Friday, 18 April 2025
มหาดไทย

'ปลัดมหาดไทย-ผบ.ตร.' ร่วมถก!! หาแนวทางแก้ปัญหายาเสพติด เน้นย้ำ!! ประกาศสงครามยาเสพติด เพื่ออนาคตประเทศไทย

วันนี้ (10 ต.ค. 65) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานร่วมการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พลตำรวจเอก ชินภัทร สารสิน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นางสาวปาณี นาคะนาท ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจโท สรายุทธ สงวนโภคัย ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่พี่น้องประชาชนชาวไทยและคนทั่วโลกได้รับทราบโดยทั่วกันแล้วว่าได้เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมสร้างความเศร้าเสียใจไปทั่วประเทศและทั่วโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบจากปัญหายาเสพติด จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยกันนำเหตุการณ์ที่เศร้าสลดสะเทือนขวัญในครั้งนี้ มาร่วมกันพูดคุยกำหนดมาตรการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา ทั้งในเชิงป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษา เพื่อจะให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ปล่อยให้สิ่งที่ไม่ดีมาทำให้เกิดความสูญเสียและเกิดความไม่เป็นปกติสุข ทั้งนี้ จากการดำเนินการสำรวจความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยแพลตฟอร์ม ThaiQM ของกรมการปกครอง ซึ่งจากฐานข้อมูลพบว่า มีพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหายาเสพติดตัวเลขสูงถึง 279,094 ครัวเรือน ใน 31,744 หมู่บ้าน ซึ่งถ้าเราเอาจำนวนสมาชิกในครอบครัวมาคูณจะทำให้ตัวเลขประชาชนที่ได้รับผลกระทบถึงเป็นหลักล้านคน ดังนั้น เราทุกคนจึงต้องดำเนินการกับปัญหายาเสพติดเชิงรุก ด้วยการเข้าไป Approach ปัญหา 

“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ขีดเส้นตายว่า ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 เราจะมีข้อมูลผู้เสพผู้ค้ายาเสพติดทั่วประเทศในเบื้องต้น เพื่อนำมาใช้วางแผนการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร ปปส. และสาธารณสุข เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน สนธิและกรองข้อมูลอีกชั้นหนึ่งในระดับพื้นที่ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เป็นแม่งานในการค้นหาผู้ที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกตำบล/หมู่บ้าน ทั้งผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ค้า ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนร่วมกับฝ่ายบ้านเมือง ดำเนินมาตรการปราบปรามควบคู่กับการค้นหาข้อมูล โดยกระทรวงมหาดไทย จะรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่ที่มีการดำเนินการปราบปรามเกี่ยวกับยาเสพติดมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้กับสังคม เพื่อสร้างความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่าเราไม่นิ่งนอนใจและเอาจริงเอาจัง และเพื่อให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือของพี่น้องประชาชนในการให้ข้อมูลกับฝ่ายบ้านเมืองเพิ่มขึ้น ไม่ว่าเป็นการจับกุม 1 เม็ด 2 เม็ด สามารถแจ้งข้อมูลได้ทั้งหมด นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ประสานทุกจังหวัดและอำเภอ สร้างความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในการให้การสนับสนุนในด้านวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการตรวจหาสารเสพติด ซึ่งมีระเบียบกระทรวงมหาดไทยรองรับภารกิจของ อปท. ในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำในช่วงต้น

พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย วางมาตรการกวาดล้างผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างจริงจัง “เพราะปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ” จึงเป็นที่มาของการหารือกันเพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนการทำงานในวันนี้ โดยจากสถิติพบว่า ในปัจจุบันสถานการณ์ผู้เสพยาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่ม และมีผู้เสพจำนวนมากยังไม่ได้เข้ารับการบำบัดในทางสาธารณสุข ในจำนวนเหล่านั้น มีกลุ่มผู้เสพที่เกิดอาการทางจิตเวช มีภาวะคลุ้มคลั่ง ทำร้ายร่างกายบุพการี คนใกล้ชิด และพี่น้องประชาชน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดและผู้กำกับการสถานีตำรวจทั่วประเทศ ต้องเข้าไปเยี่ยมชุมชนบ่อยครั้งเพื่อสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อมั่น อันจะเกิดความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน

