Friday, 3 May 2024
พาณิชย์

“เฉลิมชัย” ปธ.ฟรุ้ทบอร์ด ปฏิรูปผลไม้ครั้งใหญ่!! วาง 3 กระทรวง ‘เกษตร-อุตสาหกรรม-พาณิชย์’ เห็นชอบงบประมาณปี 65 ตั้งทีมขับเคลื่อนศูนย์บริหารจัดการมหานครผลไม้และสนามบินจันทบุรี มอบ”อลงกรณ์”เป็นปธ.

วันนี้ (14 ต.ค. 64) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (หรุ้ทบอร์ด)ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) Application ZOOM Cloud Meetings พร้อมด้วย นายนราพัฒน์ แก้วทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัด กษ. นายประยูร อินสกุล รองปลัด กษ. ดร.สมบัติ ตงเต๊า รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  นายอนันต์ แก้วกำเนิด รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนผู้ประกอบการ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนเกษตรกรชาวสวนผลไม้ และนายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ร่วมกันหารือประชุมขับเคลื่อนโดยมีประเด็นผลการดำเนินงานการบริหารจัดการผลไม้ในรอบฤดูกาลผลิตที่ 2/2564 ทั่วประเทศ

ผลการจัดประชุมกลุ่มย่อย Focus group เพื่อวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบ คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 โดย กระทรวงพาณิชย์ และร่วมกันพิจารณาโครงการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 ที่เสนอโดยสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตามยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ต่อไป

การบริหารจัดการผลไม้ปี 2564 ของภาคเหนือ (ลำไย) และภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ในภาพรวมสอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการผลไม้ปี 2564 - 2566 โดยจังหวัดสามารถบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง โดยผ่านกลไกของคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ในเชิงคุณภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ.2558 - 2564 และในเชิงปริมาณที่เน้นการจัดสมดุลอุปสงค์และอุปทาน โดยผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ปริมาณ 671,308 ตัน และผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปริมาณ 785,459 ตัน มีการกระจายผลผลิตผ่านกลไกตลาดปกติ โดย คพจ. และเกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตในราคาไม่ต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิต และราคาเฉลี่ยของผลผลิตตลอดฤดูกาลสูงกว่าราคาต้นทุนการผลิตไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ได้กระทบต่อแผนการบริหารจัดการผลไม้ทำให้ทั้งการส่งออก การแปรรูป และการกระจายในประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน นั้น ได้มีการจัด Focus group วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้ โดยร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเชิงตั้งข้อสังเกตถึง “ปัญหาและอุปสรรค” (Pain Point) ใน ประเด็นโครงสร้าง ระบบ และการบริหารจัดการ Fruit Board ประเด็นกลไกการทำงานในภาวะวิกฤต ประเด็นแผนงาน โครงการ และงบประมาณ รวมไปถึงแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มและแบรนดิ้ง (Branding) ผลไม้ การพัฒนากลไกการค้าผลไม้และการตลาดเชิงรุกทั้งในและต่างประเทศ การบริหารจัดการล้ง การบริหารจัดการระดับ Area based ผลไม้ภาคตะวันออก-ใต้-ใต้ชายแดน การบริหารจัดการระดับ Area based ผลไม้ภาคเหนือ การจัดการปัญหาและอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้รายสินค้า (ทุเรียน, ลำไย, มังคุด, เงาะ, ลองกอง และมะม่วง) โดยข้อมูลดังกล่าวได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รับทราบและพิจารณาใช้ประโยชน์ และนำมาวางแผนเพื่อรับมือวิกฤติการณ์ในรูปแบบต่าง ๆ ในอนาคต คณะกรรมการฯ รับทราบคำสั่งของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ดในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ครอบคลุมทั้งระบบ ประกอบด้วย

1. คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้

 1) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการผลิต

 2) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า

 3) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการตลาด

 4) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการผลไม้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 5) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการผลไม้ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคอื่นๆ

2. คณะทำงานภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้

 1) คณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์

 2) คณะทำงานศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าลำไย

 3) คณะทำงานศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าทุเรียน

 4) คณะทำงานแก้ไขปัญหาผลไม้ล่วงหน้าทั้งระบบ

ในด้านการรองรับและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นประกอบกับภาพรวมผลไม้ไทยจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3,500,000 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 8% โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนด 17 มาตรการรองรับผลไม้ ปี 2565 ล่วงหน้า 6 เดือน ประกอบด้วย

