Sunday, 19 May 2024
ยกฟ้อง

'มาเลเซีย' ยกฟ้อง ‘เฟซบุ๊ก’ กรณีไม่ปิดกั้นเนื้อหาสร้างความแตกแยก หลัง META รับปากจะปิดกั้นเนื้อหาโจมตี 'ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์' ให้

(31 ก.ค. 66) ช่องยูทูบ Vihok News ได้ออกมาเปิดเผยถึงประเด็นที่กำลังเป็นที่น่าสนใจอยู่ในขณะนี้ สำหรับ ‘มาเลเซีย’ ที่เตรียมยื่นฟ้อง ‘เมตา’ กรณีไม่ปิดกั้นเนื้อหาสร้างความแตกแยก ซึ่งล่าสุดทางมาเลเซียได้กลับลำและยืนยันที่จะไม่ฟ้องแล้ว หลังเมตารับปากจะปิดกั้นเนื้อหาอันตรายเหล่านี้ โดยระบุว่า…

‘มาเลเซีย’ กลับลำไม่ฟ้อง ‘เมตา’ หลังรับปากจะทําการปิดกั้นเนื้อหาที่เป็นอันตราย และสร้างความแตกแยก ทั้งนี้ รัฐบาลของมาเลเซียอาจทำการยกเลิกแผนการดําเนินคดีกับเมตา ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก หลังได้รับความร่วมมือเชิงบวกจากบริษัทเกี่ยวกับการปิดกั้นเนื้อหาที่เป็นอันตรายและสร้างความแตกแยกในสังคม

เมื่อเดือนที่แล้วคณะกรรมาธิการสื่อสารและสื่อสารสารสนเทศของมาเลเซีย ได้ประกาศจะยื่นฟ้องเมตา โทษฐานไม่ดําเนินการปิดกั้นคอมเมนต์ที่ไม่พึงประสงค์ ที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และดูหมิ่นเหยียดหยามปลอมแปลงเป็นบุคคลอื่น รวมไปถึงการพนันออนไลน์และโฆษณาล่อลวงต่างๆ

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีสื่อสารของมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์ว่า ทางเมตาได้ให้คํามั่นสัญญาต่อหน่วยงานกํากับดูแลตํารวจมาเลเซีย จะเร่งดําเนินการปิดกั้นสิ่งเหล่านี้ สำหรับเฟซบุ๊กถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีจํานวนผู้ใช้มากที่สุดในมาเลเซีย โดยมีการประเมินว่า 60% ของประชากร 33 ล้านคน มีบัญชีเฟซบุ๊กอย่างน้อย 1 บัญชี

สำหรับประเด็นเชื้อชาติและศาสนา นับเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอย่างมากในมาเลเซีย เพราะมีประชากรส่วนใหญ่เป็น ‘ชาวมลายู’ และยังคงมีสัดส่วนของ ‘ชาวจีน’ และ ‘เชื้อสายอินเดีย’ อยู่ด้วยไม่น้อย ส่วนการแสดงความเห็นของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่อ่อนไหวด้วยเช่นกัน โดยผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบอาจถูกดําเนินคดีฐานยุยงปลุกปั่นอีกด้วย

‘รฟม.’ ปลดล็อก ‘สายสีส้ม’ เดินหน้าคืนประโยชน์ให้ ปชช. หลังศาลฯ ยกฟ้องปมจัดประมูล ชี้!! ดำเนินการโดยชอบตาม กม.

(18 ส.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘บีทีเอสซี’ ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งที่ 2 และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 โดยศาลพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา ชี้ดำเนินการชอบโดยกฎหมาย

จากกรณีดังกล่าวส่งผลให้การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้ากว่าแผนไปแล้วประมาณ 2 ปีเศษ และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังแผนการเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ‘ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)’ ไปพร้อมๆ ด้วย เนื่องจากรฟม.ยังไม่สามารถหาผู้ประกอบการเดินรถได้ เพราะการหาผู้ประกอบการเดินรถทั้งเส้นทางถูกผูกรวมอยู่กับการหาผู้ร่วมลงทุนที่จะมาก่อสร้างโครงการฯ ส่วนตะวันตก

ทั้งนี้ รฟม.ได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกล่าช้าว่า ประเทศอาจจะเสียหายสูงถึง 4.3 หมื่นล้านบาท/ปี ประกอบด้วย

