Monday, 17 June 2024
ภาษีมูลค่าเพิ่ม

‘ร้านหม่าล่า’ ยอมรับศึกษาเรื่อง VAT ไม่ละเอียด หลังลูกค้าโวย เก็บ VAT ทั้งที่ร้านไม่จดทะเบียนภาษีฯ

จากกรณีมีชาวเน็ตรายหนึ่งได้ออกมาโพสต์เตือนภัย ร้านหม่าล่าแห่งหนึ่งย่านอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ที่เพิ่งเปิดใหม่ ได้มีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากยอดค่าอาหาร แต่เมื่อลูกค้าขอใบกำกับภาษีด้วยเพื่อที่จะได้นำไปเป็นค่าใช้จ่าย แต่ทางร้านแจ้งว่ายังไม่ได้จด VAT จึงออกใบกำกับภาษีให้ไม่ได้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. เพจ ‘หม่าล่าหม้อไฟฉ่งชิง 重庆麻辣火锅’ ซึ่งเป็นร้านอาหารดังกล่าวได้ออกมาโพสต์ชี้แจง ระบุว่า "เนื่องจากทางร้านไม่ได้ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการเก็บ vat 7% อย่างละเอียดและดีพอ ทางร้านขอน้อมรับผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทางร้านต้องกราบขอโทษและขออภัยลูกค้าทุกๆ ท่าน

สำหรับลูกค้าท่านใดที่เคยจ่ายเงิน 7% ไป สามารถเข้ามาแสดงหลักฐานการโอน หรือใบเสร็จ เพื่อขอคืนเงิน 7% ที่ร้านได้เลยนะคะ เพื่อเป็นการขอไถ่โทษ ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2566 ทางร้านจึงลดราคาให้ลูกค้าทุกๆ ท่าน 10% และสำหรับลูกค้าที่เคยจ่ายเงิน 7% ไป ถ้าจะเข้ามารับประทานที่ร้านแล้วเอามาเป็นส่วนลดรวมเป็น 17% ก็จักเป็นพระคุณอย่างสูง

‘Free YOUTH’ เหน็บ!! ‘VAT’ คือภาษีที่สร้างความเหลื่อมล้ำ หากเพิ่มจาก 7% เป็น 10% คนรายได้น้อยแบกภาระเต็มๆ

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 66 ภายหลังจากมีกระแสข่าวว่าสภาพัฒน์เสนอจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT จากเดิม 7% เพิ่มเป็น 10% ก็ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์ รวมถึงเพจ ‘เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH’ กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า…

“VAT คือภาษีที่สร้างความเหลื่อมล้ำ”

การที่ไม่นานมานี้สภาพัฒน์เสนอขึ้นภาษี VAT จาก 7% เป็น 10% นั้น โดยอ้างว่าต้องการเก็บเพื่อนำมาจัดสรรสวัสดิการให้คนสูงวัยในอนาคต คือการพยายามขูดรีดคนรากหญ้า แทนที่จะเป็นการลดงบกองทัพ หรืองบที่ไม่ได้มีความจำเป็นแก่การพัฒนาประเทศเพื่อนำมาสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับคนทุกวัย

VAT คือภาษีที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าหรือบริการ โดยอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินค้าหรือบริการนั้น สาเหตุที่ VAT ถูกวิจารณ์ว่าเป็นภาษีที่ไม่เป็นธรรม เพราะ ‘ผู้ที่มีรายได้ต่ำจะต้องจ่ายภาษีในอัตราสูงเท่ากับผู้ที่มีรายได้สูง’ ทำให้หากมีการขึ้นภาษี VAT ไปมากกว่าเดิม จะทำให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ เราจึงสามารถเรียกได้ว่า VAT คือ ‘ภาษีแห่งความเหลื่อมล้ำ’

หากยกกรณีตัวอย่าง 
คุณซื้อสินค้าหนึ่งในราคา 40 บาท
หาก VAT เป็น 10% คุณจะเสียอีก 4 บาท
จากอัตราปัจจุบันที่ 7% คุณจะจ่ายอีกประมาณ 2.8 บาท

ความต่างในด้านเงินจำนวนนี้ดู ๆ แล้วอาจไม่เยอะมาก แต่หากนึกถึงคนจนที่มีรายได้น้อยมาก ๆ หากสิ่งของหลายรายการ นั่นก็อาจเป็นเงินหลายบาทสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ในวันหนึ่ง เขาอาจหาเงินได้ไม่กี่บาท

‘การเก็บภาษีขั้นบันได’ คือภาษีที่เรียกเก็บจากผู้มีรายได้โดยอ้างอิงตามช่วงของรายได้นั้น ๆ ผู้ที่มีรายได้ต่ำจะต้องจ่ายภาษีในอัตราต่ำ และผู้ที่มีรายได้สูงจะต้องจ่ายภาษีในอัตราสูง ทำให้เป็นกลไกหนึ่งที่สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ด้วยค่าครองชีพที่สูงเกินกว่าใครหลายคนจะรับไหว การเพิ่มภาษี VAT ให้มากไปกว่าเติม จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก ‘ภาษีขั้นบันได’ จึงถือว่าเป็นคำตอบให้กับการแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มมากขึ้นทุกทีในสังคมไทย

คลังจ่อเก็บ VAT สินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท หวังเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี คาดเริ่มใน พ.ค.นี้

(29 เม.ย. 67) นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประมาณต้นเดือน พ.ค.นี้ จะมีความชัดเจนเรื่องการออกประกาศกรมศุลกากร เป็นกฎกระทรวง เกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าราคาไม่เกิน 1,500 บาท (Low-Value Goods)

ทั้งนี้ หากสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าราคาไม่เกิน 1,500 บาท (Low-Value Goods) จะประกอบไปด้วยรายละเอียด ดังนี้...

>> มีผลเมื่อไหร่:
- คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน พฤษภาคม 2567

>> ใครต้องเสียภาษี:
- แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- บุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
- สินค้าที่ต้องเสียภาษี: สินค้าที่นำเข้าที่มีมูลค่าราคาไม่เกิน 1,500 บาท

>> อัตราภาษี: 7%

>> วิธีการเสียภาษี:
- แพลตฟอร์มจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร
- แพลตฟอร์มจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ขายในต่างประเทศ
- แพลตฟอร์มจะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรเป็นรายเดือน

>> เป้าหมาย:
- เพื่อความเป็นธรรมกับผู้ขายในประเทศไทยที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี
- เพื่อป้องกันสินค้าที่หลุดรอดจากการเสียภาษี

“กรมสรรพากร และกรมศุลกากร กำลังร่วมมือกันดำเนินการอยู่ คาดว่าภายในต้นพ.ค. น่าจะมีความชัดเจน การดำเนินการเรื่องนี้ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ การแก้ไขแบบถาวร คือ แก้ที่ประมวลรัษฎากร ตรงนี้ใช้เวลา ซึ่งกรมสรรพากรกำลังดำเนินการอยู่ โดยระหว่างที่ประมวลรัษฎากรยังแก้ไขไม่เสร็จ ก็จะมีโครงการเร่งด่วนระยะสั้น โดยกรมศุลกากรจะออกประกาศ เป็นกฎกระทรวงในการจัดเก็บภาษี VAT กับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท จากแต่ก่อนที่ไม่ต้องเสียภาษี ต่อไปก็จะต้องเสียภาษี คาดว่าจะมีผลภายในพ.ค.นี้” นายลวรณ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top