Saturday, 18 May 2024
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นครศรีธรรมราช - ม.อ. ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าฯ และภาคีเครือข่าย เดินหน้าส่งมอบแท็บเล็ต โครงการ “กองทุนไอทีพี่ ม.อ. ช่วยน้องเรียนออนไลน์”

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และภาคีเครือข่าย ส่งมอบแท็บเล็ตโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยระบบออนไลน์ จำนวน 109 เครื่อง ให้กับ 20 โรงเรียนในภาคใต้ โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี พร้อมด้วย นายแพทย์เกียรติศักดิ์ ราชบริรักษ์ นายกสมาคมศิษย์เก่าฯ ร่วมส่งมอบแก่ผู้บริหารและผู้แทนจากโรงเรียนภายใต้โครงการฯ ในพื้นที่ภาคใต้ ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 64

​สำหรับโรงเรียนเป้าหมายที่เข้ารับมอบแท็บเล็ต ภายใต้โครงการ “กองทุนไอทีพี่ ม.อ. ช่วยน้องเรียนออนไลน์” ในครั้งนี้ ประกอบด้วย โรงเรียนในจังหวัดสงขลา ได้แก่ โรงเรียนชุมชนวัดควนมีด, โรงเรียนบ้านสะพานหัก, โรงเรียนบ้านหาร, โรงเรียนวัดสลักป่าเก่ามูลนิธิ และ โรงเรียนมิฟตาฮุดดีน (บ้านพลีใต้) จังหวัดสตูล ได้แก่ โรงเรียนบ้านวังปริง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ โรงเรียนวัดสระไคร, โรงเรียนบ้านนาเส, โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 6, โรงเรียนวัดนาหมอบุญ และโรงเรียนวัดไม้เสียบ จังหวัดปัตตานี ได้แก่ โรงเรียนบ้านตันหยงลุโละ, โรงเรียนบ้านคลองช้าง, โรงเรียนบ้านระแว้ง, โรงเรียนบ้านท่าเรือ และโรงเรียนมุสลิมสันติชน จังหวัดยะลา ได้แก่ โรงเรียนบ้านปงตา และจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ โรงเรียนวัดประชุมชลธารา, โรงเรียนบ้านริแง และโรงเรียนบ้านบาตูมิตรภาพที่ 66

​โครงการ “กองทุนไอทีพี่ ม.อ. ช่วยน้องเรียนออนไลน์” เป็นความร่วมมือของสมาคมศิษย์เก่า ม.อ. และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมทั้ง ภาคีองค์กรศิษย์เก่าทุกคณะ และชมรมศิษย์เก่าระดับจังหวัด เพื่อระดมทุนจัดหาอุปกรณ์การเรียนให้นักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล - มัธยมศึกษา ในพื้นที่ 9 จังหวัดชายแดนภาคใต้

คณะวิทย์ ม.อ. เปิดประชุมวิชาการนานาชาติ The 13th IMT-GT UNINET BIOSCIENCE 2022 สร้างความร่วมมือเครือข่าย IMT-GT แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด BCG

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์ ภายใต้เครือข่าย IMT-GT UNINET (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle University Network) เปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ The 13th IMT-GT UNINET BIOSCIENCE 2022 ภายใต้แนวคิด “BCG Economy towards SDGs for the Benefit of Mankind” โดยมี ผศ. ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ เป็นประธาน รศ. ดร.อัญชนา ประเทพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้แทนกงสุลอินโดนีเซียและกงสุลใหญ่มาเลเซีย ผู้บริหารเครือข่าย IMT-GT UNINET และนักศึกษาจากประเทศเครือข่ายเข้าร่วมงาน ณ บีพี สมิหลา บีช โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดสงขลา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2565

ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ "BCG for SDGs" โดยคุณสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, การบรรยายพิเศษหัวข้อ "Ocean Thermal Energy-Driven Development in Fulfilling all the 17 SDGs" โดย Dato' Ir. Dr. A. Bakar Jaafar, PEng, FIEM, FASc รองอธิการบดี Academy of Science Malaysia, Malaysia และช่วง CEO Talk ในหัวข้อ "Business Transformation Towards BCG Economy" โดย คุณภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ นายน้อย ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์

ผศ. ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็น 1 ใน 10 มหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นในการสร้างนวัตกรรมและสังคม ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นทั้งระดับชาติและนานาชาติ การที่มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติ IMT-GT UniNet Bioscience ครั้งที่ 13 ประจำปี 2565 ในหัวข้อ “BCG Economy to SDGs for the Benefit of Mankind” ในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่าย IMT-GT ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับแนวคิด Bio-Circular-Green Economy ตลอดจนตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

“การประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้เข้าร่วมจะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสาขาที่สนใจ และยังเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างเครือข่ายทางวิชาการ และเพื่อประโยชน์ร่วมกันในอนาคตต่อไป” ผศ. ดร.เถกิง กล่าว

ม.อ. เปิดหลักสูตรผู้ดำเนินการสปาเพื่อสุขภาพ ที่แรกของภาคใต้ตอนล่าง มุ่งผลิตกำลังคนรองรับตลาดแรงงานด้านสปา

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับ ชมรมธุรกิจบริการสุขภาพภาคใต้ (ตอนล่าง) จัดงานแถลงข่าวเปิดหลักสูตรผู้ดำเนินการสปาเพื่อสุขภาพ 100 ชั่วโมง ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของภาคใต้ตอนล่าง เพื่อผลิตบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริการสปาและส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานด้านสปาของประเทศ โดยมี รศ. ดร.ศิริลักษณ์ บางโชคดี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย ผศ. ดร.เชิดชัย อุดมพันธ์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ คุณภารรัฐ กรัณย์สุกสี รองประธานชมรมธุรกิจบริการสุขภาพภาคใต้ (ตอนล่าง) ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุมใหญ่ 210 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ ชมรมธุรกิจบริการสุขภาพภาคใต้ (ตอนล่าง) ได้จัดทำหลักสูตรผู้ดำเนินการสปาเพื่อสุขภาพ 100 ชั่วโมง (Spa manager) และยื่นหลักสูตร ไปยังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และได้รับการรับรองหลักสูตรดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริการสปาและส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานด้านสปาของประเทศ โดยจะเปิดการอบรมหลักสูตร รุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของภาคใต้ตอนล่างในเดือนมีนาคม 2566 ณ อาคารศูนย์ศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ชั้น 8 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

หลักสูตรผู้ดำเนินการสปาเพื่อสุขภาพ 100 ชั่วโมง เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่บัดนี้ – 3 มีนาคม 2566 โดยจะอบรมตั้งแต่วันจันทร์ – เสาร์ (ระยะเวลา 15 วัน) ในรูปแบบ on-site ระหว่างวันที่ 13 – 18, 20 – 25 และ 27 – 29 มีนาคม 2566 ณ อาคารศูนย์ศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ชั้น 8 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

สำหรับคุณสมบัติของผู้เรียนต้องเป็นผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือ สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งมีประสบการณ์ในการดำเนินงานในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ไม่น้อยกว่า 2 ปี และเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายและจิตใจไม่เป็นอุปสรรคต่อการอบรมและการปฏิบัติงาน

‘ม.อ.’ ค้นพบค้างคาวชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อไทยว่า ‘ค้างคาวหน้ายักษ์เล็กสีเขม่า’

(4 พ.ค.66) ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข นักวิจัยพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี และนางสาวพุธิตา ว่องไวยุทธ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับ นักวิจัยค้างคาวจาก 7 สถาบันทั่วโลก ค้นพบและตั้งชื่อค้างคาวชนิดใหม่ในวงศ์ค้างคาวหน้ายักษ์ที่สำรวจพบจากป่าฮาลา-บาลา และป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส รวมทั้งตัวอย่างจากประเทศมาเลเซียด้วย 

