Friday, 24 May 2024
พวงเพ็ชรชุนละเอียด

‘พวงเพ็ชร’ ชี้!! นายกฯ เยือนจีนผลงานเพียบ หวังมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ กลับถูกผู้ไม่หวังดีปั่นกระแสจนเกิดความเข้าใจผิด วอน ปชช.อย่าหลงเชื่อ

(20 ต.ค. 66) นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวปลุกปั่น สร้างความเข้าใจผิดในตัว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่า ปัจจุบันประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารได้ง่ายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้มีกลุ่มคนผู้ไม่หวังดีเห็นเป็นช่องทางในการปลุกปั่น สร้างข่าวเท็จ และสร้างความเข้าใจผิดโดยไร้การตรวจสอบที่มา เนื้อหา และความถูกต้อง บางข่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อพยายามทำให้เกิดกระแส จนสร้างความเสื่อมเสียแก่ผู้อื่น อย่างเช่นกรณีของ นายกรัฐมนตรี ขณะที่เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 ซึ่งได้พบปะนักธุรกิจ นักลงทุน รวมถึงกระชับความสัมพันธ์อีกหลายมิติ อันน่าจะเป็นผลงานที่นายกฯทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ แต่กลับมีผู้เห็นต่างเสียดสี โจมตี อีกทั้งสร้างข่าวปลอมทำให้เกิดความเสื่อมเสีย

“ขอให้ประชาชนผู้รับข้อมูลข่าวสารใช้วิจารณญาณให้ดีก่อนส่งต่อ หรือโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย โดยต้องมีสติ รู้เท่าทันเจตนาของผู้สร้างข่าว อย่าตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน ขอให้เชื่อมั่นว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีความตั้งใจจริงในการทำหน้าที่ เพื่อพัฒนาประเทศ ให้พี่น้องประชาชนมีความกินดีอยู่ดียิ่งขึ้น” นางพวงเพ็ชร กล่าว

‘อนุทิน-พวงเพ็ชร’ เปิดตัวแอปฯ ‘ทางรัฐ’ เล็งลดขั้นตอนติดต่อราชการ พร้อมช่วยให้ ‘ผู้สูงอายุ-คนพิการ’ เช็กเบี้ยได้สะดวกและรวดเร็ว

(27 พ.ย.66) ที่อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย เป็นประธานเปิดบริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการบนระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) หรือแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ โดยมีนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายวราวุธ ยันต์เจริญ ผู้ช่วยรมต.ประสำนักนายกฯ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรมว.มหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผอ.สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ตัวแทนภาคประชาชน และสื่อมวลชน ร่วมในพิธี 

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่น่ายินดีที่จะได้เปิดการให้บริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการบนระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชนหรือแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจตามนโยบายรัฐบาลที่จะปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศให้เข้าสู่ยุค Digital Government โดยเมื่อข้อมูลทั้งหลายถูกนำเข้าสู่ระบบออนไลน์แล้ว ประเทศก็จะได้ทั้งการบริหารงานที่โปร่งใส และการให้บริการที่สะดวกสบายสำหรับประชาชน ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์บริการ ทั้งการพัฒนาบริการเดิม และเสริมบริการใหม่ จะช่วยลดขั้นตอนการติดต่อราชการที่ซ้ำซ้อนลง สามารถตอบสนองความต้องการของคนยุคนี้ ในการเข้าถึงบริการของรัฐได้ตลอด 24 ชั่วโมง ลดปัญหาดังที่เราทุกคนเคยมีประสบการณ์ของความหงุดหงิด เวลาอยากจะทำอะไรนอกเวลาราชการแล้วทำไม่ได้ ต้องมาเสียเวลาทำการทำงาน เพื่อไปติดต่อราชการตามเวลาราชการ 

“ความรู้สึกแบบนั้นจะหายไป เมื่อเราเข้าสู่ความเป็น Digital Government โดยสมบูรณ์ ซึ่งการรวมศูนย์บริการภาครัฐให้เป็นพอร์ทัลกลาง เป็นปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลดิจิทัลเกิดขึ้นได้จริง การที่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้นำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการให้บริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ รองรับผู้ใช้งานกว่า 14 ล้านคนในครั้งนี้ ถือว่าสอดคล้องกับอัตลักษณ์ในการทำงานของชาวกระทรวงมหาดไทย คือทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม สนองตอบความต้องการของประชาชน

