Saturday, 18 May 2024
มก

จาก 'มกร' ความทรงจำเลือนลางกาลก่อน สู่ 'มังกร' ผู้ครอบครองความเชื่อปัจจุบัน

แรกเริ่มเดิมทีชื่อเดือน 'มกราคม' มีรากศัพท์มาจากคำว่า 'มกร' ตามความเชื่อแบบฮินดูคติ แต่ทำไมปัจจุบันจึงเพี้ยนเป็น 'มังกร' ซึ่งคือภูมิปัญญาของบูรพาวิถี ไยความเชื่อจากสองรากเหง้าที่ตั้งห่างกันเกินกว่า 7,500 กิโลเมตร จึงเดินทางมาบรรจบรวมกันเป็นหนึ่ง ณ ดินแดนสยามแห่งนี้

ในเรื่องดังกล่าว รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณคดีต่างประเทศ (ตะวันออก) แห่งราชบัณฑิตยสถาน เคยอธิบายไว้ว่า "คนไทยเรามักสับสนระหว่างคำว่า 'มกร' กับ 'มังกร' แม้จนถึงปัจจุบันเราก็ชอบคิดว่า มกร หรือ มังกร เป็นสัตว์ในเทพนิยายชนิดเดียวกัน แต่ถ้าหากดูตามหลักฐานดั้งเดิม คนไทยสมัยโบราณย่อมจะรู้จัก 'มกร' มาก่อน"

มกร (ออกเสียงว่า มะ-กะ-ระ หรือ มะ-กอน) คำจากภาษาสันสกฤต ตามพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ให้ความหมายว่า "...เป็นสัตว์ตามจินตนาการของช่างอินเดียโบราณ มีลักษณะต่างๆ กันไป เช่น ในสมัยแรกส่วนหัวคล้ายจระเข้ มีจะงอยปากงอไปทางด้านหลังคล้ายงวงช้างขนาดสั้น มีฟันแหลมคม มีขาคล้ายสิงโตหรือสุนัข ท่อนหางทำเป็นอย่างหางปลา"

"คนโบราณจินตนาการกันว่า มกร คือจระเข้มีงวง มีสี่ขา โดยจากหลักฐานพบเห็นได้ตามรูปสลักบนปราสาทหินแถบนี้ บนทับหลังก็พบบ่อย ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ก็มี โดยมกรอาจผสมผสานกับสัตว์ตำนานชนิดอื่น เช่น มกรคายนาคบนศิลปะแบบถาลาบริวัต หรือประทับยืนบนแท่นแล้วคายวงโค้งออกมาจากปาก มกร ยุคถาลาบริวัตนี้ตัวจะกลมๆ ป้อมๆ น่ารัก" รศ.ศานติ กล่าว

ช่างศิลป์โบราณต่างจินตนาการว่าทั้ง มกร และ มังกร คือเทพเจ้าแห่งท้องทะเล (น้ำ) โดยรวมจับเอาลักษณะของสัตว์หลากหลายชนิดมาผสมเข้าด้วยกัน ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ โดย 'มกร' มีส่วนปากคล้ายจระเข้ มีงวงเหมือนช้าง ลำตัวและหางเหมือนปลา ยุคหลังๆ ยังเพิ่มลักษณะของสัตว์อื่นๆ ปะปนตามมาอีกหลายชนิด ตามแต่จินตนาการของช่าง เช่น สิงโต แพะ กวาง นาค มังกร ฯลฯ ล้วนแต่เป็นสัตว์ซึ่งมีความหมายทางมงคลทั้งสิ้น

ส่วน 'มังกร' ตามปรากฎของพจนานุกรมประเทศจีน (ปัจจุบัน) ให้ความหมายไว้ว่า "...มังกรเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ลักษณะหัวคล้ายหัวอูฐ มีเขาคล้ายเขากวาง ดวงตาคล้ายกับดวงตาของกระต่ายป่า หูคล้ายหูวัว มีปีกเหมือนนกอินทรี มีลำคอยาวคล้ายงู ช่วงท้องมีลักษณะคล้ายกบ รูปร่างของมันคล้ายกับปลาตัวใหญ่ เท้าคล้ายกับเท้าเสือ เสียงของมันคล้ายเสียง (ตี) ฆ้อง เมื่อมันหายใจ ลมหายใจของมันมีลักษณะคล้ายเมฆ ซึ่งบางครั้งก็ออกมาเป็นฝน แต่บางครั้งก็เป็นเปลวไฟ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top