Sunday, 5 May 2024
มหาวิทยาลัยรามคำแหง

Congratulations! 'แอนดรูว์ บิ๊กส์' ปลื้ม!! คว้าป.โท ศึกษาศาสตร์ ม.รามฯ การเติมเต็มอีกขั้นด้าน 'ภาษา' ของฝรั่งหัวใจไทย

ไม่นานมานี้ 'แอนดรูว์ พีตรี บิ๊กส์' ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก 'Andrew Biggs แอนดรูว์ บิ๊กส์' แสดงความรู้สึกขอบคุณจากทุกแรงใจที่ร่วมแสดงความยินดี ภายหลังคว้าปริญญาโท คณะศึกษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงมาครอง โดยเขาได้เผยถึงประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาไทยอีกขั้นอย่างมากมาย ทั้งการเขียนเรียงความ รายงาน การวิจัย และบทเรียนที่น่าสนใจต่างๆ จากรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง 

พร้อมทั้งยังโพสต์ขอบคุณทุกคนที่คณะศึกษาศาสตร์ ตั้งแต่ คณาจารย์ที่ยอดเยี่ยม, เพื่อนนักเรียนร่วมคลาสทั้ง 20 คน, มิตรสหาย, ครอบครัว และเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ที่ทำให้เขาได้สัมผัสกับความภาคภูมิใจใต้ชุดครุยของมหาวิทยาลัยรามคำแหงในครั้งนี้ หลังจากที่เคยคว้าปริญญาตรีครุศาสตรบัณฑิต เอกภาษาไทย จากมหาวิทยารามคำแหงมาแล้วก่อนหน้า

สำหรับ 'แอนดรูว์ บิ๊กส์' เป็นชาวออสเตรเลียที่มีประสบการณ์การสอนภาษาอังกฤษผ่านทางรายการวิทยุ โทรทัศน์ คอลัมน์ทางหน้าหนังสือพิมพ์ และนิตยสารในประเทศไทยมากว่า 30 ปี ภายใต้สโลแกนที่พูดบ่อยจนติดหูคนไทยอย่าง "ภาษาอังกฤษง่ายนิดเดียว”

‘สืบพงษ์’ คืนเก้าอี้อธิการฯ ม.รามอีกครั้ง หลังศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครองรอบ 2

แห่มอบดอกกุหลาบให้กำลังใจ ‘สืบพงษ์ ปราบใหญ่’ หลังศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครองรอบ 2 กลับมานั่งเก้าอี้อธิการบดีอีกครั้ง ยืนยันตั้งใจ-ทุ่มเทให้กับรามฯ

(14 ก.พ.66) เมื่อเวลา 08.00 น.ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกครั้ง ท่ามกลางอาจารย์-เจ้าหน้าที่มอบกุหลาบแดง (วาเลนไทน์) ให้กำลังใจ และอวยพรให้ฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ การกลับมารับตำแหน่งอธิการบดีอีกครั้งเกิดจากศาลปกครองกลาง สั่งคุ้มครองชั่วคราว อธิการบดี ม.รามคำแหง

ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หลังจากที่ถูกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ออกคำสั่งให้ถอดถอน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 และตามมาด้วยมติเลิกจ้างด้วย ซึ่งถือว่าร้ายแรง ผศ.ดร.สืบพงษ์ก็ดิ้นสู้ในขบวนการยุติธรรมด้วยการฟ้องศาลปกครองกลาง และฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางด้วย และเมื่อวาน (13 ก.พ.66) ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จนกว่าศาลจะตัดสินออกมา

ผศ.ดร.สืบพงษ์ กล่าวว่า ในการเริ่มต้นการทำงานโดยส่วนตัวตั้งใจทำงานให้ดีที่สุดตั้งแต่วินาทีแรกที่เข้ามาทำงานในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทุกคนในมหาวิทยาลัยรู้ดีว่าตนทำงานอุทิศตนให้มหาวิทยาลัยแค่ไหน