โดยตั้งชื่อว่า 'Hipposideros Kingstonae' เพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr. Tigga Kingston ผู้ก่อตั้งหน่วยวิจัยและอนุรักษ์ค้างคาวแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEABCRU) และผู้นำเครือข่ายความหลากหลายของค้างคาวโลก (GBatNet) โดยค้างคาวชนิดใหม่นี้มีชื่อไทยว่า 'ค้างคาวหน้ายักษ์เล็กสีเขม่า' ตามลักษณะของสีขน

ม.อ. - อินโนบิก ผนึกกำลังต่อยอดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ เสริมความมั่นคงด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ดร.ณัฐ อธิวิทวัส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด พร้อมด้วย รศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ และ ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ ระหว่าง บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เพื่อมุ่งต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์จริงเชิงพาณิชย์ โดยจะนำผลงาน ที่มีศักยภาพมาวิเคราะห์และทดสอบการใช้งานจริงผ่านคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผสานความเชี่ยวชาญด้านการตลาดของอินโนบิก เพื่อสนับสนุนให้นวัตกรรมจากการวิจัยของคนไทยสามารถเข้าสู่ตลาดที่เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการแพทย์ ลดการพึ่งพาการนําเข้า สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน 

ตรัง-ม.อ. ตรัง โชว์ผลงานวิจัยขับเคลื่อนชุมชนผนึกกำลังเครือข่ายสัมพันธ์ สงขลานครินทร์

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดโครงการเครือข่ายสัมพันธ์ สงขลานครินทร์ ครั้งที่ 4 (The 4th PSU Network on Trang Campus) เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะผลงานเพื่อชุมชน รวมทั้งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ และสร้างเครือข่ายการสื่อสารผลงานและกิจกรรมมหาวิทยาลัยสู่สื่อมวลชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยในปีนี้จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2566 โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ผศ. ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ และรักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง ผศ. ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ร่วมต้อนรับสื่อมวลชนจากส่วนกลาง ภาคเหนือ และพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ตลอดจนเครือข่ายประชาสัมพันธ์ทั้ง 5 วิทยาเขต ที่เข้าร่วมงานอย่างอบอุ่น

ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี กล่าวว่า ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีการดำเนินภารกิจทั้งการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ การผลิตบัณฑิต การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย การขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ การมีระบบรักษาพยาบาลที่มั่นใจในคุณภาพ คุณธรรมและการรักษาพยาบาลที่เป็นเลิศ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการ มีการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และได้นำผลงานนวัตกรรมและบริการวิชาการ สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพในระดับต้น ๆ ของประเทศและระดับโลก การวางแผนการดำเนินงานใน 4 ปี จนถึงปี 2570 

มหาวิทยาลัยได้มีการกําหนดวิสัยทัศน์ใหม่ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่าเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก เพื่อสร้างศักยภาพในการดำเนินการเรื่องที่สําคัญและส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งต่อชุมชนภาคใต้ ประเทศไทยและสังคมโลกได้อย่างแท้จริง จะมีการปรับวิธีการทำงานให้พร้อมที่จะร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ในการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของสังคม โดยใช้ศักยภาพของสถาบันที่เป็นสมองของประเทศที่ทุกคนให้ความเชื่อถือและไว้วางใจ โดยจะเน้นการขับเคลื่อนเพื่อวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ 5 ประเด็น คือ เรื่องเกษตรอาหาร สุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังคมพหุวัฒนธรรม และการสร้างนวัตกรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งของประเทศไทย และเป็นความพร้อมของสงขลานครินทร์

“โครงการเครือข่ายสัมพันธ์ สงขลานครินทร์ ครั้งที่ 4” นอกจากสื่อมวลชนจะได้เยี่ยมชมหน่วยงานและผลงานของวิทยาเขตตรัง เพื่อการนำข้อมูลข่าวสารออกเผยแพร่ทางสื่อแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ และสร้างเครือข่ายระหว่างสื่อมวลชนและผู้ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย เพื่อความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต

ผศ. ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ และรักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบด้วย 5 วิทยาเขต แต่ละวิทยาเขตมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ภาพของมหาวิทยาลัยโดยใช้ข้อมูลและสถานที่การจัดกิจกรรมหมุนเวียนกันทุกวิทยาเขตในแต่ละปี เพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นการสานสัมพันธ์ทั้งระหว่างบุคลากรผู้ปฏิบัติงานภายในมหาวิทยาลัยด้วยกันเอง และกับเครือข่ายสื่อมวลชนในส่วนกลางและในพื้นที่ 

การจัดโครงการนี้ ผู้เข้าร่วมได้นำเยี่ยมชม หลักสูตรการเรียนการสอนที่น่าสนใจของวิทยาเขตตรัง เช่น ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และผลงานเด่น ๆ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ทำเพื่อชุมชน เช่น ผลงานวิจัยเส้นทางการท่องเที่ยวในชุมชนย่านเมืองเก่ากันตัง ชุมชนย่านตาขาวหรือย่านตาขาวโมเดล และสัมผัสวิถีชิวิตชาวเลที่ชุมชนบ้านน้ำราบ เป็นต้น เพื่อประชาสัมพันธ์วิทยาเขตตรัง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น 

นอกจากยังมี นิทรรศการ และผลงานเด่นหน่วยงาน ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ นครตรัง Innovation City (TRM+ICM+PART+PA), โครงการ U2T, โครงการมูลนิธิชมรมรากแก้ว, การทำ Digital Marketing ให้กับสถานประกอบการ (IDTM+DBIZ), MikroTik, Equity, BE Hall of Frame, Digital Accounting รางวัลสหกิจศึกษา – ACC Microneed, แผ่นเข็มขนาดไมครอนแบบสลายตัวได้, กรรมวิธีการผลิตไบโอแคลเซียม, เจลลี่พร้อมดื่มจากน้ำส้มสายชุหมัก, ผลิตภัณฑ์/สินค้าจากงานวิจัย ของศูนย์แสดงงานวิจัยและนวัตกรรม Research and Innovation Exhibition Center : RIEC (ริเอะ), สหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน, งานพันธกิจเพื่อสังคม, งานบริการวิชาการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, งานพัฒนาการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในภาคใต้, ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงโอเลโอเคมีแบบครบวงจร, โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพชุมชนและผู้ประกอบการเพื่อยกระดับรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน เกาะแรต จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ผลิตภัณฑ์จากชุมชนภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ Pattani Heritage City วงแหวนพหุวัฒนธรรม โครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการจังหวัดปัตตานี และสถาบัน ขงจื๊อภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

'กสทช.' ไฟเขียว!! 'ม.อ.' ได้ใช้ Starlink ของ 'อีลอน มัสก์' รายแรกในไทย หนุนภารกิจช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัยและพื้นที่ห่างไกล 6 เดือน

เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค. 66) รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ใช้คลื่นความถี่ย่าน Ku-Band (Uplink : 14-14.5 GHz และ Downlink : 10.7-12.7 GHz) ของดาวเทียมต่างชาติกลุ่มดาวเทียม Starlink ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO)

สำหรับใช้ในการทดลองทดสอบรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เพื่อสนับสนุนภารกิจค้นหาช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัยและภารกิจอื่นในพื้นที่ห่างไกลที่โครงข่ายภาคพื้นดินไปไม่ถึง เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 6 เดือน

Starlink เป็นโครงการสร้างโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) โดยไม่ต้องใช้สาย ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทเทคโนโลยีอวกาศ SpaceX ของมหาเศรษฐี ‘อีลอน มัสก์’ เจ้าของ Tesla และทวิตเตอร์ หรือ X ในปัจจุบัน โครงข่าย Starlink สามารถปล่อยสัญญาณบรอดแบนด์ได้ราว 32 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในพื้นที่สงครามอย่างยูเครน-รัสเซีย