1.มาตรการเร่งรัดตรวจและรับรอง GAP ซึ่งมีเป้าหมายในปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง

2.มาตรการช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกรหรือล้งกระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท ปริมาณ 80,000 ตัน

3.มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกโดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ยร้อยละ 3 และช่วยผู้ส่งออกที่ส่งออกผลไม้อีกกิโลกรัมละ 5 บาท ปริมาณ 60,000 ตัน

4. กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตร สนับสนุนให้มีการใช้พระราชบัญญัติเกษตรพันธสัญญา การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้านผลไม้ โดยจะสนับสนุนให้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเกษตรกรได้ทราบว่าขายผลไม้ได้เท่าไหร่ มีคนซื้อที่มีหลักประกัน เซ็นสัญญาตามกฏหมายชัดเจนไม่ต่ำกว่า 30,000 ตัน

5.มาตรการส่งเสริมการบริโภคผลไม้ในประเทศ ประสานงานกับสายการบินต่าง ๆ เปิดโอกาสให้โหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบินในประเทศไทยฟรี 25 กิโลกรัม ตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2565 เป็นต้นไป

6.มาตรการช่วยสนับสนุนกล่อง พร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ไปยังผู้บริโภคโดยตรงโดยสนับสนุนกล่องมากขึ้นกว่าปี 2564 ที่สนับสนุน 200,000 กล่อง ปี 2565 จะสนับสนุนถึง 300,000 กล่อง

7.ในช่วงที่ผลไม้ออกเยอะ กระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนให้มีรถเร่ รถโมบาย ไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรง โดยปี 2557 จะสนับสนุนที่15,000 ตัน

 8.ประสานงานกับห้างท้องถิ่นและปั๊มน้ำมันต่าง ๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้กับเกษตรกรโดยเพิ่มปริมาณจากปี 2564 ที่ช่วย 1,500 ตัน ปี 2565 จะเพิ่มเป็น 5,000 ตัน

 9.จะทำเซลล์โปรโมชั่นในการส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศซึ่งใช้ชื่อโครงการ Thai Fruits Golden Months ดำเนินการในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ 12 เมือง เช่นเดียวกับปี 2564 ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผลดีมาก

 10.จะจัดการเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ทางธุรกิจในระบบออนไลน์หรือที่เรียกว่า OBM มุ่งเน้นตลาดใหม่ เช่น อินเดียและรัสเซียเป็นต้น

พาณิชย์จับตาเงินเฟ้อปีนี้คาดแตะ 1.5%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนธันวาคม 2564 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ เงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคม 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้น 2.17% จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่สูงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันของภาครัฐ ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารสด อาทิ ราคาผักสดยังอยู่ในระดับสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื้อสุกรและไข่ไก่ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรปรับเพิ่มตามค่าบริหารจัดการโรคระบาดในสุกร นอกจากนี้ ปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อยลดปริมาณการเลี้ยงสุกร 

รวมทั้ง น้ำมันพืช กับข้าวสำเร็จรูปและข้าวราดแกง ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนและวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผลไม้สด เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษายังคงปรับลดลง ส่วนสินค้าอื่น ๆ อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคลยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและปริมาณผลผลิต ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2564 สูงขึ้น 1.23% ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วง 0.8 – 1.2% และเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้น 0.23% เท่ากับปีก่อน

'พาณิชย์' เผย ต่างชาติลงทุนไทย 10 เดือนแรกปี 65 ทะยานแตะ 106,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 72%

พาณิชย์เผย 10 เดือน ปี 2565 ต่างชาติลงทุนในไทย 106,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 72% หรือ 44,469 ล้านบาท ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และสิงคโปร์ จ้างงานคนไทยรวม 4,635 คน

เมื่อไม่นานมานี้ นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 480 ราย

โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 181 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 299 ราย เม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 106,437 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 4,635 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

- ญี่ปุ่น 125 ราย (ร้อยละ 26) เงินลงทุน 37,738 ล้านบาท
- สิงคโปร์ 75 ราย (ร้อยละ 16) เงินลงทุน 11,693 ล้านบาท
- สหรัฐอเมริกา 64 ราย (ร้อยละ 13) เงินลงทุน 3,327 ล้านบาท
- ฮ่องกง 35 ราย (ร้อยละ 7) เงินลงทุน 8,375 ล้านบาท
- จีน 22 ราย (ร้อยละ 5) เงินลงทุน 20,841 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) พบว่าการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 (ปี 2565 อนุญาต 480 ราย ปี 2564 อนุญาต 446 ราย)

เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 44,469 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72 (ปี 2565 ลงทุน 106,437 ล้านบาท ปี 2564 ลงทุน 61,968 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 352 คน คิดเป็นร้อยละ 8 (ปี 2565 จ้างงาน 4,635 คน ปี 2564 จ้างงาน 4,283 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุดคือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565

เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา

บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย บริการขุดลอก ถมทะเลและก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics

>> EEC ลงทุนแล้ว 94 ราย จาก 3 ประเทศ

การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 94 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 44,948 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของเงินลงทุนทั้งหมด

ในจำนวนดังกล่าว เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 40 ราย ลงทุน 24,326 ล้านบาท สิงคโปร์ 8 ราย ลงทุน 2,006 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 7 ราย ลงทุน 1,075 ล้านบาท

ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ 2) บริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และ 3) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชั่น การอัพเกรดซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เป็นต้น

คาดว่าอีก 2 เดือนที่เหลือ (พ.ย.-ธ.ค. 2565) จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ย้อมแมวข้าวไทย!! ‘พาณิชย์’ แจง ปมข้าวไทย โดนจีนก๊อบปี้-ใส่สารแต่งกลิ่น เผย ภาครัฐจีนสั่งปิดโรงงานแล้ว เร่งดำเนินคดีตามกฎหมาย

(17 มี.ค. 66) นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวโรงงานข้าวในจีนปลอมข้าวหอมมะลิไทย โดยใช้ข้าวที่ปลูกในจีน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับข้าวไทย มาใส่สารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอมเหมือนกับข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งโรงงานดังกล่าวถูกสั่งปิดไปแล้ว โดยการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าอาหารของจีน ซึ่งกำหนดว่าข้าวสารเป็นสินค้าที่ไม่อนุญาตใช้สารเติมแต่งอาหาร

กรมฯ ได้ประสานกับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง และสำนักงานส่งเสริมการค้า ในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ให้ติดตามข้อมูลว่ามีการปลอมแปลงตราสินค้าและเครื่องหมายรับรอง ข้าวหอมมะลิไทย และมีผลกระทบต่อตลาดข้าวไทยในจีนหรือไม่ รวมทั้งการหยิบยกขึ้นหารือกับหน่วยงานภาครัฐของจีน ให้สอดส่องมิให้เกิดการปลอมข้าวหอมมะลิไทยอีกในอนาคต ในเบื้องต้นได้รับแจ้งว่า ภาครัฐของจีน จะดำเนินคดีกับบริษัทตามข่าวต่อไป แต่ยังไม่พบข้อมูลว่ามีการปลอมตราเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

จีนออกแผนปฏิบัติการ มุ่งเสริมสร้าง 'ระบบพาณิชย์ระดับอำเภอ' ส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการ ฟื้นฟูภูมิภาคชนบท

(15 ส.ค.66) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 ) รัฐบาลจีนได้ออกแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี ที่มุ่งเดินหน้าเสริมสร้างระบบพาณิชย์ระดับอำเภอ ภายใต้ความพยายามส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการของพื้นที่ในเมืองและชนบท และฟื้นฟูภูมิภาคชนบทของประเทศ แผนดังกล่าวครอบคลุมการสร้างอำเภอ 'แนวหน้า' จำนวน 500 แห่ง ภายในปี 2025 ซึ่งจะมีศูนย์กระจายโลจิสติกส์ระดับอำเภอ ร้านสะดวกซื้อสำหรับประชากรชนบท และศูนย์พาณิชย์ชนบท เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดกลางและขนาดใหญ่ และตลาดผลผลิตการเกษตร พร้อมทั้งแสวงหาการเปิดช่องทางไหลเวียนแบบสองทางอย่างต่อเนื่องสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่จัดส่งสู่ชนบท และสินค้าเกษตรที่จัดส่งสู่เมือง เพิ่มรายได้เกษตรกรรมและยกระดับแนวโน้มการบริโภคของเกษตรกร รวมถึงช่วยตอบสนองความต้องการด้านชีวิตและการผลิตของประชากรชนบท

