Thursday, 10 April 2025
รถไฟฟ้า20บาท

‘สุริยะ’ มั่นใจ!! ชี้แจงปม ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ ได้ทุกมิติ ย้ำ!! ทุกนโยบายรัฐบาลตอบสนองความต้องการประชาชน

(11 ก.ย. 66) ที่รัฐสภา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่จะมี สส. สอบถามและต้องตอบคำถามเรื่องนี้ ว่า ตนตอบได้ไม่มีปัญหา

เมื่อถามว่าจะชี้แจงอย่างไร เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก นายสุริยะ กล่าวว่า เรามีข้อมูลทั้งหมดที่จะชี้แจงครบทุกประเด็นไม่น่าเป็นห่วง

เมื่อถามว่า จะมีการเน้นย้ำอะไรเป็นพิเศษเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ นายสุริยะกล่าวว่าแน่นอน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลจะตั้งข้อสังเกต นโยบายนั่งรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียง นายสุริยะ กล่าวว่า ยืนยันว่าเราทำได้ ตนเชื่อมั่นว่านโยบายของรัฐบาลเป็นนโยบายที่ตอบสนองต่อประชาชน เราอธิบายนโยบายได้ทุกมิติ

เมื่อถามว่า นโยบายเร่งด่วนที่จะแถลงต่อรัฐสภามีความเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่าเหมาะสมแน่นอน

‘สุริยะ’ ปลื้ม!! วันแรกรถไฟฟ้า 20 บาท ตอบรับดี ยัน!! เดินหน้าต่อเนื่อง ไม่สิ้นสุดแค่ 30 พ.ย. 67

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนนั้น

และได้มีการประกาศใช้มาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ในอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายนั้น รฟท. และ รฟม.ได้รายงานถึงผลการสอบถามความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ พบว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ให้ผลตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะระบบรางมากขึ้น

ยันมาตรการต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ 1 ปี
นายสุริยะกล่าวว่า การที่ ครม.อนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย โดยระบุจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2567 นั้น ยืนยันว่า เมื่อครบกำหนดในช่วงวันดังกล่าวจะยังไม่ได้มีการยกเลิกมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย และจะใช้มาตรการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือและลดค่าครองชีพให้แก่พี่น้องประชาชน ตามนโยบาย ‘Transport Future for All : คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน’

ส่วนการกำหนดระยะเวลาในวันที่ 30 พ.ย. 2567 ตามที่เสนอเรื่องต่อ ครม.นั้น ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปริมาณผู้โดยสาร และรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐ และคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เป็นต้น เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป

คาดผู้โดยสารเพิ่มปี 68 ใช้งบชดเชยลดลง
อย่างไรก็ตาม การเสนอต่ออายุมาตรการ 20 บาทตลอดสายในปีหน้า รัฐจะชดเชยเงินรายได้ในจำนวนที่ลดลง เนื่องจากจะมีปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น จึงต้องประเมินผลมาตรการเป็นรายปี ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ประชาชน ลดภาวะมลพิษ และการใช้พลังงานภายในประเทศ สนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค จากการเพิ่มการเดินทางของประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะด้วย

ทั้งนี้ ตามมติ ครม.ให้กระทรวงคมนาคมประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปริมาณผู้โดยสารและรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐและคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป

ส่วนขอรับชดเชยส่วนต่างของ รฟท.ซึ่งกำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีแดง เมื่อสิ้นสุดมาตรการแล้วให้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามส่วนต่างรายได้ที่เกิดขึ้น ซึ่ง รฟท.เสนอขอรับเงินชดเชยประมาณ 6.43 ล้านบาทต่อเดือนหรือ 77.15 ล้านบาทต่อปี ส่วนกรณี รฟม.ซึ่งกำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีม่วง ไม่ขอรับเงินชดเชยรายได้ของภาครัฐโดยตรง แต่จะนำเงินส่วนแบ่งรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่มีกำไรมาชดเชย

‘หอการค้า’ ชื่นชม!! รัฐบาลทำงานเร็ว 30 วัน ‘ลดค่าไฟ-รถไฟฟ้า-ฟรีวีซ่า’

