ไทย เคยทดลองใช้รถเมล์สองชั้น เมื่อ 34 ปีก่อน วอน ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ พิจารณา นำกลับมาใช้อีกครั้ง
เพจเฟซบุ๊ก รถเมล์ไทยแฟนคลับ Rotmaethai แชร์เรื่องราวของรถเมล์สองชั้น ที่เคยวิ่งในกรุงเทพฯ เมื่อ 34 ปีก่อน เนื้อหาระบุว่า...
26 กุมภาพันธ์ 2531
ขสมก. เปิดการทดลองเดินรถเมล์สองชั้นยี่ห้อเลย์แลนด์ ในสาย 29 52 95 138 เป็นเวลา 6 เดือน
===ออมนิบัส 2 ชั้น ชั้นละ 2 ล้าน===
นับตั้งแต่ต้นปี 2531 ขสมก. มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลายประการ ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดคือรถใหม่สีขาวคาดแดงจำนวน 900 คัน เก็บค่าโดยสารระบบหยอดเหรียญ อัตราค่าโดยสาร 3 บาท แพงกว่ารถแบบเก่า 1 บาท โดย ขสมก. ให้เหตุผลว่ารถใหม่ให้บริการดีกว่ารถเก่า ซึ่งถึงทุกวันนี้ก็คงรู้ซึ้งกันดีแล้วว่าบริการดีกว่ากันขนาดไหน
ความเคลื่อนไหวอีกประการหนึ่ง ที่ได้รับความสนใจมากพอสมควรเหมือนกันคือ การนำรถเมล์ 2 ชั้นมาทดลองวิ่งให้บริการประชาชน
รถเมล์สองชั้นชนิดนี้ ผลิตโดยบริษัทเลย์แลนด์แห่งประเทศอังกฤษ ทาง ขสมก. ได้ทำข้อตกลงกับบริษัทเลย์แลนด์ว่า ขอนำรถโดยสารสองชั้นนี้มาทดลองวิ่งบริการประชาชนในกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 6 เดือนแบบฟรีๆ หากเป็นที่นิยมของประชาชน หรือสามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนของ ขสมก. ได้ ก็จะเปิดให้เอกชนมาเป็นผู้ลงทุนซื้อรถโดยสารสองชั้นนี้ วิ่งในเส้นทางของ ขสมก.
ส่วนทางด้านบริษัทเลย์แลนด์ก็เสนอเงื่อนไขให้ว่า หากมีการซื้อรถเมล์สองชั้นจำนวน 740 คัน ทางรัฐบาลอังกฤษซึ่งสนับสนุนโครงการผลิตรถสองชั้นอยู่ ก็จะสนับสนุนด้านการเงินให้กับ ขสมก. ฟรีๆ ทันที 900 ล้านบาท
รถที่บริษัทเลย์แลนด์จัดหามาให้ ขสมก. ใช้ฟรีนี้ มีจำนวน 1 คัน เมื่อแรก ขสมก. ตั้งใจจะให้บริการย่านชุมชน แต่ปรากฏว่ามีอุปสรรคในการเดินรถมาก เช่น ลักษณะถนนในกรุงเทพมหานครไม่ราบเรียบเสมอกัน บางช่วงโค้งเป็นหลังเต่า บางช่วงมีสะพานที่สูงชัน บางถนนมีสายโทรศัพท์พาดข้ามถนน บางถนนมีต้นไม้ที่อาจจะทำให้ละกับหน้าต่างรถชั้นบนได้
ขสมก. จึงตกลงใจให้นำมาวิ่งในสาย 29 (รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยฯ) โดยมีเส้นทางจากรังสิต ผ่านมาตาม ถ.วิภาวดีตลอดสาย เลี้ยวเข้าสามเหลี่ยมดินแดง เข้าอนุสาวรีย์ชัยฯ จอดด้านห้างโรบินสัน (เกาะดินแดง) สลับกับเส้นทางสาย 95 จากรังสิต ดอนเมือง วิภาวดี หลักสี่ รามอินทรา บางกะปิ สุดทางที่ ม.รามคำแหง เก็บค่าโดยสาร 2 บาทตลอดสาย ขสมก. เป็นผู้จ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร
เมื่อทดลองครบ 6 เดือนแล้ว จะนำรายได้มาหักค่าใช้จ่าย เงินที่เหลือจากรายได้ จะนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ
ลักษณะของรถ ตัวถังสีขาว มีแถบสีน้ำเงินพาดเฉียงๆ ที่ข้างรถ ขนาด 2 เพลา ความยาว 10 เมตร สูง 4.5 เมตร สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 140 คน มีประตูเปิดปิดอัตโนมัติ ขึ้นทางประตูหน้า ลงทางประตูกลาง มีเครื่องยนต์อยู่ท้ายรถ จึงไม่มีเสียงรบกวนผู้โดยสาร
ห้องโดยสารชั้นล่างมีเก้าอี้นั่งน้อย (ให้ยืนชั้นล่าง) เพราะออกแบบมาเพื่อให้สะดวกต่อผู้โดยสารที่จะขึ้นชั้นบน โดยมีบันไดเวียนอยู่ซีกขวาตรงกลางตัวรถ ออกแบบมิดชิดให้ผู้โดยสารที่เป็นสุภาพสตรีเดินขึ้นได้อย่างสะดวกใจ หน้าต่างเป็นแบบบานเลื่อน จำนวนไม่มากนัก เพราะเป็นรถที่ออกแบบไว้ใช้ในประเทศหนาวอย่างอังกฤษ ชั้นบนมีเก้าอี้ที่นั่งมากกว่า จำนวนหน้าต่างมากกว่า เหมาะสำหรับนั่งชมวิวทิวทัศน์สองข้างทางเป็นอย่างยิ่ง
ราคาตกคันละ 4 ล้านบาท และถ้าติดแอร์ ราคาจะเพิ่มเป็น 6 ล้านบาท เท่ากับซื้อรถธรรมดาได้ 6 คัน ดูจากข้อมูลและตัวเลขต่างๆ ที่กล่าวมา ก็คงพอจะสรุปได้ว่า หลังจากทดลองครบกำหนดเวลา ผลจะออกมาอย่างไร
กล่าวคือรถเมล์สองชั้นแบบนี้มีข้อดีที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าจ้างพนักงานขับรถ กระเป๋า ค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา อยู่ในระดับใกล้เคียงกับรถธรรมดาทั่วไป แต่มีความสามารถในการบรรทุกผู้โดยสารได้เป็นสองเท่าของรถธรรมดา ซึ่งหมายความว่า ถ้านำรถชนิดนี้มาใช้ ขสมก. จะสามารถทำกำไรได้มากขึ้น เป็นการลดภาวะขาดทุนลง