แผนข้างต้นมีขึ้นท่ามกลางความพยายามของจีนในการเร่งการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกเชิงพาณิชย์ที่ด้อยพัฒนาในภูมิภาคชนบท พัฒนาระบบกระจายโลจิสติกส์ใน 'หมู่บ้าน-ตำบล-อำเภอ' โดยชี้แนะบริษัทพาณิชย์และโลจิสติกส์ให้มีการเปลี่ยนผ่านและยกระดับ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาระบบพาณิชย์ที่มีคุณภาพสูงในอำเภอต่างๆ มีการระบุภารกิจเฉพาะมากกว่า 20 ภารกิจใน 7 ด้าน อาทิ การขยายบริการที่ศูนย์การค้าและตลาดชั้นนำสู่หมู่บ้านและตำบล การปรับปรุงศูนย์การค้าและตลาด การยกระดับศูนย์กระจายโลจิสติกส์หรือก่อสร้างขึ้นใหม่ การบ่มเพาะแบรนด์อีคอมเมิร์ซผลผลิตการเกษตรในท้องถิ่น และการเพิ่มขีดความสามารถของโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นสำหรับผลผลิตการเกษตร

อนึ่ง แผนปฏิบัติการนี้ร่วมออกโดยหลายกระทรวงของจีนที่กำกับดูแลงานหลายด้าน อาทิ พาณิชย์ การวางแผนเศรษฐกิจ การคลัง ทรัพยากรธรรมชาติ การเกษตรและกิจการชนบท วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และบริการไปรษณีย์ โดยจะมีการกำหนดรายชื่ออำเภอแนวหน้าเป็นประจำทุกปีตามคำแนะนำจากหน่วยงานระดับมณฑล เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2023

‘พาณิชย์’ เร่งแก้วิกฤต ‘มังคุด’ คุณภาพลด-ราคาตก กก.ละ 8 บาท พร้อมรับฟังปัญหาเกษตรกร-หารือผู้ประกอบการ ร่วมกันหาทางออก

(5 ก.ย. 66) ‘พาณิชย์’ ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ติดตามสถานการณ์มังคุด และรับฟังข้อเรียกร้องจากเกษตรกร พร้อมประสานผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ผู้รวบรวม เข้ารับซื้อผลผลิตในช่วงนี้เพิ่มขึ้น และเร่งกระจายออกไปยังตลาดปลายทาง ทั้งห้างท้องถิ่น โมบายพาณิชย์ ช่วยระบายผลผลิตอีกทาง เผยช่วงนี้เป็นปลายฤดู ผลผลิตคุณภาพลด ดอกดำ หรือแข็ง มีมากขึ้น ด้านประธานแปลงใหญ่นครศรีธรรมราชยัน มังคุด กก.ละ 8 บาท เป็นเกรดคัดทิ้ง

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ลงพื้นที่ กลุ่มมังคุดชะอวดพูนผล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เพื่อรับฟังปัญหากรณีเกษตรกรชาวสวนมังคุดได้รับความเดือดร้อน จากราคามังคุดตกต่ำ ว่า กรมยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด จึงได้ลงพื้นที่มาเพื่อติดตามสถานการณ์และรับฟังข้อเรียกร้องของพี่น้องเกษตรกร และยังได้ประสานผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ผู้รวบรวม เข้ารับซื้อผลผลิตในช่วงนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงเร่งเปิดจุดปลายทางเพิ่มขึ้นทั้งห้างท้องถิ่น และโมบายพาณิชย์ เพื่อช่วยระบายผลผลิต และให้พี่น้องเกษตรกรมั่นใจว่าราคามังคุดจะมีเสถียรภาพจนจบฤดูกาล

ส่วนการตรวจสอบมังคุดที่เกษตรกรส่วนหนึ่งนำมาเททิ้งนั้น ได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราชว่า เป็นมังคุดช่วงปลายฤดูกาลผลิต ที่ผลผลิตมีคุณภาพลดลง มังคุดตกเกรด ดอกดำ หรือแข็ง และเป็นเกรดที่ส่วนใหญ่ต้องคัดทิ้ง ซึ่งมีปริมาณมากขึ้น และส่งผลให้ราคาปรับตัวลดลง แต่กรมยืนยันว่าจะเข้าไปดูแลอย่างเต็มที่ต่อไป

ทั้งนี้ จากการเข้ามาดูแลพี่น้องเกษตรกร ส่งผลให้ราคารับซื้อมังคุดยังคงมีเสถียรภาพ โดยราคารับซื้อปัจจุบันราคานอกกลุ่มประมูล เกรดมันรวม 30-35 บาท/กิโลกรัม (กก.) เกรดคละ 20-25 บาท/กก. ขณะที่ราคากลุ่มประมูล เกรดมันใหญ่ 35-40 บาท/กก. เกรดมันเล็ก 20-28 บาท/กก. เกรดลายใหญ่ 25-30 บาท/กก. เกรดตกไซส์ บวกดอก 17-20 บาท/กก. และเกรดดำ 15-15.10 บาท/กก.