(17 ต.ค. 66) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการทำงานของรัฐบาลครบรอบ 1 เดือน หลายประเด็นรัฐบาลเดินหน้ารวดเร็ว โดยเฉพาะการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการ 

หอการค้าไทยต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่มีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งมีหลายมาตรการที่ออกมา เช่น มติ ครม.วันนี้ (16 ต.ค.) ที่อนุมัติให้ลดค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นำร่อง ‘สายสีม่วง-สีแดง’ ขณะที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลยังได้ประกาศลดค่าไฟฟ้าลง 11 สตางค์ เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย และเริ่มทันทีในรอบบิล ก.ย.ที่ผ่านมา 

ซึ่งภาพรวมต้องชมเชยว่ารัฐบาลเร่งเครื่องรวดเร็ว เพื่อช่วยให้ประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตในภาวะที่เศรษฐกิจยังมีทิศทางการฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มเติมขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 

ขณะเดียวกัน มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งที่ได้ประกาศ Free Visa นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ที่มีผลตั้งแต่ 25 ก.ย. 66 – 29 ก.พ. 67 รวมระยะเวลา 5 เดือน และ ครม.ยังได้มีมติขยายระยะเวลา Free Visa ให้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย จาก 30 วันเป็น 90 วัน ซึ่งถือเป็นชาติที่ 3 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในไทย ซึ่งจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมปีนี้ไปถึงเป้าหมายที่ 25 – 30 ล้านคน

‘กรมราง’ เผย!! รถไฟฟ้าสาย ‘สีม่วง-สีแดง’ ปังไม่หยุด  ชี้!! ราคา 20 บาท ดันผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

(22 ต.ค. 66) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์แรกหลังจากมีนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท มีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,199,196 คน-เที่ยว จากเมื่อเสาร์ที่ 14 ตุลาคม มีจำนวน 1,124,698 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

1.) รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 75,524 คน-เที่ยว โดยเมื่อเสาร์ที่ 14 ตุลาคม มีจำนวน 72,634 คน-เที่ยว แบ่งเป็น ขบวนรถเชิงพาณิชย์ 30,072 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 45,452 คน-เที่ยว

2.) รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,123,672 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 71,608 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.81 เทียบเมื่อเสาร์ที่ 14 ตุลาคมมีจำนวน 1,052,064 คน-เที่ยว

โดยรถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 174 เที่ยววิ่ง จำนวน 54,703 คน-เที่ยว ,รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 22,317 คน-เที่ยว รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 12 คน-เที่ยว

รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 216 เที่ยววิ่ง จำนวน 44,417 คน-เที่ยว ,รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 324 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 9 เที่ยววิ่ง) จำนวน 367,629 คน-เที่ยว

รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,102 เที่ยววิ่ง จำนวน 594,520 คน-เที่ยว ,รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 217 เที่ยววิ่ง จำนวน 8,063 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองให้บริการ 216 เที่ยววิ่ง จำนวน 30,023 คน-เที่ยว

“จากข้อมูลข้างต้น พบว่าวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์แรก ภายหลังจากดำเนินการตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสายสีแดงและสายม่วงสูงสุด 20 บาท เมื่อเทียบกับวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา มีประชาชนมาใช้บริการสายสีแดง 22,317 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 5,946 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.32 ส่วนสายสีม่วงมีผู้ใช้บริการ 44,417 คน-เที่ยวเพิ่มขึ้น 6,880 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.33” นายพิเชฐกล่าว

นายพิเชฐกล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ใช้บริการสายสีน้ำเงิน367,629 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 32,909 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.83 เนื่องจากมีสถานีเชื่อมต่อกับสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน และมีการจัดกิจกรรมที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์นี้ ได้แก่ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 28 งาน Thailand Gameshow 2023 และงาน Homepro Living Expo โดยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมสายสีน้ำเงินได้จัดขบวนรถเสริมรวม 9 เที่ยววิ่ง

