Friday, 17 May 2024
มลพิษ

'เพื่อไทย' โชว์ไอเดียแก้ PM 2.5 ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่ายและรับผิดชอบ

“ในวงการนักสิ่งแวดล้อม คุยและเสนอความคิดกันว่า วันนี้คนที่สร้างมลพิษ จะต้องมาช่วยจ่ายและรับผิดชอบ ซึ่งต่อไปจะเป็นหลักการสำคัญในการแก้ปัญหา”

ส่วนหนึ่งจากการเสวนา ‘วิกฤตฝุ่น PM 2.5 เพื่อไทยมีทางแก้ไข’ นำโดย จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ นายแพทย์ญาณกิตติ์ ห่วงทรัพย์ ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร, ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ดำเนินรายการโดย อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ชี้ให้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ต้องเข้มงวดและผู้ก่อมลพิษควรได้มีส่วนรับผิดชอบอย่างจริงจัง

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม กล่าวว่า กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกิดมาอย่างยาวนาน ตนได้ยื่นกระทู้สดถามต่อรัฐบาล แต่กลับไม่มีผู้มาตอบถึง 3 ครั้ง โดยตั้งแต่ปี 2564 ได้ยื่นกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน แล้วเสร็จถึง 3 คณะ กระทั่งวันที่ 27 มกราคม 2565 ได้ยื่นพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ผ่านไป 400 วันแล้ว ยังไปไม่ถึงไหน หลายฉบับก่อนหน้านี้มีการตีตก เหลือฉบับของพรรคเพื่อไทยที่ค้างในรัฐสภาในส่วนนิติบัญญัติ 

จักรพล กล่าวต่อว่าในวงการนักสิ่งแวดล้อมได้คุยและเสนอความคิดกันว่า วันนี้คนที่สร้างมลพิษจะต้องมาช่วยจ่ายและรับผิดชอบ ซึ่งต่อไปจะเป็นหลักการสำคัญในการแก้ปัญหา เพราะคนที่ก่อมลพิษควรต้องร่วมรับผิดชอบเพื่อให้รัฐบาลและสังคมได้นำเงินรายได้ตรงนี้ไปใช้รักษา ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ แต่อย่างไรก็ตามตรงนี้ก็คงไม่สามารถเทียบกับชีวิตและสุขภาพและชีวิตของคนไทยที่ต้องสูญเสียไป ดังนั้น พ.ร.บ.อากาศสะอาดจึงถือเป็นด่านแรกที่สำคัญในขั้นพื้นฐานที่พรรคเพื่อไทยจะต้องผลักดันต่อไปให้สำเร็จ เพื่อเป็นหลักประกันพื้นฐานด้านสุขภาพให้พี่น้องประชาชน

นายแพทย์ญาณกิตติ์ ห่วงทรัพย์ ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า PM 2.5 สามารถแทรกซึมได้ผ่านทางลมหายใจ คนที่เป็นภูมิแพ้จะมีน้ำมูกไหล ไปจนถึงเลือดกำเดาไหล ผ่านเข้าปอด เข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต หัวใจ สมอง สามารถทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตีบ หรืออักเสบ และสามารถเสียชีวิตได้ทันที ปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิต 30,000 คนต่อปี ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจนับแสนล้านบาท

ศูนย์อำนวยการ ป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองภาค 3(ศอ.ปกป.ภาค 3 )

วันอังคารที่ 28 มีนาคม  เวลา 10.00 น.  ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองจังหวัดเชียงราย รายงานขอรับการสนับสนุน อากาศยานดับไฟป่าจาก ศอ.ปกป.ภาค 3 ซึ่งได้จัดส่ง ฮ.แบบ KA-32 ของ กรม ปภ.เข้าสนับสนุนเมื่อ 27 มี.ค.66 แต่ติดสภาพทัศนวิสัยที่จำกัด ไม่สามารถปฏิบัติการได้

กลุ่ม EA’ หนุน ‘ENTEC-UNEP’ ขับเคลื่อนพลังงานสะอาด ภายใต้แนวคิด ‘Climate and Clean Air Conference 2023’

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 66 ‘กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์’ ผู้นำด้านพลังงานสะอาด เดินหน้า ‘E@ Ecosystem’ ชูแนวคิด ESG สนับสนุน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) และ The United Nations Environment Programme (UNEP) จัดโครงการ Climate and Clean Air Conference 2023 : Air Quality Action Week เปิดประสบการณ์สุดยอดนวัตกรรมฝีมือคนไทย ขจัดมลพิษทางอากาศสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

ข้อมูลจากโครงการ UN Environment Programme (UNEP) ระบุว่า มลภาวะทางอากาศก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข โดยมีสถิติพบว่า ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยสาเหตุมลพิษทางอากาศ จำนวน 4.8 ล้านคน ในปี 2533 เพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านคน ในปัจจุบัน โดยมากกว่า 90% ของการเสียชีวิตเกิดจากมลภาวะทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง

โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ที่มีโรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้ว รวมถึงคนจนที่เข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างจำกัด สำหรับแนวทางลดปัญหามลพิษทางอากาศ ต้องสร้างความร่วมมือลดการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลจากการเผาไหม้ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคการขนส่ง อย่างเป็นรูปธรรม

การเปลี่ยนผ่านไปสู่การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า จึงเป็นมาตรการที่จำเป็นในการต่อสู้กับมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจน ENTEC จึงได้ร่วมมือกับ UNEP ในฐานะผู้นำระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ และ EA ผู้นำด้านพลังงานสะอาด ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เพื่อยกระดับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเมืองอากาศสะอาดภายใต้โครงการ Climate and Clean Air Conference 2023: Air Quality Action Week ที่มีสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเปิดประสบการณ์การเดินทางด้วยรอยยิ้มใส่ใจสิ่งแวดล้อมไปกับ MINE Bus โดย บจ.ไทยสมายล์บัส และ MINE Smart Ferry บจ.ไทยสมายล์ โบ้ท บริษัทในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ที่สร้างมิติใหม่แห่งการขนส่งด้วยนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยฝีมือคนไทย

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ผู้นำด้านพลังงานสะอาด กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ “Green Product” ที่คำนึงถึง 3 แกนสำคัญ โดยมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม - การดูแลสังคม - การดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบแห่งการมีธรรมาภิบาล มาตลอดระยะเวลา 15 ปี ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมีกลยุทธ์ “E@ Ecosystem”

โดยลงทุนพัฒนา ตั้งแต่กลุ่มธุรกิจไบโอดีเซล, กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า MIME Mobility, ธุรกิจสถานีชาร์จ EAAnywhere, ธุรกิจแบตเตอรี่ อมิตา เทคโนโลยี ที่มีกำลังการผลิตซึ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตจาก 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เป็น 4 Gwh พร้อมมีโรงผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานสะอาดอย่างครบวงจร ที่จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปัญหามลภาวะทางอากาศ และลดฝุ่น PM2.5 ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกของกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ เพื่อสร้างความสมดุลในทุกมิติ
 

ผลรายงาน ชี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง ไม่คืบหน้า!! ลดการปล่อยมลพิษ ตั้งแต่ปี 2018

จากรายงานของ ESG Book ชี้ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งทั่วโลก ไม่ได้ดำเนินมาตรการอะไรเลยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ที่เป็นตัวการสร้างความร้อนให้กับโลก และการกระทำเหล่านี้ ทำให้โลกยากต่อการหลีกเลี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดความเสียหายได้อย่างรุนแรง พร้อมเผยว่า บริษัทหลายแห่ง มีแนวโน้มการดำเนินงานที่มีส่วนช่วยให้เกิดภาวะโลกร้อนในระดับที่รุนแรง หรือ ปกปิดค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 

ผู้ให้บริการข้อมูลด้านความยั่งยืนชั้นนำ พบว่า มีความพยายามเพียง 22% ของบริษัทมหาชนที่ใหญ่ที่สุด 500 แห่งของโลก มีการดำเนินการที่สอดคล้องไปกับ ‘ความตกลงปารีส’ ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเป้าไปที่การควบคุมอุณหภูมิให้ไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม (Pre-Industrial Levels) 

นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ วิเคราะห์ว่า การที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ นอกจากนี้ โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมรุนแรง ภัยแล้ง ไฟป่า และการขาดแคลนอาหารอาจเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ ราว 45% ของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความร้อนอย่างน้อย 2.7 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับความร้อนรุนแรง ที่อาจทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องเผชิญอากาศร้อนจัดจนเป็นอันตรายได้ 

‘ดาเนียล ไคลเออร์’ ประธานเจ้าหน้าที่ ESG Book กล่าวว่า ข้อมูลของพวกเขาสื่อความหมายอย่างชัดเจน ที่ผู้คนต้องเร่งดำเนินการมากขึ้น และต้องรีบจัดการอย่างรวดเร็ว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในวิธีการดำเนินงานของเศรษฐกิจโลก มันก็ไม่ชัดเจนว่า เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้อย่างไร

ในการวิเคราะห์ของ ESG Book กำหนด ‘คะแนนอุณหภูมิ’ ให้กับบริษัทโดยอ้างอิงข้อมูลการปล่อยก๊าซที่รายงานต่อสาธารณะ และปัจจัยต่างๆ เช่น เป้าหมายการลดมลพิษ เพื่อพิจารณาการมีส่วนร่วมของริษัทในการบรรลุสู่เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ โดยการวิเคราะห์นี้ ครอบคลุมบริษัทในสหราชอาณาจักร จีน อินเดีย และสหภาพยุโรป ที่มีมูลค่าตลาดอย่างน้อย 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.45 แสนล้านบาท 

โดยความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในสหรัฐฯ และจีนเริ่มดีขึ้น แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ โดยในสหรัฐฯ บริษัทที่ดำเนินตามความตกลงปารีสคิดเป็น 20% เพิ่มจาก 11% ในปี 2018 ส่วนในจีน บริษัทที่ดำเนินตามความตกลงปารีสคิดเป็น 12% เพิ่มจาก 3% ในปี 2018

นอกจากนี้ นักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) ก็มีบทบาทสำคัญในการควบคุมเงินทุนให้มุ่งสู่เทคโนโลยีหมุนเวียนมากขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ คาดว่า การลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ จะแซงหน้าการลงทุนในการผลิตน้ำมันเป็นครั้งแรกในปีนี้

อย่างไรก็ตาม องค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ ‘IEA’ คาดว่า จะมีเงินลงทุนมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 34.5 ล้านล้านบาท จะไหลไปสู่น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินในปีนี้

ทั้งนี้ รายงานชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในชุดข้อมูลล่าสุดที่บ่งชี้ให้เห็นว่า โลกอยู่ห่างออกไปจากเส้นทางที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกัน บริษัทผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ อย่าง Shell และ BP กำลังเปลี่ยนความสนใจหันมาสู่การผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล หลังจากผลกำไรพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการที่ราคาน้ำมัน และก๊าซพุ่งทะยาน

ไคลเออร์ กล่าวว่า การผสมผสานระหว่างนโยบายของรัฐบาลที่เข้มงวดมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะต้องนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายในเส้นทางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน
 

‘พงษ์ภาณุ’ สะท้อนภาพ ภาคท่องเที่ยวเชียงใหม่น่าห่วง หวังเห็นแสงสว่าง หลังภาคีเครือข่ายรัฐเอกชนร่วมกู้วิกฤต PM2.5 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยว นับเป็นฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ นั่นเพราะรายได้ราว 80% มาจากกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงที่บูมสุดขีดมีมากถึง 10 ล้านคน ในปี 2562 ก่อนที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19

แม้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นหลังโควิด-19 คลี่คลายเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ทว่า กลับมาได้รับผลกระทบจากไฟป่า และฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมเข้าไปอีก ทำให้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ไม่ฟื้นตัวตามเป้าหมายที่คาดการณ์กันไว้

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อผลกระทบจาก PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ว่า จากข้อมูลด้านเศรษฐกิจของเชียงใหม่ พบว่ารายได้ประมาณ 80% มาจากภาคการท่องเที่ยวใหญ่มา สะท้อนให้เห็นว่าการท่องเที่ยวมีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่กระทบต่อการท่องเที่ยว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของเชียงใหม่อย่างปฏิเสธไม่ได้

ทั้งนี้ จากการติดตามตัวเลขสถิติด้านการท่องเที่ยวอย่างละเอียด จะเริ่มเห็นสัญญาณที่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเชียงใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว และคาดว่าน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อประเทศจีนเปิดประเทศ เพราะคนจีนชอบมาเที่ยวเชียงใหม่อยู่แล้ว แต่ทว่า หลังจากเกิดวิกฤต PM2.5 กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก และคงเป็นเรื่องยากที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเมื่อปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนเชียงใหม่ถึงกว่า 10 ล้านคน

ในขณะเดียวกัน จากกรณีที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตัดสินให้ประชาชนชนะคดีกรณีรัฐละเลยในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นข่าวดีที่ชาวเชียงใหม่ชนะคดี แต่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า กลไกภาครัฐในการดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมล้มเหลว ไม่สามารถคุ้มครองชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างเหมาะสม

“การที่ประชาชนชนะคดีภาครัฐในเรื่องสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกรณีประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่าจะพึ่งพาภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ในอดีตเมื่อครั้งที่ผมเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต เคยมีแนวคิดที่จะเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บภาษีรถยนต์ จากเดิมที่เก็บตามจำนวนซีซี แต่จะเปลี่ยนไปใช้รูปแบบเก็บภาษีตามการปล่อยคาร์บอน ซึ่งสมัยนั้นทำการศึกษาเยอะแยะไปหมด แต่ก็ไม่สำเร็จ”

