Monday, 13 May 2024
รถอีวี

รัฐเร่งเครื่องยานยนต์ไฟฟ้า ดันมาตรฐานอีวีเพิ่มรองรับ 

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุม กมอ. ได้เห็นชอบมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอีก 19 มาตรฐาน เพื่อรองรับนโยบายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาล หลังจากได้มีการประกาศใช้แล้วจำนวน 116 มาตรฐาน 

สำหรับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าที่ประกาศเพิ่มอีก 19 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานระบบแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานระบบการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า มาตรฐานระบบขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรฐานวิธีทดสอบที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ในปี 2565 สมอ. มีแผนจัดทำมาตรฐานอีกจำนวน 19 มาตรฐาน ได้แก่มาตรฐานเรือไฟฟ้า ชิ้นส่วนสำหรับดัดแปลงรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า  ระบบจอดอัตโนมัติของรถยนต์  และระบบแบตเตอรี่ของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น โดยจะเร่งดำเนินการออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านอีวีให้เป็นรูปธรรม 

ไขข้อข้องใจชาร์จรถอีวีตอนฝนตก ปลอดภัยไหม? รถจะพังหรือเปล่า?

ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 (อ้างอิงจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา) แน่นอนว่าในช่วงนี้ ก็จะมีฝนตกลงมาอย่างชุ่มฉ่ำทุกวันโดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครของเรา ในขณะที่กำลังนั่งเขียนอยู่นี้ (5 ก.ค. 2566 เวลาประมาณ 10 โมงเช้า) มองออกไปที่นอกหน้าต่างก็เห็นท้องฟ้าที่มืดครึ้ม

เราก็คงจะไปห้ามฟ้าห้ามฝน ไม่ให้มันตกก็คงจะไม่ได้ ช่วงนี้กระแส ‘รถอีวี’ ในประเทศไทยก็กำลังมาแรง มีประชากรผู้ใช้รถอีวีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่ากระแสไฟฟ้ากับน้ำ นั้นไม่ใช่ของคู่กัน ถ้ารถไฟฟ้าของเราแบตอ่อนใกล้จะหมด แล้วเราจะต้องชาร์จท่ามกลางสายฝนหล่ะ มันจะสามารถทำได้หรือไม่? แล้วมันจะปลอดภัยหรือไม่? เชื่อว่าผู้ใช้รถอีวีหลายๆ ท่านก็คงต้องการคำตอบ

ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายรถยนต์ต่างๆ ก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า มันสามารถชาร์จตอนฝนตกได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ Youtube ช่อง ‘ALL EV by Steele Auto Group’ ก็ยังได้ออกมาสาธิตให้ดูพร้อมกับอธิบายให้ฟัง

ผู้ชายที่อยู่ในคลิปชื่อว่า ‘David Giles’ ได้อธิบายพร้อมกับการจุ่มหัวชาร์จทั้งหัวลงในถังน้ำ หยิบขึ้นมาเขย่านิดหน่อย แล้วก็เสียบชาร์จเลย ปรากฏว่าก็สามารถชาร์จรถได้ตามปกติ ซึ่ง David ก็ได้อธิบายว่า "ทั้งสายชาร์จ และหัวชาร์จจะไม่มีกระแสไฟฟ้าอยู่เลยจนกว่าจะเสียบหัวชาร์จเข้ากับรถ หลังจากนั้นจะเกิดการติดต่อสื่อสารที่เรียกว่า "Hand Shake" ระหว่างตัวรถ และเครื่องชาร์จ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็น รวมถึงการเช็คความปลอดภัยในการชาร์จด้วย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ถึงจะปล่อยกระแสมาที่ตัวรถ แต่หากการตรวจสอบพบว่ามีไฟรั่ว หรือมีการทำงานผิดปกติที่ไม่ปลอดภัย จะไม่มีการปล่อยกระแสไฟฟ้ามาที่ตัวรถเด็ดขาด"

