Monday, 7 April 2025
พิชัยชุณหวชิร

'ขุนคลัง' รับ!! 'ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ' มีอิสระในเรื่องนโยบายการเงิน  แต่ทั้งหมดต้องเป็นไปเพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ

(7 พ.ค.67) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมาสักการะศาลพระภูมิเจ้าที่ และศาลตายายประจำทำเนียบรัฐบาล ภายหลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

จากนั้น นายพิชัย ให้สัมภาษณ์ว่าวันนี้เป็นวันเข้าทำงานอย่างเป็นทางการของตน ซึ่งจะเข้าทำงานทั้งสองที่ คือที่ทำเนียบรัฐบาล และที่กระทรวงการคลัง ซึ่งจะมีการหารือเป็นการภายใน แต่ตนทราบอยู่แล้วว่าภารกิจเร่งด่วนคืออะไร ซึ่งตนจะใช้หน้าที่และความรับผิดชอบที่มีอยู่ในการสะสาง และจัดการปัญหาที่คิดว่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น และดีต่อผลประโยชน์ของประเทศโดยตนจะทำอย่างสุดความสามารถ

เมื่อถามว่า สัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ตนคิดว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นงานประจำไปแล้ว ซึ่งต้องมีการพูดคุย และมีการรายงานความคืบหน้าอยู่ตลอด

เมื่อถามว่า จะมีการแถลงข่าวหรือรายงานความคืบหน้าอย่างไรเมื่อมีการแบ่งงานให้กับรมช.คลัง นายพิชัย กล่าวว่า ตนขอหารือในช่วงบ่ายนี้ก่อน ซึ่งตนมีข้อมูลอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงโปรเจกต์ของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจจากนี้จะมีอะไรหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ตนคิดว่าทุกคนทราบผลลัพธ์ และเห็นปัญหาเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะอยู่ในสายอาชีพใด เพียงแต่ทุกคนมองปัญหา และมีวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ฉะนั้น เราคงต้องหาข้อยุติที่ตกผลึกแล้ว และพยายามทำให้ทุกคนเข้าใจร่วมกันมากที่สุดเพื่อนำมาซึ่งแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด

เมื่อถามว่า จะต้องมีการพูดคุยปัญหากับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการพูดคุยกัน ซึ่งเป็นทั้งหน้าที่ และความรับผิดชอบของตน ร่วมกับธปท. ที่เราจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เครื่องจักรสองเครื่องทั้งนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินให้สอดคล้อง และเดินไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก่อนจะเดินทางได้เราต้องตกผลึก และทำความเข้าใจก่อนว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร

เมื่อถามว่า หากมีโอกาสจะพูดคุยกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธปท.หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า แน่นอน เป็นหน้าที่ที่ต้องพูดคุยอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า มองเป็นเรื่องยากหรือไม่ที่จะพูดคุยกับผู้ว่าธปท. นายพิชัย กล่าวว่า ตนเชื่อว่าผู้ว่าธปท. จะคุยด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล ประกอบกับในอดีตตนเคยสัมผัสกันอยู่แล้วบ้างในช่วงที่ทำงานด้านการธนาคาร ฉะนั้น จึงคิดว่าจะพูดคุยกัน และไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกันได้

เมื่อถามถึงกระแสข่าวการแก้ไขกฎหมายให้ธปท. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล นายพิชัย กล่าวว่า ตนมองว่าเรื่องนี้มาดูกันอีกทีดีกว่าว่าใช่ปัญหาหรือไม่

เมื่อถามถึงกระแสต่อต้านเนื่องจากมองว่าธปท.ควรเป็นอิสระ นายพิชัย กล่าวว่า ก็เป็นธรรมชาติ และทุกคนต้องมีความเห็นต่าง แต่ถ้าคุยกันแล้วตกผลึกได้ ตนก็เชื่อว่าความเห็นต่างก็จะค่อย ๆ แคบลง และนำมาซึ่งข้อสรุปที่ดี

เมื่อถามว่า ในฐานะเป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจมองว่าธปท. ควรอยู่ภายใต้กำกับของรัฐบาลหรือเป็นอิสระ นายพิชัย กล่าวว่า จริง ๆ ท่านก็อิสระอยู่แล้วในเรื่องนโยบายการเงิน ซึ่งตนมองว่าความอิสระนั้นก็มีมาตลอด และสามารถกำหนด และตัดสินได้ด้วยวิจารณญาณ รวมถึงคนที่เข้ามาร่วมกันตัดสินนโยบาย ซึ่งทั้งหมดก็ต้องเป็นไปเพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ

เมื่อถามว่า เมื่อเข้ามาเป็นรมว.คลัง ปัญหาที่นายกฯ และพรรคเพื่อไทยพูดถึงจะหมดไปหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ตนยังไม่ขอตอบ ขอให้ได้หารือกับท่านก่อน ส่วนจะมีโปรเจกต์อื่น ๆ มาดูแลประชาชนในช่วงนี้หรือไม่นั้น ก็จะเป็นเรื่องคู่ขนานในการที่เราจะหาเครื่องมือมาผลักดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่พร้อมกับแก้ปัญหาเดิม ซึ่งคนร่วมผลักดันจริง ๆ คือประชาชนจริง และหน่วยงานทั้งหมด ฉะนั้น หากเราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ก็จะมีแรงขับเคลื่อน ก็น่าจะเป็นวิถีทางที่ดีที่สุด

'รมว.คลัง' ปัดตอบ 'กฤษฎา' ทิ้งเก้าอี้ เพราะไม่ให้เกียรติ ยัน!! วิธีทำงานมีเหตุผล ด้าน 'เผ่าภูมิ' ย้ำไม่ขัดแย้ง

(14 พ.ค.67) ที่ มรภ.เพชรบุรี อ.เมือง จ.เพชรบุรี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) กรณีที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อดีตรมช.คลังระบุเหตุผลในจดหมายลาออกว่า เป็นเพราะไม่ให้เกียรติกันในการทำงาน ว่า ขออนุญาตยังไม่ให้ความเห็น ต้องขอเวลาอีกนิด ส่วนความคืบหน้าการนัดหมายพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ใกล้ถึงเวลานัดหมายเพื่อพูดคุยกัน ขอย้ำว่าทุกอย่างพูดคุยกันได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้อ่านจดหมายลาออกแล้วรู้สึกอย่างไร นายพิชัย กล่าวว่า “ก็เข้าใจได้ และวิธีการทำงานของผมมีเหตุและผลอยู่” เมื่อถามย้ำว่าก่อนหน้านี้ที่ได้พูดคุยกับนายกฤษฎา ให้ความเห็นไว้ อย่างไรบ้าง นายพิชัยกล่าวย้ำว่า เรื่องนี้ไม่สามารถตอบในขณะนี้ได้ และไม่ว่าเหตุผลที่เขียนในจดหมายลาออกเป็นอย่างไร ก็ไม่เป็นไร

ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ขอความเห็นในเรื่องดังกล่าวแต่ส่วนตัวไม่มีปัญหากัน พอรู้จักกันมาเป็น 10 ปีตั้งแต่สมัยที่ตนยังทำงานอยู่ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ส่วนเรื่องการแบ่งงานใหม่ หลังจากที่นายกฤษฎา ลาออก ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร

'รมว.คลัง' เซ็นคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจฯ ‘สินมั่นคง’ ปิดฉาก บ.ประกันวินาศภัยในไทยเป็นรายที่ 5 เซ่นพิษประกันโควิด

เมื่อวานนี้ (10 ก.ค. 67) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เซ็นลงนามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1364/2567 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ ‘บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)’ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีคำสั่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยที่ 19/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดจนการเตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ

เนื่องจากปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะและการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ดังปรากฏข้อเท็จจริง ตามที่นายทะเบียนได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2565 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ‘บริษัท’ แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 โดยกำหนดให้บริษัทเพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันและให้มีอัตราส่วนของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 1 ปี 

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ดำเนินการเพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว แต่กลับอาศัยกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความทุกฝ่ายทราบผลคำสั่งตามกฎหมายแล้ว อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สิน จึงกลับไปเป็นของผู้บริหารของบริษัท และผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้บริษัทสามารถเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทได้ ประกอบกับบริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

บริษัทจึงมีฐานะและการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน คณะกรรมการ คปภ. จึงเห็นชอบให้นายทะเบียนใช้อำนาจตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 48/2566 เรื่อง ให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2566

นอกจากนี้ ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามมาตรา 27/4 ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แสดงให้เห็นว่า บริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคงและไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน

รวมถึงบริษัทไม่มีแนวทางในการแก้ไขฐานะการเงิน มีประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันทำให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายประการ บริษัทไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัยและประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยได้ต่อไป 

ทั้งนี้ หากให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

เนื่องจาก การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายในของบริษัทจึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวมแต่อย่างใด ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับมิให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบแล้ว