'มท.1' ลั่น!! ดูแลประชาชนรับผลวิกฤตน้ำท่วมเต็มที่ พร้อมยันจะเล็งเร่งซ่อมแซมบ้านเรือนให้หลังน้ำลด

(21 ต.ค. 65) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ และการเยียวยา ว่า กระทรวงมหาดไทย กำลังดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในจ.อุบลราชธานี ที่ได้รับผลกระทบมากจากปัญหาลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี โดยจะดูเรื่องการดำเนินชีวิตของประชาชนในช่วงนี้ 

หลังจากนั้น เมื่อระบายน้ำจนสามารถฟื้นฟูได้แล้วจะเร่งฟื้นฟูประชาชนตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว และเตรียมให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้โดยเร็ว

ส่วนสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้น้ำได้ไหลลงไปในพื้นที่เกษตรเสียเป็นส่วนใหญ่ หากสามารถฟื้นฟูได้ก็จะคอยดูแลต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้ได้สำรวจความเสียหายตามพื้นที่ต่าง ๆ เรียบร้อยแล้วหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า "ขณะนี้ดูแลประชาชนความเป็นอยู่ที่ดีให้ได้ก่อน เพราะหลายพื้นที่ประชาชนยังอพยพอยู่ในศูนย์พักพิงจำนวนมาก เช่น จ.อุบลราชธานี ยืนยันว่าหากน้ำลง จะเร่งฟื้นฟูทันที และเร่งซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงการชดเชยการทำมาหากิน โดยเราจะเร่งสำรวจในช่วงสถานการณ์คลี่คลาย ตอนนี้ยังสำรวจไม่ได้เพราะน้ำยังมากอยู่"

‘มท.1’ กร้าว!! จะใช้กลไกอำนาจรัฐเพื่อบ้านเมือง เร่งปราบมาเฟีย - กำจัดผู้มีอิทธิพลให้สิ้นซาก

(18 ก.ย. 66) ที่ รร.รามาการ์เดนส์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมีนายทรงศักดิ์ ทองศรี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายอนุทิน กล่าวตอนหนึ่งถึงนโยบายการจัดระเบียบสังคมและผู้มีอิทธิพลว่า เมื่อพูดถึงการปราบปรามผู้มีอิทธิพล คนส่วนใหญ่คิดไม่ออกว่าต้องทำอย่างไร เราต้องมาตั้งหลักกันใหม่ สำหรับกระทรวงมหาดไทย ผู้มีอิทธิพลหมายถึงคนที่ใช้อำนาจที่มีอยู่ในทางมิชอบ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเลงหัวไม้ ไม่จำเป็นต้องเป็นอันธพาล คนดี ๆ แบบนี้ที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ ข่มเหงคนอื่น และก่อประโยชน์ส่วนตน ทำให้คนอื่นเดือดร้อน กีดกันคนอื่นไม่ให้ได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐ อำนาจบารมีในท้องถิ่น อำนาจเงิน และอำนาจสายสัมพันธ์ต่าง ๆ ถ้าใช้อิทธิพลประกอบคุณงามความดี เป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ แต่ใช้อิทธิพลก่อให้เกิดความเดือดร้อน เสียหายต่อสังคมและประเทศชาติ นี่คือสิ่งที่ต้องกำจัด หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยมุ่งจัดระเบียบสังคมให้สงบสุข ทำบ้านเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดอบายมุข ยาเสพติด ประชาชนมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง สิ่งใดที่ขัดต่อความมุ่งหมายนี้ เราจะใช้กลไกของรัฐที่พวกท่านทั้งหลายถืออยู่ในมือต้องกำจัดให้สิ้นซากไป

นายอนุทิน กล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาลว่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าไม่ใช่เงินสด มันมีวงเงิน เป็นการใช้ที่มีข้อกำหนด เช่น ใช้ในรัศมี 4 กม. แต่อาจจะเพิ่มเป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอก็ว่าไปตามความเหมาะสม ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังดำเนินการอยู่ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ได้หาเสียงเรื่องนี้เอาไว้ เราก็ต้องเข้าใจ ตนก็เคยหาเสียงมาก่อนในส่วนของตน เมื่อเราหาเสียงอะไรแล้ว หน้าที่คือต้องทำให้สำเร็จ ถ้าหาเสียงมาแล้วไม่ทำเท่ากับเราหลอกลวงประชาชน ที่เราเข้ามาทุกวันนี้ได้เพราะไปสัญญากับประชาชนไว้ ที่บอกว่าสิ่งนี้ทำไม่ได้ เป็นการมอมเมาประชาชน เราก็มองว่าต่างคนต่างความคิด แต่เราก็น้อมรับรับฟัง ถ้าคิดโดยหลักการมันก็เป็นเงินบาท ซื้อของไทย ใช้ของไทย หมุนเวียนอยู่ในระบบของเรา และต้องสร้างการป้องกันเพื่อป้องกันการหักหัวคิวด้วย เราจะปล่อยให้เกิดไม่ได้