1.) ค่าดูแลรักษา (Care of Works) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออก 495 ล้านบาท/ปี
2.) ค่าเสียโอกาสเก็บค่าโดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก 1,764 ล้านบาท/ปี
3.) ค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจ 40,644 ล้านบาท/ปี

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 พบว่าโครงการรถไฟฟ้าสีส้มส่วนตะวันออก ดำเนินการก่อสร้างงานงานโยธาแล้วเสร็จ 100% เหลือแต่เพียงการทดลองวิ่งและการประกาศเปิดใช้ที่ รฟม. จะประกาศในอนาคตนี้

ส่วนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก หากไม่มีเอกชนรายใดยื่นคัดค้านคำพิพากษา เพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าและการเสียโอกาสของประชาชนในการใช้ประโยชน์ รวมถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในการดูแลโครงสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออก รฟม. จะเร่งรัดและผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามขั้นตอนเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘บีทีเอสซี’ ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน กรกฎาคม 2563 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้บีทีเอสซีเสียหาย

'ศาลฎีกา' ยกฟ้อง ‘ยิ่งลักษณ์’ คดีย้าย ‘ถวิล’  ชี้!! ไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

(26 ธ.ค.66) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกา อม.) สนามหลวง นัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อม.11/2565 อัยการสูงสุด โจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กรณีโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

ศาลฯ พิพากษายกฟ้องและเพิกถอนหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหตุจำเลยไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

โดยศาลฯ วินิจฉัยว่ายังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษและรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยโอนย้ายนายถวิลเพื่อให้ตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่างลง

ภายหลังการอ่านคำพิพากษา นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ผลของคำพิพากษาวันนี้ คือ ยกฟ้องอดีตนายกยิ่งลักษณ์ สาระสำคัญ คือ ความเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการทั้งหมด การโยกย้ายก็เป็นไปตามกฎหมายข้าราชการพลเรือน มาตรา 57 สามารถกระทำได้ ประเด็นที่สองเรื่องการกระทำความผิดทางอาญา ต้องอาศัยเจตนาเป็นสำคัญ ตามมาตรา 59 ในทางไต่สวนไม่ปรากฏว่าไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปกลั่นแกล้งนายถวิล ประเด็นที่สามในเรื่องของคำพิพากษาศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วนของศาลปกครองเป็นการพิจารณาถึงการโอนย้ายชอบหรือไม่ชอบ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการพ้นการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ไม่มีเรื่องการกระทำผิดทางอาญาจึงไม่อาจนำคำพิพากษาทั้งสองศาลมาฟังว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำผิดทางอาญา

ศาลยกฟ้องกรณีผู้ประกอบการรีสอร์ทม่อนแจ่มฟ้องอดีต ผอ.สจป1เชียงใหม่

จากกรณีนายทุนผู้ประกอบการม่อนแจ่มฟ้อง ผอ.กมล นวลใย อดีต ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 กรณีกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตาม มติ ครม. 11 พ.ค. 2542 และมติครม. 30 มิ.ย. 2540 ในการดำเนินคดีระงับยับยั้งมิให้นายทุน หรือผู้ประกอบการนำที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเป็นพื้นที่ต้นน้ำชั้น 1Aนำไปทำรีสอร์ท บนพื้นที่ป่าที่มีความลาดชันสูง โดยเปิดกิจการในรูปบริษัทซึ่งบางรายเช่น บริษัทม่อนวิวงาม จำกัด มีอาคารรีสอร์ทนับร้อยหลัง บางรายมีการบุกรุกพื้นที่เกินกว่าที่ถือครองทำกินที่มีการรังวัดไวเแล้วตามมติครม.30 มิย.41 

โดยคดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ได้ยกฟ้องไปแล้ว แต่ผู้ประกอบการทั้ง 22 ราย ยังไม่สะใจที่จะเล่นงานกล่าวหา จนท.ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาในการระงับยับยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารเพื่อสร้างรีสอร์ท ...อย่างไรก็ตามคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิจารแล้วเห็นว่าจำเลย (นายกมล นวลใย อดีตผอ.สจป.1 (ชม.)) ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตาม ระเบียบกฎหมาย โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาและฟ้องดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงมิใช่เป็นการจับกุมโจทก์ทั้งยี่สอบสองเพื่อดำเนินคดีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นคนละกรณีกันกับการจะพิสูจน์สิทธิ์ของโจทก์ทั้งยี่สิบสองว่าเป็นผู้มีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดินตามที่กฎหมายให้ความคุ้มครองได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การกระทำของจำเลยเป็นการดำเนินการในฐานะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ในการดูแลและรักษาทรัพยากรป่าไม้และป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นการกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งยี่สิบสองว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ โจทก์ทั้ง 22 ราบก็ย่อมมีสิทธิให้การปฏิเสธต่อสู้คดีโดยนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ของตนในชั้นพิจารณาคดีของศาลได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ทั้งยี่สิบสองฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งยี่สิบสองฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน อนึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตุว่าคดีนี้เจ้าหน้าที่ดำเนินการในรูปคณะทำงานแต่โจทย์ฟ้องจำเลยในนามส่วนตัว เสมือนหนึ่งกลั่นแกล้ง บั่นทอนขวัญกำลังใจ จนท.เป็นการเฉพาะราย และฟ้องให้ดูเป็นตัวอย่างเพื่อมิให้จนท.คนอื่น ๆ หาญกล้าในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่  ด้วยกลัวจะโดนฟ้องเฉกเช่นกรณีนี้

เรื่องนี้นายกมล นวลใย ได้กล่าวว่าการดำเนินการระงับยับยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าม่อนแจ่ม จนท.ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามตัวบทกฎหมายทุกประการ ไม่เคยมีเจตนาแอบแฝงใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งมีรายละเอียดตามคำพิพากษาศาลไว้ครบถ้วนแล้ว..  ความจริงย่อมเป็นความจริงเสมอครับ...ขอให้จนท.สจป.1 (ชม.) กรมป่าไม้ ดำเนินการตรวจสอบการครอบครองพื้นที่เพื่อสร้างรีสอร์ทบนพื้นที่ต้นน้ำตามอำนาจหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาต่อไปครับ
 

'ศาลอาญา' ยกฟ้องพันธมิตรฯ ชุด 2 คดีปิดสนามบิน เหตุทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นประโยชน์ต่อชาติ

(29 มี.ค. 67) ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีม็อบ พธม.บุกสนามบินดอนเมือง หมายเลขดำ อ.1087 /56 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้องนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด,นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์, นายการุณ ใสงาม, นายวีระ สมความคิด, พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์, น.ส.ศิริลักษณ์ ผ่องโชค หรือจอย อดีตนักแสดงชื่อดัง ร่วมกับพวกรวม 67 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันชุมนุมปลุกปั่นยุยงก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ

กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 24 พ.ย.- 3 ธ.ค.2551 พวกจำเลยที่ 1-14 ได้ร่วมกันชักชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมใหญ่โดยกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ และปิดล้อมอาคารวีไอพี ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอยู่ในความดูแลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือทอท. และนำจานรับสัญญาณโทรทัศน์ของจำเลยไปติดตั้งใกล้เครื่องรับสัญญาณเรด้าร์ ของบริษัท วิทยุการบินฯ ปิดกั้นสะพานกลับรถ ตรวจค้นตัวจนท.บริษัท การบินไทย ร่วมกันขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลและทรัพย์สิน ทำลายทรัพย์สินของบริษัท ของท่าอากาศยานไทยฯ เสียหาย 627,080 บาทเพื่อกดดันให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

โดยก่อนฟังคำพิพากษา นายปานเทพ เปิดเผยว่า วันนี้ศาลนัดจำเลยในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สนามบินเมื่อปี 2551 ซึ่งใช้เวลาการพิจารณาคดีตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุรวมแล้วเป็นปีที่ 15 การต่อสู้ในคดีรอบที่ผ่านมาแบ่งเป็นสองกลุ่มโดยกลุ่มที่หนึ่งถูกพิพากษาไปแล้วในชั้นศาลอาญา แกนนำบางส่วนถูกปรับ 20,000 บาท ที่เหลือยกฟ้องในทุกข้อหา สำหรับชุดที่สองเป็นคดีที่ต่อเนื่องกันแต่เนื่องจากมีจำเลยเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุทำให้ศาลแบ่งออกเป็นสองคดี ทางเราก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลที่ เราต่อสู้มาในรอบหลายปีเพื่อมาสู่จุดนี้ว่าพวกเราทั้งหมดไม่เคยหนี ไม่เคยขอร้องอภิสิทธิ์ใด และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพในกระบวนการยุติธรรม แต่ในชั้นพิจารณาคดีจนถึงในชั้นการพิพากษาแม้กระทั่งการอยู่ในเรือนจำ