ทั้งนี้ ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท และเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยประกาศกำหนด โดยการยื่นจะดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น 

ทั้งนี้ กองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชี จะประกาศแจ้งให้ทราบถึงกำหนดวัน เวลา และวิธีการยื่นคำทวงหนี้อีกครั้ง เพื่อให้บรรดาเจ้าหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 61/3 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ดังนั้น จึงขอให้บรรดาเจ้าหนี้ของบริษัทโปรดติดตามประกาศของกองทุนประกันวินาศภัยอย่างใกล้ชิด ได้ที่เว็บไซต์กองทุนประกันวินาศภัย www.gif.or.th  และ Facebook Fanpage ‘กองทุนประกันวินาศภัย’ โดยการจัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัยขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเจ้าหนี้ฯ มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยจากกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่ได้รับการเฉลี่ยจากหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่วางไว้กับนายทะเบียนแล้ว ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นการปิดฉากบริษัทประกันวินาศภัยของประเทศไทยรายที่ 5 ที่ปิดกิจการจากผลกระทบจากการขายประกันภัยโควิด-19 โดย 4 บริษัทก่อนหน้านี้ที่ปิดตัวไป ประกอบด้วย

1.บริษัทเอเชียประกันภัย
2.บริษัทเดอะวันประกันภัย
3.บริษัทไทยประกันภัย
4.บริษัทอาคเนย์ประกันภัย

'ขุนคลัง' ชี้!! การเมืองนิ่งมีส่วนทำตลาดหุ้นไทยขึ้นแรงกว่า 30 จุด แง้ม!! ปมขึ้นค่าแรง 400 บาท เตรียมหาทางช่วยผู้ประกอบการแล้ว

(5 ก.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล ‘นายพิชัย ชุณหวชิร’ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีสถานการณ์การลงทุนที่ตลาดหุ้นไทยในวันนี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเกือบ 30 จุด ว่าถือเป็นเรื่องที่ดี และน่ายินดี

เมื่อถามว่าการตอบรับของตลาดหุ้นมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนใช่หรือไม่? นายพิชัย ระบุว่า "ก็คงมีส่วนด้วย แต่ก็มีหลายประเด็นที่เป็นปัจจัยเกี่ยวข้องกัน"

เมื่อถามว่ามาตรการเรื่องภาษีที่กระทรวงแรงงานอยากให้กระทรวงการคลังเสนอเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 ต.ค.นี้? นายพิชัย กล่าวว่า "ตอนนี้ได้รับแจ้งความคืบหน้าเข้ามาแล้ว อยู่ระหว่างการรอพิจารณามาตรการทางภาษีที่จะเสนอเข้ามาอีกครั้ง"

'รมว.คลัง' รับ!! ดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 แจกไม่ทันปี 67 ชี้!! ต้องดูหลายปัจจัย รวมถึงความพร้อมช่องทางการจ่าย

(13 ก.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เฟสที่ 2 จะสามารถดำเนินการจ่ายได้วันไหน ว่า ขอดำเนินการเฟส 1 ให้เสร็จก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เฟสที่สองจะสามารถดำเนินการภายในปี 2567 ได้หรือไม่ นายพิชัยตอบว่า ”ไม่น่าจะทันครับ“

เมื่อถามว่า หากเป็นปี 2568 ในเฟสที่สอง จะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนใด นายพิชัย กล่าวว่า เราจะดูความต่อเนื่องอีก 2-3 เรื่อง โดยจะดูพร้อม ๆ กัน ว่าอันไหนดีที่สุด ส่วนจะได้ไตรมาสไหนนั้นจะต้องขอดูหลังจากนี้ก่อน

ส่วนการจ่ายเงินเฟสที่ 2 จะเป็นการแบ่งจ่ายอีกหรือไม่นั้น นายพิชัย กล่าวว่า ก็ต้องดูหลายปัจจัย ในความพร้อมทุก ๆ อย่าง รวมถึงความพร้อมของช่องทางการจ่ายด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า งบประมาณที่เหลือจะไปดำเนินในโครงการใด หากว่าไม่นำมาใช้ในโครงการนี้ หรือมีโครงการอื่นรองรับแล้ว อย่างเช่นเรื่องการลงทุนต่าง ๆ นายพิชัย กล่าวว่า เรื่องนั้นเราถือว่ามีความสำคัญ ถ้าอะไรตัดปัญหาและสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศก็ต้องมาที่หนึ่ง

