Monday, 20 May 2024
ภาคเอกชน

‘เอกชน’ ยัน!! พร้อมทำงานทุกขั้ว วอนตั้งรัฐบาลใหม่เร็วที่สุด หวั่นยืดเยื้อกระทบเศรษฐกิจ พร้อมเร่งเดินหน้าวางแผนรับมือ

(5 ส.ค. 66) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้พิจารณากรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และกำหนดวันนัดพิจารณาคำร้องในวันที่ 16 ส.ค. จากเดิมวันที่ 3 ส.ค. ว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ทำให้ศาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ โดยการเลือกนายกรัฐมนตรี และการฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ยังอยู่ในช่วงเวลาที่เคยประเมินไว้ ซึ่งยังไม่ถือว่าล่าช้าจนเกินไป

ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งว่ากรณีดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าหลังจากนั้น รัฐสภาคงจะดำเนินการให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุดต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นวันที่ 17-18 ส.ค. 2566ดังนั้นอาจจะได้ ครม.ชุดใหม่ ช่วงปลายเดือน ส.ค.- กลางเดือน ก.ย. หากไทม์ไลน์เป็นเช่นนี้ ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่ คงจะต้องเร่งจัดทำงบประมาณประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อดึงกำลังซื้อ และความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนกรณีหากศาลมีคำสั่งว่าการดำเนินการของรัฐสภาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องรอความชัดเจนว่า จะส่งผลให้การเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีทิศทางเป็นอย่างไร และมีช่วงเวลานานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องมาประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง แต่เชื่อมั่นว่าศาลจะมีการพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ด้วยความรอบคอบและรวดเร็วที่สุด เพราะการมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศเร็ว เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากในสถานการณ์เช่นนี้

สำหรับกรณีที่พรรคเพื่อไทย (พท.) จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเองนั้น นายสนั่น มองว่า ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่จะต้องดำเนินกระบวนการตามกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ และหาก พท. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ ก็เชื่อว่าน่าจะสามารถเร่งดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจได้ทันที เพราะ พท. เคยมีประสบการณ์ในด้านการบริหารประเทศมาก่อนหน้านี้ และหลายนโยบายในสมัยที่เป็นรัฐบาลก็สามารถดำเนินการจนประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ดี ในส่วนประเด็นความเห็นต่างและการชุมนุมที่เกิดขึ้น ถือเป็นสิทธิของประชาชนที่จะแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย โดยหากไม่มีการชุมชนที่ยืดเยื้อ หรือสถานการณ์ที่รุนแรง ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

“ภาคเอกชนนั้น ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็พร้อมทำงานร่วมกัน โดยที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาณต่อเนื่องว่า สิ่งสำคัญคือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งล่าช้ายิ่งไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจประเทศ” นายสนั่นกล่าว

'กรมทางหลวง' อัปเดต!! เอกชนประมูลชิงที่พักริมทางบนมอเตอร์เวย์สาย 7 เตรียมยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ ปลายเดือน พ.ย.นี้ รู้ผลต้นปี 67

สรุปผลการจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์ สาย 7 ของกรมทางหลวง เอกชนเตรียมยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

กรมทางหลวงปิดการจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์ สาย 7 เป็นที่เรียบร้อย โดยมีภาคธุรกิจเอกชนจำนวนมากให้ความสนใจเข้าร่วมซื้อเอกสารฯ ดังกล่าว กำหนดยื่นข้อเสนอ 22 พฤศจิกายน 2566 และคาดว่าจะสรุปผลการคัดเลือกเอกชนต้นปี 67

​นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่กรมทางหลวงได้ออกประกาศเชิญชวนโครงการร่วมลงทุนสำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร - บ้านฉาง จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วยโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา และโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง และได้จำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) ของทั้ง 2 โครงการพร้อมกัน ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ถึง 22 กันยายน 2566 ที่ผ่านมานั้น ผลปรากฏว่ามีเอกชนจำนวนมากให้ความสนใจซื้อเอกสารฯ ดังกล่าว เพื่อนำไปศึกษารายละเอียดสำหรับการเตรียมจัดทำข้อเสนอ การร่วมลงทุน สรุปได้ดังนี้ 

​โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา มีผู้สนใจซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน จำนวน 8 ราย ประกอบด้วย  

1. บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด  
2. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มหาชน  
3. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  
4. บริษัท กัลฟ์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด  
5. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  
6. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด  
7. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)​

โครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง มีผู้สนใจซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย

1. บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด  
2. บริษัท กัลฟ์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด  
3. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  
4. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด
5. บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)  

ขั้นตอนต่อไป กรมทางหลวงได้กำหนดให้มีการจัดประชุมชี้แจงโครงการ (Pre-Bidding Meeting) ในวันที่ 27 กันยายน 2566 เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ ที่เอกชนควรทราบ พร้อมจัดกิจกรรมเยี่ยมชมโครงการ (Site Visit) ในวันที่ 4 ตุลาคม 2566 และกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 โดยคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนแล้วเสร็จในต้นปี 2567 พร้อมลงนามสัญญาและเริ่มต้นก่อสร้างช่วงกลางปี 2567 เพื่อเปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการบางส่วนในปี 2568 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569 ต่อไป

สำหรับการดำเนินงานโครงการฯ จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยกรมทางหลวงจะส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างที่พักริมทางและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงมีหน้าที่บริหารจัดการและดูแลบำรุงรักษาโครงการฯ ตลอดจนเป็นผู้มีสิทธิ์ในการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ของโครงการฯ โดยต้องชำระค่าตอบแทนให้กรมทางหลวงตามเงื่อนไขที่กำหนด ภายในระยะเวลาดำเนินโครงการ 32 ปี แบ่งเป็นงาน 2 ระยะ ดังนี้ 

ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง เอกชนมีหน้าที่จัดหาแหล่งเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างองค์ประกอบและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมถึงจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี
ระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา เอกชนมีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษา รวมถึงการบริหารจัดการโครงการฯ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่
👍Website : www.doh.go.th
👍Facebook : @departmentofhighway
👍Twitter : @prdoh1
👍TiKTOK  : https://www.tiktok.com/@doh.thailand 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top