31 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 กำเนิด ‘รถแท็กซี่’ ในประเทศไทย เริ่มออกวิ่งให้บริการเป็นครั้งแรก
วันนี้เมื่อ 100 ปีก่อน รถแท็กซี่ (Taxi) เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย โดย พลโท พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เพื่อช่วยทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้มีอาชีพหลังจากปลดจากราชการ
ในครั้งนั้น ได้นำเอารถเก๋งออสติน (Austin) ขนาดเล็กออกวิ่งรับจ้าง ติดป้ายรับจ้างไว้ข้างหน้า-หลังของตัวรถ คิดค่าโดยสารเป็นไมล์ โดยตกไมล์ละ 15 สตางค์ ซึ่งนับว่าแพงมากเมื่อเทียบราคากับค่าโดยสารในปัจจุบัน ในสมัยนั้นจึงนิยมเรียกกันว่า ‘รถไมล์’ เพราะเก็บค่าโดยสารตามเลขไมล์ระยะทางที่วิ่ง
ในสมัยบุกเบิกใหม่ ๆ นั้นมีรถแท็กซี่อยู่เพียง 14 คัน แต่ก็ประสบปัญหาขาดทุนจนต้องเลิกกิจการในที่สุด เนื่องจากค่าโดยสารแพง ผู้ใช้บริการยังไม่คุ้นเคยจึงไม่ยอมนั่ง ประกอบกับเมืองกรุงเทพฯ ยังมีขนาดเล็ก และมีรถรับจ้างอื่น ๆ อยู่มากและราคาถูกกว่า
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2490 ก็มีผู้นำรถยนต์นั่งมาให้บริการในลักษณะรถแท็กซี่อีกครั้ง รถที่นำมาบริการในช่วงนั้นเป็นรถยี่ห้อ เรโนลต์ (Renault) สมัยนั้นจึงเรียกแท็กซี่ว่า ‘เรโนลต์’ ได้รับความนิยมจากคนทั่วไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากสะดวกรวดเร็วกว่ารถจักรยานสามล้อถีบ ซึ่งมีชุกชุมในยุคนั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้อาชีพขับรถแท็กซี่เป็นที่ฮือฮา มีผู้นำรถเก๋งไปทำเป็นรถแท็กซี่กันมากขึ้น จนขยายไปต่างจังหวัด จนต้องมีการควบคุมกำหนดจำนวนรถมาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันแท็กซี่ในเมืองไทยเป็นรถปรับอากาศ ติดมิเตอร์คิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางและเวลา นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์ส่วนบุคคลนำมาให้บริการผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นวิวัฒนาการรถแท็กซี่ในประเทศไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
