Thursday, 4 July 2024
ยูนิเซฟ

‘มาดามแป้ง’ นั่งแท่นทูตยูนิเซฟ ประเทศไทย คนที่สองของไทยต่อจาก ‘อานันท์ ปันยารชุน’

ยูนิเซฟประกาศแต่งตั้งนางนวลพรรณ ล่ำซำ หรือ มาดามแป้ง เป็นทูตองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย โดยมาดามแป้งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยยูนิเซฟรณรงค์สร้างความตระหนักถึงปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบความเป็นอยู่ของเด็ก พร้อมทั้งระดมการสนับสนุนจากหลากหลายภาคส่วนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก ๆ ในประเทศไทยและทั่วโลกโดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางที่สุด

นางนวลพรรณ ล่ำซำ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย และขอขอบคุณสำหรับความไว้วางใจที่ได้มอบหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับเด็กทุกคนในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นงานที่สำคัญมาก 

“เพราะแป้งเชื่อจากใจจริงว่าเด็กทุกคนคืออนาคตของชาติ ที่จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแล เอาใจใส่ เพื่อให้เติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแรงและมีคุณภาพ เฉกเช่นเดียวกับต้นไม้ที่จะเติบโตผลิดอกออกผลได้ดีก็ต่อเมื่อถูกปลูกในผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ ได้รับการรดน้ำ พรวนดินจากสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง และด้วยความตั้งใจจริงกับศรัทธาที่แป้งมี แป้งจะพยายามทำทุกอย่าง โดยอาศัยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และความถนัดที่แป้งมีเพื่อร่วมสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมที่เด็ก ๆ สามารถจะเติบโตขึ้นมาได้อย่างมีคุณภาพ และมีความสุขที่ยั่งยืนค่ะ”

การแต่งตั้งมีขึ้นในวันนี้ที่องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย โดยมีนางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดีกับมาดามแป้งในโอกาสการเข้ารับตำแหน่งทูตองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

“เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับมาดามแป้งในฐานะทูตองค์การยูนิเซฟคนใหม่ของประเทศไทย คุณสมบัติที่เพียบพร้อมของมาดามแป้ง ตลอดจนความสำเร็จจากบทบาทอันหลากหลายและแรงบันดาลใจที่มาดามแป้งได้ส่งต่อให้กับสังคม จะมีส่วนช่วยให้ยูนิเซฟบรรลุภารกิจเพื่อเด็กทั้งในด้านการเป็นกระบอกเสียงให้กับเด็กและเยาวชน และการทำให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจถึงความต้องการของเด็ก ๆ มากขึ้น  นอกจากนี้ มาดามแป้งจะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับชีวิตของเด็ก ๆ ในประเทศไทยและทั่วโลกอีกด้วย” นางคยองซอน กล่าว

ในฐานะทูตองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย มาดามแป้งจะร่วมสนับสนุนงานของยูนิเซฟในหลากหลายด้าน  โดยจะเน้นไปที่การพัฒนาเด็กปฐมวัย การศึกษา การกีฬาเพื่อการพัฒนา การคุ้มครองเด็กจากภัยออฟไลน์และออนไลน์ และการขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองทางสังคมสำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ควบคู่ไปกับการรณรงค์ด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ความเป็นอยู่ของเด็กดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน

อนึ่ง มาดามแป้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เป็นคนที่สองต่อจาก นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2539 โดยก่อนหน้านี้ มาดามแป้งได้ร่วมงานกับยูนิเซฟในฐานะที่ปรึกษาขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และได้ลงพื้นที่กับยูนิเซฟเยี่ยมเด็กข้ามชาติและเด็กไร้สัญชาติในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเน้นย้ำเรื่องสิทธิการศึกษาของเด็ก โดยเด็กทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาไม่ว่าพวกเขาจะมีสถานะหรือสัญชาติใดหรือไร้สัญชาติก็ตาม

‘ยูนิเซฟ’ เผยวิกฤตของ ‘เด็กเล็ก’ เกือบ 400 ล้านคนทั่วโลก ต้องเผชิญความรุนแรงทาง ‘ร่างกาย-วาจา’ ในครอบครัว

เมื่อวานนี้ (12 มิ.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การประมาณการใหม่จากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ (UNICEF) ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (11 มิ.ย.) เนื่องในโอกาสการฉลองวันแห่งการเล่นสากล (International Day of Play) ครั้งแรก เปิดเผยว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เกือบ 400 ล้านคน หรือร้อยละ 60 ของเด็กกลุ่มอายุนี้ทั่วโลก ต้องทนเผชิญความรุนแรงทางจิตใจหรือการลงโทษทางร่างกายจากที่บ้านเป็นประจำ โดยในจำนวนนี้มีเด็กราว 330 ล้านคนถูกลงโทษด้วยวิธีทางร่างกาย

ด้าน แคทเธอรีน รัสเซลล์ คณะกรรมการผู้บริหารของยูนิเซฟ กล่าวว่า เมื่อเด็กเผชิญความรุนแรงทางร่างกายหรือทางวาจาจากที่บ้าน หรือเมื่อไม่ได้รับการดูแลทางสังคมและทางอารมณ์จากบุคคลอันเป็นที่รัก การกระทำเหล่านี้เป็นบ่อนทำลายความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองและพัฒนาการของพวกเขาได้ พร้อมเสริมว่าการเอาใจใส่และการเลี้ยงดูอย่างสนุกสนานสามารถสร้างความสุขและยังช่วยให้เด็ก ๆ รู้สึกปลอดภัย ได้เรียนรู้ สร้างทักษะ และสำรวจโลกรอบ ๆ ตัวของพวกเขา

รายงานระบุว่า บรรทัดฐานทางสังคมอันตรายที่สนับสนุนวิธีการเลี้ยงดูบุตรโดยใช้ความรุนแรงยังคงมีอยู่ทั่วโลก โดยพบว่าแม่และผู้ดูแลหลักมากกว่า 1 ใน 4 มองว่าการลงโทษทางร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเลี้ยงดูและสั่งสอนเด็กอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ ยูนิเซฟเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มความพยายามและการลงทุนด้านการคุ้มครอง โดยการเสริมสร้างกรอบกฎหมายและนโยบายที่ยับยั้งและยุติความรุนแรงที่บ้านที่มีต่อเด็กทุกรูปแบบผ่านการขยายโครงการการเลี้ยงดูแบบอิงหลักฐานที่ส่งเสริมแนวทางเชิงบวก สนุกสนาน และป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ตลอดจนการเรียนรู้อย่างคุ้มค่าผ่านการขยายการเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้และการเล่นให้กับเด็ก ๆ เพื่อรับรองว่าเด็กทุกคนสามารถเติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกปลอดภัยและรู้สึกว่าตนเป็นที่รัก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top