“ผมชื่อเล่นชื่อหนู ภารกิจของท่านคือราชสีห์ แต่สำหรับผมราชสีห์คือประชาชน ให้หนูช่วยเถอะครับ อะไรที่ติดขัดก็มาบอก แล้วก่อให้เกิดผลประโยชน์ประชาชน ผมยินดีทำและรับผิดชอบร่วมกับ พวกเราทุกคนไปช่วยราชสีห์กัน ราชสีห์ก็คงไม่ตะปบเรา ราชสีห์ก็คงอยู่กับเราด้วยความสง่างาม ด้วยความสมบูรณ์ เราก็เป็นหนูที่ช่วยราชสีห์ มันก็อยู่กันได้ด้วยความสุข ไม่อย่างนั้นคงไม่อยู่ในนิทานอีสปหรอกครับ” นายอนุทิน กล่าว

‘อนุทิน’ ตั้ง คกก. ลุยสอบโครงการฮั้วประมูล ‘กำนันนก’ ลั่น!! ใครมีเอี่ยว เอาผิดตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด

(18 ก.ย. 66) ที่ รร.รามาการ์เด้นส์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบโครงการที่อาจเข้าข่ายฮั้วประมูล ที่มีความเกี่ยวข้องกับนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ ‘กำนันนก’ ว่า ตนเชื่อว่าคดีดังกล่าวจะนำมาสู่การขยายผล ตอนนี้จะต้องตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ทั้งหมดของกระทรวงมหาดไทย ว่าตรงไหนเข้าข่ายฮั้วประมูล ซึ่งตนจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาและลุยเรื่องนี้

ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว แต่ในทางราชการมีข้อเสียว่าต้องมีหลักฐานมาประกอบ จะใช้ความรู้สึกไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ท้าทาย เป็นสิ่งที่ยาก และจำเป็นต้องขอข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น ขณะนี้โครงการใหญ่ ๆ ได้รับการร้องเรียนเป็นจำนวนมากบางโครงการมีการทักท้วงแล้วแต่ยังเดินหน้าโครงการต่อ ซึ่งเราจะเข้าไปดำเนินการ ยืนยันว่าตนจะพยายามดำเนินการด้วยการหาพยานหลักฐานต่าง ๆ ว่ามีสิ่งใดที่ไม่ถูกต้อง ขณะนี้ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด แต่ผมมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบ เร่งรัดให้การตรวจสอบเกิดขึ้นโดยเร็ว

เมื่อถามว่าถ้ามีคนในเข้าไปเกี่ยวข้อง จะมีการคาดโทษหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า จะดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งการทุจริตจะทำเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องมีคนเข้ามาเอี่ยว

เมื่อถามว่าจะวางแนวทางการป้องกันในอนาคตอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด สิ่งใดไม่ดีต้องใช้กฎหมายดำเนินการให้เฉียบขาดโดยเร็วที่สุด ซึ่งคดีทุจริตไม่มีอายุความ 

‘อนุทิน’ คลอดมาตรการแบ่งเบาภาระประชาชนต่อเนื่อง ผุดขยายเวลา ‘จัดเก็บภาษีที่ดินฯ’ ปี 67 ต่ออีก 2 เดือน

(10 พ.ย.66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ได้ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประจำปี 2567 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายกำหนดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี 2567 เป็นการทั่วไป ออกไป 2 เดือน ตามที่ รมว.มหาดไทยได้มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทยมีมาตรการเพื่อแบ่งเบาภาระพี่น้องประชาชนที่เผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วในส่วนของไฟฟ้า ขณะที่ส่วนของประปาอยู่ระหว่างการพิจารณา 

ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศให้มีการขยายกำหนดการเก็บภาษีที่ดินและท้องถิ่นในปี 2567 ออกไป 2 เดือน ซึ่งท่านอนุทิน ได้ลงนามแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนมีผลบังคับต่อไป โดยมาตรการนี้จะช่วยทำให้ประชาชนมีเวลาสามารถบริหารค่าใช้จ่าย เหลือสภาพคล่องไปใช้จ่ายในระยะเวลาที่ยืดออกไป สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ขณะนี้อยู่ในช่วงของการฟื้นเศรษฐกิจ

โดยโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สาระสำคัญของประกาศกระทรวงฯ ได้ขยายระยะเวลาดำเนินการในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังนี้…

1.ขยายกำหนดเวลาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกาศ พร้อมจัดทำข้อมูลเกี่ยวข้องกับผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบ จากเดิมภายในเดือน พ.ย. 2566 เป็น ภายในเดือน ม.ค. 2567

2.ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีที่จัดเก็บ และรายละเอียดอื่นที่จำเป็นในการจัดเก็บภาษี จากเดิมก่อนวันที่ 1 ก.พ. 2567 เป็น ก่อนวันที่ 1 เม.ย. 2567

3. ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการแจ้งการประเมินภาษี โดยส่งแบบประเมินภาษีให้ประชาชนผู้เสียภาษี จากเดิมภายในเดือน ก.พ. 2567 เป็น ภายในเม.ย. 2567

4.ขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษีในการชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษี จากเดิมภายในเดือน เม.ย. 2567 เป็น ภายในเดือนมิ.ย. 2567

5.ขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษีในการผ่อนชำระภาษี ดังนี้ งวดที่1 จากเดิมชำระภายในเดือนเม.ย. 2567 เป็น ภายในเดือนมิ.ย. 2567 / งวดที่2 จากเดิมภายในเดือน พ.ค. 2567 เป็น ภายในเดือน ก.ค. 2567 และ งวดที่ 3 จากเดิมภายในเดือน มิ.ย. 2567 เป็นภายในเดือน ส.ค. 2567 

6.ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการมีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้าง จากเดิมภายในเดือน พ.ค. 2567 เป็น ภายในเดือน ก.ค. 2567 

และ 7.ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการแจ้งรายการภาษีค้างชำระให้สำนักงานที่ดินหรือสำนักงานที่ดินสาขา จากเดิมภายในเดือน มิ.ย. 2567 เป็นภายในเดือน ส.ค. 2567

‘อนุทิน’ ยัน!! พรรคร่วมฯ ไม่ขัดแย้ง ปม ‘กัญชา’ ยกคำนายกฯ “ทุกฝ่ายต้องทำเพื่อ ปชช.”

(10 พ.ค. 67) ที่ จ.ภูเก็ต นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการนำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติด ทำให้กลุ่มที่สนับสนุนกัญชาออกมาคัดค้าน ทั้งที่สภาและจะไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบด้วย ว่า คนกลุ่มนี้พยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ให้พวกพ้อง เพราะลงทุนธุรกิจมากพอสมควร ถ้าการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ต้องให้โอกาสพวกเขาชี้แจงข้อมูลไว้ตัดสินใจ เป็นเรื่องปกติ

เมื่อถามว่า จะมีปัญหาหรือไม่ ที่มีกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องมีกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กลุ่มที่เห็นด้วยกับกัญชา ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีข้อมูล ทำการศึกษา และไปรวมกลุ่มกับประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมพัฒนากัญชาให้เป็นผลิตภัณฑ์ ที่มีมาตรฐาน ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลง ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่าย

เมื่อถามว่า จะถึงขั้นสร้างความขัดแย้งหรือไม่ นายอนุทิน ย้ำว่า ความขัดแย้งไม่ควรจะมี นโยบายกัญชาอยู่ในนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา เน้นใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในทางปฏิบัติก็อยู่ในกรอบมาตลอด ทุกอย่างต้องมีการควบคุมตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข แล้วหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกอย่างมีขั้นตอน จะเปลี่ยนกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ต้องผ่านคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด และคณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ เราต้องมีข้อมูลใหม่ ๆ 

“ตอนที่เราปลดกัญชาออกจากยาเสพติด นายสมศักดิ์กับตน อยู่ในกรรมการชุดนี้ มีมติในที่ประชุมเป็นเอกสาร ไม่ใช่มีมติเสียงข้างมาก-ข้างน้อย ตนก็ได้เรียนกับนายสมศักดิ์ไปว่า คงต้องรื้อรายงานการประชุม และมาดูว่าทำไมวันนั้นตัวท่านเอง ตน และกรรมการอีกหลายคน ถอดกัญชาออกจากยาเสพติด"

