Saturday, 29 June 2024
มูลนิธิเอเชีย

‘หลักบวร - อ่านออกเขียนได้ - ผู้นำทางวิชาการ’ กุญแจความสำเร็จของโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่

เป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว ที่ทางโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิเอเชีย และเหล่าพันธมิตร ได้ร่วมกันค้นหาโรงเรียนที่มีผู้อำนวยการเป็นผู้นำทางวิชาการ ได้รับการสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษา และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ จากทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดพลังบวกในสังคม และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถสรุปถอดบทเรียนได้ 3 ข้อ ที่เป็นปัจจัยทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จคือ 1.การใช้หลักบวร (บ้านวัดโรงเรียน), 2.ทักษะการอ่านออกเขียนได้ และ 3. ผู้นำทางวิชาการที่ยอดเยี่ยม

ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชีย ได้กล่าวว่า โครงการโรงเรียนดีมีทุกที่เป็นการนำเสนอโรงเรียนต้นแบบที่มีผู้นำทางวิชาการที่เข้มแข็ง เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น สร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมได้แม้ว่าจะอยู่ในบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน ด้วยมุ่งหวังให้เกิดแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาไทยในทุกมิติ โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำโครงการฯ ใน 18 โรงเรียน จาก 7 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ลำพูน, กาญจนบุรี, ระยอง, มหาสารคาม และเชียงราย สามารถสรุปถอดบทเรียนได้ 3 ข้อ ที่เป็นปัจจัยทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จคือ 

1) การใช้หลักบวร (บ้านวัดโรงเรียน) หรือชุมชนเข้มแข็งมาผสานสัมพันธ์ในการพัฒนาเด็ก เกิดเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ พัฒนาทั้งในด้านวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต ได้แก่ 

1.1) รร.วัดทุ่งลาดหญ้า ‘ลาดหญ้าวิทยา’ อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีพระครูสิทธิกิจจานุวัตร เป็นผู้ทำนุบำรุงการศึกษาให้เป็นรากฐานของชุมชน ภายใต้ความร่วมมือของบ้าน ซึ่งมีผู้ปกครองและผู้นำชุมชนช่วยกันส่งเสริมพัฒนา และโรงเรียน ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนให้ความรู้นักเรียน 

1.2) รร.บ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ อ.ลี้ จ.ลำพูน ที่ก่อสร้างขึ้นมาเพื่อให้นักเรียนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ได้รับการศึกษา เปิดสอนเป็นทั้งโรงเรียนปริยัติธรรมและฆราวาส เมื่อมีกิจกรรมต่าง ๆ ทางวัดก็จะให้ความร่วมมือสนับสนุน ส่งพระภิกษุไปให้ความรู้นักเรียน มีการสอนคุณธรรมควบคู่กับความรู้ทั่วไป ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

2) ทักษะการอ่านออกเขียนได้ เป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษา ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ในวิชาต่าง ๆ อย่างมีคุณภาพ และสามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ได้แก่ 

2.1) รร.ฤทธิยะวรรณาลัย (ประถม) เขตสายไหม กทม. ซึ่งได้มีการส่งเสริมเรื่องการอ่าน เพราะในปัจจุบันเด็กสามารถหาความรู้ได้จากอินเทอร์เน็ต โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ชั้น ป.1 เมื่อโตขึ้นชั้น ป.2-ป.6 ก็จะเพิ่มเป็นอ่านคล่องเขียนคล่อง, การอ่านรู้เรื่อง, สามารถอ่านและจับหรือสรุปใจความได้ มีการทดสอบตลอดปี รวมถึงมีการจัดทำโครงการรักการอ่าน และ กิจกรรมโลกนิทาน, สำนวนชวนอ่าน, สนามหญ้าชวนอ่าน เป็นต้น 

2.2) รร.บ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนตั้งอยู่บนดอยสูง มีนักเรียนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แบบ 100% รูปแบบการศึกษาเป็นแบบพหุวัฒนธรรม เรียนควบคู่กันไปแบบ 2 ภาษาคือภาษาถิ่นและภาษาไทย เพิ่มเติมด้วยภาษาอังกฤษและจีน โดยมีคุณครูชาติพันธุ์บางส่วนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเป็นผู้สอน นอกจากนี้ยังมีโครงการพี่สอนน้อง เพื่อนสอนเพื่อน ซึ่งในปัจจุบันนักเรียนสามารถฟังพูดอ่านและเขียนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี

3) ผู้นำทางวิชาการที่ยอดเยี่ยม เป็นผู้ขับเคลื่อนหรือคอยผลักดัน ในการส่งเสริมศักยภาพความสามารถ ของเด็กในด้านการศึกษาและอื่นๆ ได้แก่ 

3.1) รร.สารคามพิทยาคม อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งมีผู้นำทางวิชาการที่เข้มแข็ง ที่ผ่านมามีการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมให้นักเรียนได้รู้จัก ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้แนะนำให้นักเรียนเข้าไปใช้บริการที่เว็บไซต์ www.thailandlearning.org ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมแหล่งเรียนรู้ออนไลน์จากทั่วโลก ที่สามารถใช้บริการได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

3.2) รร.วัดถนนกะเพรา อ.แกลง จ.ระยอง เป็นโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาปี 2562 ที่ได้นำความอิสระในการสร้างหลักสูตรมาเปิดโอกาสให้ตัวเอง มีจุดเน้นในการจัดการศึกษาว่าโรงเรียนสร้างสรรค์ นวัตกรน้อยสู่สากล มุ่งหวังจะให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักต่อยอดอาชีพในชุมชน   

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาในข้างต้น ถือเป็นผลที่ได้รับจากการจัดทำโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ ในตลอดระยะ เวลาที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะมีเรื่องที่น่าสนใจอีกหลายอย่างที่สามารถนำมาเป็นบทเรียน หรือต่อยอดให้กับนักวิชาการ, ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือหน่วยงานราชการต่าง ๆ โดยผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook : โรงเรียนดีมีทุกที่ หรือสอบถามที่โทรศัพท์ 062-7341267

‘มูลนิธิเอเชีย-ศธ.’ เปิดตัวเว็บไซต์ ‘Thailand Leadership’ ส่งเสริมการพัฒนาความเป็นผู้นำ ผอ.โรงเรียนทั่วประเทศ

(24 ก.ย. 66) มูลนิธิเอเชีย ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพมหานคร, สถานทูตออสเตรเลีย และเหล่าพันธมิตร จัดงานเปิดตัว www.Thailandleadership.org เว็บไซต์พัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของ ผอ.โรง เรียนทั่วประเทศ นำเสนอทักษะผู้นำทางวิชาการที่ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาประสบความสำเร็จ ผ่าน 3 เมนูหลักคือลงมือปฎิบัติ, พัฒนาวิชาการ และสร้างสรรค์งานวิจัย ในรูปแบบของข่าวสาร งานวิจัย บทความ คลิปวิดิโอ พอดแคสต์ สารคดี ฯลฯ จัดทำโดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ตั้งเป้าเป็นคลังความรู้ออนไลน์ด้านการศึกษา ขับเคลื่อนพัฒนาทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันนวัตกรรมล้ำสมัย เชื่อม ต่อชุมชน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างเครือข่าย นำประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ที่เป็นมานานกว่า 20 ปี

นายโทมัส พาร์ค ผู้แทนมูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า “มูลนิธิเอเชียได้จับมือกับสถาน ทูตออสเตรเลียทำงานร่วมกันมานาน 6 ปีแล้ว ซึ่งโจทย์ที่ทั้งสององค์กรให้ความสำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ที่มีมานานนับ 20 ปี โดยสรุปต่างมีความเห็นตรง กันว่าจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหา 2 ประการคือ 1)การเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพโดยรวมของระบบการศึกษาไทย ซึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างทั้งระบบและเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก และ 2)ลดความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษา ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก ทั้งในโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ชนบทและในเมือง”

ด้าน ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชีย ได้กล่าวถึงที่มาของการจัดทำเว็บไซต์ว่า…

