Expo โดยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมสายสีน้ำเงินได้จัดขบวนรถเสริมรวม 9 เที่ยววิ่ง

นายพิเชฐกล่าวว่า สำหรับในวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม นี้ กรมได้ประสานผู้ให้บริการรถไฟฟ้า ติดตามสถานการณ์ผู้ใช้บริการระบบราง และพิจารณาเพิ่มความถี่ ขบวนรถเสริม รวมทั้งเพิ่มบุคลากรในการบริหารจัดการภายในสถานีรถไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น โดยเฉพาะช่วงเย็นถึงหัวค่ำ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่กรมสุ่มลงพื้นที่เพื่อติดตามและประสานการแก้ไขปัญหาหน้างานอีกด้วย

เชื่อมต่อรถไฟฟ้า 'สีม่วง-แดง' 20 บาทตลอดสาย  ดีเดย์ 30 พ.ย.นี้ เบื้องต้นใช้ผ่านระบบบัตร EMV

เมื่อวานนี้ (27 พ.ย.66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมร่วมขับเคลื่อนนโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ของ รฟม. และรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะได้รับสิทธิชำระค่าโดยสารร่วม 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาทเท่านั้น เมื่อใช้บัตรโดยสาร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นี้ จะลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทดลองใช้ระบบ EMV Contactless เดินทางข้ามสาย ระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง พร้อมๆ กับประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อติดตามตรวจสอบความเรียบร้อยในการให้บริการด้านการเดินทางแก่ประชาชน โดยนโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย’ เป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win ของรัฐบาล ในด้าน “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนในด้านการเดินทาง และการให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง

ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดที่ดำเนินงานด้านระบบรางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนของ รฟม.และ รฟท. ที่เป็น 2 หน่วยงานนำร่องนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท มาใช้ในการให้บริการรถไฟฟ้าของภาครัฐ ตั้งแต่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ให้มีการติดตามประเมินความคุ้มค่าด้านจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมาในระบบเปรียบเทียบกับรายได้ เพื่อรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบเป็นระยะ พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในการศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในระยะต่อๆ ไป ที่สามารถสานต่อนโยบายดังกล่าวได้ และต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระทางการเงินของหน่วยงานภาครัฐในอนาคตด้วย ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้เพิ่มเติมของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า ในระยะ 1 เดือนกว่าๆ ที่รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ได้เริ่มให้บริการด้วยอัตราค่าโดยสาร สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารในวันทำงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,274 คน-เที่ยวต่อวัน คิดเป็น 6.07% และในวันหยุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,789 คน-เที่ยวต่อวัน คิดเป็น 13.33% และ รฟม.คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จะเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปใช้อัตราค่าโดยสารร่วมระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟชานเมือง สายสีแดง สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป รวมถึงการที่รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ และผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนถ่ายระบบได้โดยสะดวกที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้ รฟม.พร้อมสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดทดแทน ในระยะยาวย่อมจะช่วยลดมลพิษทางอากาศและบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลลงได้ โดย รฟม.มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยไม่จำกัดการดำเนินงานเฉพาะในรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเท่านั้น แต่จะศึกษาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกับ ขร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถต่อยอดนโยบายนี้ไปใช้กับการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ในความรับผิดชอบของ รฟม.ได้อีกด้วย

ประกอบกับ รฟม.ได้พัฒนาระบบรับการชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ไว้รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT ทุกสาย กับระบบขนส่งอื่นๆ อย่างครบครันแล้ว จึงมีความมั่นใจว่า หากมีแนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบใหม่ในอนาคต รฟม.จะสามารถให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top