เมื่อถามว่า นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ลักษณะที่ว่าอาจจะยังมีความเห็นไม่ตรงกัน นายอนุทิน เผยว่า นั่นคือพาดหัวข่าว แต่ในเนื้อข่าวไม่ใช่ ได้คุยกับนายสมศักดิ์แล้ว มีหลายเรื่องที่เห็นตรงกันและไม่ตรงกัน ไม่ได้หมายความว่าขัดแย้งกัน ท่านเข้ามาเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขได้สัปดาห์เดียว เรื่องกัญชาตนทำมา 4 ปี ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว 

“มั่นใจว่าวินาทีนี้ ตนน่าจะมีข้อมูลที่ต้องให้ นายสมศักดิ์ นำไปประกอบพิจารณา ซึ่งต้องเป็นข้อมูลที่ดีและมีประโยชน์ ไม่ได้ทำด้วยทิฐิ นโยบายของพรรคภูมิใจไทยใครจะมายุ่งเกี่ยวไม่ได้ก็ไม่ใช่ ต้องดูประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก" 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนายกรัฐมนตรี​ กล่าวว่า ทำไมคิดว่าเหตุการณ์นี้จะกระทบกับพรรคภูมิใจไทย เพราะเรายึดประโยชน์ของประชาชน นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกพรรคการเมืองต้องมองประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก พรรคการเมืองมีนายคือประชาชน นายกฯ พูดไม่ผิด เราต้องมองประโยชน์ประชาชน แต่เรื่องนโยบายของแต่ละพรรค เราอยู่รัฐบาลเดียวกัน ต้องพยายามผลักดันเกื้อกูลกันให้มากที่สุด ให้นโยบายของแต่ละพรรคไปถึงฝั่งฝัน ได้ก็จะวินวินกับทุกคน พรรคภูมิใจไทย ก็มีนโยบายกัญชา ตอนที่มาร่วมรัฐบาลถึงได้ถูกบรรจุไว้ในนั้น หลายคนมีความเห็นไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเราอยู่ร่วมกันแล้ว ต้องเคารพนโยบายของแต่ละพรรค พรรคภูมิใจไทยก็ทำมาตลอด

เมื่อถามว่า เรื่องนี้จะสร้างความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีหรอกครับ เป็นเรื่องความคิดฐานข้อมูลไม่เท่ากัน ใครมีข้อมูลมากกว่าต้องทำให้เกิดความเข้าใจ จะนำกัญชาไปเป็นยาเสพติดหรือไม่ ถ้าอะไรที่เปลี่ยนแปลงจากประกาศปัจจุบัน ต้องเข้าคณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ ที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน 

“หากไปถึงจุดนั้น ตนในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมการ หากฟังข้อมูลในที่ประชุมนำเสนอไม่ครบ ก็อาจจะต้องชี้แจง แต่ถ้าไปถึงขั้นลงคะแนนเสียง ทุกฝ่ายต้องยอมรับในมติของคณะกรรมการ พรรคภูมิใจไทยพูดได้ชัดเจนว่า เราจะยอมรับในมติของคณะกรรมการ แต่ขอให้เราได้ทำงานของเราก่อน" 

'อนุทิน' สั่ง!! ‘กรมการปกครอง’ จัดการเด็ดขาด หากพบขบวนการขึ้นโฆษณา 'ขายพาสปอร์ตผิดกฎหมาย'

(24 ก.ค. 67) ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) ถนนพระราม 6 กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณีป้ายโฆษณาทำพาสปอร์ตหลายสัญชาติ ที่มีกระแสข่าวเบื้องหลังขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ว่า การสอบสวนเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งขณะนี้การตำตรวจสอบก็เป็นไปตามขั้นตอน เมื่อวานได้มอบนโยบายให้กรมการปกครอง ว่าป้ายลักษณะเช่นนี้ได้มีการตั้งมาตรฐานแล้ว หากเป็นป้ายโฆษณาให้ไปทำพาสปอร์ตของประเทศใดก็ตามถือว่าผิด ประเทศไทยไม่ใช่เป็นที่ที่ใครจะมาอยู่แล้วทำสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ใช่ว่าไม่ได้ขายพาสปอร์ตไทยแล้วจะไม่ผิด เรื่องนี้ถือเป็นสามัญสำนึกที่ต้องรู้ว่าพาสปอร์ตไม่สามารถขายได้ และเมื่อรู้ว่าการกระทำนั้นผิดก็ต้องหยุดเสีย นั่นคือสิ่งที่เราได้ดำเนินการไปแล้ว

