Monday, 17 June 2024
มสส

ภัยออนไลน์รุกหนัก นักวาดการ์ตูนไทย จับมือกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)และสสส.ประชุมร่วมหาทางปกป้องเด็กและเยาวชน แฉเว็บพนันออนไลน์ขยายตัวกว่า 100 %

จากช่วงโควิดเป็นความอำมหิตเงียบ ผู้ทรงคุณวุฒิสสส.เสนอนายกฯคุยแบงค์ชาติให้ธนาคารพาณิชย์คุมกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ตัดแขนขาเว็บพนัน สื่อการ์ตูนเสนอสร้างการรู้เท่าทัน พร้อมให้ข้อมูลกับสังคม

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) ร่วมกับ สมาคมการ์ตูนไทย   เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเสวนาเรื่อง "รวมพลังการ์ตูนไทย ต้านภัยออนไลน์ " เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม  2566 ณ ห้องการะเกด โรงแรมแมนดาริน สามย่าน  กรุงเทพ มีนักวาดการ์ตูนจากหนังสือพิมพ์และสื่อสำนักต่างๆเข้าร่วม โดยมี นายพิธพงษ์ จตุรพิธพร ผู้ประกาศ ข่าวเด็ด 7 สี สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 HD เป็นผู้ดำเนินรายการ ​นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน​ กล่าวว่า การพนันออนไลน์ยังขยายตัวไม่หยุด จำนวนเว็บพนันขยายตัวมากกว่า 100% นับจากช่วงโควิด ขณะที่จำนวนผู้เข้าพนันที่ตกเป็นเหยื่อ เล่นพนันจนเกิดปัญหามีมากกว่าล้านคน 10%เป็นเด็กและเยาวชน สิ่งที่สังคมต้องตระหนักคือพนันออนไลน์และพนันออนไซต์ มีอิทธิฤทธิ์ที่ต่างกัน พนันออนไลน์ร้อยทั้งร้อยเป็นพนันอย่างเข้มที่เข้าถึงง่าย รู้ผลแพ้ชนะเร็ว เมื่อเสียแล้วแก้มือได้ทันที จึงยิ่งเล่นยิ่งหัวร้อน เล่นแล้วหยุดยาก ต่างกับพนันออนไซต์ที่ยังพอจะมีช่วงให้เว้นวรรค หรือมีความถี่ต่ำกว่า การพนันออนไลน์จึงอาจมีฤทธิ์ในการทำลายล้างมากกว่ากันหลายสิบเท่า ถ้าเทียบเป็นยักษ์อาจกล่าวได้ว่ายักษ์พนันออนไลน์ใหญ่กว่ายักษ์พนันออนไซต์หลายสิบเท่า

​เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวต่อว่าเว็บพนันออนไลน์ถือเป็นความอำมหิตเงียบ เพราะได้ทำลายชีวิตเหยื่อไปจำนวนมาก ไม่ใช่เพียงแค่การสูญเสียเงินทอง  แต่เป็นกระบวนการที่นำมาสู่การเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อเล่นพนันจนเสียหนัก ผู้เล่นส่วนมากจะพยายามทำทุกอย่างให้ได้เงินมาเล่นอีก และเริ่มกระทำผิดต่อคนใกล้ตัว โกหก หยิบยืมเงิน ลักขโมย จนถึงขั้นมีการกระทำรุนแรงกับคนในบ้าน  ขณะเดียวกันก็รู้สึกเครียด รู้สึกผิด รู้สึกแย่กับตัวเอง ความรู้สึกจะดิ่งลงเรื่อย ๆ  และอาจนำมาสู่การเสียสุขภาพจิตได้สองอาการ หนึ่ง คือ การเสพติดพนันจนไม่อาจจะเลิกได้ สอง คือ เกิดภาวะซึมเศร้า  ทั้งสองอาการล้วนต้องการความช่วยเหลือในการบำบัดรักษา ฉะนั้น ผู้ที่คิดจะให้พนันออนไลน์เป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยไม่คิดถึงการควบคุมให้รอบคอบและเป็นจริง อาจกลายเป็นการปล่อยยักษ์ใหญ่ที่เราคุมไม่ได้ให้ออกมาจากตะเกียง และสร้างความเสียหายต่อชีวิตประชาชนเป็นล้านคน    

​นายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ( สสส.)ในฐานะสื่ออาวุโส กล่าวว่าภัยออนไลน์กำลังเป็นปัญหาที่รุนแรง กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่าคนไทยเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์มากสุดคือการหลอกลวงซื้อขายสินค้า ตามมาด้วยหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานและหลอกให้กู้เงิน ส่วนการพนันออนไลน์ยังคงรุนแรง ดังนั้นสื่อมวลชนต้องช่วยกันชี้ให้เห็นว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายจะถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.การพนัน ข้อมูลส่วนตัวที่ทุกคนไปสมัครเป็นสมาชิกจะถูกเว็บพนันนำไปใช้หาประโยชน์โดยที่เราไม่รู้ตัว นอกจากจะเสียเงินค่าสมัครแล้วหลายครั้งจะไม่ได้รับเงินจริงและสุดท้ายอาจถูกยึดทรัพย์ตามความผิดฐานฟอกเงินเนื่องจากประวัติการเงินจะถูกระบุว่าไปเกี่ยวข้องกับเว็บพนัน การพนันออนไลน์รุนแรงมากไม่เฉพาะในกทม.แต่ได้แพร่หลายไปสู่จังหวัดใหญ่ๆ ช่วงหลังมีการจับกุมเครือข่ายพนันออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และเป็นที่รู้ กันว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของพนันออนไลน์คือเด็ก เยาวชนและผู้สูงอายุ เพราะรูปแบบการพนันนอกจากสล็อตและบิงโกแล้ว ในแต่ละเว็บพนันจะมีรูปแบบของเกมต่างๆไว้หลอกล่อไม่ต่ำกว่า 300 เกม

ผู้ทรงคุณวุฒิจากสสส.เสนอว่าการแก้ปัญหาพนันออนไลน์ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังทั้งการปิดเว็บพนัน การยึดอายัดทรัพย์สินของเจ้าของเว็บและเครือข่ายชักชวนให้เล่นพนัน รวมทั้งการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับประโยชน์หรือเป็นเจ้าของเว็บพนันอย่างเด็ดขาด ที่น่าสนใจคือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)  เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมาว่าปัจจุบันธุรกิจสีเทารวมทั้งการทำธุรกรรมการเงินเป็นองค์ประกอบใหญ่ที่ทำให้ เครือข่ายยาเสพติดและพนันออนไลน์ขยายได้อย่างรวดเร็ว ปปง. จึงเป็นองค์กรสำคัญในการกำกับดูแลโดยเฉพาะการยึดทรัพย์ที่จะทำลายต้นตอของปัญหาหลายอย่าง จึงอยากจะเรียกร้องให้นายกฯได้หารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ต่างๆแก้ปัญหาเว็บพนันพนันออนไลน์ใช้ระบบการฝากถอนเงินสดและเครดิตในการเล่นพนันผ่านธนาคารพาณิชย์ของไทยโดยใช้ อี-วอลเล็ต หรือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ถ้าแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ก็เหมือนตัดแขนตัดขาเว็บพนันออนไลน์นั่นเอง    

​ขณะที่ รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)  กล่าวว่าเคยทำงานวิจัยด้านพนันออนไลน์  พบว่าการพนันออนไลน์มีกลวิธีบิดเบือนโดยใช้นักโฆษณาชวนเชื่อเช่น การส่งเสริมแนวทางปฏิบัติในการเล่นเกมอย่างมีความรับผิดชอบ ส่วนแนวป้องกันคือการส่งเสริมให้บุคคลฝึกฝนการตระหนักรู้ในตนเองและการควบคุมตนเองสามารถลดความเสี่ยงของการเล่นการพนันมากเกินไปได้ นอกจากนี้ การสร้างทรัพยากรที่เข้าถึงได้ เช่น บริการให้คำปรึกษา สายด่วน และกลุ่ม สนับสนุน ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการช่วยเหลือผู้ที่ดิ้นรนกับการเสพติดจากเกมการพนันที่ซ่อนอยู่ การสนับสนุนให้มีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นและการกำกับดูแลแพลตฟอร์มเกมออนไลน์และโฆษณารวมทั้ง การสนับสนุนบริษัทเกมให้นำแนวทางการโฆษณาที่มีความรับผิดชอบมาใช้ นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีส่วนในการควบคุมรวมทั้งการจำกัดอายุควรเพื่อปกป้องบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเข้าถึงเกมที่อันตรายเหล่านี้ และสุดท้ายคือการสนับสนุนการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของเกมการพนัน และประสิทธิภาพของกลยุทธ์การป้องกันพนันออนไลน์ต่างๆให้ดีขึ้น