นายพิเชฐกล่าวว่า สำหรับในวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม นี้ กรมได้ประสานผู้ให้บริการรถไฟฟ้า ติดตามสถานการณ์ผู้ใช้บริการระบบราง และพิจารณาเพิ่มความถี่ ขบวนรถเสริม รวมทั้งเพิ่มบุคลากรในการบริหารจัดการภายในสถานีรถไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น โดยเฉพาะช่วงเย็นถึงหัวค่ำ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่กรมสุ่มลงพื้นที่เพื่อติดตามและประสานการแก้ไขปัญหาหน้างานอีกด้วย

'เพื่อไทย' ลั่น!! รถไฟฟ้าต้อง 20 บาททุกสาย ชี้!! นี่คือความกล้าหาญที่พรรคอื่นไม่กล้าทำ

(3 พ.ค.67) ในงาน ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ ของพรรคเพื่อไทย (พท.) งานแสดงวิสัยทัศน์ และความคืบหน้าในนโยบายต่าง ๆ พร้อมประกาศเป้าหมายการทำงานในอนาคต

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม. กล่าวว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นวิสัยทัศน์ของพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่สมัย 2549 เพราะการเข้าถึงขนส่งสาธารณะเป็นสวัสดิการพื้นฐานของประชาชน วันนี้รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยทันทีที่เป็นรัฐบาล ไม่ถึงหนึ่งเดือนที่นายกรัฐมนตรีรับตำแหน่ง วันที่ 16 ตุลาคม 2566 รถไฟฟ้า 2 สาย คือสายสีแดง และสีม่วง ลดค่าบริการลงมาที่ราคา 20 บาท ได้สำเร็จ หลังจากลดค่าโดยสารลงแล้ว ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารสายสีแดงเพิ่มขึ้น 26.62% สายสีแดงเพิ่มขึ้น 14.43%

จากนั้น กระทรวงคมนาคม กางแผนโรดแมป เพื่อดำเนินการให้รถไฟฟ้าทุกเส้นทาง คิดค่าบริการตลอดเส้นทาง ‘20 บาท’ ภายในปี 2568 ผ่านร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมร่าง พ.ร.บ.รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรองและอื่นๆ โดยสำนักงานขนส่งและนโยบายและแผนการจราจร (สนข.) ดำเนินการ จากราคารถไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 107 บาท หาก พ.ร.บ.ตั๋วร่วมสำเร็จ ประชาชนจะจ่ายเพียง 20 บาท ผ่านการมีกองทุนที่สะสมรายได้จากส่วนอื่น ๆ มาชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารแทนประชาชน

“ไม่มีพรรคการเมืองใดที่เสนอทำราคารถไฟฟ้าให้เหมาะสมกับรายได้ เป็นสวัสดิการของประชาชนอย่างแท้จริง รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คือความกล้าหาญของพรรคเพื่อไทยที่จะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อพี่น้องประชาชน เป็นการจัดการระบบการเดินทาง ที่มีสัมปทานหลายเจ้าครั้งใหญ่ อะไรที่เคยติดขัด เป็นอุปสรรค จะถูกคลี่คลาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชน”

นางสาวธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า ภายในปี 2568 ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสาย, พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ต้องสำเร็จ, ลดราคาค่าทางด่วนลงรถเมล์แอร์ EV ต้องสำเร็จ เป้าหมายใหญ่ คือเพิ่มการเข้าถึงขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถส่วนตัว ลดปริมาณรถบนถนน แก้ปัญหารถติด แก้ปัญหาฝุ่น ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และสามารถเปิดให้ขยายทางสัญจรทางเท้า ให้ กทม.เป็นเมืองที่เดินได้ เมืองที่เป็นมิตรกับคนทุกกลุ่มมากขึ้น เพื่อยกระดับขนส่งสาธารณะ ให้เป็น ‘การบริการสาธารณะ’ อย่างแท้จริง

เปิด 6 เส้นทาง เตรียมเก็บค่ารถติด กลางเมืองกรุงฯ สานนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท-แก้ปัญหา PM2.5