เมื่อถามว่า มีมาตรการอย่างไรในการรายงานผลความคืบหน้าความเคลื่อนคดีป้ายดังกล่าว นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานอยู่แล้วมองว่า ขณะนี้คงไม่ต้องรายงานแล้ว เพราะได้ไล่ปลดป้ายลงทั้งหมดแล้ว แต่ไม่พอแค่นั้น กรมการปกครองที่มีภารกิจเกี่ยวข้องในการออกวีซ่า และการตรวจคนเข้าเมืองของต่างชาติที่มาอยู่ในประเทศไทย ต้องไปร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบสวนถึงขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือเครือข่ายอะไรที่ทำเช่นนี้อยู่หรือไม่นั้น หากทราบที่มาก็ให้ไปกำจัดแค่นั้น

"อย่าไปใส่ความเครียดอะไรมาก ๆ ให้กับสังคม ให้กับประชาชน เรื่องบางเรื่องเมื่อเราไปจัดการก็จะจบไป" นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามว่า คนส่วนใหญ่กลัวว่าไทยจะเป็นมณฑลไท่กั๋ว เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของจีน นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่หรอก ประเทศไทยเรามีอธิปไตย อย่างที่ตนเคยบอกไป เราไม่รังเกียจคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย ตามสัมมาอาชีพ ซึ่งดีซะอีก เพราะบางอาชีพได้ขายของเอารายได้เข้าประเทศ พวกเราทุกคนก็เป็นต่างชาติทั้งนั้น

"ท่านชาดา ต่างชาติไหมล่ะ ก๋งผม อาม่าผม ก็คนต่างชาติทั้งนั้น ทุกคนก็ทำตามครรลอง มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และสร้างเนื้อสร้างตัวในประเทศไทย ถ้าใครทำผิดกฎหมายก็คงอยู่เมืองไทยไม่ได้ ก็แค่นั้นเอง" รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กล่าว

รู้จัก ‘ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ ลูกสาว ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ‘ว่าที่ รมช.กระทรวงมหาดไทย’ ใน ครม.แพทองธาร 1

เป็นชื่อที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นหรือได้ยินในแวดวงข่าวมากนักสำหรับ ‘ดีดา-ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ แต่หลังจาก ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ‘แพทองธาร’ พร้อมส่งซาบีดา เข้ามาเป็นรัฐมนตรีแทนชื่อของ ‘ซาบีดา’ ก็เริ่มเป็นที่จับจ้องมองทันที ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีชื่อเธอเข้ามาแทนชาดาเลย ส่วนคนที่น่าจะมาแทน คือ ‘มนัญญา ไทยเศรษฐ์’ น้องสาวของชาดา 

แต่ขณะนี้เป็นห้วงเวลาที่มนัญญาเตรียมลงชิงนายกฯ อบจ.อุทัยธานี ‘ชาดา-มนัญญา’ สองพี่น้องได้มีเรื่องบาดหมางกัน เนื่องจากชาดาได้รับปากสนับสนุนอีกคนหนึ่งไปแล้ว นักเลงต้องรักษาคำพูด ยังดีที่ตกลง และเคลียร์กันได้ก่อนการสมัคร ‘มนัญญา’ ก็ถอนตัว จากการชิงนายกฯ อบจ.อุทัยธานี ในขณะที่ชื่อ ‘ซาบีดา’ ถูกส่งเข้าประกวดชิงเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยพอดี

บุญหล่นทับ ‘ซาบีดา’ ด้วยการสละของบิดา หลังตรวจสอบน่าจะไม่ผ่านคุณสมบัติ

‘ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ ดีกรีนักเรียนนอก เกิดวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ปัจจุบันอายุ 39 ปี 11 เดือน เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ กับ นางเตือนจิตรา แสงไกร อดีตนายกเทศมนตรี จบการศึกษาปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปริญญาโทนิติศาสตรมหาบัณฑิต จากลอนดอน ประเทศอังกฤษ 

