Monday, 21 April 2025
มณเฑียร_บุญตัน

รำลึก 'มณเฑียร บุญตัน' ผู้ขับเคลื่อนโอกาสแก่ 'คนพิการ-ผู้คนในสังคม' เปลี่ยนความเวทนา เป็นความศรัทธาว่า "ทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน"

ภายหลังจากเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 67 ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แจ้งข้อความผ่านไลน์กลุ่มสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ว่า 'มณเฑียร บุญตัน' สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน บรรดาผู้คนในภาคสังคมต่างก็ออกมาร่วมไว้อาลัย เสียใจ ถึงการสูญเสียผู้สร้างคุณูปการขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิความเสมอภาคให้กับคนพิการ และผู้คนในสังคมในสังคมไทยมาโดยตลอด

นั่นก็เพราะ อ.มณเฑียร เป็นผู้ที่มีความชัดเจนในหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ใช่เฉพาะการขับเคลื่อนแค่คนพิการ แต่ทุกคนในสังคมก็ต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ อ.มณเฑียร ขับเคลื่อน ผลักดันร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ป้องกัน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในสังคม 

โดย อ.มณเฑียร ได้เข้ามาทำงานร่วมกับภาคประชาชน และกรรมการสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้นในช่วงหลังมานี้ เพื่อที่ต้องการอยากเห็นกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เป็นกฎหมายกลางให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน 

และที่ผ่านมา อ.มณเฑียร ได้ตั้งกระทู้ถามสดในสภาฯ หลายครั้งเพื่อให้ทุกส่วนได้เข้าใจ และเห็นความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้

นอกจากนี้ อ.มณเฑียร ยังมีส่วนช่วยทำงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ถึงขั้นที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ได้มอบเกียรติบัตรเพื่อยกย่อง ในฐานะบุคคลที่เป็นผู้เชื่อมสัมพันธไมตรี และทำคุณประโยชน์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น กันเลยทีเดียว (เมื่อ 22 มี.ค.64 ) 

แม้วันนี้ท่านจะจากไป แต่คุณประโยชน์ที่ท่านทำไว้ต่อคนพิการ และผู้คนอื่น ๆ เป็นพลัง ที่มอบวิถีที่จะให้ผู้สานต่อได้ขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ให้กับสังคมภายใต้ปณิธานต่าง ๆ ที่ท่านวางเอาไว้ก็จะได้รับการสานต่ออย่างแน่นอน

ทุกวันนี้ ท่านได้เปลี่ยนความเวทนาคนพิการ เป็นความเชื่อแห่งสังคมเท่าเทียม ซึ่งเป็นความฝันสำคัญที่ท่านมองว่า สังคมควรจะเลิกมองคนพิการในเชิงเวทนานิยม คือ เลิกสงสารและเลิกเวทนาคนพิการ แต่ให้มองคนพิการเป็นคน ๆ หนึ่งที่มีคุณค่าเหมือนกับคนอื่น ๆ ในสังคม ซึ่งนี่ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรจะต้องสานต่อความคิด ความเชื่อ และร่วมมือกันเพื่อทำให้สังคมมองคนให้เท่าเทียมกันมากขึ้น

ในหนังสือพิมพ์สกุลไทย ฉบับที่ 2833 วันที่ 3 ก.พ. 2552 ได้เผยแพร่เรื่องราวน่าประทับของ อ.มณเฑียร บุญตัน ส่วนหนึ่งระบุไว้ว่า…

“ผู้ที่เคยได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-mail จาก มณเทียร บุญตัน ย่อมต้อง เคยเห็นคำลงท้ายใต้ชื่อของเขา ซึ่งไม่ใช่คำว่า ‘สมาชิกวุฒิสภา’ หรือ ‘นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย’ แต่เป็น servant of the blind and the poorest ‘ผู้รับใช้คนตาบอดและผู้ยากไร้ที่สุด’ คำนิยามที่เขาใช้อธิบายสถานภาพของตัวเองในฐานะ ‘ผู้รับใช้’ สะท้อนทัศนคติที่น่าสนใจบางประการของสมาชิกวุฒิสภาผู้พิการทางสายตาท่านนี้ อาจจะมากกว่าตำแหน่งอันทรงเกียรติอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือฉายา ‘คนดีศรีสภา’ ในการตั้งฉายาของผู้ที่ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติเมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยคำถามที่ว่าชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในฐานะผู้พิการทางสายตา เหตุใดจึงเลือกที่จะเป็น ‘ผู้รับใช้’ สังคมแทนการเป็น ‘ผู้รับ’ จากสังคม? คำตอบของคำถามนี้ มีอยู่ในเรื่องราวทั้งชีวิตของเขา ทั้งภูมิหลัง แรงบันดาลใจ พลังของการเรียนรู้และสร้างสรรค์อันเต็มเปี่ยมอย่างที่โลกอันมืดมิดไม่อาจตีกรอบไว้ได้”

และในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนั้น อ.มณเฑียร ได้ให้สัมภาษณ์เรื่องอุปสรรคของผู้พิการทางสายตา และการต่อสู้ไว้ว่า…