(22 ต.ค. 67) จากที่กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เตรียมร่วมกันศึกษาแนวทางการดำเนินการนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมา เพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชน คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งการซื้อคืนนี้ เพื่อทำให้ภาครัฐ สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง และเป็นธรรม เข้าถึงได้ง่ายนั้นโดย เบื้องต้นกองทุนฯ จะกำหนดระยะเวลา 30 ปี แหล่งเงินของกองทุนฯ ส่วนหนึ่งเป็นการระดมทุน ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือเงินปันผล เป็นต้น อีกส่วนจะเป็นรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด(Congestion charge) เป็นรูปแบบที่ได้ดำเนินการในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประสบผลสำเร็จ เช่น ประเทศอังกฤษซึ่งกระทรวงการคลังจะไปศึกษารูปแบบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า การจัดตั้งกองทุน เพื่อเดินหน้านโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกสาย และการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคม นั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการศึกษาเบื้องต้น กรณีการเก็บจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่ง หรือพื้นที่รถติด (Congestion charge) โดยสนข.ความร่วมมือกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)  ซึ่งมีสำรวจ ถนนอยู่ที่มีปริมาณจราจรหนาแน่น คาดว่าจะมีการจัดเก็บ Congestion charge พบว่า มีปริมาณจราจรรวมกันประมาณ 700,000 คัน/วัน ดังนั้นยกตัวอย่าง หากจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯคันละ 50  บาท ประเมินเบื้องต้น จะมีรายได้ประมาณ 35 ล้านบาทต่อวัน หรือ 12,000 ล้านบาทต่อปี ที่สามารถสนับสนุนกองทุนฯซื้อคืนสัมปทานได้

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า จากที่สนข.ได้มีความร่วมมือกับสำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มีเป้าหมายเรื่องภาคขนส่งเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งมีการศึกษาสำรวจปริมาณจราจรของโครงข่ายถนนที่คาดว่าจะมีการดำเนินการมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่

1.ทางแยก เพชรบุรี-ทองหล่อ (ช่วงถนนเพชรบุรี และ ทองหล่อ) มีปริมาณจราจร 60,112 คัน/วัน 

2.ทางแยก สีลม-นคราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสีสม) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน

3.ทางแยก สาทร-นราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสาธร) มีปริมาณจราจร 83,368 คัน/วัน 

4.ทางแยก ปทุมวัน (ช่วงถนนพญาไทและ ถนนพระรามที่ 1 ) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน

5.ทางแยก ราชประสงค์ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนพระราม 1 และถนนเพลินจิต) มีปริมาณจราจร 56,235 คัน/วัน

6.ทางแยกประตูน้ำ  (ช่วงถนนราชดำริ ถนนราชปรารถ และถนนเพชรบุรี) มีปริมาณจราจร 68,473 คัน/วัน) 

ทั้งนี้ ตัวเลขปริมาณจราจรดังกล่าว เป็นการเก็บสถิติการจราจร ในปี 2566 ซึ่งเก็บสถิติ ช่วงเวลา 07.00-19.00 น. โดยหากมีการจัดเก็บ Congestion charge คาดว่าปริมาณจราจรที่เข้าสู่ถนนดังกล่าว จะลดลงไปจากตัวเลขที่มีการสำรวจ 

นายปัญญากล่าวว่า ขณะนี้ สนข.เตรียมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม โดยได้มีความร่วมมือกับ UKPact  กองทุนจากประเทศอังกฤษ โดยจะเริ่มการศึกษา ในเดือนธ.ค.2567  โดยสนข.จะหารือเพื่อให้เร่งสรุปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Congestion charge ภายในกลางปี 2568 เพื่อให้ทันกับนโยบายขยายมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรือง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

‘สามารถ ราชพลสิทธิ์’ หนุนไอเดีย ‘ซื้อรถไฟฟ้า-ค่ารถติด’ แนะ ทำให้รอบคอบ-รอบด้าน ชี้ รบ.ทุกยุคเล็งเก็บค่ารถติด

(24 ต.ค. 67) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงแนวทางของรัฐบาลในการซื้อสัมปทานรถไฟฟ้า ว่า

ซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน แต่
ขยายสัมปทานทางด่วน

รัฐจะซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน เพื่อลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายทุกสีเหลือ 20 บาทตลอดสาย ถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน ในขณะเดียวกันรัฐบอกว่าต้องการทำให้ค่าผ่านทางด่วนถูกลงด้วย ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีเช่นเดียวกัน แต่กลับจะขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ให้เอกชน ซึ่งจะไม่สามารถทำให้ค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายถูกลงได้ ในทางกลับกัน การทำให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงโดยเร็ว จะทำให้ค่าผ่านทางถูกลง 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีข่าวว่าในเดือนธันวาคม 2567 กระทรวงคมนาคมเตรียมจะลงนามสัญญาขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชครั้งที่ 2 ให้เอกชนผู้รับสัมปทานออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2578 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2601 เพื่อแลกกับการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตร มูลค่า 34,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐให้สัมปทานทางด่วนศรีรัชแก่เอกชนเป็นระยะเวลาดังนี้
(1) เริ่มต้นให้สัมปทาน 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2533 จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563
(2) ขยายสัมปทานครั้งที่ 1 ออกไป 15 ปี 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2578 
(3) กำลังจะขยายสัมปทานครั้งที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2578จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2601 
(4) รวมระยะเวลาสัมปทานทั้งหมดถึง 68 ปี 1 เดือน !

หลังจากขยายสัมปทานครั้งที่ 2 ในเดือนมกราคม 2568 รัฐจะเริ่มลดค่าผ่านทางเฉพาะช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ที่ปัจจุบันสำหรับรถ 4 ล้อ มีอัตราสูงสุด 90 บาท จะปรับลดลงเหลือสูงสุด 50 บาท เป็นที่น่าสังเกตว่าการลดค่าผ่านทางดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการขยายสัมปทานให้เอกชน แต่เป็นผลจากการที่รัฐยอมเฉือนรายได้ของตนเองลงมา ดังนั้น ถึงแม้จะไม่ขยายสัมปทานให้เอกชนก็ตาม หากรัฐยอมลดส่วนแบ่งรายได้จากค่าผ่านทางลงก็จะสามารถทำให้ค่าผ่านทางถูกลงได้ 

ผมมีความเห็นว่า หากกระทรวงคมนาคมเชื่อว่า Double Deck จะช่วยแก้ปัญหารถติดบนทางด่วนได้จริง กระทรวงคมนาคมก็ควรเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง Double Deck เอง ไม่ควรมอบให้เอกชนก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้รัฐไม่ต้องขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชให้เอกชนอีก รออีกเพียง 11 ปีเท่านั้น ทางด่วนศรีรัชก็จะกลับมาเป็นของรัฐ ถึงเวลานั้น รัฐก็จะสามารถลดค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายให้ต่ำลงได้

หากยังจำกันได้ การเตรียมขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชให้เอกชน เป็นเหตุให้สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หวั่นว่ารัฐจะเสียผลประโยชน์ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ถึงผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีข้อความตอนหนึ่งว่า “สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต พิจารณาแล้วเห็นว่า เงื่อนไขในสัญญาบางประการตามที่สื่อมวลชนได้รายงานมีความเสี่ยงที่อาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญา” จึงขอให้ กทพ.ชี้แจงข้อเท็จจริงภายในวันที่ 7 สิงหาคม 2567

แต่จนถึงวันนี้ ไม่มีข่าวว่า กทพ.ได้ชี้แจงข้อห่วงใยของ ป.ป.ช.จนสิ้นสงสัยแล้วหรือยัง ? หรือขอเลื่อนการชี้แจงออกไปเรื่อยๆ ? ตามที่เคยมีข่าวว่า กทพ.มีหนังสือถึง ป.ป.ช. ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ขอเลื่อนการชี้แจงออกไป 30 วัน ถึงวันนี้ก็เลย 30 วันแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า กทพ.ได้มีหนังสือถึง ป.ป.ช. ขอเลื่อนการชี้แจงออกไปอีก ?

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การที่กระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะลงนามสัญญาขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชครั้งที่ 2 ให้เอกชนอีก 22 ปี 5 เดือน ในเดือนธันวาคม 2567 กระทรวงคมนาคมมั่นใจได้อย่างไรว่า ก่อนถึงวันลงนามสัญญา กทพ.จะสามารถชี้แจงข้อกังขาให้ ป.ป.ช.ได้จนเป็นที่พอใจของ ป.ป.ช. ?