เมื่อชาดาผู้เป็นบิดาเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ซาบีดา เข้ามาฝึกงานเป็นคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของผู้เป็นพ่อ และเป็นตัวแทนในการทำงานดูแลประชาชนในพื้นที่อุทัยธานีด้วย

ชีวิตครอบครัว ‘ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ แต่งงานกับ ชาเดฟ-อนันต์ ปาทาน เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565 ที่โรงแรมบันยันทรี เกาะสมุย โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี ซึ่งปัจจุบัน ‘ดีดา ซาบีดา’ ยังไม่มีบุตร และถือว่ามีครอบครัวช้า เพราะแต่งงานในวัยเลย 35 ปีไปแล้ว

แต่ก็ถือว่า ‘ซาบีดา’ เป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยคนหนึ่ง เพียงแต่อายุมากกว่า นายกฯ แพทองธาร 1 ปีกว่า ๆ แต่ในวัยที่ยังไม่ถึง 40 ปี ถือว่า ‘กำลังดี’

'มท.4' ชี้!! รัฐเร่งช่วย 'ชาวแม่สาย' พร้อมเยียวยาเงินน้ำท่วมพรุ่งนี้ เหน็บ!! 'ปชน.' เอาแต่แซะคนทำงาน-ไล่สอยกระแสโซเชียล

(26 ก.ย. 67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม นายฐากูร ยะแสง สส.เชียงราย พรรคประชาชน (ปชน.) ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องมาตรการเยียวยาและความช่วยเหลือจากรัฐบาล อันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยและดินโคลนถล่มภาคเหนือ

นายฐากูร กล่าวว่า อยากทราบว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือประชาชนภาคเหนือที่ประสบอุทกภัยอย่างไร จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยร้ายสุดท้ายเสร็จสิ้นเมื่อใด และเห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ รวมถึงมาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง จึงของฝากเป็นการบ้านให้รัฐบาลดูแลด้วย

น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย (มท.4) ชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้รัฐบาลมีงบประมาณ 3 ก้อนใหญ่ ๆ ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ประกอบด้วย

1.งบประมาณ 3,045 ล้านบาท ครอบคลุม 57 จังหวัดพื้นที่ประสบภัย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง เบื้องต้นจะได้ที่ประมาณ 5,000-9,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งทางรัฐบาลทราบดีว่าไม่เพียงพอ แต่เราจำเป็นต้องดูแลทุกคนอย่างทั่วถึง ฉะนั้นเบื้องต้นจะได้แบบปูพรม 5,000 บาทในสัปดาห์นี้ 

หลังจากนั้นมีแนวโน้มเราจะสามารถของดเว้นให้เป็นอัตรา 9,000 บาทในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า สำหรับขั้นตอนการรับเงินจะเริ่มจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำจังหวัดประเมินแล้วส่งมายังส่วนกลาง จากนั้นจะอนุมัติเงินจากกรมบัญชีกลางไปยังธนาคารออมสิน ขอให้ลืมกรอบการเยียวยาตามระเบียบราชการกำหนดว่าจะได้รับภายใน 90 วันไป เพราะในวันพรุ่งนี้ (27 ก.ย.) ประชาชนจะได้รับเงินเยียวยากลุ่มแรกคือ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

2.กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย หากบ้านเสียหายทั้งหลังช่วยเหลือ 230,000 บาทต่อหลัง กรณีเสียชีวิต 50,000 บาท

3.เงินทดรองราชการที่ทุกจังหวัดมีอยู่ 20 ล้านบาท สามารถใช้จ่ายได้ทันที ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมแก่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย อีกจังหวัดละ 100 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายนำไปใช้ซ่อมแซมบ้านเรือนและเหตุฉุกเฉิน และมีแนวโน้มจะเพิ่มเติมให้ที่จังหวัดพะเยา จังหวัดลำปาง จังหวัดสุโขทัยที่มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้มอบเงินให้แก่กลุ่มเปราะบางด้วย

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวต่อว่าสำหรับการช่วยเหลือเกษตรกร เยียวยาข้าวไร่ละ 1,340 บาทนั้นเป็นเกณฑ์ปัจจุบัน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการระหว่างกรมบัญชีกลางกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับเป็นไร่ละ 2,200 บาท เป็นต้น จึงอยากฝากไปยังเกษตรกรช่วยปรับปรุงบัญชีการประกอบการด้วย เพื่อความรวดเร็วในการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