นายพงษ์ภาณุ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิตประชาชน คงต้องพึ่งกลไกของภาคเอกชนเข้ามาช่วยลด คาร์บอน ลดฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะแนวคิดการเปิดตลาดคาร์บอนเครดิตของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหามลพิษได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างมูลค่าจากอากาศที่บริษัท ประกอบกับโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ที่เริ่มเป็นรูปร่างจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เชื่อว่าจะเป็นทางออกในการคลี่คลายวิกฤตที่เกิดขึ้นและจะทำให้การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่กลับมาเหมือนเมื่อปี 2562 ได้อีกครั้ง

'เทย์เลอร์ สวิฟต์' อาจครองแชมป์คนดัง ที่ปล่อย CO2 มากสุดในโลก 2 ปีซ้อน

(22 ธ.ค.66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เทย์เลอร์ สวิฟต์ ศิลปินสาวชื่อดังก้องโลก อาจรั้งที่ 1 ถึง 2 ปีซ้อนคนดังปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ มากที่สุดในโลก จากการขึ้นเจ็ทส่วนตัว หลังจากที่สื่อนอกรายงานว่าที่ผ่านมานั้นเธอบินไปหาแฟนหนุ่มดีกรีนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลอย่าง'ทราวิส เคลซี' จากทีม Kansus City Chiefs ถึง 12 ครั้งในห้วง 3 เดือนที่ผ่านมา

สื่อนอกรายงานว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนของนักร้องดังแห่งยุคอย่าง เทย์เลอร์ สวิฟต์ เกิดขึ้นจากการที่เธอนั้นได้นั่งเครื่องบินส่วนตัวเพื่อนบินไปเชียร์แฟนหนุ่มนักกีฬาแบบติดขอบสนามทั้งหมด 12 ครั้ง ในช่วงเวลาเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น

สำหรับ เทย์เลอร์ นั้น เธอได้ครอบครองเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวถึง 2 ลำ คือ Dassault Falcon 7x จดทะเบียนในชื่อ N621MM ภายใต้บริษัทIsland Jet Inc. และ Dassault Falcon 900 จดทะเบียนในชื่อ N898TS ภายใต้บริษัท SATA LLFC การเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวของเทย์เลอร์ ผลาญเชื้อเพลิงไปแล้วประมาณ 12,622 แกลลอน ตีเป็นเงิน 70,779 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 2,471,602 บาท 

โดยข้อมูลจาก Jets รายงานว่า นักร้องสาวชื่อดังได้ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนถึง 138 ตัน หากตัวเธอนั้นต้องการที่จะชดเชยปริมาณก๊าซคาร์บอนที่เธอปล่อยออกไปจากการนั่งเจ็ทส่วนตัว เธอจะต้องปลูกต้นไม้ถึง 2,282 ต้น และต้องรอให้ต้นไม้เหล่านั้นเติบโตระยะเวลาถึง 10 ปีถึงจะชดเชยได้

ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปปีที่ผ่านมานั้น เทย์เลอร์ สวิฟต์ ขึ้นแท่นอันดับ 1 คนดังที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลกอยู่ที่ประมาณ 8,293 ตัน แซงหน้า'ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์'ที่ตามมาติดๆ ถึงประมาณ 7,076 ตัน จากการนั่งเครื่อบินเจ็ทส่วนตัวเช่นกัน ซึ่งข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนนั้นเมื่อเทียบง่ายๆ จะมีปริมาณเทียบเท่ากับการใช้พลังงานไฟฟ้าของบ้านเรือนประมาณ 26 หลังในรอบ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ทางด้านเทย์เลอร์ สวิฟต์ เอง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเธอได้ส่งโฆษกส่วนตัว ออกมาเทคแอคชันถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งทางโฆษกส่วนตัวของเธอระบุว่า กำลังเร่งดำเนินการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากเครื่องบินส่วนตัวให้ได้มากที่สุด ด้วยการเดินทางให้น้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า ก่อนที่คอนเสิร์ต Eras Tour 2023 จะเริ่มต้นขึ้น เทย์เลอร์ สวิฟต์ ได้ควักกระเป๋าซื้อคาร์บอนเครดิตมากกว่าปกติถึง 2 เท่า เพื่อชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซ Co2 ระหว่างที่เธอได้ทัวร์คอนเสิร์ตในครั้งนี้อีกด้วย

‘สุกฤษฏิ์ชัย-ปชป.’ แนะ!! ลดใช้แคดเมียม พัฒนาวัสดุทดแทน ชี้!! แม้มีประโยชน์มาก แต่โทษมหันต์ต่อมนุษย์ ถ้าคุมได้ไม่ดี

(11 เม.ย. 67) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

ปัจจุบันแคดเมียมถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยแร่แคดเมียมเป็นโลหะหนัก ได้มาจากการถลุงแร่สังกะสี ตะกั่วและทองแดง แคดเมียมสามารถนำไปทำประโยชน์ได้ อาทิ การชุบโลหะ เพื่อเพิ่มความทนทานต่อการกัดกร่อน การสึกหรอ ป้องกันสนิม เป็นสารเคลือบ ใช้ในชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ทางทะเล เม็ดสี ทำแบตเตอรี่ ปุ๋ยและอื่นๆ ซึ่งดูเหมือนแคเมียมจะมีประโยชน์ต่อการผลิตสิ่งต่างๆที่พวกเราต้องใช้งานกันชีวิตประจำวันของทุกคน