ข้อมูลจากรอยเตอร์ระบุว่า ปัจจุบันโครงข่ายของ Starlink เข้าถึงประชากร 2.3 ล้านคน ใน 70 ประเทศแล้ว

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ให้ข้อมูลในกรณีนี้ว่า เป็นการพิจารณาตามที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร้องขอ ซึ่งเดิมมหาวิทยาลัยเคยได้รับอนุญาตให้เป็นพื้นที่ทดลองทดสอบ (Sandbox) ในการพัฒนา 5G Usecase มาก่อน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี

“ครั้งนี้ต้องการทดลองทดสอบนวัตกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ ซึ่งจะมีประโยชน์มากในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ตามเกาะแก่ง หรือตามป่าเขา ที่โครงข่ายอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดิน หรือโครงข่ายไร้สาย 4G หรือ 5G ไปไม่ถึง ซึ่งภาคใต้ของประเทศไทยยังคงมีปัญหาดังกล่าว และครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม Starlink มาทดลองทดสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ต (Broadband)”

แม้ว่าจะใช้คลื่นความถี่ในย่าน Ku Band เหมือนกับดาวเทียมไทยคม 5 และไทยคม 8 ที่ใช้งานแพร่ภาพโทรทัศน์ (Broadcast) แต่ก็ไม่ทับซ้อนกัน โดยที่ดาวเทียมไทยคม 5 ใช้ Downlink : 12.272-12.604 GHz และไทยคม 8 ใช้ Downlink : 11.48-11.70 GHz

“กสทช. ก็มีข้อสังเกตในการทดลองทดสอบครั้งนี้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดคลื่นความถี่รบกวนกันด้วย จึงเป็นสิ่งที่ดีที่ก่อนจะมีการอนุญาตให้ใช้งานจริงควรทดสอบก่อน โดยมีโครงสร้างสถาปัตยกรรมโครงข่ายกรณีภารกิจค้นหาและช่วยชีวิตเรือที่ประสบภัย”

การทดลองทดสอบ (Sandbox) ในการรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีดาวเทียมวงโคจรต่ำที่เป็นกลุ่มดาวเทียมใช้งาน Broadband เช่นนี้

สำหรับดาวเทียมสัญชาติไทยที่ กสทช.ประมูลและอนุญาตในต้นปีที่ผ่านมาเป็นดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geo-Stationary Earth Orbit : GEO) และการอนุญาตในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการอนุญาตเพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

“หากให้มหาวิทยาลัยได้ทำการทดลองทดสอบเพื่อได้ศึกษาถึงเทคโนโลยีดังกล่าวที่มีความแตกต่างกัน และได้องค์ความรู้ทั้งในด้านการพัฒนาและการประยุกต์ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการค้นหาและช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัย จึงน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ” พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์กล่าว

สสส.สนับสนุน ม.อ.ทำโครงการสื่อสารณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงทั้งบุหรี่ แอลกอฮอล์และอุบัติเหตุในมหาวิทยาลัยและชุมชน 5 วิทยาเขตภาคใต้

อธิการบดี หวังเป็นต้นแบบจัดตั้งกลไกจัดการปัจจัยเสี่ยง ผู้ทรงคุณวุฒิสสส.ชี้โครงการมีการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงก่อนและหลังจัดกิจกรรมเป็นตัวชี้วัดที่ดี เผยผลสำรวจพบการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนการสวมหมวกกันน็อคลดลง

เช้าวันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น ๒ ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการแถลงข่าวเปิดตัว โครงการสานพลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รณรงค์และจัดการความรู้ ลดปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชน โดย ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการจาก  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

​ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าต้องขอบคุณ สสส. ที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและทิศทางของมหาวิทยาลัยในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยด้านปัจจัยเสี่ยง อุบัติเหตุ บุหรี่ และแอลกอฮอล์ให้กับ นักศึกษาและบุคลากร ของมหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนทำให้คนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับคนทุกวัยและเป็นไปตามค่านิยมหลัก คือ มีความเป็นมืออาชีพ ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเป็นเอกภาพ เป็นหนึ่งเดียว ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง โดยมหาวิทยาลัยได้ กำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่สำคัญคือ สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพและสังคมที่สำคัญทั้งอุบัติเหตุ บุหรี่ และแอลกอฮอล์

อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยมี นโยบายที่สำคัญ 8 ด้านคือ การสนับสนุนการทำงานทางด้านวิชาการ การจัดการความรู้ เพื่อขับเคลื่อน การลดปัจจัยเสี่ยงระดับนโยบายของมหาวิทยาลัย การพัฒนากลไกจัดการปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัย และชุมชนรอบมหาวิทยาลัยครอบคลุมทั้ง 5 วิทยาเขต การรณรงค์และสื่อสารสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นการสื่อสารรณรงค์ลดพฤติกรรมเสี่ยงในมหาวิทยาลัย และประชาชนในชุมชนเป้าหมาย การประกาศนโยบายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่และจัดเขตสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ นำไปสู่การพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน การสนับสนุนระบบการขนส่งรถสาธารณะในมหาวิทยาลัยเพื่อลดการใช้รถจักรยานยนต์ และ รถยนต์ ส่วนตัว การปรับสภาพถนนและสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุให้ปลอดภัย การสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ และการร่วมมือกับองค์กร ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การสร้างกลไกให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นต้นแบบการจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพและ ปัจจัยเสี่ยงสังคม

ด้านนายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สสส.เห็นความตั้งใจของผู้บริหาร บุคลากร ของมหาวิทยาลัยรวมทั้งบัณฑิตอาสาที่ต้องการดำเนินงานสื่อสารณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนรอบ มหาวิทยาลัย จึงให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการโดยเชื่อมั่นว่า  ด้วยบทบาทของการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการและการทำงานรับใช้ชุมชนจะทำให้โครงการนี้เป็นแบบอย่างของ การดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่สามารถประเมินผลลัพธ์ของโครงการได้เนื่องจากมีการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงภายใน 5 วิทยาเขตและชุมชนเป้าหมายก่อนเข้าไปดำเนินโครงการเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจัดกิจกรรมสื่อสาร รณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงได้ตรงตามเป้าหมาย หลังจากนั้นจะมีการจัดเก็บขอมูลอีกครั้งก่อนจบโครงการเพื่อเปรียบเทียบว่าผลจากการจัดกิจกรรมต่างๆได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งความรู้ ความคิดและพฤติกรรมของบุคลากรในมหาวิทยาลัยและคนในชุมชนอย่างไร เพื่อที่ในอนาคตหากมหาวิทยาลัยต้องการขยายผลหรือขยายพื้นที่ในการดำเนินงานในวงกว้างมากขึ้นก็จะทำให้ประชาชนชุมชนและสังคมโดยรวมมีสุขภาวะที่ดีขึ้นซึ่ง สสส.ก็ยินดีที่จะสนับสนุนบทบาทเหล่านี้ต่อไปในอนาคต

ขณะที่ รศ.ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ หัวหน้าโครงการฯกล่าวถึงวัตถุประสงค์ ของโครงการว่าเพื่อศึกษาสถานการณ์ด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและทางสังคมด้านยาสูบ แอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุ ทั้ง ภายใน 5 วิทยาเขตและชุมชนเป้าหมาย นอกจากนั้นยังต้องการให้เกิดการสร้างและพัฒนากลไกการจัดการปัจจัยเสี่ยงทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและชุมชนควบคู่กับการสร้างและพัฒนานักรณรงค์สุขภาวะรุ่นใหม่จากนักศึกษา บุคลากรในมหาวิทยาลัย บัณฑิตอาสา และประชาชนเป้าหมาย ให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ สื่อสารสร้างการรับรู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนทางความคิดและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสุดท้ายคือการจัดการความรู้ที่ได้จากการสำรวจ สถานการณ์สุขภาพ การจัดกิจกรรมเพื่อสื่อสาร การถอดบทเรียนและการใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายในระดับต่างๆต่อไป   โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน  ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566  ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2568 งบประมาณรวม  4,994,000 บาทถ้วน