จากนั้นก็หยิบน้ำมาเทลงบนหัวชาร์จ ขณะกำลังชาร์จอยู่!! และอธิบายต่อว่า "หากระหว่างการชาร์จ มีการลัดวงจร ระบบจะทำการตัดการจ่ายไฟทันที  เพราะฉะนั้นคุณสามารถล้างรถขณะชาร์จได้ด้วยซ้ำ"

David Giles แสดงให้เห็นว่า การชาร์จรถไฟฟ้าอีวี ในขณะที่เปียกน้ำนั้น มันก็ยังคงปลอดภัย เพราะฉะนั้นการชาร์จภายใต้การใช้งานแบบปกติ ฝนตกบ้าง หรือแม้แต่พายุบ้างก็จะมีความปลอดภัย 

อย่างไรก็ดี การสาธิตนี้ ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงระบบความปลอดภัยเมื่อโดนน้ำเท่านั้น!! แต่ก็ไม่แนะนำให้ทำตามเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดความเสียหาย หรืออาจจะทำให้รถขาดประกันได้ โปรดศึกษาคู่มือรถไฟฟ้าอีวีของท่าน และใช้งานภายในขอบเขตที่คู่มือแนะนำจะดีที่สุด

‘วัดอินทาราม’ เปิดสถานีชาร์จในวัดแห่งแรกของไทย เจ้าอาวาส เจิมหัวชาร์จ พรมน้ำมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล

พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ (ดร.หลวงพ่อแดง นันทิโย) รองเจ้าคณะอำเภออัมพวา เจ้าอาวาสวัดอินทาราม ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ได้เจิมและปะพรมน้ำพระพุทธมนต์สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Station  ที่ทางวัดอินทารามติดตั้งขึ้นภายในวัดอินทาราม และตรวจสอบระบบการใช้งานเรียบร้อยแล้ว นับเป็นสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในวัดแห่งแรกของ จ.สมุทรสงคราม โดยมีพระสงฆ์จำนวน 5 รูป เจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล

พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันประชาชนเริ่มใช้รถยนต์ที่ใช้ระบบไฟฟ้าเป็นพลังงานขับเคลื่อนมากขึ้น ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบันก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สถานีชาร์จไฟฟ้ารถยนต์ยังมีไม่เพียงพอและยังไม่แพร่หลาย โดยเฉพาะที่ จ.สมุทรสงคราม แม้จะเริ่มพบเห็นตามปั๊มน้ำมันบ้างแล้ว แต่ EV Station ก็ยังเปิดให้บริการกันน้อยมาก ทำให้ผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าบางรายขาดความมั่นใจในการเดินทางเนื่องจากเกรงว่าจะหาสถานีชาร์จไฟฟ้าไม่ได้

วัดอินทารามจึงได้ติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้ารถยนต์ไว้ที่บริเวณลานจอดรถหน้าพระอุโบสถหินอ่อน เป็นขนาด 7 กิโลวัตร์ จำนวน 3 เครื่อง รองรับหัวชาร์จมาตรฐานทุกรุ่น ให้บริการผู้ที่มาร่วมทำบุญและนักท่องเที่ยวสายมูที่มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด เช่นหลวงพ่อโตซัมปอกง 300 ปี และท้าวเวสสุวรรณ โดยเปิดให้บริการชาร์จฟรีในช่วงกลางวันตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2566  หลังจากนั้นจะให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง โดยคิดค่ากระแสไฟฟ้าเพียงแค่ชั่วโมงละไม่เกิน 60 บาท