แต่เมื่อมีประโยชน์มาก โทษก็เยอะตามมาด้วย หากการบริหารจัดการแร่หรือกากแคดเมียมไม่ดีพอ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานและตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในปัจจุบันมักใช้วิธีฝังกลบกากลงดินในการทำลาย ก็เป็นเหตุให้สามารถปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศในบริเวณโดยรอบได้อย่างง่ายดาย มิหนำซ้ำยังเกิดกรณีการลักลอบขุดกากขึ้นมาขายต่ออีกที่กำลังเป็นข่าว และเกิดขึ้นในหลายจังหวัดรวมถึงเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ถือเป็นศูนย์กลางของประเทศ การลักลอบดังกล่าว ก็กระทำโดยผิดกฎหมาย ขาดองค์ความรู้และหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง ตลอดจนการเก็บในโกดังหรือคลังสินค้าก็ไม่ได้มาตรการ จึงเป็นความอันตรายและเป็นภัยต่อสังคมโดยองค์รวม

ในส่วนของความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากแคดเมียมนั้น มีหลายผลกระทบมาก ไม่ว่าจะเป็น การปนเปื้อนในดินและน้ำ หากยิ่งใกล้แหล่งน้ำไม่ว่าจะเป็นห้วย หนอง คลอง แม่น้ำ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ลดความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดความหลากหลายทางชีวภาพ ปนเปื้อนห่วงโซ่อาหาร ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์และสุขภาพของประชาชนในบริเวณโดยรอบ มลพิษทางอากาศ ที่อาจเกิดขึ้นจากการขนย้ายกากอย่างไม่ได้มาตรฐานอาจปล่อยฝุ่นละออง เกิดการฟุ้งกระจาย ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชนได้ การสัมผัสหากมีปริมาณเกินไป ร่างกายจะสะสมพิษได้นานหลายปี มีผลร้ายต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น มีปฏิกิริยากับระบบไต ปอด กระดูกพรุน ก่อให้เกิดมะเร็ง ระบบสืบพันธุ์รวมถึงโรคอิไต อิไตด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ควรมีการลดใช้แคดเมียม ด้วยการเร่งพัฒนาวัสดุและเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาทดแทน ภาครัฐควรออกมาตรการควบคุมให้ธุรกิจรับซื้อของเก่า เศษเหล็ก, เศษพลาสติก, พอลิเมอร์ เพื่อนำไปรีไซเคิลหรือผ่านกระบวนการเพื่อนำกับมาใช้ซ้ำใช้ใหม่ รวมถึงโรงงานหลอมโลหะในทุกที่ทั่วราชอาณาจักร มีมาตรฐาน มีความปลอดภัย มีกฎหมายออกมาบังคับเฉพาะ เพื่อเป็นการป้องปรามผู้กระทำความผิดในอนาคต ภาคเอกชนต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่สาธารณะ ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาคประชาชนร่วมกันสอดส่องดูแลความเป็นไปในพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดคือให้ความรู้แก่ประชาชน ทางสาธารณสุข สุขอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัส การอยู่ใกล้ หากมีความจำเป็นต้องเข้าใกล้ ควรใส่หน้ากากป้องกันสารพิษ หลีกเลี่ยงอาหารที่มาจากแหล่งที่มาไม่ชัดเจน เพราะแคดเมียมเป็นโลหะหนักที่ขยับเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที อาจปนเปื้อนในอาหารที่เรากำลังรับประทาน ในน้ำที่เรากำลังดื่มหรือในอากาศที่เรากำลังหายใจอยู่ก็เป็นได้

สำรวจ!! มลพิษจากพลาสติกครึ่งหนึ่งของโลกราว 1.8 ล้านชิ้น มาจากผลิตภัณฑ์ของ 56 บริษัท ที่แปรสภาพเป็นขยะสิ่งแวดล้อม

(13 พ.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Salika’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

การศึกษาใหม่ได้เน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของบริษัทใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์หลัก ๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยมลพิษจากพลาสติก หลังจากที่นักวิจัยติดตามขยะจำนวนมากและพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งมาจากบริษัทเกือบ 60 แห่ง

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เปิดเผยว่ามี 56 บริษัทที่ก่อให้เกิดขยะ พลาสติกมากกว่า 50% ใน 84 ประเทศ