ส่วนคดีพันธมิตรไม่เคยได้รับอภิสิทธิ์ เพิ่งจะมีเมื่อวานนี้ที่อัยการไม่ฎีกาเป็นครั้งแรก ในกรณีของการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาศาลชั้นต้นอุทธรณ์ได้ยกฟ้องทั้งหมด ที่เหลืออุทธรณ์ฎีกาทั้งหมดไม่เคยได้รับอภิสิทธิ์ และมีหลายคนต้องถูกโทษจำคุกไปแล้วในคดีการชุมนุมที่หน้าสถานีโทรทัศน์ NBT รวมไปถึงการชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล และทั้งหมดก็พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเราทั้งหมดไม่ได้รับการอภิสิทธิ์ ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายตามกฎหมายทุกอย่าง

"อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้ต้องการอภิสิทธิ์ให้กับใครแม้กระทั่งกับพวกเราเอง แต่ตนอยากเรียกร้องให้คนที่รับอภิสิทธิ์ทั้งหลายได้รับโทษตามกฎหมาย ที่มาวันนี้ไม่เคยเรียกร้องอภิสิทธิ์ใด เพียงแต่เรียกร้องให้ทุกคนเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรม และชุดนี้เป็นชุดสุดท้ายในคดีของสนามบิน ซึ่งบางส่วนมีการฟ้องร้องกันยังไม่สิ้นสุดระหว่างการบินไทยมีการฟ้องร้องในคดีความแพ่งกับผู้ชุมนุมสนามบิน ส่วนคดี เรื่องของท่าอากาศยาน ฟ้องไปแล้วสิ้นสุดไปแล้วยึดทรัพย์บางส่วน แต่คดีนี้รอผลลัพธ์ทางคดีอาญาให้จบสิ้นก่อนเพราะมีการเรียกร้องในคดี ทั้งนี้ตนได้กล่าวทิ้งท้ายว่าวันนี้ต้องฟังคำพิพากษาก่อนว่าศาลจะว่าอย่างไร ถ้ามีผลเป็นลบต่อทางจำเลยทางเราต้องใช้สิทธิ์อุทธรณ์ และถ้ามีผลเป็นบวกไม่มีใครถูกลงโทษจะต้องรอดูว่าอัยการจะอุทธรณ์หรือไม่ หากอัยการอุทธรณ์ทางเราก็จะยื่นคำร้องแก้อุทธรณ์เช่นเดียวกัน และคาดว่าไม่เกินกลางปีนี้จะรู้ผลทุกอย่าง" นายปานเทพ กล่าว

ด้าน นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีต รมว. อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำของกลุ่มพันธมิตร กล่าวว่า ก่อนเข้ารับฟังคำพิพากษาในวันนี้ว่า จากคำตัดสินของชุดแรกก็รู้มีความมั่นใจว่าวันนี้ศาลจะตัดสินยกฟ้องเหมือนชุดแรก เพราะกลุ่มที่ 2 มีจำเลยทั้งหมด 67 คน ถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มแนวร่วม ไม่ใช่กลุ่มแกนนำหลัก คาดว่าศาลน่าจะพิจารณาไปในทิศทางเดียวกัน แต่ส่วนคดีทางอาญาก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานเฉพาะบุคคล

ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรได้เดินทางมาที่ศาลอาญาในวันนี้ด้วยเพื่อเป็นกำลังใจให้กับจำเลยชุดที่ 2 เนื่องจาก นายสนธิเป็นจำเลยในชุดแรก ที่ถูกพิจารณาคดีไปแล้วโดยการฟังคำพิพากษาวันนี้ศาลจะอ่านคำพิพากษาเมื่อจำเลยทั้ง 67 คนมาครบจำนวน ส่วนผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิ์โดยรายงานตัวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่าพวกจำเลย เป็นกลุ่มผู้ชุมนุมมาจากหลายอาชีพ ทั้งศิลปิน นักร้อง ดารา สื่อมวลชน อดีตเอกอัครราชทูตมาชุมนุม เพื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้องเขยของนายทักษิณ ชินวัตร มีการทุจริตเชิงนโยบาย และศาลฎีกาแผนกอาญาองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาจำคุกนายทักษิณ ชินวัตรหลายคดี โดยเป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ฐานชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ มาตรา 116 และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง และข่มขืนใจผู้อื่น จึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดทุกข้อหา