“ผมทุ่มเทเวลาให้กับมหาวิทยาลัยมากกว่าครอบครัวด้วยซ้ำ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ไม่เว้นแม้วันเสาร์-อาทิตย์ และตลอดสิบปีที่ผ่านมาก็ไม่มีเรื่องราวอะไรเสื่อมเสีย แต่ตำแหน่งอธิการบดี เป็นตำแหน่งทางการเมือง การที่ผมไม่เห็นด้วยกับผลประโยชน์ หรือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผมโดนเล่นงาน”

‘หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า ม.รามฯ’ ร้อนระอุ พบ ปชช.เป็นลม 14 ราย จนท.เร่งประสานรถมูลนิธิเข้าดูแล พร้อมจัดหารถพ่นละอองน้ำบรรเทา

(7 พ.ค. 66) ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขตบางกะปิ นายไพรัตน์ เกษตรสินธุ์ ผอ.เขตบางกะปิ ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลความเรียบร้อยภายในหน่วยเลือกตั้ง ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงล่าสุดว่า ประชาชนมาใช้สิทธิ์ค่อนข้างเยอะ ทั้งนี้ มีการเตรียมการให้ประชาชนสแกนคิวอาร์โค้ด และสามารถไปตามชุดการเลือกตั้งทั้ง 80 ชุดที่เราจัดเตรียมไว้ให้ จึงเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จะมีปัญหาบ้างที่ประชาชนในชุดเลือกตั้งนั้น ๆ มีจำนวนมากจนคิวต่อแถวล้น โดยเรานำเต๊นท์มาเสริมให้กับประชาชน หรือช่วยแนะนำให้เดินเข้าแถวหลบตามร่มไม้ ประมาณ 10 โมงเช้า

กรรมการประจำหน่วยบางรายเริ่มมีอาการหายใจไม่ออก ซึ่งเราได้ประสานรถมูลนิธิมาเพื่อมาปฐมพยาบาลเบื้องต้น เท่าที่ทราบมีแจ้งเข้ามา 14 คน

นายไพรัตน์กล่าวต่อว่า ประชาชนเดินทางมาตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเวลานี้ ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ได้ บางชุดเลือกตั้งคนจะเริ่มบางตาลง ปัญหาที่พบ อาจจะมีเรื่องการเข้าหน่วยบ้าง หรือรายชื่อตกหล่นจากการลงทะเบียน ได้ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข ปัญหาที่พบมากที่สุด คืออากาศค่อนข้างร้อน ตั้งแต่ 10.00 น. เป็นต้นมา เราได้นำเรียนผู้ว่าฯ จึงได้สั่งการให้นำรถฉีดพ่นฝอยละอองน้ำ เพื่อให้อากาศรอบนอกเขตเลือกตั้งเย็นลง ทำให้ปัญหาเจ้าหน้าที่ และประชาชนมีอาการเป็นลมน้อยลง และยังไม่ได้รับรายงานว่ามีปัญหาเรื่องการเข้าหน่วยเลือกตั้ง

ในส่วนของกรุงเทพฯ เอง ได้มีการประสานงานเพื่อขอพัดลมไอน้ำและพัดลมแรงดันสูง ซึ่งกำลังจัดหาเพิ่มเติม โดยขณะนี้ประชาชนเริ่มบางตาลง สามารถอำนวยความสะดวกมากขึ้น

เมื่อถามว่า ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องความวุ่นวายในแต่ละหน่วยใช่หรือไม่ นายไพรัตน์กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงาน ซึ่งพยายามตระเวนดูแต่ละคูหาอยู่ ซึ่งจะพบเจ้าหน้าที่เป็นลมบ้าง โดยพยายามให้รถพ่นฝอยละอองน้ำฉีดให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

เมื่อถามว่า ระยะเวลาที่เหลืออยู่จะแนะนำประชาชนอย่างไรบ้าง นายไพรัตน์กล่าวว่า ในส่วนที่คิวต่อแถวยังยาวจะแนะให้ประชาชนหลบเข้าที่ร่ม เมื่อประชาชนเริ่มบางตาลงแล้วค่อยมาใช้สิทธิ์ ซึ่งยังมีเวลาอีกหลายชั่วโมงที่กว่าจะถึง 17.00 น.