เพื่อให้ได้ข้อมูลนี้ อาสาสมัครหลายพันคนทั่วโลกได้ดำเนินการ ‘ตรวจสอบ’ พลาสติก โดยพวกเขาจะสำรวจชายหาด สวนสาธารณะ แม่น้ำ และสถานที่อื่น ๆ เพื่อหาขยะพลาสติก อาสาสมัครตรวจสอบขยะแต่ละชิ้นและบันทึกแบรนด์หรือเครื่องหมายการค้าที่มองเห็นได้ โดยกลุ่ม Break Free From Plastic ได้มีการรวบรวมการตรวจสอบ 1,576 ชุด ในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2565

จากการสำรวจพลาสติกมากกว่า 1.8 ล้านชิ้น มีเกือบ 910,000 ชิ้นที่มีแบรนด์ที่มองเห็นได้

ในบรรดาพลาสติกหลายแสนชิ้นนั้น บริษัทชั้นนำ 5 อันดับแรกทั่วโลกที่พบว่ามีผลิตภัณฑ์แปรสภาพเป็นขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ได้แก่ The Coca-Cola Company (11%), PepsiCo (5%), Nestlé (3%), Danone (3%) และ Altria (2%) คิดเป็น 24% ของจำนวนแบรนด์ทั้งหมด ขณะที่ Unilever รั้งอันดับ 8, Moderlez International (เจ้าของแบรนด์ขนมหวาน ช็อกโกแลต และหมากฝรั่งชื่อด้่งอย่าง Oreo, Ritz,Toblerone, Cadbury,Trident, Dentyne, Chiclets และ Halls เป็นต้น) ตามมาในอันดับ 11 และ Mars, Incorporated (เจ้าของแบรนด์ขนมหวานระดับโลกอย่าง M&M’s, Snickers, Mars และ Twix เป็นต้น) อยู่ในอันดับ 12 ซึ่งสามบริษัทหลังนี้มีสัดส่วนไม่ถึงบริษัทละ 2% ขณะเดียวกันการศึกษานี้ยังพบว่าบริษัท 56 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของขยะพลาสติกที่สำรวจพบ

ขณะที่พลาสติกที่หลงเหลืออีก 50% ไม่มีตราสินค้าที่มองเห็นได้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับหลักปฏิบัติในการรายงานความยั่งยืนของบริษัทต่าง ๆ

ขยะพลาสติกที่ไม่มีแบรนด์ประกอบด้วย 52% ของขยะพลาสติกที่ทำการสำรวจในครั้งนี้ทั้งหมด แต่การระบุความเป็นเจ้าของของบริษัทให้กับขยะพลาสติกที่ไม่มีตราสินค้าเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ด้วยเทคนิคในปัจจุบัน โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับของพลาสติกที่ไม่มียี่ห้อ ได้แก่ การผุกร่อนด้วยน้ำ แสงแดด และอากาศ รวมถึงระยะเวลาที่วัสดุอยู่ในสภาพแวดล้อม คุณภาพของหมึกที่ใช้ และประเภทของวัสดุหรือสัณฐานวิทยา เมื่อไม่มีหลักฐานระบุตัวตนของผู้ผลิตพลาสติกที่ไม่มีแบรนด์ การศึกษานี้จึงมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบพลาสติกที่มีตราสินค้า

“สินค้าพลาสติกมากกว่า 50% ที่เราพบ เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องมีความโปร่งใสที่มากขึ้นเกี่ยวกับการผลิตและการติดฉลากผลิตภัณฑ์พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับและความรับผิดชอบ เราขอแนะนำให้สร้างฐานข้อมูลสากลที่เข้าถึงได้แบบเปิดซึ่งบริษัทต่าง ๆ มีหน้าที่ติดตามและรายงานผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ แบรนด์ และการปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมในเชิงปริมาณ นอกจากนี้ เราขอแนะนำให้พัฒนามาตรฐานสากลเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ของบรรจุภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการระบุตัวตน” รายงานการศึกษานี้ระบุ

จากบริษัทที่อยู่เหนือเส้นแนวโน้ม (Trend line) โดยทั่วไปแล้วเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม (เส้นสีม่วง) ในขณะที่บริษัทที่อยู่ต่ำกว่าเส้นแนวโน้มส่วนใหญ่เป็นบริษัทในครัวเรือนและการค้าปลีก (เส้นสีเขียวนกเป็ดน้ำ) แม้ว่าบริษัททั้งสองประเภทจะผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง แต่ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมักจะมีระยะเวลาการใช้งานที่สั้นกว่าก่อนที่จะนำไปกำจัด รวมถึงมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าของสินค้าแบบใช้ครั้งเดียว (รวมถึงสินค้าที่มีอายุสั้น) ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมีแนวโน้มสูงในการบริโภคระหว่างเดินทาง ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนและร้านค้าปลีกมีแนวโน้มสูงกว่าในการบริโภคภายในอาคาร ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยที่จะหลบหนีจากโครงสร้างพื้นฐานการจัดการวัสดุและรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม

กระนั้นสิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าเปอร์เซ็นต์นั้นอิงจากการนับจำนวน เป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์นี้จะแตกต่างออกไปหากเปอร์เซ็นต์เป็นมวล เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทค้าปลีกและในครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะมีมวลโดยเฉลี่ยมากกว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม การประมาณมวลเฉลี่ยของพลาสติกที่ผลิตโดยแต่ละบริษัทจะต้องแปลงระหว่างจำนวนและมวล

“อุตสาหกรรมมักที่จะโยนความรับผิดชอบให้กับผู้บริโภค แต่เราอยากจะชี้ให้เห็นว่าควรเป็นความรับผิดชอบของแบรนด์ต่าง ๆ ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ยั่งยืน สินค้าแบบใช้แล้วทิ้ง และรูปแบบการจัดส่งที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดขยะจำนวนมหาศาล” Marcus Eriksen ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษจากพลาสติกของสถาบัน 5 Gyres Institute ผู้เขียนการศึกษานี้กล่าวกับ The Guardian สื่อชื่อดังของอังกฤษ

พลาสติกส่วนใหญ่ทำจากเชื้อเพลิงสกปรก เช่น น้ำมันและน้ำมันเบนซิน ดังนั้นการผลิตวัสดุดังกล่าวจึงก่อให้เกิดคุณภาพอากาศที่ไม่ดีต่อสุขภาพและความร้อนสูงเกินไปที่เป็นอันตรายต่อโลกของเรา

เนื่องจากพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพจะสลายตัวในระยะเวลาหลายสิบปีถึงหลายร้อยปี จึงก่อให้เกิดอันตรายเพิ่มเติมโดยกลายเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อพวกมันแตกออกเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่เรียกว่า ‘ไมโครพลาสติก’

การศึกษาล่าสุดชิ้นหนึ่งในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์เชื่อมโยงอนุภาคเหล่านี้กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจวายในผู้ป่วยโรคหัวใจ ในขณะที่อีกงานวิจัยหนึ่งที่จัดทำโดยหอสมุดแห่งชาติด้านการแพทย์ชี้ให้เห็นว่าไมโครพลาสติกอาจอยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นของกรณีมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี และเรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องนี้

>> บริษัทขนาดใหญ่และความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหามลพิษ

ในการต่อสู้กับมลพิษจากพลาสติกทั่วโลก มีศัตรูเพียงไม่กี่คนที่มีขนาดใหญ่กว่ารอยเท้าของบริษัทขนาดใหญ่ ด้วยประสบการณ์กว่าสามทศวรรษในการรายงานประเด็นด้านความยั่งยืน ฉันได้เห็นโดยตรงถึงปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดจากบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ และความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับความรับผิดชอบ ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ไปจนถึงการผลิต การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอย่างแพร่หลายได้ทิ้งร่องรอยที่ลบไม่ออกบนโลกของเรา พร้อมกับส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศ ชุมชน และคนรุ่นอนาคต

การแพร่หลายของพลาสติกในชีวิตประจำวันของเรานั้นไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ความสะดวกสบายกลับปฏิเสธต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมอันมหาศาล บริษัทขนาดใหญ่ซึ่งได้รับแรงหนุนจากอัตรากำไรและความต้องการของตลาด มีบทบาทสำคัญในการยืดเยื้อวิกฤตนี้ โดยเลิกใช้บรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกจำนวนมหาศาลโดยไม่สนใจผลกระทบเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งาน จากกลุ่มบริษัทข้ามชาติไปจนถึงแบรนด์ในครัวเรือน มลพิษจากพลาสติกที่หลอกหลอนอยู่ทุกมุมของโลกธุรกิจ

หัวใจของปัญหานี้อยู่ที่ความไม่สมดุลขั้นพื้นฐานระหว่างการบริโภคและความรับผิดชอบ ในขณะที่ผู้บริโภคต้องแบกรับความรู้สึกผิดและการตรวจสอบการใช้พลาสติกอย่างถี่ถ้วน ความรับผิดชอบในท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับบริษัทที่ผลิตและทำกำไรจากวัสดุเหล่านี้ ถึงเวลาแล้วที่บริษัทใหญ่ ๆ จะต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่น่าอึดอัดใจ: พวกเขามีความสมรู้ร่วมคิดในการสานต่อวิกฤตการณ์ระดับโลกที่คุกคามโครงสร้างของโลกของเรา

