Saturday, 27 April 2024
มหาวิทยาลัยนเรศวร

พิษณุโลก - ม.นเรศวร เปิดหอเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ และอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาช่างสิบหมู่

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 น. ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก  ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดหอเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หอพระไตรปิฎก และห้องนิทรรศการช่างสิบหมู่

โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร  พร้อมด้วย นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และผู้บริหารจากมหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รวมทั้งเป็นการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ และอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาช่างสิบหมู่ให้คงอยู่สืบไป ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

หลังจากนั้น เยี่ยมชมหอเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (King Naresuan the Great Hall of Honor) จัดแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตั้งแต่พระองค์พระราชสมภพ ศึกเมืองคังมีแผ่พระบรมเดชานุภาพ ประกาศอิสรภาพ และสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา

หอพระไตรปิฎก มหาวิทยาลัยนเรศวร (Tripitaka Hall) จัดแสดงพระไตรปิฎก ที่เป็นหลักคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และรวบรวมบันทึกหลากหลายภาษาของหลายชนชาติ เช่น ภาษาพม่า ภาษาฮินดี ภาษาจีน และอื่น ๆ  ทั้งในรูปแบบหนังสือ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ห้องนิทรรศการช่างสิบหมู่ (Ten Divisions Of Traditional Thai Crafts) จัดแสดงงานศิลปกรรมต่าง ๆ ในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยนเรศวรกับงานช่างสิบหมู่” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญางานช่างสิบหมู่ที่เกิดจากการวิจัย ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ มาจัดแสดงในรูปแบบของนิทรรศการ เพื่อแสดงความก้าวหน้าทางด้านศักยภาพ และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย และชมสาธิตการดุนโลหะดอกเสลาและดอกรวงผึ้งแบบประยุกต์ การปักไทย โดยศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยนเรศวร

 

‘เพนกวิน’ โพสต์เดือด เคยมีผลงานทางวิชาการ ตีพิมพ์ พร้อมขอแสดงความไว้อาลัย ต่อผู้บริหาร ม.นเรศวร

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมือง ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่ถูกยกเลิกการเชิญไปเป็นองค์ปาฐกในงานประชุมวิชาการนักศึกษาระดับปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีใจความว่า ...

เรียน สลิ่มทุกท่าน
เนื่องจากได้มีสลิ่มหลายท่านกังวลเรื่องว่าตัวผมได้รับเชิญไปเป็นองค์ปาฐกในงานประชุมวิชาการนักศึกษาระดับปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จนเป็นเหตุให้สลิ่มเหล่านี้ต้องไปดีดดิ้นกดดันผู้จัดจนทางผู้จัดเขาต้องยกเลิกงาน ขอชี้แจงต่อไปนี้
ผมไม่เคยเรียกตัวเองต่อสาธารณะว่าเป็นนักวิชาการ ส่วนใครจะเรียกผมเป็นนักวิชาการเป็นความเชื่อถือของท่านผู้ให้เกียรติเรียกผมเช่นนั้น แต่ที่มีสลิ่มบางท่านโจมตีผมว่าไม่มีผลงานทางวิชาการนั้น เป็นข้อมูลเท็จ เนื่องจากผมได้เคยตีพิมพ์บทความทางวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนาไว้ในหนังสือ Undergrad Review หนึ่งชิ้นเมื่อสมัยผมอยู่มัธยมปลาย และขณะนี้ก็ได้รับการตอบรับตีพิมพ์บทความจากวารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลวารสารวิชาการ TCI มีกำหนดเผยแพร่เดือนกรกฎาคมนี้ 

นอกจากนี้ ผมมีคอลัมน์ “ของบ่เล่ารู้ลืม” ของเว็บ The101.world เป็นบทความค้นคว้าอิสระและข้อคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนา ทุกท่านสามารถเข้าไปอ่านผลงานได้ และผมทำรายการประวัติศาสตร์ราษฎรเป็นประจำทุกสุดสัปดาห์ ในส่วนนี้ หากจะถือเป็นการค้นคว้าวิชาการอิสระก็ได้ แต่ถ้าไม่นับก็ไม่เป็นไร