“เรามีมาตรการที่ครบและรอบด้านทั้งเรื่องฟื้นฟูสถานที่พื้นเศรษฐกิจ กระตุ้นหมุนเวียนเศรษฐกิจ เช่น การปล่อยเงินดิจิทัลวอลเล็ต และการจ่ายเงินของเราเป็นการจ่ายเงินแบบทั่วประเทศ เราเองไม่สามารถทำงานแบบพูด พูด พูด แต่ไม่ได้ทำ เราลงมือทำในพื้นที่จริง ๆ ถ้าพูดอย่างเดียวแล้วไม่ทำสถานการณ์คงไม่กลับมาได้โดยเร็ว ดิฉันอยากเห็นประชาชนมีกำลังใจที่ดี อยากเห็นข้าราชการทำงานโดยไม่มีแรงกดดันจากโซเชียล ทำงานหนักมากแต่โซเชียลไม่ได้เอาไปออกให้คนอื่นเห็นเลย แต่ขณะที่บางคนไม่ได้ทำอะไรเยอะ แต่โซเชียลเยอะทั่วประเทศไปหมด อันนี้เป็นการบั่นทอนจิตใจของผู้ทำงานหน้างานจริง ๆ จึงอยากให้ท่านปรับแนวความคิดเสียใหม่ ว่าขณะนี้ทุก ๆ หน่วยงานลงไปในพื้นที่จริง ๆ” รมช.มหาดไทย กล่าว

‘มท.1 - ผบ.ทบ.’ ลงนาม MOU ถอนทหารจากพื้นที่ชายแดนใต้ ปี 70 เสริมทักษะกองกำลังอาสาฯ ดูแลความปลอดภัย ปชช. ลดภารกิจทหาร

(27 ก.ย. 67) ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะ รอง ผอ.รมน. ร่วม เป็นประธานร่วมพิธีลงนาม MOU เรื่องเสริมสร้างประสิทธิภาพอาสาสมัครจังหวัดชายแดนภาคใต้ (อส.จชต.) ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กับ กอ.รมน.

นายอนุทิน กล่าวว่า การลงนามเอ็มโอยูวันนี้เป็นการแสวงหาความร่วมมือระหว่าง กระทรวงมหาดไทยและ กอ.รมน. ฝึกฝน ทักษะที่กองทัพบกมีให้แก่กองกำลังอาสาของกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีแผนให้เข้ามาทำหน้าที่ลดภารกิจของทหาร ดูแลความปลอดภัยประชาชนตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป โดยกองกำลังอาสามาจากคนในพื้นที่เพราะมีความคุ้นเคยกับประชาชนอยู่แล้ว

นายอนุทิน กล่าวย้ำว่า กองกำลังอาสาเดิมมีทักษะตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเสริมความสามารถในการป้องกันตัวเองดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนและได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกองทัพบกจัดส่งครูฝึก ผู้เชี่ยวชาญมาฝึกให้ ตนและ ผบ.ทบ.ลงพื้นที่สังเกตการณ์หลายครั้งมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อย ๆ มีความมั่นใจในการปฏิบัติงาน เมื่อถึงเวลากระจายงานให้ปฏิบัติ โดยมีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมทุกด้าน

ด้าน พล.อ.เจริญชัย กล่าวเสริมว่า การปฏิบัติงานพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ดำเนินการร่วมกันระหว่าง พลเรือน ตำรวจ ทหาร ในรูปแบบ กอ.รมน. และเมื่อถึงเวลาเหมาะสมและสถานการณ์เรียบร้อยตามแผนปี 2570 จะมอบพื้นที่ให้กรมการปกครอง อาสาสมัคร ตำรวจ ดูแล ในระหว่างนี้เป็นการเตรียมการไปถึงจุดเราคาดหวังแล้วหรือไม่ หากสถานการณ์ดีขึ้น เหมาะสมเป็นไปตามแผน แต่ให้ไม่ดีขึ้นก็อยู่ที่รัฐบาลจะพิจารณา พร้อมยืนยันว่าอาสาสมัครมีพื้นฐานที่ดี แต่การทำงานร่วมกันต้องฝึกร่วมเพื่อให้คุ้นเคยในการทำงานที่ดี อาสาสมัครเป็นเครื่องมือรัฐบาลในการดูแลความปลอดภัยประชาชนและเป็นที่พึ่งในทุกโอกาสรวมถึงบรรเทาสาธารณภัย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top