Sunday, 20 April 2025
มาตรการป้องกัน

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติร่วมกับรักษาราชการแทนเลขาธิการ กสทช. ลงพื้นที่แนวชายแดนจังหวัดเชียงราย วางมาตรการป้องกัน การกระทำผิดคดีออนไลน์ คุมเข้ม ซิมม้า-บัญชีม้า แก็งคอลเซ็นเตอร์

วันนี้ (5 พ.ค.66) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาราชการแทนเลขาธิการ กสทช. เดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ประชุมวางมาตรการแนวทางการสืบสวน ป้องกันการกระทำผิดคดีออนไลน์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดน โดยมี พล.ต.ท.ธนธัช น้อยนาค ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการตำรวจภูธรภาค 5 , พล.ต.ต.พิเชษฐ์ จีระนันตสิน รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5, พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รองผู้บัญชาการ ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาจมีความทางเทคโนโลยี หรือ สอท., พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์   สุริยฉาย ผู้บังคับการ สอท.4, พ.ต.อ.แมน รัตนประทีบ รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 5 พ.ต.อ.พงษ์สวัสดิ์ ไชยบาล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย, ร้อยตรี ชัยทัศน์ กรานเลิศ ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ด่านศุลกากรแม่สาย จุดผ่านแดนถาวรสะพานข้าม แม่น้ำสายแห่งที่ 2

ก่อนการประชุม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ และนายไตรรัตน์ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปสำรวจเสาสัญญานโทรศัพท์ตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นต้นเหตุให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์อาศัยพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านในการกระทำความผิด เนื่องจากสัญญานที่ส่งออกจากเสาสามารถส่งไปถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยช่วงหนึ่งในการประชุมได้มีการหารือในประเด็นนี้ด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้นำเสนอสภาพปัญหาอาชญากรรมคดีหลอกลวงทางโทรศัพท์ที่เป็นขบวนการ call centerในลักษะของการเปิดซิมม้า และบัญชีธนาคารม้า ในลักษณะของขบวนการ ลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดน เพื่อเปิดซิมม้า บัญชีม้าไปใช้ในการกระทำผิด หรือนำไปขายต่อให้แก็งอาชญากรรมออนไลน์ รวมทั้งตัวแทนจำหน่าย จุดให้บริการของการจำหน่ายซิมต่างๆ ที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ได้เน้นย้ำแนวทางการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กสทช., สถาบันการเงิน และ ปปง. ให้เป็นไปตามเจตนารมย์ ของพระราชกำหนดมาตราการ ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด ให้ตำรวจ สอท.ที่มีฐานข้อมูล ส่งต่อข้อมูลกลุ่มเสี่ยงให้ตำรวจพื้นที่เข้าตรวจสอบ ส่วนตำรวจตรวจคนเข้าเมืองให้นำบุคคลกลุ่มเสี่ยง ทำผิดกฎหมายขึ้นบัญชีบุคคลเฝ้าระวัง (watchlist) เพื่อตรวจความเข้มในการเดินทางเข้าออก

ด้าน นายไตรรัตน์ ฯ กล่าวว่า จากการที่ได้ตรวจดูเสาสัญญานตามแนวชายแดน พบว่ามีเสาที่ส่งสัญญานไปถึงประเทศเพื่อนบ้านจริง โดยอาจจะมีการยกเลิก หรือปรับย้ายจุดตั้ง โดยการขยับเสาให้ออกมาห่างจากแนวชายแดน ทั้งนี้ต้องไม่ให้กระทบกับผู้ใช้บริการตามแนวชายแดนด้วย 

ตร. เผย สถิติอายัดเงินทัน สูงขึ้น 6 เท่า! อายัดได้รวม 1,789 ล้านบาท หลัง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้

วันนี้ (12 มกราคม 2567) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยการออกกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จากการถูกหลอกลวงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยกฎหมายได้ให้อำนาจธนาคารในการอายัดเงินชั่วคราวเป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมง ทันทีที่มีผู้เสียหายแจ้งว่าถูกหลอกลวงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก่อนที่ผู้เสียหายจะไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีและพนักงานสอบสวนจะแจ้งให้ธนาคารทราบเพื่ออายัดเงินจำนวนดังกล่าวต่อไป ซึ่งปัจจุบันผู้เสียหายสามารถแจ้งเหตุเบื้องต้นเพื่อให้ดำเนินการอายัดบัญชีชั่วคราวได้ที่สายด่วน 1441 นั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า สถิติการอายัดเงินที่ผู้เสียหายโอนให้กับกลุ่มมิจฉาชีพสูงขึ้นจากเดิมกว่า 6 เท่า โดยก่อนหน้าที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 16 มีนาคม 2566) สถิติการขออายัดเงินรวม 1,346 ล้านบาท อายัดเงินได้ทันเพียง 53 ล้านบาท “คิดเป็นร้อยละ 3.9” ของจำนวนเงินที่ขออายัด

ส่วนสถิติหลังจากที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ (ระหว่างวันที่ 17 มีนาคม - 31 ธันวาคม 2566) มีสถิติการขออายัดเงินรวม 7,496 ล้านบาท อายัดเงินได้ทัน 1,789 ล้านบาท “คิดเป็นร้อยละ 23.9” ของจำนวนเงินที่ขออายัด ซึ่งสูงกว่าเดิมถึง 6 เท่า

อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอเรียนว่า แม้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถอายัดเงินที่ผู้เสียหายโอนให้กลุ่มมิจฉาชีพได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีเงินอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถอายัดได้ทัน จึงขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังไม่หลงเชื่อสิ่งที่เห็น หรือได้ยินบนโลกออนไลน์ ตามหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top