เมื่อถามย้ำว่า การสร้างความเข้มแข็งคือ การลงทุนในระดับฐานรากใช่หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า วิธีการจัดเงินก็คงต้องจัดอะไรที่สำคัญ และให้ผลต่อเนื่องอย่างเร็วที่สุด

เมื่อถามย้ำว่า เหตุใดถึงไม่สามารถจ่ายเงินในเฟสที่ 2 ได้ภายในปีนี้ นายพิชัยไม่ตอบ ก่อนเดินขึ้นตึกบัญชาการทันที

‘รองนายกฯ พิชัย’ นำทีมบีโอไอ บุกโรดโชว์จีน เร่งดึงลงทุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ – อิเล็กทรอนิกส์

(18 พ.ย. 67) “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี นำทีมบีโอไอ เยือนมหานครเซี่ยงไฮ้ เร่งช่วงชิงโอกาสดึงการลงทุน ในจังหวะเวลาที่บริษัทจีนจำนวนมากเกิดความกังวลจากผลการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา เดินหน้าจัดสัมมนาใหญ่ พร้อมพบบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ และอิเล็กทรอนิกส์ ยกระดับไทยเป็นฐานผลิตสำคัญของจีนในภูมิภาคอาเซียน เผย 9 เดือน จีนยื่นขอลงทุนไทย 554 โครงการ มูลค่ากว่า 1.14 แสนล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 19 – 22 พฤศจิกายน 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุน จะนำคณะบีโอไอ พร้อมด้วยผู้แทนภาคเอกชน เดินทางไปโรดโชว์ส่งเสริมการลงทุน ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะพบหารือกับนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และยกระดับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ในวาระที่จะครบรอบ 50 ปี แห่งมิตรภาพความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ในปี 2568 พร้อมผนึกกำลังองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของจีน (China Council for the Promotion of International Trade: CCPIT) และ Bank of China จัดงานสัมมนาใหญ่ “Thailand – China Investment Forum 2024” ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ที่นครเซี่ยงไฮ้ เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับการลงทุนจากจีน ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนจีนให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานสัมมนากว่า 500 คน จากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน แบตเตอรี่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ดิจิทัล เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์โลหะและวัสดุ เป็นต้น  

ภายในงานสัมมนา รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการบีโอไอ จะนำเสนอศักยภาพและโอกาสการลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ จะมีผู้บริหารจากภาคเอกชนชั้นนำร่วมบรรยายถ่ายทอดประสบการณ์และความสำเร็จของการทำธุรกิจในประเทศไทย เช่น Bank of China, บริษัท Haier ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะรายใหญ่ มีการลงทุนในไทยรวมกว่า 16,000 ล้านบาท, บริษัท Westwell Technology ผู้นำด้าน AI และ Digital Green Logistics โดยได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ยกระดับธุรกิจต่าง ๆ เช่น การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะในประเทศไทย อีกทั้งมีผู้แทนภาคเอกชนไปร่วมออกบูธให้ข้อมูลด้านการลงทุนและโอกาสการร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทไทย ประกอบด้วยกลุ่มธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เช่น นิคม WHA, TRA, TFD, เอส, โรจนะ และนิคม 304 

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการบีโอไอ จะหารือกับนักลงทุนชั้นนำของจีนเป็นรายบริษัท เพื่อเจรจาแผนการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน โดยเน้นการผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ธุรกิจบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วเพื่อเตรียมรองรับปริมาณแบตเตอรี่ใช้แล้วที่จะเริ่มเข้าสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงและอุปกรณ์โทรคมนาคม การผลิตบรรจุภัณฑ์ชีวภาพจากวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศไทย เป็นต้น

“ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นฐานการผลิตหลักของจีนในภูมิภาคอาเซียน โดยในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีคลื่นการลงทุนลูกใหม่จากประเทศจีนเข้ามาสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อย่างการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) กิจการ Data Center และ Cloud Service สำหรับการเยือนจีนครั้งนี้ จะเน้นดึงการลงทุนในกลุ่มแบตเตอรี่และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับซัพพลายเชน และต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้เข้ามาลงทุนแล้ว โดยเราจะเชิญชวนให้นักลงทุนจีนพิจารณาการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากผู้ผลิตในประเทศด้วย” นายนฤตม์ กล่าว  

ทั้งนี้ ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีโครงการจากจีนยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 416 โครงการ เงินลงทุน 158,121 ล้านบาท สูงเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – กันยายน 2567) จีนขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 554 โครงการ เงินลงทุน 114,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์โลหะและวัสดุ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top