ด้านนักวาดการ์ตูน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ควรจะสร้างการรู้เท่าทันการหลอกลวงทางออนไลน์ให้กับเด็ก เยาวชน ผู้ปกครองและผู้สูงอายุด้วยการจัดอบรมให้ความรู้เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ เพราะสังคมปัจจุบันทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือและเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกันหมดแล้ว การประชุมครั้งนี้มีประโยชน์มากมีข้อมูลหลายอย่างที่สามารถนำไปสื่อสารต่อได้ และเห็นด้วยว่าหน่วยงานภาครัฐควรจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งมีนโยบายปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์และพนันออนไลน์  

นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ ได้กล่าวปิดการประชุมว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการดำเนินงานตามโครงการ เสริมพลังสื่อมวลชนไทย สร้างเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อน สังคมสุขภาวะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นักวาดการ์ตูนถือเป็นสื่อมวลชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำงานของมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะและสสส.อีกกลุ่มหนึ่ง หวังว่าข้อมูลที่ได้รับรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกันวันนี้ จะนำไปสู่ความเข้าใจและสื่อสารสาธารณะในรูปแบบต่างๆผ่านช่องทางที่หลากหลายเพื่อให้ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชนได้เห็นพิษภัยของพนันออนไลน์เพื่อปกป้องสังคมร่วมกัน

มสส.ร่วมเครือข่ายฯแถลงการณ์จดหมายเปิดผนึก จี้นายกฯเศรษฐาดันทบทวนขยายเวลาเปิดผับ

กรุงเทพฯ-มสส.ร่วมกับสสสย.จัดเวทีระดมความเห็น “ปัญหาจากนโยบายขยายเวลาจำหน่ายสุราหลังรัฐบาลเศรษฐาเปิดผับ บาร์สถานบันเทิงถึงตี4 อ้างกระตุ้นเศษฐกิจ ได้ออกแถลงการณ์เปิดจดหมายเปิดผนึกจี้นายกฯทบทวนขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี4 ชี้ระวังเกิดคลื่นสึนามิหรือพายุใหญ่น้ำเมาในประเทศไทย

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องปทุมวัน รร.เอเชีย ราชเทวี กรุงเทพฯ, มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับ เครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน (สสสย.) จัดเวทีระดมความเห็นว่าด้วย “ปัญหาจากนโยบายขยายเวลาจำหน่ายสุรา” หลังจาก “รัฐบาลเศรษฐา” ได้ขยายเวลาเปิดผับ บาร์ และสถานบันเทิงได้ถึงตี 4 ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 โดยมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยมีวิทยากรร่วนเสวนาประกอบด้วย นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผอ.สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวีตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายธีระ วัชรปราณี ที่ปรึกษาภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) โดยมี นายศักดา แซ่เอียว ประธานเครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน (สสสย.) หรือ “เซีย ไทยรัฐ” การ์ตูนนิสต์ชื่อดัง เป็นผู้ดำเนินรายการ 

ก่อนเข้าสู่การเสวนา ได้มีการ เปิดคลิปข่าวความสูญเสีย “น้องทู” ด.ช.วีรยุทธ จินดาแดง หรือ “เด็กชายจิตอาสา” สนับสนุนกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง วัย 13 ปี ที่ต้องจบชีวิตลง ขณะช่วยงานกู้ภัยเพราะคนเมาแล้วขับ จากนั้น ได้มีการยืนไว้อาลัยต่อการจากไปของ “น้องทู” เป็นเวลา 1 นาที 

โดยในวงเสวนา นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์การประชุมครั้งนี้ว่า…นโยบายขยายเวลาให้กับสถานบริการ ถือเป็นเรื่องที่ มสส.รู้สึกห่วงใยต่อผลกระทบที่จะมีตามมา โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือการทะเลาะวิวาทจากการดื่มสุรา รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครกู้ภัยต่างๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้นและหนักขึ้น จำเป็นที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะสื่อมวลชนหลักจะต้องช่วยกันสะท้อนปัญหา พร้อมกับเสนอแนะและหาทางออกในเรื่องนี้ 

