'อลงกรณ์-เอฟเคไอไอ.' ชู 'สาหร่าย' คือทองคำเขียวเป็นพืชแห่งอนาคตภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ตอบโจทย์สร้างรายได้ใหม่เพิ่มความมั่นคงอาหารลดโลกร้อนเร่งยกระดับเกษตรมูลค่าสูงพัฒนาอุตสาหกรรมสาหร่ายครบวงจร ตั้งเป้าตลาดโลก 2.6 ล้านล้าน
นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.และประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยวันนี้ภายหลังบรรยายพิเศษในงานประชุมวิชาการสาหร่ายและแพลงตอนแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ที่เชียงใหม่ จัดโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ว่า
ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการพัฒนา 'สาหร่าย' หรือทองคำเขียวของไทยเป็นพืชและอาหารแห่งอนาคต (Future Crop & Future Food) ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานภูมิปัญญาไทยยกระดับสู่เกษตรมูลค่าสูง เพิ่มรายได้ประเทศและชุมชน ลดการนำเข้าและตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร พร้อมลดปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน
จุดเด่นของการส่งเสริมสาหร่ายคือ
1. ลดการขาดดุลการค้าและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ไทยนำเข้าสาหร่ายติดท็อปเทนของโลก การพัฒนาการเพาะเลี้ยงและแปรรูปในประเทศจะช่วยลดการพึ่งพาต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร เช่น บะหมี่สาหร่าย อาหารเสริม เครื่องสำอาง และปุ๋ยชีวภาพ
2. สนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality ) 2050 สาหร่ายช่วยดูดซับ CO₂ ได้มากกว่าไม้บก5เท่าและเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 สอดคล้องกับทศวรรษวิทยาศาสตร์มหาสมุทรแห่งสหประชาชาติ
3. ขยายผลสู่ชุมชน 50 จังหวัด ผ่านความร่วมมือของกรมประมง และเครือข่ายวิจัย เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน (จันทบุรี) และฟาร์มทะเลตัวอย่าง (เพชรบุรี) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงและแปรรูปสู่เกษตรกร
4. ต่อยอดอุตสาหกรรมสีเขียว แปรรูปสาหร่ายเป็น พลาสติกชีวภาพ(Bioplastic)และ น้ำมันชีวภาพ (Biofuel)ลดการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียม ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์โลกที่หันมาใช้วัสดุย่อยสลายได้
ทั้งนี้เริ่มมีการพัฒนาสาหร่ายอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2563 ตามนโยบายอาหารแห่งอนาคต( Future Food Policy)ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งตนเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีในขณะนั้นรับนโยบายมาส่งเสริมสาหร่ายทะเล(Seaweed)และสาหร่ายน้ำจืดตั้งแต่การผลิต การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ การแปรรูปและการตลาด
โดยมอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งและศูนย์เพาะเลี้ยงน้ำจืดเร่งเดินหน้าในการรวบรวมพันธุ์ การเพาะเลี้ยงและการเผยแพร่พันธ์ุดำเนินการในพื้นที่ 50จังหวัด แบ่งเป็น 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลรวมกทม.และอีก 28 จังหวัดโดยความร่วมมือระหว่าง กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ. กระทรวงอว. สวทช. ศูนย์ความเป็นเลิศสาหร่าย วว. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้า สภาเอสเอ็มอี. มูลนิธิเวิลด์วิว อินเตอร์เนชั่นแนล มูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมตและศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC: Agritech and Innovation Center) มีศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งและศูนย์เพาะเลี้ยงน้ำจืดทั่วประเทศเช่นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน (จันทบุรี) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งแหลมผักเบี้ยและฟาร์มทะเลตัวอย่าง (เพชรบุรี) ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงและแปรรูปสู่ฟาร์มเกษตรกร
โดยพัฒนาสาหร่ายเป็นผลผลิตและผลิตภัณฑ์ชุมชน( Community based product)สร้างแหล่งอาหารและรายได้ใหม่ให้ประชาชนในท้องถิ่นและเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ
ยิ่งกว่านั้นยังมีการพัฒนาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินกว่า40ปีโดยคุณเจียมจิตต์ บุญสม ผู้ตั้งชื่อ 'สาหร่ายเกลียวทอง' โดยขยายผลเป็น“บุญสมฟาร์ม”ที่อำเภอแม่วาง เชียงใหม่มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่าไม่ต่ำกว่า 40,000 ตารางเมตร รวมถึงศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย(ALEC) ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)ร่วมกับปตท.พัฒนาสาหร่ายน้ำจืดมากว่า 20 ปีโดยเฉพาะโครงการน้ำมันชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพอัลจินัว
ปัจจุบันยังมีอีกหลายบริษัทหันมาพัฒนาสาหร่ายเชิงพาณิชย์เช่น บริษัทบางจากฯ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทล็อกซเล่ย์บริษัทไทยยูเนี่ยน บริษัทเถ้าแก่น้อย บีจีซี (BGC) และ บริษัทOverDaBlueซึ่งเป็นสตาร์ทอัพ รวมทั้งโครงการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในกระชังของมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมตร่วมกับชุมชนชาวประมงที่จังหวัดกระบี่และเป็นต้น
นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมนและอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า "สาหร่ายไม่ใช่แค่พืชท้องถิ่น แต่เป็น“ทองคำเขียว”ที่จะพลิกโฉมเกษตรมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของไทยและของโลกในมิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
1. อุตสาหกรรมอาหาร สาหร่ายใช้ในอุตสาหกรรมอาหารคิดเป็น 77%ของตลาด (ปี 2024) โดยเป็นส่วนประกอบในอาหารแปรรูป อาหารเสริม และเครื่องดื่ม ตัวอย่างเช่น สาหร่ายโนริ วากาเมะ และผงสาหร่ายในผลิตภัณฑ์วีแกน
2. อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง โดยสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่นฟูคอยแดนและแอลจีเนตสำหรับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและยา
3. ความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม สาหร่ายดูดซับก๊าซเรือนกระจกคาร์บอนไดออกไซด์( CO₂ ) มากกว่าต้นไม้5เท่า และใช้ทำผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based Packaging) เช่นบริษัทZeroCircleของอินเดีย
4. เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ความต้องการเชื้อเพลิงสะอาดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สาหร่ายเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำมันชีวภาพพลังงานทางเลือก และน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ด้วยเหตุนี้รัฐบาลในหลายประเทศสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสาหร่ายอย่างจริงจัง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย อเมริกา ไอซ์แลนด์ และล่าสุด อินเดียตั้งเป้าผลิต 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 2025
การส่งออกเป็นอีกเป้าหมายสำคัญเพราะมูลค่าตลาดโลกของสาหร่ายใน ปี 2024สูงถึง 35.35 พันล้านดอลลาร์ (1.5 ล้านล้านบาท)ทั้งตลาดการเพาะเลี้ยงและตลาดสาหร่ายเชิงพาณิชย์ คาดการณ์ปี 2025 จะเพิ่มเป็น 50.03 พันล้านดอลลาร์(1.6 ล้านล้านบาท) และ 80 พันล้านดอลลาร์ (2.6 ล้านล้านบาท) ในปี 2029 ด้วยอัตราเติบโดปีละกว่า 12.1%.“