ดังนั้น หากสลิ่มจะโจมตีผมว่าไม่มีผลงาน กรุณาใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง ยกเว้นว่าถนัดจะใช้ข่าวปลอมหลอกลวงกล่อมประสาทสลิ่มด้วยกันไปเรื่อย ๆ ก็สุดแท้แต่ อนึ่ง แม้ผมจะยังไม่ได้จบปริญญาโทปริญญาเอก แต่โปรดระลึกว่า บุคคลในดวงใจของพวกคุณที่ชื่นชมว่าเชี่ยวชาญศาสตร์สาขาสารพัดหนักหนานั้น ก็ไม่ได้จบแม้กระทั่งปริญญาตรีแต่อย่างใด
ส่วนผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวรที่มีปัญหากับการเชิญผมไปบรรยายแต่ไม่มีปัญหากับการเชิญทหารเข้าไปบรรยายนั้น ขอแสดงความไว้อาลัยไว้ล่วงหน้า พวกท่านเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว หรือเรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่าเป็นกะโหลกกะลานั่นเอง
ด้วยรักและเคารพยิ่ง
เพนกวิน
 

พิษณุโลก ม.นเรศวร จัดเสวนา 'สงครามยูเครน: สงครามร้อนแรกในสงครามเย็นใหม่' ชี้ต้องเตรียมรับวิกฤตไปอีกนาน

วันนี้ 20 ตุลาคม 2566 ณ ห้อง Main Conference  อาคารศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะสังคมศาสตร์ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการสังคมเสวนา ซีรีส์#๓ : หัวข้อ “สงครามยูเครน : สงครามร้อนแรกในสงครามเย็นใหม่” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิด และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข กรรมการสภามหาวิทยาลัยนเรศวรผู้ทรงคุณวุฒิ และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ “สงครามยูเครน : สงครามร้อนแรกในสงครามเย็นใหม่” เป็นวิทยากร พร้อมเปิดตัวหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับสงครามยูเครน ซึ่งเป็นเล่มแรกที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้อาจารย์ นิสิต นักวิชาการ และภาคประชาสังคมส่วนต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการเตรียมความพร้อมต่อการเป็นพลเมืองโลกที่ต้องปรับตัวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประชาคมโลกบนความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวถึงสงครามที่ผ่านมา 600 กว่าวันและจะอยู่ไปอีกนานว่า ผลกระทบที่คนไทยจะได้รับจากการทับซ้อนของสถานการณ์ COVID 19 กับสงครามยูเครน คือวิกฤตของเศรษฐกิจที่ทับซ้อนกันไปด้วย ซึ่ง COVID 19 ยังไม่มีวิกฤตด้านพลังงานเหมือนสงครามยูเครน และจะมีวิกฤตเรื่องอาหารตามมา สืบเนื่องจากราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่มีผลพวงมาจากสงคราม แต่สังคมที่กินข้าวเจ้ายังโชคดีกว่าสังคมที่กินข้าวสาลี ขนมปัง หรือแป้งโรตี ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักเนื่องจากแป้งสาลีและธัญพืช ราคาสูงขึ้นมาก ขณะเดียวกันก็มีสงครามตะวันออกกลางทับซ้อนขึ้นมาอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล สังคมไทยควรต้องเตรียมตัวรับเงื่อนไขวิกฤตเศรษฐกิจและพลังงาน ปีหน้าอาจจะเป็นปีที่ต้องรัดเข็มขัดกัน เพราะสุดท้ายสิ่งที่ตามมาคือวิกฤตค่าครองชีพ 

หนังสือ “สงครามยูเครน : สงครามร้อนแรกในสงครามเย็นใหม่” เป็นหนังสือที่เขียนตั้งแต่ก่อนเริ่มสงครามยูเครน มิติต่าง ๆ ของสงคราม สงครามโดรน สงครามปืนใหญ่ และอุปกรณ์ไฮเทคทั้งหลาย แม้สถานการณ์สงครามจะอยู่ไกลทางภูมิศาสตร์ แต่วันนี้ผลกระทบไม่หนีจากเราเลย และเราก็หนีไม่ได้ด้วย

