Wednesday, 9 April 2025
รถไฟจีน_ลาว

นักธุรกิจคาด ‘ทางรถไฟจีน-ลาว’ ตัวพลิกโฉมการพัฒนาประเทศลาว

เวียงจันทน์, 19 ต.ค. (ซินหัว) - วันอังคาร (19 ต.ค.) หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ ไทมส์ อ้างอิงวาลี เวดสะพง รองประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว ระบุว่าทางรถไฟจีน-ลาวอาจเป็นตัวพลิกโฉมการพัฒนาของลาว ทว่ารัฐบาลต้องมีแผนการชัดเจนว่าจะใช้ประโยชน์จากทางรถไฟดังกล่าวให้ได้มากที่สุดอย่างไร

วาลีระบุว่าทางรถไฟสายนี้จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจลาว และจะสร้างแรงผลักดันมหาศาลต่อการยกระดับความเชื่อมโยงระหว่างลาวกับนานาประเทศในภูมิภาค

“ผู้ประกอบการหลายรายจะเปลี่ยนไปส่งออกสินค้าทางรถไฟอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร เนื่องจากช่วยประหยัดเวลาและเงิน” วาลีกล่าว “ทางรถไฟจะทำให้การท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนเติบโต โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมแปรรูป ซึ่งหลายบริษัทแสดงท่าทีสนใจก่อตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรสำหรับส่งออกแล้ว”

ผู้ประกอบการลาวจำนวนมากตื่นเต้นกับโอกาสที่พวกเขาจะได้รับจากการขนส่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาว หลังรถไฟโดยสารขบวนแรกของทางรถไฟสายนี้เดินทางถึงนครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันเสาร์ (16 ต.ค.) ที่ผ่านมา

มีการคาดการณ์ว่าทางรถไฟจีน-ลาว ความยาว 422.4 กิโลเมตร จะลดทอนต้นทุนการขนส่งผ่านลาวลงร้อยละ 30-40 เมื่อเทียบกับการขนส่งทางถนน ขณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวลาวจะได้รับประโยชน์จากปริมาณผู้โดยสารทางรถไฟที่เพิ่มขึ้นด้วย

‘อลงกรณ์’ เผยขบวนรถไฟสาย ‘จีน-ลาว’ สุดเจ๋ง ขนสินค้าเกษตร 20 ตู้ ถึง ‘นครฉงชิ่ง’ ใช้เวลาแค่ 6 วัน

‘อลงกรณ์’ เผยขบวนรถไฟสาย ‘จีน-ลาว’ ขนสินค้าเกษตรของไทย 20 ตู้ถึงมหานครฉงชิ่งแล้ว ใช้เวลา 6 วัน เร่งดันผลไม้ขึ้นรถไฟให้ทันฤดูกาลผลิต ปี 2565

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเกษตรของไทยล็อตแรก 20 ตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 65 ที่ผ่านมา โดยรถไฟสายจีน-ลาว จากสถานีรถไฟเวียงจันทน์ใต้ สู่ด่านรถไฟโมฮ่านของมณฑลยูนนาน ได้ขนส่งถึงมหานครฉงชิ่ง โดยใช้เวลารวมทั้งสิ้น 6 วัน ตั้งแต่เดินทางออกจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ โดยใช้เวลาในสปป.ลาว 3 วัน และการเดินทางในจีนอีก 3 วัน โดยได้สรุปตารางเวลาที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนจากไทยผ่านสปป.ลาว ข้ามพรมแดนจีนจนถึงภาคตะวันตกของจีน คือมหานครฉงชิ่ง เชื่อว่าจะสามารถลดเวลาในการขนส่งในอนาคตเหลือเพียง 4 วัน เมื่อมีการปรับตัวการทำงานของทุกฝ่าย เป้าหมายต่อไปคือการเร่งเปิดบริการอย่างเป็นระบบ การลดเวลา การขนส่งตลอดห่วงโซ่โลจิสติกส์เพื่อขยายการขนส่งทางรถไฟสายนี้

สำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา ผักผลไม้ มันสำปะหลัง ปาล์ม กล้วยไม้ น้ำตาล และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายให้สามารถขนส่งทางรถไฟให้ทันฤดูกาลผลิตปี 2565 ขณะนี้ ฝ่ายไทยและสปป.ลาว พร้อมแล้ว รอทางจีนเปิดทำการด่านตรวจพืช ณ สถานีรถไฟโมฮ่านภายใต้พิธีสารที่ได้ตกลงกันตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งได้ประสานขอความร่วมมือกับทางการจีนให้เร่งดำเนินการหลังเทศกาลตรุษจีนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 

“นับเป็นขบวนสินค้าปฐมฤกษ์ของไทยที่สามารถเปิดบริการได้เป็นขบวนแรก และเป็นการเปิดศักราชใหม่ของนโยบายอีสานเกตเวย์ เชื่อมอีสานเชื่อมโลกด้วยเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายโลจิสติกส์เกษตรของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” นายอลงกรณ์ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top