หัวหน้าโครงการฯได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า 3 ประเด็นปัจจัยเสี่ยงที่แต่ละวิทยาเขตเลือกคือ. บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า วิทยาเขตปัตตานีและวิทยาเขตภูเก็ตจะเป็นผู้ดำเนินการ เรื่องอุบัติเหตุ วิทยาเขตหาดใหญ่และ วิทยาเขตตรัง จะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนแอลกอฮอล์ วิทยาเขตสุราษฎร์เป็นผู้ดำเนินการ ในขณะที่การเลือก ชุมชนเป้าหมายนั้น วิทยาเขตปัตตานี เลือกตำบลบ้านตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี วิทยาเขตหาดใหญ่ เลือกเขตเทศบาลเมืองคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วิทยาเขตตรัง เลือกตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง วิทยาเขตภูเก็ต เลือกพื้นที่ชุมชนเขาน้อย ต.กระทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เลือกตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละวิทยาเขตได้ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมกับการวิเคราะห์ วางแผนกำหนดแนวทาง รูปแบบการสื่อสารและณรงค์ต่อไป โดยหลังจากการแถลงข่าวจะมีการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารและการรณรงค์ให้แก่ อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 5 วิทยาเขตด้วย  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าข้อมูลที่มีการจัดเก็บสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชนมีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ด้านบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้านั้นแม้ผู้ตอบส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่ได้สูบบุหรี่ แต่มีอยู่ประมาณ 5 %ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบของพอตที่หน้าตาเหมือนของเล่นและแบบแท้งค์น้ำยา ส่วนใหญ่หาซื้อเอง ส่วนการสูบบุหรี่มวนมีทั้งสูบตั้งแต่ 2-5 มวนต่อวันไปจนถึง 11-20 มวนต่อวัน ด้านอุบัติเหตุนั้นพบข้อมูลที่คล้ายคลึงกันคือผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อค อยู่ระหว่าง 24%-47.1% ส่วนคนซ้อนไม่สวมหมวกกันน็อคอยู่ระหว่าง 17.6%-44.6% สะท้อนว่าการสวมหมวกกันน็อคลดลงเรื่อยๆ ส่วนประเด็นแอลกอฮอล์นั้นพบว่าพฤติกรรมการดื่ม 37.2% จะดื่มที่บ้านตัวเองและที่พัก รองลงมา33.5% ดื่มในงานเลี้ยงและงานเทศกาล

23 เมษายน พ.ศ. 2517 วันก่อตั้ง ‘คณะมนุษยศาสตร์’ ม.สงขลานครินทร์ ครอบคลุมหลายหลักสูตร ให้นักศึกษาได้เล่าเรียน

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดสอนในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และเปิดสอนในรายวิชาทางด้านดังกล่าวให้กับนักศึกษาสาขาอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

ทั้งนี้ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (Faculty of Humanities and Social Sciences, Prince of Songkla University) ได้จัดตั้งขึ้นตามโครงการ ที่ได้กำหนดไว้ใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ( พ.ศ. 2515 - 2519 ) เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2517 โดยทบวงมหาวิทยาลัยได้ อนุมัติให้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดตั้ง ‘คณะมนุษยศาสตร์’ ต่อมา ได้อนุมัติให้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์’ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2518 เพื่อสนองนโยบายที่คณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ได้วางไว้ว่าจะให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นศูนย์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมและสังคม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top