จากนั้นเวลา 11.30 น. ภายหลังการเข้าฟังคำพิพากษาโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ ว่า ในวันนี้ศาลอาญาพิจารณาประเด็นสำคัญ 5 ประเด็น ความยาว 51 หน้า มีข้อเท็จจริงยุติ 10 หน้า โดยสรุปแล้ว 

ข้อหาการฟ้องซ้ำ ศาลเห็นว่าด้วยพฤติการณ์ บุคคล ข้อหาคดีที่เคยมีการฟ้องร้องก่อนหน้านี้และจำเลยหนึ่งราย ร้องเป็นการฟ้องซ้ำการลงโทษจะซ้ำซ้อนหรือไม่ ศาลพิพากษาเห็นว่าพฤติการณ์ ข้อหา บุคคลที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาและสถานที่ เป็นคนละสถานที่ศาลจึงมีคำพิพากษาว่าไม่ได้เป็นการฟ้องซ้ำ และศาลมีสิทธิ์ที่จะพิจารณา

ส่วนพฤติการณ์ของรัฐบาล เป็นพฤติการณ์ที่เป็นสาเหตุของการชุมนุม โดยศาลวิเคราะห์จึงการวิเคราะห์ตั้งแค่การก่อตั้งของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเหตุในปี 2551 คือความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างความผิดคดียุพรรคพลังประชาชน ซึ่งทุจริตการเลือกตั้ง มีความพยายามแก้ไขมาตราใน กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การยกเลิกอำนาจการตรวจสอบของคตส. ในคดีทุจริตคอรัปชั่น โดยศาลเห็นว่าทั้งสองประเด็นนี้ เป็นประเด็นของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ รวมถึงการต่อต้านนำปราสาทเขาพระวิหารไปขึ้นเป็นมรดกโลกให้กับประเทศกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา นอกจากนั้นศาลยังได้พิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งหมด ว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรนั้น เป็นการชุมนุมภายใต้กรอบที่มีเหตุผลตามรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยตลอดระยะเวลาการชุมนุมจำเลยทั้ง 67 ราย ไม่ได้มีข้อพิสูจน์ใด ๆ ว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ หรือมีอาวุธอยู่ในครอบครอง ศาลจึงเห็นว่าไม่เข้าข่ายการก่อการร้าย การก่อกบฏ หรือก่อความวุ่นวาย

ส่วนเรื่องท่าอากาศยาน ศาลได้มีการพิจารณาวิเคราะห์ จากหลักฐานทั้งหมดด้วยพยานฝ่ายโจทก์เอง พบว่าไม่สามารถยืนยันว่าจำเลยทั้ง 67 คน ทำความผิดอย่างไรที่ก่อให้เกิดการขัดขวางท่าอากาศยานได้จริงในทางปฏิบัติ แม้แต่ดาวเทียม ซึ่งเป็นทีวีการถ่ายทอดสด ก็ไม่สามารถกระทบต่อสัญญาณการบินได้ และพื้นที่การชุมนุมไม่ได้กระทบต่อการบิน ดังนั้นด้วย พยานฝ่ายโจทก์ประกอบกับการที่พันธมิตรยุติการชุมนุมแล้วไม่เกิดความเสียหายสามารถดำเนินการบินและให้บริการได้ทันทีสะท้อนให้เห็นว่าไม่มีความเสียหาย ศาลเห็นว่าไม่มีความผิดในการขัดขวาง ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบินและพื้นที่ชุมนุมไม่กระทบ หรือความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้น

ส่วนการปะทะ ซึ่งอาจมีเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม เช่น พยามเข้าพื้นที่บางส่วนของผู้ชุมนุม การขัดขวางของเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เป็นการสั่งการของจำเลย 67 คน แต่อาจการกระทบกระทั่งแต่เป็นวิถีของการเกิดขึ้นเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการสั่งการ การยั่วยุ ให้กระทำการรุนแรง ศาลพิจารณาจำเลยทั้ง 67 คน ล้วนมีเจตนาอย่างชัดเจน ว่าให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบปราศจากอาวุธ และยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรง ศาลจึงพิพากษาว่า การกระทำของภาครัฐในเวลานั้นทั้งการทุจริตการเลือกตั้ง การทุจริตคอรัปชั่นทั้งนายทักษิณ ชินวัตรและพวกเป็นเรื่องจริง และมีคำพิพากษาจำนวนมาก รวมถึงศาลพิจารณาการกลับมาของนายทักษิณ ที่หลบหนีไป 15 ปี และการกลับมาขอพระราชทานอภัยโทษ ด้วยข้อความว่าสำนึกผิด ยอมรับการกระทำความผิดแสดงให้เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ฯ มีมูลเหตุของการเจตนารมณ์เป็นเรื่องจริง ดังนั้นการชุมนุมจึงไม่ใช่เป็นไปด้วยประโยชน์ส่วนตัวแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

