Friday, 25 April 2025
มหันตภัยบุหรี่ไฟฟ้า

มหันตภัย...บุหรี่ไฟฟ้า #3 เข้าถึงง่ายเกินไปแล้ว ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ กำลังระบาดหนักในเด็กนักเรียนประถม

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเด็กนักเรียนประถมหลายรายมีอาการปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งเกิดจากการสูบ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ หรือที่เรียกว่า EVALI (E-cigarette or Vaping product use Associated Lung Injury) ด้วยประชาชนคนไทยบางส่วนมักเข้าใจว่า “บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ยาสูบ” โดยคิดว่า ควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเพียงละอองไอน้ำที่มีเพียงสารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอม จึงมักมีการกล่าวอ้างว่า สูบน้ำยาชนิดที่ไม่มีนิโคติน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เห็นนั้น มีฝุ่นขนาดเล็ก PM 1.0 และ PM 2.5 มีสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ฟอร์มาร์ลดีไฮด์ ไดอะซิทิล และอโครลิน รวมทั้ง โลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ดีบุก และตะกั่ว ซึ่งที่มาของโลหะหนักอาจจะมาจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หรือ อุปกรณ์สูบที่โลหะหนักหลุดลอยจากขดลวดที่ชุบน้ำยา ขณะที่สารปรุงแต่งกลิ่นรสที่มีนับหมื่นชนิดที่ถูกความร้อนจนเกิดเป็นไอระเหยมีผลกระทบต่อสุขภาพคือ ทำให้มีภาวะปอดอักเสบเฉียบพลันและโรคอื่น ๆ ได้ อีกทั้งบุคคลที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะพัฒนาต่อไปเป็นสูบบุหรี่ธรรมดาอีกด้วย

จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ.2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า แนวโน้มอัตราการสูบบุหรี่ ในปี พ.ศ. 2564 ร้อยละ 17.4 คิดเป็น 9.9 ล้านคนของคนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าพบว่า คนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 78,742 คนในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นคนที่สูบทุกวัน 40,724 คน และสูบแบบไม่ทุกวัน 38,018 คน โดยผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 24,050 คน อายุระหว่าง 15 - 24 ปี แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่มุ่งเป้าที่กลุ่มเยาวชนเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนระดับโลก (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ในปี พ.ศ. 2565 พบว่าสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้า ของนักเรียน ในช่วงอายุ 13 – 15 ปี ที่เพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2558 โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.3 เป็นร้อยละ 17.6 และเมื่อแยกตามเพศของนักเรียน พบว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนเพศชาย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.7 เป็นร้อยละ 20.2 ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.3 เท่า ในขณะที่ เพศหญิง มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 7.9 เท่า โดยเพิ่มจากร้อยละ 1.9 เป็นร้อยละ 15.0 จากสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยในเด็กและเยาวชนดังกล่าว สามารถสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า ตลอดระยะ 7 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน เด็กและเยาวชนไทยมีแนวโน้มในการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก และต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะในเยาวชนอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ภาวะปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า EVALI เป็นอาการปอดอักเสบเฉียบพลันที่สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าโดยมีอาการแสดง ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว รวมถึงอาการทางระบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น จากรายงานข้อมูลของ Centers for Disease Control and Prevention สหรัฐอเมริกา (ข้อมูลล่าสุดปี 2563) พบผู้ป่วย EVALI ในสหรัฐอเมริกาที่ต้องนอนโรงพยาบาล ทั้งสิ้น 2,807 ราย ส่วนใหญ่อายุของผู้ป่วยมีอายุระหว่าง 18 - 24 ปี คิดเป็นร้อยละ 37 และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 68 รายอายุเฉลี่ยของผู้ป่วย ที่เสียชีวิตคือ 49.5 ปี และอยู่ระหว่าง 15 - 75 ปี 

สำหรับประเทศไทย เคยมีรายงานผู้ป่วย EVALI อายุระหว่าง 20 - 30 ปี มาพบแพทย์ด้วยอาการ เหนื่อย ไอ มีไข้ และรู้สึกเหนื่อยง่ายมาประมาณ 1 เดือน มีการให้ประวัติว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้าชนิดพอต (POD) แบบใช้แล้วทิ้งมาประมาณ 6 เดือน โดยใช้ทุกวัน ไม่ได้สูบบุหรี่ปกติ ไม่ได้ใช้กัญชา หรือสารเสพติดชนิดอื่นร่วมด้วย แพทย์ได้ทำการส่องกล้องหลอดลมผู้ป่วยและตรวจทางพยาธิวิทยาพบว่า ผลตรวจทางพยาธิวิทยา และผลตรวจทางเซลล์วิทยาเข้าได้กับภาวะ EVALI

หลังจากผู้คนมีความตระหนัก จึงมีการควบคุมการใช้ มีการนำสารเคมีบางชนิดออกจากผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้มีรายงานจำนวนผู้ป่วย EVALI ในสหรัฐอเมริกาน้อยลง ซึ่ง อ.พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร หัวหน้าสาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทบุหรี่มักจะโฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้าปราศจากสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น tar และ carbon monoxide ต่างจากบุหรี่มวน แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีสาร Nicotine, สารปรุงแต่งกลิ่น, Propylene glycol, vegetable glycerin และสารที่มีอยู่ในกัญชา เช่น Δ-9-tetrahydrocannabinol (THC), cannabidiol (CBD), butane hash oil (BHO) 

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด/หลอดลมอักเสบ มีสารก่อมะเร็งหลายชนิด มีโลหะหนักปนเปื้อน และโรคปอด EVALI โดยรายงานที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร New England Journal of Medicine เรื่อง Pulmonary illness related to e-cigarette use in Illinois and Wisconsin preliminary report ซึ่งรายงานกรณีศึกษาผู้ป่วยจำนวน 53 คนในช่วงเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2019 พบว่าผู้ป่วยส่วนมากอายุเฉลี่ยเพียง 19 ปี และมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีสาร THC ประกอบประมาณ 80% แต่มี 20% ที่ไม่ได้ใช้ THC ก็สามารถเกิด EVALI ได้ โดย 95% ของผู้ป่วยมีอาการ ไข้หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่พบว่า 77% ของผู้ป่วยมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ซึ่งผู้ป่วยทุกคนมีภาพ x-ray และ CT scan ปอดที่ผิดปกติ และถ้านำน้ำล้างปอดไปตรวจจะพบว่าในน้ำล้างปอดพบเซลล์เม็ดเลือดขาวกินอนุภาคไขมัน โดยตรวจไม่พบหลักฐานการติดเชื้อ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิด EVALI ในตอนแรก สมมติฐานว่าเกิดจากสาร propylene glycol, vegetable glycerin (glycerol), สารปรุงแต่งกลิ่น สารสกัดจากน้ำมันกัญชาหลายชนิด เช่น vitamin E acetate และมีสารอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งสารเหล่านี้หลายชนิดไม่มีในบุหรี่มวน โดยสาร vegeteble glycerine เป็นสารที่มีรสหวาน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น สกัดจากน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว เมื่อโดนความร้อนจาก อุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะระเหยเป็นไอน้ำ และถูกสูบเข้าไปในปอด ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นการตอกย้ำถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่ผู้คนอาจไม่ทราบ มองข้ามหรือละเลยไป ที่ชัดเจนที่สุด

ร่วมเป็น 1 เสียง ปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมลงชื่อที่ https://shorturl.at/ADMRJ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top