25 มกราคม พ.ศ. 2510 วันก่อตั้ง ‘วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก’ จุดกำเนิด ‘มหาวิทยาลัยนเรศวร’ ในปัจจุบัน

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2510 ตรงกับวันก่อตั้ง ‘วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก’ โดยสาเหตุของการก่อตั้งเกิดจาก วงการการศึกษาได้ประสบปัญหาเข้ามาอีกทั้งภาวะการขาดแคลนครูเป็นอันมากและวุฒิการศึกษาครูสูงที่สุดคือ วุฒิ ป.ม. (ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม) ซึ่งเทียบเท่ากับอนุปริญญาเท่านั้น ทำให้เกิดความล้าหลังในอาชีพครู

อีกทั้งครู ป.ม. บางคนเมื่อศึกษาเพิ่มเติมสูงขึ้นได้ปริญญาทางด้านอื่นแล้วต่างลาออกไปประกอบอาชีพใหม่ที่เข้าใจว่ามีความก้าวหน้ามากกว่า ผู้บริหารในวงการศึกษาจึงได้มีการปรึกษาหารือและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาตามลำดับ

โดย 'ดร. สาโรช บัวศรี' ถือเป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เข้าชี้แจงให้คณะรัฐบาลเข้าใจถึงเหตุและผลที่จะดำเนินการและสิ่งที่เกิดขึ้น หากให้สามารถเปิดสอนครูถึงระดับปริญญา และสามารถชี้แจงจนเข้าใจร่วมกันได้ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมจึงได้มีมติยอมรับ และในที่สุดก็ผ่านพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ในปี พ.ศ. 2497

และได้มีการขยายวิทยาเขตไปสู่ภาคต่างๆ ทุกภาค โดยได้เปิดสอนแห่งเดียวในแต่ละภาค คือ ภาคเหนือเปิดที่พิษณุโลก (25 มกราคม พ.ศ. 2510) ภาคใต้ที่สงขลา (1 ตุลาคม พ.ศ. 2511) ภาคตะวันออกที่ชลบุรี (8 กรกฎาคม พ.ศ. 2498) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มหาสารคาม และกรุงเทพมหานครที่บางเขน (27 มีนาคม พ.ศ. 2512)

หลังจากนั้นในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นการรวมวิทยาลัยเขตทั้งหมด เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโอนสถานะไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลกนั้น จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 

โดยมีวิทยาเขตประสานมิตรเป็นศูนย์กลางการบริหารของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับวิทยาลัยวิชาการการศึกษาอื่นๆ อีก 8 แห่ง การจัดการเรียนการสอนในสมัยนั้นเปิดสอนเพียง 5 คณะ คือ คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย โดยสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลกยังคงใช้สถานที่เดิมของวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก

และในช่วงปี พ.ศ. 2527-2531 ทางวิทยาเขตได้เตรียมแผนสำหรับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ และในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 400 ปี ของการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รัฐบาลในสมัยของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติให้ยกฐานะวิทยาเขตพิษณุโลก ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ 

โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยใหม่แห่งนี้ว่า ‘มหาวิทยาลัยนเรศวร’ ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย

ภายหลังจากการยกฐานะของมหาวิทยาลัยนเรศวรแล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งอาคาร สถานที่และบุคลากร โดยมุ่งหวังที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ (Comprehensive University) จึงมีการจัดตั้งคณะ วิทยาลัยต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชา และจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพในด้านการเรียนการสอน และการทำวิจัย 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ทางมหาวิทยาลัยมีมติจัดตั้งวิทยาเขตที่จังหวัดพะเยา โดยปัจจุบันได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยพะเยา และในปี พ.ศ. 2548 ได้จัดตั้งโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศในระดับมัธยมให้กับนักเรียนในเขตภาคเหนือตอนล่าง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top