26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร ม.รามคำแหงรุ่นแรก

วันนี้ เมื่อ 48 ปีก่อน ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ และ ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ’ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก 

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ดำเนินการขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พร้อมพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชด้วย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 เป็นวันเสด็จพระราชดำเนินในพิธี โดยใช้สถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก คือ บริเวณหน้าสำนักหอสมุดกลาง

หลังจากพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทางด้านหลังสำนักหอสมุดกลาง เสด็จขึ้นหอสมุดกลางทางประตูด้านหลัง เสด็จเข้าห้องรับรอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทูลเกล้าฯ ถวายครุยปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และรองอธิการบดีทูลเกล้าฯ ถวายครุยปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางสังคมวิทยา แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ครุย แล้วทรงลงปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมของมหาวิทยาลัย เมื่อถึงหมายกำหนดการพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเสด็จพระราชดำเนินเข้าเวทีที่ประทับ ทรงบูชาพระรัตนตรัย แล้วเสด็จประทับพระราชอาสน์ ที่หน้าสำนักหอสมุดกลาง

นายกสภามหาวิทยาลัย ได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลสดุดี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อธิการบดีเชิญปริญญาบัตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและรองอธิการบดีเชิญปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางสังคมวิทยาขึ้นทูลเกล้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

จากนั้น เป็นการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรตามลำดับ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2517 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ความตอนหนึ่งว่า...

“มหาวิทยาลัยรามคำแหงนี้เป็นมหาวิทยาลัยในแบบที่ให้โอกาสแก่ ผู้ปรารถนาวิชาความรู้ ให้เข้ามาศึกษาค้นคว้าวิทยาการต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง และอย่างอิสระจึงอำนวยประโยชน์ได้มาก ในด้านสนับสนุนส่งเสริมบุคคลทั่วไป และโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานแล้ว ให้ได้ฟื้นฟูเพิ่มพูนความสามารถของตนทางด้านวิชาการ เพื่อนำไปปรับปรุง การงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยกฐานะหน้าที่ให้สูงขึ้น มหาวิทยาลัยมีความมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริม ผู้ที่เข้ามาศึกษาดังนี้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วทุกคนควรจะได้มองเห็น และควรที่จะได้น้อมนำมาเป็นคติในการดำเนินชีวิต และการงานต่อไป โดยทำความตั้งใจและความเพียรให้มั่นคง ในอันที่จะฝึกฝนและปรับปรุงตนเอง ในการทำงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และสำคัญที่สุดควรจะได้พยายาม หาทางนำความคิดวิทยาการซึ่งอุตส่าห์ฝึกฝนศึกษามาได้ด้วยยากนั้นมาใช้ ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความ เจริญมั่นคงของชาติบ้านเมืองของเรา”

‘อัษฎางค์’ ถามดังๆ ถึง ‘คณาจารย์-ผู้บริหาร’ ม.ราม ปล่อย ‘ก้าวไกล’ เอี่ยวกิจกรรมนักศึกษา เพื่ออะไร 

(21 ก.พ.67) นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค’ ในหัวข้อ ‘เด็กราม ยอมให้เขาทำแบบนี้ใช่มั้ย ?’ ระบุว่า…

คณาจารย์ ผู้บริหาร ม.ราม ยอมให้เขาทำแบบนี้ใช่ไหม?

ศิษย์เก่า จะนิ่งดูดายหรือไม่?

ปล่อยให้พรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของนักศึกษา ด้วยเหตุผลอะไร? 

ก้าวไกลคิดครอบงำองค์กร นศ.หรือไง หวังผลอะไร?

องค์กรนักศึกษา ตั้งขึ้นเพื่อกิจกรรมของนักศึกษาและมหาวิทยาลัย หรือเพื่อเป็นแขนขาของพรรคการเมือง ที่ศาลวินิจฉัยว่า มีพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง 

นอกจากนี้ยังปล่อยให้มีการซื้อเสียงตั้งแต่ยังเป็น นศ. นี่หรือคือการเมืองของคนรุ่นใหม่?