ด้านนางพวงเพ็ชร กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่วันนี้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนนโยบายของท่านรองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ที่มุ่งพัฒนาให้ข้าราชการและหน่วยงานเป็นที่พึ่งพาของประชาชน ทั้งนี้ การที่กระทรวงมหาดไทยได้ให้เกียรตินำบริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการมาไว้ในแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ สะท้อนถึงการก้าวสู่องค์กรดิจิทัลที่มีความสอดคล้อง คล่องตัว เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะผลักดันให้แอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ เสมือนซูเปอร์แอพของภาครัฐ ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในแอปฯ เดียว ซึ่ง DGA มุ่งมั่นขับเคลื่อนงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างประเทศให้ทันสมัย เพื่อชีวิตของคนไทยที่ง่ายขึ้น (Smart Life) ส่งผลให้ประชาชนทุกคน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

นายขจร กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาที่ประชาชนทั่วไปไม่ทราบ หรือไม่สามารถคำนวณหาช่วงเวลาที่ต้องไปยืนยันตัวตน เพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้อง มีความเสี่ยงในการไปยืนยันตัวตนล่าช้ากว่าที่ระเบียบกำหนด ส่งผลให้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุล่าช้า และจำนวนเงินเบี้ยยังชีพที่ได้รับน้อยลงกว่าสิทธิที่ควรจะได้ หรือต้องการทราบข้อมูลการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการในแต่ละเดือน ก็จำเป็นที่จะต้องเดินทางมาสอบถามข้อมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างเยอะ ยิ่งถ้าต้องการข้อมูลจากหลายหน่วยงานก็ต้องเดินทางไปหลายแห่งอีก สร้างภาระค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากให้กับประชาชนที่ต้องการความสะดวก

นายขจร กล่าวอีกว่า แอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ได้รวบรวมบริการที่สำคัญของภาครัฐมาไว้ในแอพเดียว ที่ให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ปัจจุบันแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ พร้อมให้บริการประชาชนกว่า 134 บริการ เช่น บริการตรวจสอบสิทธิประกันสังคม สิทธิการรักษาพยาบาล เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สิทธิหลักประกันสุขภาพ รวมถึงฐานข้อมูลการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ เป็นการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 รวมถึงแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งรัฐบาลมีเจตนารมณ์มุ่งผลักดันให้แผนนี้เป็นระบบกลางของประเทศ ที่รวบรวมงานบริการภาครัฐไว้ในแหล่งเดียว เพื่อให้ประชาชนได้รับประสบการณ์ที่ดีในการติดต่อราชการผ่านทางออนไลน์

'พวงเพ็ชร' สั่งสำนักพุทธตรวจสอบ พ่อ-แม่ ‘น้องไนซ์ เชื่อมจิต’ หากพบเข้าข่าย 'หลอกลวง-หาประโยชน์' สั่งฟันทันที

(24 เม.ย. 67) ที่ทำเนียบ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนเรียกร้องให้สำนักงานพระพุทธศาสนาตรวจสอบ 'น้องไนซ์' เด็กอายุ 8 ขวบที่อ้างตัวเป็นบุตรพระพุทธเจ้า สอนธรรมมะด้วยการเชื่อมจิตที่ไม่มีอยู่ในคำสอน โดยได้สั่งการไปยัง นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงพื้นที่บ้านพักของครอบครัวเด็กอายุ 8 ขวบ พร้อมกับนายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือกัน จอมพลัง เพื่อตรวจสอบโดยด่วนแล้ว ว่าการกระทำของเด็กอายุ 8 ขวบ เป็นอย่างไรและมีความเหมาะสมหรือไม่ 

นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาประสานงานกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมลงไปตรวจสอบโดยด่วน เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้จะต้องเข้าไปตรวจสอบกับผู้ปกครองด้วยว่ามีการป้อนข้อมูลที่ผิดให้กับลูกหรือไม่ เพราะลำพังเด็กที่มีอายุยังน้อยน่าจะยังไม่มีการนึกคิดไตร่ตรองอะไรได้มาก รวมถึงตรวจสอบว่ามีใครอยู่เบื้องหลังเพื่อหวังหาประโยชน์จากน้องไนซ์หรือไม่

“ส่วนตัวมองว่าการที่นำเรื่องพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงเช่นนี้ ไม่ตรงกับหลักคำสอนของพุทธศาสนา อีกทั้งทำให้ประชาชนหลงเชื่อ ดังนั้นจึงให้สำนักพุทธฯ ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ และหากมีประเด็นใดที่เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน จะดำเนินการตามกฎหมายหรือมีพระภิกษุสามเณรรูปใดเข้าไปเกี่ยวข้องให้ดำเนินทันทีโดยไม่มีการละเว้น ขณะเดียวกันขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณก่อนรับฟังคำสอนดังกล่าวด้วย” นางพวงเพ็ชร กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top