นายศิริพงษ์ ภัณฑารักษ์สกุล วิศวกรไฟฟ้าผู้ติดตั้งระบบ ซึ่งเป็นลูกศิษย์วัดอินทาราม บอกว่าเครื่องชาร์จไฟฟ้ารถยนต์ที่วัดอินทาราม ติดตั้งโดยบริษัท Friendly Charge รุ่น Delta AC Mini Plus 7.4 k W รองรับหัวชาร์จมาตรฐาน Type-2 รองรับรถไฟฟ้าได้ทุกรุ่นทุกแบบถึง 95 เปอร์เซ็นต์ มีระบบ IP55 ป้องกันฝนแดดและฝุ่นละออง  และระบบ IK08 กันแรงกระแทก รวมทั้งมีระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้าตัดไฟอัตโนมัติเมื่อชาร์จเต็ม หรือมีเหตุขัดข้อง ภายในให้โซลูชั่นการชาร์จไฟฟ้าที่ดีที่สุดสำหรับการใช้งานระบบจ่ายเงินง่ายสะดวก สามารถแสกนคิวอาร์โคดใช้ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ไม่จำเป็นต้องโหลดแอพพลิเคชั่นเพียงกรอกข้อมูลรายละเอียดพื้นฐาน แล้วกด next  ก็เริ่มชาร์จได้ทันที อีกทั้งสามารถตั้งเวลาว่าต้องการชาร์จกี่ชั่วโมง เพื่อใช้เวลาในการทำบุญไหว้พระท่องเที่ยว อีกทั้งยังตรวจสอบในสมาร์ทโฟนเพื่อวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวได้ เช่นหากต้องการชาร์จเต็มที่รถวิ่งได้ 400 ก.ม.จะใช้เวลาชาร์จประมาณ 6-7 ช.ม.

‘พิมพ์ภัทรา’ เผย!! เร่งผลักดันส่งเสริม ‘อุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้า’ หลังค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเข้าพบ-หารือแนวทางสนับสนุน

(12 ก.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงพลังงาน และคณะทำงานในการพิจารณากำหนดแนวทางผลักดันมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หรือ EV 3.5 เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยด่วน ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วที่สุด ก่อนที่มาตรการอีวี 3.0 จะสิ้นสุดภายในสิ้นปีนี้

“ขณะนี้มีค่ายรถยนต์อีวีบางค่ายสอบถามเรื่องมาตรการส่งเสริมรถอีวี และเข้ามาพบ เพื่อหารือถึงแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบ้างแล้ว ซึ่งจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทุกฝ่าย อาจจะต้องมีการปรับรายละเอียดหลักเกณฑ์เงื่อนไขบ้างบางข้อตามความเหมาะสม” นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าว

นอกจากนี้จะพิจารณาแนวทางช่วยเหลือ ดูแลผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ตามนโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ฝากการบ้านถึงกระทรวงอุตสาหกรรม ในการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา แม้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ออกมาจะไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยตรง แต่ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลเรื่องการพักหนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนเอสเอ็มอีรายใหม่ รวมถึงเตรียมกำหนดแนวทางสนับสนุนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์สอดรับนโยบายรัฐบาลด้วย

เกาะศึกชิงดำ!! รถไฟฟ้าอีวีโปรเจกต์ X จากซัพพลายเออร์ไอโฟน 'ไทย' ลุ้น!! ชน 'อินเดีย' เบียดขึ้นแท่นปั้น EV 3 ที่นั่งป้อน 3 ประเทศ

(30 ต.ค. 66) เพจ 'BTimes' เผยว่า ฟ็อกซ์คอนน์จ่อผลิตรถอีวีขนาดเล็กส่งขายอินเดีย ญี่ปุ่น ไทย ปีละ 100,000 คัน ลุ้นตั้งโรงงานผลิตในไทย

เอ็มไอเอช คอนซอร์เตียม (MIH Consortium) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือฟ็อกซ์คอนน์ ซัพพลายเออร์รายยักษ์ใหญ่ผลิตไอโฟนจากไต้หวัน เปิดเผยว่า เตรียมผลิตและขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวีขนาดเล็กใน 3 ประเทศของเอเชีย ได้แก่ อินเดีย, ญี่ปุ่น และไทย ด้วยเป้าหมายการขายปีละ 100,000 คันในตลาดทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว

นายแจ็ค เฉิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ เอ็มไอเอช คอนซอร์เตียม กล่าวว่ารถอีวีขนาดเล็กอยู่ในโครงการชื่อว่า 'โปรเจกต์เอ็กซ์' โดยเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 3 ที่นั่ง แบตเตอรี่ไฟฟ้าสามารถเปลี่ยนสลับได้ ที่สำคัญ มีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 2 ถึงระดับ 4 ซึ่งขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้งานของผู้ขับรถ สำหรับที่นั่งในรถอีวีขนาดเล็กรุ่นนี้ สามารถปรับเปลี่ยนได้เป็นทั้ง 2 ที่นั่ง และ 3 ที่นั่ง 

เฉิง กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาสรุปที่ตั้งฐานการผลิตรถอีวีขนาดเล็ก ซึ่งมีเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย เนื่องจากฟ็อกซ์คอนน์มีโรงงานอยู่แล้ว หรืออินเดีย เนื่องจากเอ็มไอเอช คอนซอร์เตียม มีหุ้นส่วนธุรกิจอยู่ในประเทศแล้ว 

ตั้งเป้าหมายผลิตปีละ 100,000 คัน เพื่อจำหน่ายในประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และไทย โดยจะเริ่มเข้าสู่ตลาดใน 3 ประเทศนี้ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป แบ่งเป็น 50% หรือ 50,000 คัน ขายในอินเดีย ในไทยขาย 20-30% หรือ 20,000-30,000 คัน และในญี่ปุ่นอยู่ที่ 20% หรือราว 20,000 คัน 

เอ็มไอเอช คอนซอร์เตียม จะให้ใบอนุญาตเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของรถอีวีขนาด 3 ที่นั่งนี้กับบริษัทเอ็ม โมบิลิตี้ ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพในเครือกลุ่มบริษัทมหินทราในอินเดีย ดังนั้น บริษัทเอ็ม โมบิลิตี้ จะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถอีวีขนาดเล็กในทั้ง 3 ประเทศด้วย 

ทั้งนี้ ราคาของรถอีวีโปรเจกต์เอ็กซ์ ซึ่งมี 3 ที่นั่งนี้ ยังไม่ได้กำหนดชัดเจนออกมา แต่เป็นไปได้ที่จะมีราคาถึงคันละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 740,000 บาท 

‘รมว.ปุ้ย’ โชว์ 3 ผลงานเด่น ‘โรงงาน-กระตุ้นศก.ใต้-ขับเคลื่อนอุตฯ อีวี’ ด้าน 'บิ๊กโปรเจกต์' ช่วยชาวไร่อ้อย หนุนอุตฯ น้ำตาลทรายเป็นรูปธรรม

'รมว.พิมพ์ภัทรา' โชว์ผลงาน 90 วัน ผ่านการดำเนินงานขับเคลื่อน 3 แกนหลัก ย้ำการบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด พัฒนาระบบการรายงาน ด้านสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยมลพิษ แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) ผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรม แร่โพแทช ดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

(16 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ 7 กันยายน 2566 ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 3 เดือนที่สามารถทำได้ทันที เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่สำหรับกระตุ้นรายได้ มวลรวมของประเทศ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานใน 3 แกนหลัก คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม โดยแบ่งการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เน้นบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด รวมถึงพัฒนาระบบการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะยาว

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ) จัดงาน 'อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช' เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ และส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) ภายใต้แนวคิด 'ช้อป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด'

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการตรวจสอบและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งสร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ สมอ. ยังเร่งผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยกำหนดมาตรฐาน EV แล้วเสร็จ จำนวน 150 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมอีก 29 มาตรฐาน รวมทั้งกำหนดมาตรฐานเครื่องยนต์ เพื่อควบคุมการระบายมลพิษเป็น EURO 5 และ EURO 6