แล้วบริษัทขนาดใหญ่ควรรับผิดชอบบทบาทของตนในการสร้างมลพิษจากพลาสติกอย่างไร?
ประการแรก พวกเขาจะต้องรับผิดชอบห่วงโซ่อุปทานของตน ปฏิบัติตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่เข้มงวดเพื่อลด ใช้ซ้ำ และรีไซเคิลพลาสติกตลอดกระบวนการผลิต ซึ่งรวมถึงการลงทุนในทางเลือกที่ยั่งยืน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่เพื่อให้สามารถรีไซเคิลได้มากที่สุด และลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็นให้เหลือน้อยที่สุดในทุก ๆ กระบวนการที่เป็นไปได้

นอกจากนี้ ความโปร่งใสและความรับผิดชอบจะต้องเป็นเสาหลักของการกำกับดูแลกิจการที่ไม่สามารถต่อรองได้ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกภายในอุตสาหกรรม

บริษัทขนาดใหญ่ต้องเปิดเผยการใช้พลาสติกและการปล่อยมลพิษ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถรับผิดชอบต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งรวมถึงการติดตามและรายงานเกี่ยวกับการสร้างขยะพลาสติก วิธีการกำจัด และความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการลดการลดการใช้พลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ไม่เพียงเท่านี้ การทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับความท้าทายเชิงระบบที่เกิดจากมลพิษจากพลาสติก บริษัทขนาดใหญ่ต้องทำงานร่วมกับรัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ แบบไม่ตกหล่น เพื่อพัฒนาวิธีแก้ปัญหาแบบองค์รวมที่จัดการกับต้นตอของปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนการปฏิรูปนโยบาย การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการจัดการขยะและการรีไซเคิล และการสนับสนุนความคิดริเริ่มที่ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

รวมถึงสนับสนุนและบ่มเพาะวัฒนธรรมแห่งความยั่งยืนให้กับชุมชนเพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนี้

บริษัทข้ามชาติ เช่น ผู้ผลิตมลพิษจากพลาสติกชั้นนำอย่าง Nestle, Coca-Cola และ Pepsi ควรควบคุมตนเองในเชิงรุก พวกเขาสามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมด้วยการออกแบบของตนเอง เพื่อลดผลกระทบด้านลบจากมลพิษจากพลาสติกในขณะที่ยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันได้

The Washington Post รายงานว่า โฆษก Coca-Cola บอกถึงกลยุทธ์โลกไร้ขยะของบริษัท โดยตั้งเป้าที่จะ “ทำให้บรรจุภัณฑ์ของเราสามารถรีไซเคิลได้ 100% ทั่วโลกภายในปี 2568 และจะใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างน้อย 50% ในบรรจุภัณฑ์ของเราภายในปี 2568 เรารู้ว่าต้องทำมากกว่านี้ และเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายโดยลำพังได้”

ด้าน Nestlé แจกแจงว่าบริษัทตั้งเป้าที่จะลดการใช้พลาสติกใหม่ลง 1 ใน 3 และนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในบรรจุภัณฑ์ให้มากขึ้น

ขณะที่ในแถลงการณ์ทางอีเมลของ PepsiCo ระบุว่าบริษัทสนับสนุนกรอบนโยบายระดับโลกเพื่อจัดการกับมลพิษจากพลาสติก และกำลังทำงานเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่พลาสติกถูกนำมาใช้ซ้ำ

ส่วน Altria ได้ตรวจสอบการศึกษานี้และเชื่อว่าไม่ถูกต้อง เพราะการศึกษานี้รวมข้อมูลจากกว่า 80 ประเทศ แต่ Philip Morris USA บริษัทบุหรี่ของ Altria ดำเนินธุรกิจในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม Win Cowger ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Moore Institute for Plastic Pollution Research และผู้เขียนหลักของการศึกษากล่าวในการตอบสนองต่อคำแถลงของ Altria ว่า “แนวคิดที่ว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยบริษัทในประเทศใดประเทศหนึ่งจะอยู่ในประเทศที่สร้างผลิตภัณฑ์นั้นเท่านั้นไม่ได้รับการสนับสนุน”

ส่วน Danone ไม่ตอบสนองต่อการร้องขอความคิดเห็นจาก The Washington Post

กล่าวโดยสรุป ปัญหาเรื้อรังของมลพิษจากพลาสติกจำเป็นต้องได้รับการดำเนินการอย่างเร่งด่วนจากบริษัทขนาดใหญ่ ถึงเวลาแล้วที่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะต้องแบกรับความรับผิดชอบและดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่ออนาคตที่ปราศจากมลภาวะนี้ ด้วยความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนอย่างแข็งขัน เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่โลกที่ยั่งยืนมากขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

ถึงเวลาดำเนินการอย่างเร่งด่วนแล้ว อย่าเสียเวลาอีกต่อไปเลย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top