Sunday, 20 April 2025
รถไฟทางไกล

19 ม.ค. 66 บันทึกประวัติศาสตร์ ‘รถไฟไทย’ ทางไกลสายเหนือ-ใต้-อีสาน ใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

เพจโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure โพสต์ข้อความระบุว่า มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง!!! หลัง 19 มกราคม 66 12:00 น. หลังเปิดสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์!!! {ย้ายต้นทาง/ปลายทาง รถไฟ 52 ขบวน/ปิด 6 สถานีระดับดิน/รถไฟโดยสารทั้งหมดขึ้นยกระดับ}

19 มกราคม 2566 อีกหนึ่งวันที่จะเป็นวันสำคัญ ที่จะต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ของการพัฒนาระบบรางไทย!!! ที่จะเปิดสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยการย้ายรถไฟทางไกล 52 ขบวน มาเริ่มต้นทางที่สถานีนี้

ซึ่งจะเป็นการยกระดับใหญ่อีกครั้งหนึ่งของการรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของไทย!!!

แล้ว 19 มกราคม 2566 หลังเที่ยง (12:00 น.) จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง??? มาเตรียมตัวและทำความเข้าใจไปด้วยกันครับ!!!

แน่นอน ว่าเราทราบกันแล้วว่าจะมีรถไฟทางไกล ทั้งหมด 52 ขบวน เข้ามาเริ่มต้น/สิ้นสุด ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แบ่งตามสายทางได้ดังนี้
- สายเหนือมี 18 ขบวน ได้แก่
3 4 7 8 9 10 13 14 51 52 109 102 105 106
107 108 111 และ 112

รถไฟทางไกลสายใต้ มี 24 ขบวน ได้แก่
31 32 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46
83 84 85 86 167 168 169 170 171 172
173 และ 174

รถไฟทางไกลสายอีสาน มี 24 ขบวน ได้แก่
21 22 23 24 25 26 67 68 71 72 75 76
77 78 133 134 135 136 139 140
141 142 145 และ 146 

*** รถไฟสายเหนือ-อีสาน 'ทั้งหมด'!!! จะขึ้นทางยกระดับร่วมกับรถไฟสายสีแดง 
โดยจอดแค่ สถานีดอนเมือง และ รังสิต เท่านั้น!!!
สถานีระดับดินตั้งแต่ กม.11 ถึง รังสิต จะปิดทั้งหมด!!!
ผู้โดยสารที่มีตั๋ว และจะลงระหว่างทางในสถานีเดิม สามารถใช้ตั๋วโดยสาร ต่อรถไฟไปลงที่สถานีที่ต้องการได้ฟรี!!!
รายละเอียดการใช้ตั๋วโดยสารเดินทางสายสีแดง
https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1597488807356259/

‘ศักดิ์สยาม’ เป็นประธานเปิดบริการรถไฟทางไกล ดีเดย์วันนี้ 52 ขบวน ขึ้นลงที่ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’

‘ศักดิ์สยาม’ เป็นประธานพิธีเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล และปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - ที่หยุดรถมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล และปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - ที่หยุดรถมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) โดยมีนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม ประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายนิรุฒ มณีพันธ์  ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี ในวันที่ 19 มกราคม 2566 ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กรุงเทพฯ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพในด้านโครงข่ายคมนาคม เพื่อการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ โดยกระทรวงคมนาคม ได้แปรนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบราง เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการให้มีมาตรฐานทัดเทียมในระดับนานาชาติ  

กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ศูนย์กลางการขนส่งระบบรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางทางรางทุกเส้นทาง โดยระยะแรกได้เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์รถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ - ตลิ่งชัน และ บางซื่อ - รังสิต) อย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินการก่อสร้างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งระบบรางที่สามารถเชื่อมโยงทุกจุดหมายทั่วประเทศ และเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ขบวนรถไฟทางไกลจะเปิดให้บริการ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดภาระความแออัดการให้บริการของสถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพง และลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครบริเวณจุดตัดทางรถไฟ รวมทั้งลดปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อม PM 2.5 และเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถไฟให้มีความตรงต่อเวลามากยิ่งขึ้น ซึ่งในลำดับแรกจะดำเนินการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล ณ บริเวณประตู 4 ชั้น 2 จำนวน 8 ชานชาลา รวม 52 ขบวน แบ่งเป็น รถไฟสายเหนือ 14 ขบวน รถไฟสายใต้ 20 ขบวน และรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน โดยในวันนี้ (19 มกราคม 2566) มีขบวนรถไฟเข้า-ออก สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวน 27  ขบวน แบ่งเป็น สายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ขาออก จำนวน 10 ขบวน ขาเข้า จำนวน 7 ขบวน และรถไฟสายใต้ ขาเข้า จำนวน 1 ขบวน ขาออก จำนวน 9 ขบวน 

ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า ภายหลังการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล จะส่งผลให้มีผู้ใช้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพิ่มขึ้นอีก 10,000 คนต่อวัน ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีมาตรการรองรับและมีความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้โดยสารรถไฟทางไกล ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งป้ายบอกทาง จุดพักคอยผู้โดยสาร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารปรับอากาศให้บริการเส้นทางระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และสถานีหัวลำโพง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีความถี่ทุก ๆ 30 นาที หรือตามจำนวนเที่ยวที่ขบวนรถไฟมาถึงสถานี และการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ได้แก่ รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อการเดินทางทางอากาศผ่านระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยการดำเนินงานในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พี่ประชาชนได้รับความสะดวก สบาย ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งเป็นการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศในระยะยาว 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top