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เร่งผลักดันโครงการเหมืองแร่โพแทช 3 โครงการ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตแร่โพแทชได้ภายใน 3 ปี โครงการเหมืองแร่โพแทชจะช่วยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมในประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร นอกจากนี้ โครงการเหมืองแร่โพแทชยังจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่ชุมชน

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เร่งจ่ายเงินตัดอ้อยสดฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2565/2566 โดยมีราคาเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 1,197.53 บาทต่อตัน กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 โดยมีราคาที่ 1,420 บาทต่อตัน และแจกพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยไปปลูกและขยายพันธุ์ จำนวน 900,000 ต้น

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มุ่งเน้นดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจตาม Mega Trend ของโลก การพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา และข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยด้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนั้น สศอ. ได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 5 สาขา เพื่อเป็น New Growth Engine ในการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สศอ. ยังได้จัดทำข้อเสนอการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลและคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยเน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park เพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบในการพัฒนาเชิงนิเวศและนวัตกรรม นอกจากนี้ กนอ. ยังได้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อรองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ในอนาคต ปัจจุบัน กนอ. มีนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมรวม 68 แห่ง ใน 16 จังหวัด มีพื้นที่รวม 190,150 ไร่ มีโรงงานอุตสาหกรรมรวม 4,862 โรง มูลค่า การลงทุนรวม 10.84 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งสิ้น 984,723 ราย

“ในช่วง 90 วัน ของการทำหน้าที่ ดิฉัน ได้กำกับดูแลให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม มุ่งเน้น การบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะยาว นอกจากนี้ เรายังมุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ ส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) เร่งผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมแร่โพแทช รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการตรวจสอบและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด สร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวปิดท้าย

‘ฉางอาน ออโต้’ ตั้งเป้า ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า 3,000 คัน ในไทย พร้อมเตรียมเปิดศูนย์บริการ ให้กระจายไปทั่วประเทศ

(2 มี.ค. 67) นายเซิน ซิงหัว ตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยแผนการส่งมอบรถ Deepal S07 และ Deepal L07 ว่า

“เพื่อให้สอดรับกับกระแสความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น CHANGAN ประสบความสำเร็จในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย ด้วยการส่งมอบรถ Deepal S07 และรุ่น Deepal L07 ไปแล้วกว่า 3,000 คัน ความสำเร็จครั้งสำคัญนี้ตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์ และความมุ่งมั่นในการขยายศูนย์บริการที่ให้ความสำคัญกับลูกค้า เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงงาน Motor Expo 2023 ที่ผ่านมา CHANGAN มียอดจองมากกว่า 3,000 คัน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย การส่งมอบรถได้เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน CHANGAN ยังตั้งเป้าขยายศูนย์บริการให้ครอบคลุม เริ่มจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนกระจายไปทั่วประเทศเพื่อเพิ่มการให้บริการอย่างครบวงจร และตั้งเป้าสร้างโชว์รูมทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงบริการ และอำนวยความสะดวกสบายให้กับลูกค้าในทุกพื้นที่”

นอกจากนี้ เซิน ซิงหัว ยังได้กล่าวถึงลูกค้าในประเทศไทยที่มอบความไว้วางใจให้กับทางแบรนด์ด้วยว่า “ต้องขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่มอบความมั่นใจ และสนับสนุนด้วยดีเสมอมา ซึ่งความไว้วางใจ และความมั่นใจในแบรนด์นี้ คือสิ่งที่ขับเคลื่อน CHANGAN ให้ก้าวไปข้างหน้า สู่ความสำเร็จในการพัฒนาตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้มีศักยภาพต่อไป ในนาม CHANGAN Thailand มีการคัดสรรทีมงานผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อช่วยกันพัฒนาให้รถแต่ละรุ่นที่ออกจากโรงงานนั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่พร้อมเปิดประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี พร้อมสมรรถนะ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคด้านการใช้งานในปัจจุบันอย่างแท้จริง” นายเซิน ซิงหัว กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top