ถามดังๆ ไปถึงน้องๆ นักศึกษา คณาจารย์และผู้บริหาร

ท่านปล่อยให้พรรคการเมืองที่ศาลวินิจฉัยว่า มีพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง ให้เข้ามาเกี่ยวข้องหรือแทรกแซงองค์กรนักศึกษา เท่ากับท่านสนับสนุนพรรคที่ศาลวินิจฉัยว่า คิดล้มล้างการปกครอง ใช่หรือไม่?

‘นศ.หนุ่ม’ ตัดสินใจ!! ลาออกจาก ‘ม.ธรรมศาสตร์’ มาเรียน ‘ม.ราม’ แทน ชี้ เพราะเบื่อสังคม หลังพยายามเอาแต่พูดเรื่อง ‘สถาบัน-การเมือง’

(11 มี.ค. 67) ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความแชร์เรื่องราวของนักศึกษาหนุ่มรายหนึ่ง หลังตัดสินใจลาออกจาก ‘ม.ธรรมศาสตร์’ แล้วย้ายมาเรียนที่ ‘ม.รามคำแหง’ แทน โดยระบุว่า…

วันนี้เมื่อปีที่แล้ว มีโอกาสได้เจอเด็กวัยรุ่นแถวบ้านคนหนึ่ง ที่สนามบินนครศรีฯ 

น้องบอกว่าจะเดินทางไปรายงานตัวและหาหอพัก น้องสอบติดคณะวิศวะฯ ม.ธรรมศาสตร์

เขาเป็นลูกชาวสวนยาง พ่อกับแม่กรีดยางส่งให้เรียน และน้องก็เป็นเด็กดี ผลการเรียนระดับมัธยมดีมากๆ

วันนั้น…ก็ได้แต่ยิ้ม (แม้ในใจมีเป็นหมื่นล้านคำที่อยากจะพูด…) และอวยพรให้น้องเดินทางปลอดภัย ให้ตั้งใจเรียน มุ่งมั่นเอาวิชาความรู้ อย่าไปยุ่งกับกิจกรรมและการเมืองให้มาก

วันนี้…ได้พบน้องคนนั้นอีกครั้ง น้องปิดเทอมกลับมาบ้านและน้องตั้งใจมาหาโดยตรง (มาซื้อมันหนึบ🍠) น้องยกมือไหว้ แล้วเล่าให้ฟังว่า…

#ผมลาออกจาก ม.ธรรมศาสตร์ แล้วนะครับ ตอนนี้ผมไปเรียนที่ ม.รามคำแหง

ด้วยความห่วงใย ก็ถามน้องไปว่า เรียนหนักหรือคะ หรือค้นพบว่า คณะที่เรียนมันไม่ใช่ที่น้องชอบ

น้องตอบว่า ผมเรียนคณะเดิมครับ ผมชอบและเรียนได้ดี แต่ผมเบื่อสังคมที่นั้น เบื่อสิ่งที่เขาพยายามให้ผมรับรู้ เรื่อง #สถาบัน #เรื่องการเมือง ซึ่งมันแตกต่างจากที่ผมเห็น และที่ปู่ย่าตายายพ่อแม่บอกเล่าตลอดมา...

วันนี้...ก็ได้แต่อวยพร ให้น้องประสบความสำเร็จในการศึกษา 

แต่ในใจ...มั่นใจว่าน้องคนนี้ต่อไปในอนาคตข้างหน้า เขาจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้รับสิ่งดีๆ แน่นอน…

ไม่ใช่เพราะน้องเปลี่ยนมหาวิทยาลัยหรอกนะ แต่เขาเลือกที่จะคิดเอง และไม่ยอมให้ใครจูงจมูกง่ายๆต่างหาก!!