นอกจากนี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ยังเคยแสดงความคิดเห็นถึงการจัดเก็บค่ารถติดในบริเวณกลางเมือง ว่า

เก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจ
หาเงินซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน

รัฐเผยแนวคิดที่จะหาเงินจากการเก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นรายได้ส่วนหนึ่งที่จะนำไปซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน ทำให้สามารถลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายทุกสีเหลือ 20 บาทตลอดสาย ได้ตลอดไป แนวคิดนี้มีมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่ก็ต้องพับเก็บไว้ เพราะเป็นแนวคิดที่ส่งผลกระทบต่อผู้เดินทางจำนวนมาก ครั้งนี้จะทำได้สำเร็จได้หรือไม่ ?

1. ค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge หรือ Congestion Pricing)
การเก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจหรือที่เรียกกันว่า ค่าธรรมเนียมรถติดนั้นมีบางเมืองในต่างประเทศที่ทำสำเร็จ แต่ก็มีบางเมืองที่ล้มเหลว ค่าธรรมเนียมรถติดยึดถือหลักการว่าคนขับรถทุกคนมีส่วนทำให้รถติดก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่าถ้ารัฐให้บริการระบบขนส่งมวลชนและรถโดยสารสาธารณะได้ดีพอ ก็ไม่อยากใช้รถส่วนตัว จึงเกิดเป็นคำถามว่าเวลานี้ในพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายในการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เช่น ถนนสุขุมวิท และถนนสีลม เป็นต้น มีรถไฟฟ้า และ/หรือ รถเมล์ รถโดยสารสาธารณะอื่น ที่ดีและเพียงพอแล้วหรือยัง ?

2. กรุงเทพฯ พร้อมที่จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ?
มีการศึกษาการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในกรุงเทพฯ มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ เนื่องจากแนวคิดนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก ทำให้นักการเมืองไม่กล้านำมาใช้ เพราะจะทำให้คะแนนนิยมทางการเมืองลดน้อยลง มาถึงรัฐบาลนี้กลับมีความกล้าขึ้นมา อาจเป็นเพราะว่าต้องการทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสายทุกสีเป็นจริงและยั่งยืนตามที่ได้หาเสียงไว้ หากไม่ซื้อสัมปทานคืนจากเอกชน นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ซึ่งต้องชดเชยเงินให้เอกชนผู้รับสัมปทานคงทำได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง แต่ถ้าซื้อสัมปทานคืนได้ก็ไม่ต้องชดเชยเงินให้เอกชน เป็นผลให้รัฐต้องการซื้อสัมปทานคืนด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเป็นรายได้แหล่งหนึ่งที่จะนำไปซื้อสัมปทานคืน แต่การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดจะส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากแม้ในพื้นที่ที่มีรถไฟฟ้าแล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติด รัฐจะต้องเตรียมความพร้อมทุกด้านอย่างรอบคอบเพื่อลดผลกระทบต่อผู้คนที่จำเป็นต้องเดินทางเข้า-ออกย่านธุรกิจที่เป็นเป้าหมาย รวมทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในย่านธุรกิจ