ด้าน นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา “เมาแล้วขับ” ส่วนใหญ่จะถูกกดทับจากผู้กระทำผิด ทั้งนี้ หากผู้กระทำผิดเป็นผู้มีอิทธิพล มีอำนาจเงินและเชื่อมต่อกับอำนาจรัฐ เหยื่อเหล่านั้นจะยิ่งถูกกดทับกันไปใหญ่ กรณีของ “น้องทู” พบว่า ผู้กระทำผิดจ่ายเงินเยียวยาให้กับครอบครัว “น้องทู” เพียงน้อยนิด และระหว่างงานสวดพระอภิธรรมฯ ไม่ปรากฏร่างของผู้กระทำผิดแต่อย่างใด ที่ผ่านมามีเพียงส่วนอดีตภรรยาที่เลิกรากันไป และลูกมาร่วมฟังสวดพระอภิธรรมเท่านั้น

จากการที่ “เหยื่อ” ต้องมาเจอกับนโยบายรัฐบาลเช่นนี้ มันจึงไม่ต่างจากการถูกระทำซ้ำเติม เสมือนเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับ “เหยื่อ” มากยิ่งขึ้น นับเป็นเรื่องที่สะเทือนใจมากๆ ส่วนตัวเชื่อว่า เรื่องความพยายามที่จะผลักดันให้มีการเปิดสุราเสรีไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีความพยายามมาโดยตลอด โดยเฉพาะการใส่ชุดแนวคิดดังกล่าวไปให้น้องๆ เยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องในเรื่องต่างๆ กระทั่ง ขยายผลไปถึงการเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายการเปิดเสรีสุรากันเลย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากลุ่มต่อต้านยังพอจะต้านทานอยู่ กระนั้น ก็มีความพยายามในการแตะมือระหว่างกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์กับกลุ่มผู้ประกอบการ ที่แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีเสียงดัง 

ซึ่งความพยายามรอบใหม่ คนกลุ่มนี้เริ่มเป็นงาน มีการปรับตัวและดำเนินการเหมือนฝ่ายต่อต้านทุกอย่าง โดยมีกลุ่มธุรกิจสุราต่างประเทศอยู่เบื้องหลัง ถือเป็นการงานยากของฝ่ายต่อต้าน เนื่องจากพวกเขามีการสร้างเครือข่ายและความเคลื่อนไหวต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ พยายามสร้างเรื่องว่า “ขายเหล้าได้” โดยไม่สร้างผลกระทบใดๆ และเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ ก็พยายามเข้าหา “เบอร์ 1” คือ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ที่มีมุมมองในเชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก พอ “เบอร์ 1” ซื้อ เบอร์รองๆ ก็ต้องขยับตาม ตรงนี้ถือเป็นความสำเร็จของคนกลุ่มนี้แล้ว

รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผอ.สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวีตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า จากงานวิจัยในต่างประเทศ พบบทเรียนที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในประเทศออสเตรเลีย นอร์เวย์ หรือในฮอลแลนด์ ที่มักมีปัญหาคล้ายๆ กัน กล่าวคือ จากการขยายเวลาการจำหน่ายสุราเพียง 1 ชั่วโมง พบว่าเกิดปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะวิวาทหรืออุบัติเหตุ ที่มีเพิ่มขึ้น 15-30% สำหรับ ในประเทศไทย หากมีการขยายเวลาการเปิดสถานบริการเป็นตี 4 เชื่อว่าจะส่งผลกระทบตามมาต่อผู้คนที่ใช้ชีวิตตามปกติในเช้าวันรุ่งขึ้น เนื่องจากข้อมูลสถิติพบว่า มักจะเกิดอุบัติหลังจากหยุดดื่มสุราในอีก 3 ชั่วโมงต่อมา ซึ่งจะกลายเป็นความเสี่ยงต่อผู้คนที่เดินทางไปทำงาน  เด็กๆ ไปโรงเรียน พ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขาย

“ปัจจุบันที่มีการห้ามจำหน่ายสุราในช่วงเวลา 14.00 – 17.00 น. เพราะหากปล่อยให้มีการจำหน่ายและดื่มสุราในช่วงเวลาดังกล่าว ก็อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่ไม่ต่างจากช่วงเช้า กระนั้น ก็มีความพยายามที่จะยกเลิกคำสั่งห้ามจำหน่ายสุราในช่วงนี้” รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ ระบุ
ขณะที่ นายธีระ วัชรปราณี ที่ปรึกษาภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) กล่าวถึงการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ระหว่างฝ่ายรณรงค์กับฝ่ายสุราเสรี ว่า นับตั้งแต่ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ประกาศใช้ 16 ปี พบว่าสถิติอุบัติเหตุนับตั้งแต่ปี 2551ถึง2565 ที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ช่วงเทศกาลปีใหม่ ลดลง 12.2% ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ลดลง 9.5% นับเป็นมาตรการควบคุมฯ ที่พิสูจน์ว่าได้ผลจริงในการลดปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“ในวันที่ 9 มี.ค.นี้ จะมีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ระหว่างฝ่ายที่ต้องการให้เปิดสุราเสรีกับฝ่ายของเราที่ต้องการรณรงค์ต่อต้านการผลิตและจำหน่ายแบบเสรี เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 ซึ่งเรายอมรับว่าหนักใจ หาก สส.ในสภาฯ เลือกที่จะรับร่างกฎหมายของฝ่ายที่ต้องการเปิดเสรี ซึ่งจะถือเป็นปัญหาที่หนักมาก 

อย่างไรก็ตาม เรายังมีความหวังว่า สส.จะมองเห็นมหันตภัยหากปล่อยให้มีการผลิตและขายสุรากันอย่างเสรี แม้กระทั่งหลายประเทศในยุโรปเขาก็ไม่ได้เปิดให้ขายอย่างเสรีแบบที่บางฝ่ายอยากทำ ยกตัวอย่าง นอร์เวย์ ห้ามขายวันอาทิตย์ เท่ากับปีหนึ่งต้องหยุดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 52 วัน ขณะที่บ้านเราห้ามขายเฉพาะวันสำคัญทางศาสนา (5 วันใน 1 ปี) เท่านั้น ซึ่งหากกฎหมายเสรีผ่านการพิจารณาบังคับใช้ นอกจากจะซื้อสุราได้เกือบตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว เขายังต้องการให้ยกเลิกห้ามขายวันพระใหญ่อีกด้วย รวมถึงมีความพยายามจะให้ขายผ่านระบบออนไลน์ เจตนาของเราให้การปรับปรุง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อปรับแก้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบัน ไม่สุดโต่งจนเกินไป และไม่เอื้อให้กับนายทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเราก็หวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจในเจตนารมณ์ของเรา” นายธีระ ย้ำ

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวสรุปในการเสวนาครั้งนี้ ว่า มีหลายเรื่องในเวทีเสวนานี้ที่จะเป็นคำถามส่งต่อไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะข้อมูลและความคิดเห็นของวิทยากรทุกคน ไม่ว่าจะเป็นประโยค “ก้าวไกลคิด เพื่อไทยทำ” ของ รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ หรือ “พายุลูกใหญ่” ของ นายจิระ ห้องสำเริง สื่อมวลชนอาวุโส สำหรับ บทบาทของ สสสย. นั้น จากวงเสวนาข้างต้นถือเป็นโจทย์สำคัญไม่เฉพาะกับ สสสย. แต่ยังรวมถึง มสส. ที่จะต้องหาทางรับมือกับปรากฏการณ์เหล่านี้ โดยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มสื่อมวลชนแกนหลักในการนำเสนอข่าวสารข้อมูลและข้อเท็จจริงในประเด็นเหล่านี้ รวมถึงการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะ ซึ่ง สสสย. อาจเข้ามาช่วยเสริมในส่วนนี้ได้

ขณะที่ นายศักดา แซ่เอียว ประธานเครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน (สสสย.) กล่าวขอขอบคุณวิทยากรผู้ร่วมเสวนาและเพื่อนสื่อมวลชน พร้อมขอความร่วมมือกับสื่อมวลชนกลุ่มหลักให้ช่วยติดตามและนำเสนอข่าวสารเหล่านี้ พร้อมกันนั้น ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึง นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนการออกมาตรการ นโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ (อ่านต่อข่าว... “สสสย.” ชงจม.เปิดผนึก เรียกร้องนายกฯเศรษฐา ทบทวนเปิดสถานบริการถึงตี 4)    


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top