เด็กใต้มันแน่จริงๆ

‘รปภ. ม.รามฯ’ จบป.ตรี ภาควิชาปรัชญา สาขาภาษาจีน เผย!! “ไม่มีเคล็ดลับอะไรเลย นอกจากต้องมีวินัย”

(20 มี.ค.67) นับเป็นเรื่องราวดี ๆ ที่เมื่อได้เห็นก็ต้องชื่นชมและร่วมยินดีด้วยทันที เรื่องราวของ นายอนุชา จุดาบุตร หรือที่ชาวคณะมนุษยฯ ม.รามคำแหงเรียกกันว่า ‘พี่อนุชา’ ถือเป็นตัวอย่างของความมุมานะ มั่นเพียร และมีวินัยจนประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตั้งใจไว้

โดยเพจ ‘RU Chinese studies’ ได้แชร์เรื่องราวของ ‘พี่อนุชา’ ไว้ว่า… 

“พี่อนุชา หรือนายอนุชา จุดาบุตร เป็น รปภ.ประจำอยู่อาคาร 2 คณะมนุษยศาสตร์มาหลายปีค่ะ แอดมินเห็นมาตั้งแต่แอดยังวิ่งเข้าวิ่งออกเป็นนักศึกษาเอกจีนของรามคำแหงอยู่เลย…

“ปีนี้ พี่อนุชา กลายเป็นหนึ่งในบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์นะคะ สาขาวิชาภาษาจีน ขอแสดงความยินดีกับพี่อนุชามา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ”

นอกจากนี้ยังระบุต่ออีกว่า “พี่อนุชาเริ่มเรียนมาตั้งแต่เทอม 2/60 และจบในเทอม 1/64 ที่เรียนจนจบได้ตามระยะเวลานี้ พี่อนุชาบอกว่า “ไม่มีเคล็ดลับอะไรเลยครับ นอกจาก ‘ต้องมีวินัย’ ครับผม” 

“ดังนั้น จึงกลายเป็นอีกหนึ่งแบบอย่างที่ควรเอาอย่างนะคะ เอาอย่างในเรื่องความมุมานะ วิริยะ พยายามและตั้งใจอย่างต่อเนื่อง 

“ถึงแม้พี่อนุชาจะรูปร่างสูงใหญ่จนน้อง ๆ นักศึกษาเห็นแล้วออกจะกลัว ๆ เกร็ง ๆ อย่างนี้ แต่ตัวจริงใจดีนะคะ ถึงช่วงสอบทีไร วิชาภาษาจีนที่ต้องมีการสอบพูด และมักจะสอบกันที่บนตึกของคณะมนุษยศาสตร์ แต่พออาจารย์บอกพี่อนุชาไว้ว่าวันนั้นวันนี้จะมีนักศึกษามาสอบปฏิบัตินะ พี่อนุชาก็รับทราบและคอยดูแลนักศึกษาให้อย่างดี

#รปภตัวใหญ่หัวใจอ่อนโยนจ้า 👏👏👏

อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ม.รามคำแหง คว้ารางวัล UNESCO/IOC-WESTPAC Outstanding Scientist Award 2024

รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น (WESTPAC Outstanding Scientist Award 2024) จากคณะอนุกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก (IOC Sub Commission for the Western Pacific: IOC-WESTPAC) ภายใต้องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อเชิดชูนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก ปัจจุบัน IOC-WESTPAC ประกอบด้วย 22 ประเทศสมาชิก เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม ไทย ฯลฯ

พิธีมอบรางวัล UNESCO/IOC-WESTPAC Outstanding Scientist Award 2024 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ภายในงานประชุมวิชาการนานาชาติ 2nd UN Ocean Decade Regional Conference & 11th WESTPAC International Marine Science Conference ภายใต้หัวข้อ “Accelerating Ocean Science Solutions For Sustainable Development” ระหว่างวันที่ 22 – 25 เมษายน 2567 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติฯ

นาย Wenxi Zhu หัวหน้าสำนักงาน IOC-WESTPAC ซึ่งเป็นองค์กรประสานงานของ UNESCO ในภูมิภาค กล่าวถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลและชายฝั่ง สุขภาพของระบบนิเวศในมหาสมุทร การพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และการดำเนินงานของประเทศไทยภายใต้ทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นับเป็นก้าวสำคัญทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก IOC-WESTPAC มอบรางวัล Outstanding Scientist Award ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2014 ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานยอดเยี่ยม 5 ท่าน และในปี ค.ศ. 2017 จำนวน 3 ท่าน สำหรับในปี ค.ศ. 2024 IOC-WESTPAC พิจารณาคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานวิจัยดีเด่น และเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการพัฒนาวิทยาศาสตร์มหาสมุทรในภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตกอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง จำนวน 5 ท่าน ดังนี้

1) Dr. Zainal Arifin, National Research and Innovation Agency, Indonesia
2) Dr. Thamasak Yeemin, Ramkhamhaeng University/Marine Science Association of Thailand
3) Dr. Daoji Li, East China Normal University, China
4) Dr. Vo Si Tuan, GEF/UNEP South China Sea SAP Project/ Institute of Oceanography, Vietnam
5) Dr. Gil Jacinto, University of the Philippines, the Philippines
 
รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน นักวิทยาศาสตร์ไทยที่ได้รับรางวัลนี้ เป็นผู้ที่ได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาเกือบสี่ทศวรรษในการทำงานด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงพื้นที่คุ้มครองทางทะเล มีประสบการณ์ที่ครอบคลุมทั้งด้านการจัดการ การอนุรักษ์ และการวิจัย เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Asia Pacific Coral Reef Society และเป็นประธานการจัดประชุมวิชาการ Second Asia Pacific Coral Reef Symposium เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร International Society for Reef Studies (ISRS) นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย และทำงานให้กับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ตลอดจนหน่วยงานระดับภูมิภาค ระดับประเทศ หน่วยงานระดับท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อวางแผนและดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ASEAN-Australia Economic Cooperation Program on Marine Science Project, UNEP/GEF Project on Reversing Environmental Degradation Trends in the South China Sea and Gulf of Thailand, Global Coral Reef Monitoring Network, International Coral Reef Initiative, International Maritime Organization, United Nations Development Programme, German Corporation for International Cooperation GmbH, ASEAN Center for Biodiversity, Too Big To Ignore Project: Global Partnership for Sustainable Fisheries Research, COBSEA Working Group on Marine and Coastal Ecosystems ฯลฯ

รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ได้รับเชิญให้เป็น Keynote Speaker, Invited Speaker และ convenor ของการประชุมนานาชาติจำนวนมาก เช่น International Coral Reef Symposium, International Marine Conservation Congress, Asian Marine Biology Symposium, Pacific Science Congress, IMBeR West Pacific Symposium ฯลฯ เป็น project leader ของ IOC-WESTPAC Program on the Coral Reef Resilience to Climate Change and Human Impacts เป็นประธาน และผู้ร่วมจัด First, Second and Third Summer Schools for IOC/WESTPAC-CorReCAP Project และสนับสนุนการดำเนินงานของ IOC-WESTAPAC มาอย่างต่อเนื่อง เป็นบรรณาธิการรับเชิญของวารสาร Deep-Sea Research Part II (ELSEVIER), Coral Reefs under the Climate and Anthropogenic Perturbations (CorReCAP): An IOC/WESTPAC Approach เป็นบรรณาธิการ และผู้เขียนในหนังสือ: Coral Reefs of the World Vol. 14 (Springer) - Coral Reefs of the Western Pacific Ocean in a Changing Anthropocene และมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ทั้งในวารสารระดับชาติและระดับนานาชาติจำนวนมาก

ด้วยการอุทิศตนอย่างแน่วแน่ในสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาเกือบสี่ทศวรรษ และเป็นแบบอย่างของนักวิจัยที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง มีผลงานที่โดดเด่น ทำให้ได้รับการยอมรับและความเคารพอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่ในวงการวิทยาศาสตร์ทางทะเลของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในระดับนานาชาติด้วย รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน จึงสมควรได้รับรางวัล UNESCO/IOC-WESTPAC Outstanding Scientist Award 2024


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top