Wednesday, 30 April 2025
ฟุ่มเฟือย

'พงศ์พรหม' ห่วง!! บางสื่อโซเชียลชี้คนนิยมหรูเพื่ออวด ก่อวัฒนธรรมเกินตัว!! ลงเอย 'ปล้น-โกง-เครียด-ฆ่าตัวตาย'

นายพงศ์พรหม ยามะรัต รองโฆษกพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pongprom Yamarat ระบุว่า...

มีคนรู้จักมาบ่นเรื่องญาติออกรถ G-class รุ่นใหม่ สีดำ ให้ฟังครับ ประเด็นคือเป็นครอบครัว 4 คน ฐานะกลางๆ ค่อนไปทางน้อย แต่ไม่ได้ลำบากอะไร

3-4 ปีมานี้หัวหน้าครอบครัวเสพติดโซเชียลมากขึ้น ตามแนวทาง 'ของมันต้องมี' และ 'ใครๆ เค้าก็มีกัน'

เมื่อต้นปีไปขายที่ดินที่มีอยู่ผืนเดียวในราคา 10 กว่าล้านบาท เอามาซื้อรถราคาเกือบ 10 ล้านบาท คือ G-class รุ่นนี้ สีดำ

แต่ที่ญาติๆ ห่วงคือ ยังให้ลูกเรียนโรงเรียนประชาบาลใกล้บ้าน ชีวิตนี้ลูกไม่เคยได้รู้จักคำว่าพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ไม่สนใจในการลงทุนพัฒนาตัวเอง หรือลูกๆ ไม่มีการคิดว่าจะเอาเงิน 10 กว่าล้านนั้น ไปสร้างคุณภาพชีวิตให้ครอบครัว หรือเก็บออมเพื่ออนาคตการศึกษา หรือยามเจ็บป่วยอย่างไร

แถมยังบอกว่า บ้านอื่น ๆ ตามท้องไร่ท้องนา ก็ขายที่ดินออก Alphard กันตั้งเยอะ

จริงครับ เพื่อนผมขายรถ ปัจจุบัน Alphard กลายเป็นขวัญใจคนภูธรไปเรียบร้อย ต่อจาก Fortuner 

ปัญหาขายที่ดินมาออกรถ เอาเงินอนาคตมาแต่งกระบะบ้าง รถยนต์บ้าง อยากมีของแพง ๆ เหมือนคนอื่นบ้าง กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยครับ

ปัญหานี้หลาย ๆ คนเรียกว่าการขาด Financial Literacy

10 ล้านไม่ใช่เงินเยอะ ถ้าจะมอง 'ครอบครัว' เป็นตัวตั้ง

ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ และคนในประเทศที่เจริญแล้วในโลกนั้น...

1. ต่อให้มีเงินไม่ถึงแสน เค้าจะคิดถึงการศึกษาก่อน
เพราะการศึกษาสามารถหาเงินได้มากกว่า 10 ล้านบาท

2. ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ จะแบ่งเงินเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยในอนาคต

3. นำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ แต่ได้ผลตอบแทนบ้าง แล้วค่อยนำผลนั้นมาใช้

4. และเอาเงินส่วนนึง มาซื้อการเรียนรู้ในโลก เช่นไปผจญภัยตามป่าเขา หรือศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์อะไรแล้วตามแต่

ส่วนเงินซื้อของฟุ่มเฟือย จะเอามาจาก 'ผลของเงินต้น' เช่น...

เอาเงิน 8 ล้านบาท มาซื้อพันธบัตรคุณภาพดี เอาซัก B+ ก็ได้ เพื่อรับ yield ซัก 4% นั่นคือเงินฟรี ๆ ปีละ 320,000 บาท ที่จะเอาไปเผาทิ้งก็ไม่มีใครว่า

‘จีน’ สั่งชาวแบงค์ งดใช้แบรนด์เนม-อวดไลฟ์สไตล์หรูหรา หวังลดความเหลื่อมล้ำ หลังประเทศเผชิญปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง

ถึงคิว ‘ชาวแบงค์’ และสถาบันการเงินต่างๆ แล้ว ที่จะต้องโดนใบเหลืองจากรัฐบาลจีน ในการสอดส่อง ไลฟ์สไตล์หรูหรา ใช้ของแบรนด์เนม ราคาแพง ว่าจะเป็นการสร้างค่านิยมที่ไม่ดีต่อสังคมจีน ที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง และการว่างงานของเด็กจบใหม่ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาคธุรกิจการเงินของจีน นับเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีมูลค่าสูงกว่า 57 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเส้นเลือดสำคัญของเศรษฐกิจจีน จึงไม่แปลกใจว่า กลุ่มคนทำงาน หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาธุรกิจการเงิน จะเป็นกลุ่มที่ได้ค่าจ้างตอบแทนสูงมากในจีน

และด้วยรายได้ที่ดีกว่าอาชีพอื่นๆ และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูมั่งคั่ง และมั่นคง จึงนำไปสู่ไลฟ์สไตล์ที่ดูหรูหรา การเลือกใช้ของราคาแพง เพื่อให้ดูดีมีระดับ สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจของชาวจีนส่วนใหญ่ที่ยังต้องทำงานหนัก รายได้เดือนชนเดือน หรือยังหางานไม่ได้ ทำให้กลุ่มคนทำงานในแวดวงการเงิน ถูกมองเป็นชนชั้นสูงอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมจีน

ด้วยเหตุนี้ องค์กรเฝ้าระวังการฉ้อโกงของรัฐบาลจีน ได้ออกมาประกาศว่าจะขจัดแนวคิดของ ‘ชนชั้นสูงทางการเงิน’ ตามค่านิยมตามแบบตะวันตก ที่มุ่งแสวงหา ‘รสนิยมระดับไฮเอนด์’ มากเกินไป

จึงมีคำสั่งภายในองค์กรการเงิน และธนาคารตั้งแต่ขนาดใหญ่ จนถึงขนาดกลาง ไม่ให้บุคคลากรในทุกระดับ อวดโชว์ไลฟ์สไตล์โก้หรูจนเกินงาม ด้วยการโพสต์ภาพมื้ออาหารหรูๆ กระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องประดับราคาแพงของตนลงในโซเชียล เพื่อหลีกเลี่ยงกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม
.
พนักงานธนาคารขนาดกลางแห่งหนึ่งของจีนเล่าว่า มีคำสั่งจากหน่วยงานให้เจ้าหน้าที่ทุกคนงดใช้กระเป๋า หรือสิ่งของแบรนด์เนมในที่ทำงาน รวมถึงการเข้าพักในโรงแรม 5 ดาว เมื่อต้องเดินทางไปทำงานต่างเมือง

นอกจากข้อห้ามการใช้ข้าวของหรูหราแล้ว เบี้ยเลี้ยงที่ไม่จำเป็น และโบนัสอาจต้องถูกตัดด้วย

แหล่งข่าวภายในเปิดเผยว่า ธนาคารขนาดใหญ่อย่าง Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) และ China Construction Bank Corp (CCB) มีแผนที่จะลดเบี้ยเลี้ยงพิเศษสำหรับพนักงานภายในปีนี้ หลายสถาบันการเงินอาจต้องปรับลดโบนัสลงตั้งแต่ 30% - 50%

การปรับลดเบี้ยเลี้ยง โบนัส หรือการออกข้อบังคับให้คนทำงานในองค์กรการเงินใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะ เป็นผลพวงจากนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน ของรัฐบาลจีนที่เล็งเป้ามาที่ภาคธุรกิจการเงิน และมีการแต่งตั้งองค์กรเฝ้าระวังการฉ้อฉลในภาคการเงินโดยเฉพาะในยุคของ ‘สี จิ้นผิง’ เทอม 3 เพื่อตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของรัฐบาลจีนทั้งแนวคิด และทางการเมือง

แต่อีกนัยยะหนึ่ง ที่สถาบันการเงินต่างๆ จำเป็นต้องตักเตือนพนักงานของตนเรื่องการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย หรือการใช้สื่อโซเชียลโพสต์รูปอวดการใช้ชีวิตที่ทำให้หลายคนอิจฉา อาจทำเพื่อป้องกันไม่ให้สะดุดตาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐบาลจีน ที่กำลังตรวจสอบหนักอยู่ในขณะนี้

ดังเช่นกรณีการหายตัวไปของนายเป่า ฟาน นักลงทุน และผู้ก่อตั้งบริษัท China Renaissance เมื่อไม่นานมานี้ ที่ต่อมาทราบแต่เพียงว่า กำลังเก็บตัวเพื่อให้ความร่วมมือกับทีมสอบสวนคดีทุจริตของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ ยังมีมหาเศรษฐีในธุรกิจการเงินจีนอีกจำนวนมากที่จำเป็นต้องหายหน้าไปจากสื่อ เมื่อต้องพัวพันกับคดีทุจริต หรือการตรวจสอบจากรัฐบาลจีน อาทิ กั่ว กวงฉาง ผู้ก่อตั้งบริษัท Fosun International ‘เสี่ยว เจี้ยนหัว’ นักลงทุนสัญชาติจีน - แคนาดา เจ้าของบริษัท Tomorrow Holding และเป็นที่รู้จักกว้างขวางของคนวงในรัฐบาลจีน แต่สุดท้ายถูกตัดสินจำคุก 13 ปี ด้วยข้อหาฉ้อโกง และ คอร์รัปชัน รวมถึง แจ็ก หม่า เจ้าของธุรกิจ Alibaba ที่ต้องหายหน้าจากสื่อจีนนานเกือบ 2 ปี ในช่วงที่จีนเริ่มตรวจสอบธุรกิจ Fin Tech

ดังนั้น นโยบายการลดค่านิยมหรูหรา ฟุ่มเฟือยในกลุ่มคนทำงานในองค์กรธนาคาร และ สถาบันการเงิน อาจจะไม่ได้ช่วยเรื่องการลดช่องวางทางสังคมหรือปัญหาการว่างงานในจีนแต่อย่างใด แต่ช่วยในด้านการลดกระแสสังคมที่มองว่าเป็นกลุ่มทุนชั้นสูง ที่มักถูกครหาว่าสร้างแนวคิดในการใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ หรือไม่ก็เป็นการป้องกันตัวไม่ให้สะดุดตาจากองค์กรตรวจสอบทุจริตของภาครัฐ ที่มักจบลงด้วยคดีความที่ยุงยากตามมานั่นเอง

เรื่อง : ยีนส์​ อรุณรัตน์

อ้างอิง : Channel News Asia / BBC
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top