และประเด็นสุดท้าย หลังศาลพิจารณาว่าเป็นการชุมนุมด้วยความสงบและปราศจากอาวุธศาลยังได้พิจารณา เรื่องการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ศาลพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การออกพรก.ฉุกเฉิน ที่กระทำการลงไปเพื่อขัดขวาง งดเว้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องเป็นไปด้วยความชอบธรรมโดยเฉพาะการชุมนุมของพันธมิตรฯ แม้กระทบต่อการบินบ้างแต่ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นศาลจึงเห็นว่าการกระทำความผิดพรก. ฉุกเฉินจึงไม่เข้าข่าย เพราะว่าได้รับการยืนยันว่าในเวลาต่อมา มีการหลบหนีคำพิพากษาของนายทักษิณ และการยอมรับความผิด แม้จำเลยจะกระทบต่อประชาชน ผู้ใช้สนามบินอยู่บ้าง แต่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงไม่เป็นความผิดฐาน ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด 67 คน

คำพิพากษาเป็นคดีประวัติศาสตร์ ซึ่งตนสรุปเพียงใจความสำคัญบางส่วนเท่านั้น แต่ความงดงามและความครบถ้วนของเนื้อหาไม่สามารถจะตัดทอนได้จากคำพิพากษาชุดนี้ จนอาจจะบอกว่าเป็นการเยียวยาความรู้สึกของพวกเราในฐานะผู้ที่ถูกกระทำมา 17 ปี ว่าพวกเราเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยโทษที่รุนแรง โทษถึงขั้นประหารชีวิตหรือการก่อการร้าย ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นแค่พิธีกรเป็นประชาชน เป็นศิลปิน แต่คนที่อ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพความเสมอภาค ไม่เคยออกมาเรียกร้องหรือเห็นใจของการชุมนุมของพวกเรา แต่คำพิพากษานี้ให้ความเป็นธรรมกับพวกเราที่ต่อสู้และเคารพขบวนการกระบวนการยุติธรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนทำให้จำเลยจำนวนมากที่มาฟังคำพิพากษา น้ำตาซึม และน้ำตาไหลออกมา เพราะพวกเขาเหล่านั้นได้รับความเป็นธรรมจากการพิสูจน์ตัวเองมายาวนาน 17 ปี

เมื่อถามว่าถูกริดรอนสิทธิ์มานานกว่า 10 ปี หากอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์ จะมีการฟ้องกลับหรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า ตั้งแต่การประทับรับฟ้องจำเลยทั้งหมดใช้สิทธิ์ในการชุมนุมเท่านั้น แม้ไม่ใช่แกนนำแต่ถูกกวาดดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และพวกเขาเหล่านั้นสูญเสียอิสรภาพ ถูกตราหน้ามาตลอด 17 ปีว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ผู้ยึดสนามบินผู้ ก่อความไม่มั่นคงทำลายประเทศชาติ เมื่ออ่านคำพิพากษาและพิสูจน์ความจริง เราได้พิสูจน์ตัวเองด้วยการสู้คดีและในคดีนี้แม้แต่ตนเองที่ไม่ใช่นักกฎหมายแต่ซักคัดค้านด้วยตนเองในสิ่งที่กระทบต่อตนเพื่อพิสูจน์ความจริง ดังนั้นพวกเราไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน เราต่อสู้ในทุกประเด็นที่เราสู้ได้ ซึ่งศาลพิพากษาในคดีนี้ นอกจากการตราหน้าแล้วเราสูญเสียการเดินทางไปต่างประเทศ ต้องเสียเงินหลายแสนบาทเพื่อที่จะเดินออกไป ทั้งถูกบันทึกตลอดว่าพวกเราเป็นอาชญากร ทั้งที่พวกเราเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติและประชาชนคำนึงถึงการต่อต้านการทุจริตการเลือกตั้ง และการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งถือว่าเป็นคำพิพากษาที่งดงามที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top