ก่อนหน้านี้ ในช่วงฤดูการผลิตมังคุดภาคใต้ กรมได้ดำเนินการประสานผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ผู้รวบรวม เข้ารับซื้อมังคุดใต้ผ่านกลไกต่าง ๆ ได้แก่ ทำสัญญาข้อตกลงปริมาณ 27,450 ตัน เปิดจุดจำหน่ายทั่วประเทศ 220 จุด ที่ห้างท้องถิ่น และ 100 จุดที่โมบายพาณิชย์ มีการรับซื้อปริมาณรวม 1,000 ตัน และในช่วงราคาปรับตัวลดลง ก็ได้ประสานผู้ประกอบการ ผู้รวบรวม และผู้ส่งออกเข้าไปรับซื้อมังคุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาระดับราคาในกลุ่มประมูลและจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งผลดำเนินการ ทำให้ราคามังคุดยังคงมีเสถียรภาพจนถึงปัจจุบัน

ร้อยตรีอรุณ บุญวงศ์ ประธานแปลงใหญ่มังคุดจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ปีนี้คุณภาพมังคุดมีปัญหา จากสภาพลมฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย อากาศแล้งมาก มังคุดที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะได้ลูกเกรด A B มาก กลายเป็นลูกมังคุดตกเกรด คิดเป็น 20% ของผลผลิตทั้งหมด จากเดิมมีเพียงแค่ 5% ซึ่งต้องขอบคุณกรมการค้าภายในที่พาผู้ประกอบการเข้ามาช่วยซื้อตั้งแต่แรกถึงตอนนี้ ถือว่าเป็นช่วงที่เลยช่วงระยะพีคแล้ว เป็นช่วงปลายฤดูสุดท้ายแล้ว

“ที่มีข่าวเกษตรกรที่ไปเทมังคุดทิ้ง เพราะเหลือ กก.ละ 8 บาท เป็นมังคุดตกเกรด คือ รวมลูกทุกชนิด คุณภาพไม่ได้ ถ้าคัดก็ได้แค่ครึ่งเดียว ซึ่งเคยเสนอไปแล้วให้ระมัดระวัง เพราะถ้ามีการนำมังคุดที่เก็บลูกหล่น หรือที่กินไม่ได้ ใส่ไปขายด้วย คนซื้อที่ซื้อไปส่งล้ง ก็โดนคัดออกเยอะ เมื่อคุณภาพไม่ได้ ราคามันก็ลง และพาราคาลูกที่ดีลงไปด้วย ส่วนราคาในกลุ่มประมูลตอนนี้ เกษตรกรยังรับได้ ส่วนที่ราคาต่ำลงบ้าง ก็เป็นไปตามกลไกตลาด ที่ตอนนี้เป็นช่วงปลายฤดู ผลผลิตอาจคุณภาพไม่ดี โดยที่ประมูลในกลุ่มไม่มีปัญหา ส่วนที่มีปัญหาเป็นพ่อค้ารายย่อยที่ไม่เข้าร่วมกลุ่ม แต่กรมการค้าภายใน ก็พยายามเข้ามาช่วยตลอด ตอนนี้ก็เข้ามาช่วยดูแลแล้ว” ร้อยตรีอรุณ กล่าว

‘พาณิชย์’ นำร่อง 20 จังหวัด เปิดจุด ‘ขายไข่ราคาถูก’ 50 จุด หวังเพิ่มช่องทางเลือกซื้อ-ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับปชช.