3. การเตรียมความพร้อมในการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด
เนื่องจากการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในกรุงเทพฯ จะส่งผลกระทบหลายด้าน ดังนั้น รัฐจะต้องเตรียมความพร้อมตอบสนองต่อหลากหลายคำถาม เช่น
(1) นักเรียนที่มีผู้ปกครองขับรถไปรับ-ส่งที่โรงเรียน หากผู้ปกครองมีฐานะดีก็คงยินดีจ่ายค่าผ่านทาง คงไม่ยอมให้ลูกนั่งรถไฟฟ้า และ/หรือ รถโดยสารสาธารณะไปโรงเรียน แต่หากผู้ปกครองที่พยายามขวนขวายหารถส่วนตัวมาใช้ก็คงคิดหนักว่าจะจอดรถก่อนเข้าพื้นที่เป้าหมายดีหรือไม่ ? มีที่จอดรถมั้ย ? อัตราค่าจอดรถเท่าไหร่ ? จอดรถแล้วลูกจะเดินทางไปโรงเรียนอย่างไร ? มีรถไฟฟ้าหรือไม่ ? รถไฟฟ้าไปถึงโรงเรียนหรือไม่ ? ถ้าไม่ถึง มีรถโดยสารสาธารณะอื่นหรือไม่ ?
(2) ที่จอดรถนอกพื้นที่เป้าหมายมีเพียงพอหรือไม่ ? อัตราค่าจอดรถเท่าใด ?
(3) ในพื้นที่เป้าหมายนอกจากมีรถไฟฟ้าแล้ว มีรถโดยสารสาธารณะอื่นเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างสถานีรถไฟฟ้าไปโรงเรียน หรือที่ทำงานหรือไม่ ?
(4) ผู้ที่อยู่อาศัยในย่านธุรกิจที่เป็นเป้าหมายในการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด จะต้องจ่ายค่าผ่านทางเข้า-ออกพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ด้วยหรือไม่ ?
(5) รถที่มีคนนั่งหลายคน เช่นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป (รวมทั้งคนขับ) จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรถติดหรือไม่ ?
(6) รถที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรถติดมีรถประเภทใดบ้าง ?
(7) ช่วงเวลาการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ? หรือตลอดทั้งวัน ?
(อัตราค่าธรรมเนียมรถติดเท่าใด ? เท่ากันตลอดทั้งวัน ? หรือเปลี่ยนตามช่วงเวลา ?
(9) กรุงเทพฯ มีตรอกซอกซอยมาก จะป้องกันไม่ให้ผู้ใช้รถใช้เป็นเส้นทางหลบเลี่ยงการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดได้อย่างไร ?
(10) จะนำเทคโนโลยีใดมาใช้เก็บค่าธรรมเนียมรถติด ?

4. สรุป
โดยสรุป หากรัฐเตรียมความพร้อมทุกด้านไว้อย่างดี การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดคงทำให้รัฐได้เงินไม่น้อยที่จะเป็นรายได้แหล่งหนึ่งในการนำไปซื้อสัมปทานคืนจากเอกชน แต่ถ้ารัฐไม่สามารถเตรียมความพร้อมทุกด้านได้ดีพอ การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดก็จะล้มเหลวอีกเช่นเคย

ครบรอบ 1 ปีรถไฟฟ้า 20 บาท รฟม. เผยผลสำเร็จโครงการ ผู้โดยสารสีม่วงพุ่ง 17.70% รับ อานิสงส์ครบทั้งลานจอดรถ-สายสีน้ำเงิน

(25 ต.ค. 67) เมื่อ 23 ต.ค. 67 ที่ผ่านมาครบรอบการดำเนินการตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย 1 ปีในการนี้ทางการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจึงออกมาแถลงถึงผลการดำเนินการที่ผ่านมา

โดยนายวิทยา พันธุ์มงคล รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า 

หลังจากที่ รฟม. ได้ดำเนินการตามนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ซึ่งเป็นหนึ่งนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ที่สำคัญของกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน 

โดยเริ่มดำเนินการในระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ก่อนเป็นลำดับแรก ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 จากนั้นในระยะที่ 2 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 จึงเริ่มใช้อัตราค่าโดยสารร่วมสูงสุด 20 บาท สำหรับผู้เดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และระบบรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) โดยใช้บัตร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที 

ทั้งนี้ ตลอดช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ได้เริ่มดำเนินการมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท พบว่า จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 17.70 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเริ่มมาตรการ โดยปัจจุบันผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 66,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงผลของการดำเนินงานตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ได้อย่างชัดเจน  

นายวิทยา พันธุ์มงคล กล่าวต่อว่า จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงที่เพิ่มสูงขึ้น ยังช่วยเพิ่มปริมาณผู้โดยสารให้กับรถไฟฟ้าสายอื่นได้เป็นอย่างดี โดยจากผลการเปรียบเทียบจำนวนผู้โดยสารในช่วงก่อนดำเนินการนโยบายเทียบกับปัจจุบัน พบว่า รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 11.92 หรือคิดเป็นจำนวนเฉลี่ยกว่า 420,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน 