“ในปี พ.ศ.2561-2564 ทางมูลนิธิฯ ได้มีการจัดทำ โครงการวิจัยเรื่องจากความท้าทายสู่คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย : กฎระเบียบ การบริหารทรัพยากร และความเป็นผู้นำ ที่ได้มุ่งเน้นศึกษาโครงสร้างและบทบาทของ ‘ตัวกลาง’ ระหว่าง ‘ผู้กำหนดนโยบายการศึกษาของชาติ’ และ ‘ผลผลิตทางการศึกษา’ นั่นคือ ‘ผู้อำนวยการสถานศึกษา’ ในฐานะ ‘กล่องดำทางการศึกษา’ หรือ ‘แกนหลักผู้สื่อสารถ่ายทอดนโยบาย’ จากภาครัฐออกสู่โรงเรียนทั่วประเทศ

บทสรุปที่ได้คือผู้อำนวยการโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จะต้องมีบทบาท เป็นผู้นำทางวิชาการ ซึ่งยากง่ายแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น และนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด ทำให้เกิดข้อเสนอแนะหลากหลายแนวทาง เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการแก้ไขให้เหมาะสม กับการบริหารจัดการในแต่ละโรงเรียน

ด้วยสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ทางมูลนิธิฯ จึงได้จัดทำเว็บไซต์ www.Thailandleadership.org ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของ ผอ.โรงเรียน นำเสนอทักษะที่ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษา ประสบความสำเร็จ และเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจสำหรับบ่มเพาะ ‘ผู้นำทางวิชาการ’ ในประเทศไทย จัดทำเป็นรูปแบบเว็บไซต์ ที่ประกอบด้วย 3 เมนูหลัก คือ

1.) ลงมือปฎิบัติ
2.) พัฒนาวิชาการ
3.) สร้างสรรค์งานวิจัย

ซึ่งได้เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกรอบด้าน ทั้งข่าวสาร งานวิจัย บทความ คลิปวิดิโอ พอดแคสต์ สารคดี ฯลฯ จากนักวิชาการด้านการศึกษาผู้มีชื่อเสียง นำโดย ดร.รัตนา แซ่เล้า และผู้ร่วมให้คำแนะนำในการจัดทำเว็บไซต์ นำเสนอทฤษฎี และนานาสาระด้วยตนเอง เช่น ศ.ดร.ฟิลิป ฮาลิงเจอร์, รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์, ดร.สุกรี นาคแย้ม, ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค, ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์, รศ.ดร.ณัฏฐภรณ์ หลาวทอง, รศ.ดร.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ, และ รศ.ดร.ธีรภัทร กุโลภาส ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพมหานคร, มูลนิธิอานันทมหิดล และทางช่อง 9 MCOT HD

โดยคาดหวังว่าเว็บไซต์นี้ จะเป็นคลังความรู้ออนไลน์ด้านการศึกษา ที่ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันนวัตกรรมล้ำสมัย เพื่อเชื่อมต่อชุมชนผู้นำทางวิชาการ ให้เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิด เห็นและสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่ง เป็นรากฐานเชื่อมต่อพัฒนาสู่ความร่วมมือในระดับสากล”

ภายในงานเปิดตัวเว็บไซต์ฯ ได้มี นางพุทธชาต ทองกร รองผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักย ภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEMC) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวง ศึกษาธิการ เดินทางมาร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายให้ความรู้โดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ศ.ดร.ฟิลลิป ฮาริงเจอร์ ในหัวข้อ ‘ผู้นำทางวิชาการกับการพัฒนาการศึกษาไทย’, รศ.ดร.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ ในหัวข้อ ‘ผู้นำกับความสำเร็จของโรงเรียน’ และการจัดทำวอดแคสต์, รศ.ดร.ธีรภัทร กุโลภาส ในหัวข้อ ‘นโยบายปฎิรูปการศึกษา จากกระทรวงสู่ห้องเรียน’, รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ในหัวข้อ ‘แชร์กลยุทธ์ จุดไอเดียผู้บริหาร’ และ ดร.ชลตวรรณ ขุมเพ็ชร, ดร.ธราธร ตันวิพงษ์ตระกูล และคุณชัญฌัญญ์ ธนันท์ปพัฒน์ ในหัวข้อ ‘การทำสารคดีสั้นเรื่องแรงบันดาลใจจากการทำงาน’ เป็นต้น

โดยผู้อำนวยการโรงเรียน, นักวิชาการด้านการศึกษา และประชาชนที่สนใจ จะสามารถเข้าไปใช้บริการเว็บไซต์ที่ www.Thailandleadership.org ได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 062-7341267 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top