(16 ก.ย.66) นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เปิดจุดจำหน่ายไข่ไก่ราคาประหยัด ณ ศาลากลางจังหวัด โดยได้ทยอยเปิดจุดจำหน่ายแล้ว 20 จังหวัด กว่า 50 จุด นำไข่ไก่เบอร์ 3 จำหน่ายถาดละ 105-120 บาท หรือเฉลี่ยฟองละ 3.50-4.00 บาท

เพื่อเพิ่มช่องทางเลือกซื้อไข่ไก่ราคาประหยัดให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพ โดยเน้นในจังหวัดที่อยู่ไกลแหล่งผลิตไข่ไก่

สำหรับ 20 จังหวัดที่กรมได้นำร่องนำไข่ไก่ราคาประหยัดไปจำหน่าย ได้แก่ นครสวรรค์ ตรัง พังงา นราธิวาส สตูล ลำปาง นครราชสีมา ภูเก็ต มุกดาหาร พิจิตร สุราษฎร์ธานี นนทบุรี เลย ปราจีนบุรี สุรินทร์ กำแพงเพชร นครปฐม นครพนม นครนายก และปทุมธานี

ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล กรมได้จัดรถโมบายธงฟ้าเคลื่อนที่เข้าไปยังในพื้นที่ชุมชนจำนวน 100 จุดหมุนเวียนกันไป ซึ่งนอกจากไข่ไก่ราคาถูกแล้ว ยังมีสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นอื่น ๆ ที่นำมาจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาดด้วย เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจปริมาณไข่ไก่ในช่วงนี้ พบว่า ผลผลิตมีเพียงพอกับความต้องการบริโภค และไข่ไก่เบอร์ใหญ่มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนที่มีปริมาณน้อยในตลาด โดยกรมจะมีการกำกับดูแลและติดตามสถานการณ์ราคาไข่ไก่อย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อสร้างความเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้เลี้ยงไก่ไข่จนถึงประชาชนผู้บริโภคในราคาในทุกระดับการค้ามีความสอดคล้องกัน ตามโครงสร้างที่กรมกำกับดูแล

โดยประชาชน หากพบผู้ค้ารายใดมีพฤติกรรมจำหน่ายไข่ไก่ในราคาสูงเกินสมควร สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 และหากพบการกระทำผิด จะมีความผิดตามมาตรา 29 พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

เกษตร-พาณิชย์ ผนึกกำลังกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงตรุษจีน รมช.ไชยา ให้ความมั่นใจ "ปศุสัตว์ OK" ปลอดภัย ไร้เนื้อเถื่อน

นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกิจกรรม “พาณิชย์สั่งลุย ลดราคาตรุษจีน ปีมังกรทอง 2024” โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมดังกล่าว พร้อมร่วมกันลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมร้านจำหน่ายสินค้าในตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน กรุงเทพฯ สำหรับวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าสำหรับไหว้บรรพบุรุษหรือเป็นของฝาก แก่ญาติในช่วงตรุษจีนว่าสินค้าที่ได้รับเป็นสินค้าราคาถูก และคุณภาพดี

รัฐมนตรีช่วยฯ ไชยา กล่าวว่า รู้สึกมีความยินดีที่ได้มาร่วมกิจกรรมกับทางกระทรวงพาณิชย์ และขอให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า ร้านค้าที่ได้รับป้าย "ปศุสัตว์ OK" เป็นร้านค้าที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์รับรองว่า สะอาดปลอดภัย ถูกสุขอนามัย ทั้งเนื้อสุกร เนื้อไก่ ไข่ไก่ มาจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน (GAP) ผ่านกระบวนการเชือดชำแหละในโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมาย สามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิตได้ จึงมั่นใจได้ว่า ไม่มีการนำเนื้อเถื่อนมาจำหน่ายแน่นอน

สำหรับโครงการปศุสัตว์ OK มีสินค้าที่อยู่ในขอบข่ายการรับรองของโครงการทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ดเนื้อโค ไข่ไก่สด ไข่เป็ดสด และไข่นกกระทาสด ปัจจุบันมีสถานที่จำหน่ายที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 9,239 แห่ง ทั่วประเทศแบ่งเป็นสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ 5,621 แห่ง และสถานที่จำหน่ายไข่สด 3,671 แห่ง ในส่วนกิจกรรมพาณิชย์สั่งลุยลดราคาตรุษจีน ปีมังกรทอง 2024 ดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีการเปิดจุดจำหน่ายสินค้าเพื่อให้ประชาชนแวะเวียนเข้ามาจับจ่ายใช้สอย   ยกขบวนสินค้า ราคาสุดพิเศษ 13 หมวด 7,784 รายการ จากผู้ประกอบการ 259 ราย พร้อมกัน 18,500 แห่งทั่วประเทศ

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีทั้งสองได้สักการะ และเติมน้ำมันตะเกียง ณ ศาลเจ้าพ่อสมบุญ บริเวณตลาดยิ่งเจริญ และอวยพรประชาชนผู้มาจับจ่ายใช้สอยที่ตลาดในโอกาสเทศกาลตรุษจีน อีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top