“ตั้งแต่เด็ก ๆ มาแล้วผมไม่ชอบคำว่า ‘ผู้ใหญ่’ คำว่าผู้ใหญ่เป็นคำที่ผมแสลงหูมากที่สุด จนถึงทุกวันนี้เลยยนะครับ ตอนเด็ก ๆ ผมมักจะถูกขู่ว่าทำไมไม่เชื่อผู้ใหญ่ เวลาจะทำอะไรผู้ใหญ่ต้องมาก่อน เราเป็นเด็กต้องอ่อนน้อม ผมจะเป็นพวกที่...เฮ่ย ฝากไว้ก่อนเถอะ แล้วผมก็เป็นเด็กที่ชอบแกล้งผู้ใหญ่ด้วย ถ้าผู้ใหญ่ได้รับความอับอาย ผมสนุกมากเลย เป็นพวกรวมตัวกันกบฏต่อผู้ใหญ่เป็นประจำ ทำให้ผู้ใหญ่เสียหน้าเป็นความสุขของผม เพราะผมเป็นคนที่ไม่ชอบอำนาจไง ผมจะต้องอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับอำนาจเสมอ ใครใช้อำนาจกับผม ผมก็ต้องตอบโต้ ด้วยวิธีแบบใดก็แล้วแต่ แต่ผมต้องเอาชนะฝ่ายที่มีอำนาจอยู่เสมอ”

อ.มณเฑียร กล่าวต่อว่า “ความด้อยโอกาสของคนตาบอดก็เหมือนกับการต่อสู้กับอำนาจ คืออำนาจของคนที่ไม่ต้องดิ้นรนมากก็มีการศึกษา ไม่ต้องดิ้นรนก็มีงานทำ แต่พวกเราต้องดิ้นรนมาก เหมือนกับว่าเราต้องต่อสู้กับฝ่ายที่มีอำนาจเหนือเรา เพราะฉะนั้นแรงขับของผมก็คือต้องเอาชนะฝ่ายที่มีอำนาจ อาจไม่ถึงขนาดล้มล้าง แต่ต้องอยู่ด้วยกันได้ เขาก็ต้องไม่สามารถมาขี่เราได้ ผมทำอย่างนี้ตั้งแต่คนในครอบครัวเลยนะครับ ถ้าใช้อำนาจกับผม ผมจะตอบโต้ทันที”

นอกจากนี้ อ.มณเฑียร บุญตัน ยังได้เล่าถึงแรงขับเคลื่อนในชีวิต และประโยคทองประจำใจของตนไว้ในหนังสือพิมพ์ สกุลไทย ฉบับที่ 2833 วันที่ 3 ก.พ. 2552 หน้าที่ 40 ว่า…

แรงขับเคลื่อนของผมคือครอบครัวของผม ที่ทำให้ผมเป็นนักสู้ พ่อของผมซึ่งเป็นนักสู้ กับคำพูดของแม่ที่ว่า ‘ใต้ฟ้านี้ไม่มีอะไรน่ากลัว’ ต่อมาคือครูของผม ‘คุณครูปราณี สุดเสียงสังข์’ ท่านเป็นคนตาบอด ท่านไม่ใช่คนเชียงใหม่แต่ต้องไปสอนหนังสือที่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2507 แล้วท่านต้องส่งเสียครอบครัวท่านจนถึงเกษียณ มันน่าเอาอย่างไหมล่ะครับ”

อ.มณเฑียร กล่าวต่อว่า “แล้วคนที่ผมได้เรียนรู้ประวัติทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นคนที่จุดประกายให้กับผมทั้งนั้นเลย อย่าง ‘อาจารย์เจเนวีฟ คอลฟิลด์’ ท่านเป็นชาวอเมริกัน ซึ่งมาตั้งโรงเรียนคนตาบอดเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ในช่วงที่ประเทศไทยประกาศสงครามกับอเมริกา คือความรักอันยิ่งใหญ่ ความไม่ยอมแพ้ของผู้หญิงตาบอดชาวอเมริกัน ซึ่งมาตั้งโรงเรียนในแผ่นดินศัตรู ฟังแล้วขนลุกไหมครับ” 

อ.มณเฑียร เล่าถึงที่มีของประโยคทองที่ใช้ในชีวิตประจำวันว่า “แล้วพอตอนที่ผมมาเรียนที่มงฟอร์ต ผมก็เจอครูอีกท่านหนึ่งชื่อ ‘มาเซอร์จิมมี่’ ท่านเป็นผู้ลี้ภัยชาวพม่า ท่านเรียนจบจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด แต่ท่านต้องมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ที่เชียงใหม่ ทั้งหมดนี้ก็ให้บทเรียนกับผมว่าคนเรานี่มันต้องไม่ยอมจำนน ตอนผมสอบชิงทุนไปอเมริกาได้ ผมไปหาท่าน ท่านให้โอวาทผมสั้น ๆ ว่า “No Pain No Gain” ผมจำขึ้นใจจนถึงทุกวันนี้ ชีวิตผมมีประโยคทองอยู่สองประโยค ประโยคแรก คือที่มาเซอร์จิมมี่ให้ อันที่สองคือ “I have giving up on giving up” อันนี้ผมคิดขึ้นเอง ก็คือข้าเลิกล้มความคิดที่จะ
เลิกล้มความคิดโดยสิ้นเชิง หรือปฏิเสธการยอมแพ้โดยสิ้นเชิง แต่ไม่ได้หมายความว่าเวลาเราแข่งขัน
เราจะไม่รู้จักแพ้ แต่หมายถึงว่าเราไม่รู้จักการยอมจำนน"

สำหรับ นายมณเฑียร บุญตัน เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2508 ปัจจุบันมีตำแหน่งในวุฒิสภา เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ปี 2551 - 2557 และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2557 - 2562

อีกทั้งยังเป็นผู้แทนคนพิการคนแรกในประเทศไทย และคนแรกในอาเซียนที่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็น คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ (UN-Committee Convention on the Rights of Persons with Disabilities-CRPD) วาระปี พ.ศ. 2556-2559

นอกจากนี้ ท่านยังเคยได้รับฉายา 'คนดีศรีสภา ปี 2551' จากสื่อมวลชนประจำรัฐสภาอีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top