สถานีรถไฟฟ้าที่มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สถานีสุขุมวิท สถานีเพชรบุรี สถานีพระราม 9 สถานีพหลโยธิน และสถานีสีลม โดยสถานีสุขุมวิทและสถานีสีลมซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.11 และ 9.80 ตามลำดับ 

ในส่วนของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยสถานีที่มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สถานีเตาปูน สถานีตลาดบางใหญ่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีบางซ่อน และสถานีคลองบางไผ่ โดยในส่วนของสถานีศูนย์ราชการนนทบุรีซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 63.36 และสถานีตลาดบางใหญ่ซึ่งเป็นสถานีที่อยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้า แหล่งชุมชน มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.22 ตามลำดับ

นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้บริการอาคารจอดแล้วจร MRT สายสีม่วง ก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนดำเนินการนโยบาย เช่น อาคารจอดแล้วจรสถานีสามแยกบางใหญ่ มีจำนวนผู้ใช้บริการในช่วงวันธรรมดาเพิ่มสูงถึงร้อยละ 29 อาคารจอดแล้วจรสถานีบางรักน้อยท่าอิฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 และอาคารจอดแล้วจรสถานีคลองบางไผ่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เป็นต้น 

สถานีคลองบางไผ่นอกจากจะมีอาคารจอดแล้วจรให้บริการแล้วนั้น ยังถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์คมนาคมขนส่งด้านตะวันตก (คลองบางไผ่) ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยเปิดให้บริการจุดจอดรถรับ-ส่ง รถโดยสารประจำทางของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระบบขนส่งสาธารณะทางบกและทางรางแบบไร้รอยต่อ (Seamless Transport) 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้สะท้อนให้เห็นว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น นอกจากจะช่วยเพิ่มปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงแล้วนั้น ยังสนับสนุนให้เกิดการใช้รถไฟฟ้าในภาพรวมของทั้งโครงข่าย ลดการใช้รถส่วนบุคคลเพื่อลดปัญหาการจราจรและมลพิษทางอากาศ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบของสถานีรถไฟฟ้า 

‘สุริยะ’ ยัน รถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย มาแน่ คาดสามารถประกาศใช้เดือนกันยายน นี้

‘สุริยะ’ ยืนยัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย ประกาศใช้ในเดือน ก.ย. นี้ ชี้ รถไฟฟ้า 20 บาท ดันผู้ใช้บริการ สายสีม่วง-สายสีแดง โต 10.86%

(13 ก.พ. 68) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ในปัจจุบันได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี 2 เดือนในโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ได้ผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี สะท้อนได้จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาที่มีสถิติการมีผู้ใช้บริการสูงที่สุด (นิวไฮ) ตั้งแต่เปิดให้บริการ โดยทั้ง 2 สายดังกล่าว มีปริมาณผู้โดยสารรวม 3,054,439 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.86 และรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ นายสุริยะ ยืนยันจะประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในโครงการรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทางภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่เคยกำหนดไว้ ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ คาดว่า จะประกาศราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2568 และเสนอประกาศกฎหมายลำดับรองภายในเดือนกันยายน 2568

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เมื่อนโยบายนี้ ครอบคลุมในทุกเส้นทาง จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน นอกจากนี้ เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นแล้ว คาดว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีแดง จะมีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าช่วงก่อนเริ่มนโยบายภายในปี 2568 หรือเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ จากเดิมที่คาดว่าภายในระยะ 2 ปี 7 เดือนหลังจากเริ่มนโยบาย ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐอาจจะไม่ต้องชดเชยส่วนต่างรายได้ให้กับทั้ง 2 โครงการดังกล่าวแล้ว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มปริมาณผู้โดยสารที่ตอบรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ถือว่า เป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมได้ช่วยลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังจูงใจให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นอีก 1 ปัจจัยในการช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และสร้างโอกาสในการเดินทางอย่างเท่าเทียมของคนทุกกลุ่มด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top