Saturday, 18 May 2024
พลัฏฐ์_ศิริกุลพิสุทธิ์

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ชี้!! จ่ายเงินสองรอบ ผลดีผู้กู้ ช่วยให้ลดเงินต้นและดอกเบี้ยได้อย่างรวดเร็ว

(14 ก.ย. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ระบุว่า...

ความเห็นของคุณ ศิริกัญญา แสดงให้เห็นว่าท่านไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจการเงินจริง ๆ

การจ่ายเงินเดือน สองรอบในหนึ่งเดือน ถ้าหากทำได้จะเพิ่มสภาพคล่องให้ ผู้รับเงินเดือน และหากผู้มีเงินกู้ ให้ตัดส่งยอดเพิ่มในกลางเดือน โดยหารสองจากที่เคยส่งเดือนละครั้งเป็นเดือนละสองครั้ง จะส่งผลให้ลดเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว

ขอให้กระทรวงการคลังทำให้ครบวงจร จะช่วยลดภาระได้มากครับ

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' แชร์ประสบการณ์กลโกงออนไลน์ เหยื่อส่วนใหญ่ 'ไม่โง่' แต่ไม่ทันเล่ห์ ชี้!! 'เด็ก-สูงวัย' โดนเพียบ

(3 ต.ค. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ระบุว่า...

สังคมไร้เงินสด

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบการชำระเงินก้าวหน้าที่สุด และทั่วโลกก็กำลังเป็นระบบสังคมไร้เงินสด

การออมเงินผ่านระบบการฝากเงินใส่สมุดบัญชี เปลี่ยนเป็นระบบ Digital จากบัตร ATM สู่ App บนมือถือ และมันก็เป็นช่องทางที่เงินหลุดออกไปง่ายดายมาก ๆ ลูก ๆ ผมกำลังโตขึ้น เขาได้รับการออมเงินจากเงินที่ผู้ปกครองให้ ญาติให้ ทำงานพิเศษ ฯลฯ

วันหนึ่งเงินก็หายไปจากบัญชี จำนวนเยอะมาก ๆ หลายครั้ง จนลูกคนหนึ่งเหลือเงินในบัญชี 400 บาท เขามาบอกคุณแม่ เราเริ่มติดตามสาเหตุ พบว่าเขาถูกหลอกลงทุน ผ่านสังคมออนไลน์ เขาเพิ่งเป็นผู้ใหญ่ไม่ทันคน และที่ร้ายไปกว่านั้นก่อนหน้านี้ไม่นานลูกอีกคนก็เพิ่งเสียเงินจำนวนเยอะมาก ๆ จากเหตุการณ์คล้ายกัน ทั้งสองคนไม่โง่ แต่ไม่ทันคนคิดร้าย และเงินออกจากบัญชีง่าย ๆ มาก ถ้าหากเป็นระบบเดิม ต้องไปธนาคารเอาสมุดบัญชีถอนเงิน มันใช้เวลากว่ามาก 

ย้อนไป 30 ปีก่อน เพื่อนผมหลายคนเพิ่งมีบัตรเครดิต มันไม่ใช่เงินสด การใช้จ่ายคล่องตัว เขาใช้จนเป็นหนี้ธนาคารเยอะมาก ดอกเบี้ยก็แพง ผมถูกขอให้ช่วยเหลือ ผ่านไป 30 ปี เขาก็ยังไม่คืนเงิน เขาลืมความลำบากในการถูกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 20-30% ใช้ชีวิตดี แต่ปัญหาเพราะความระวังในการใช้ cashless น้อย

ผมเล่าให้เพื่อนอีกคนฟัง เขาก็ตอบว่าลูกเขาก็โดน อายุไม่มาก เป็นเด็กฉลาดเรียนเก่ง มีเงินเก็บที่พ่อแม่ให้เยอะ แต่ก็ไม่ทันคน โดนหลอกไปเยอะมาก ๆ คำว่าเยอะมาก ๆ ของผม หลายคนคงเดาได้ ถ้าเราไปบอกธนาคารเขาก็บอกเราโง่เอง 

แต่ท่านเชื่อไหมครับ ผม Search Google ง่าย ๆ ชื่อคนที่เราโอนเงินไป มีเต็มใน Google เป็นคนร้ายที่มีคดีมาก่อน ตำรวจเคยจับแล้ว 

บทความนี้เขียนเพื่อให้เพื่อน ๆ ที่อ่านระวัง มันอาจเกิดกับท่าน ลูกหลาน ผู้ใหญ่ที่ท่านรักที่อายุมากแล้ว

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ห่วง!! 'การบ้านการเมือง' ไม่ใช่ของเล่น ปล่อยคนขาดประสบการณ์ แต่เรียนเก่งมาทำงาน อาจเสียหาย

(20 ต.ค. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ระบุว่า...

คุณไหม ศิริกัญญา หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ปะทะกับ 2 คุณหมอ ที่ผมเคารพท่านเป็น อาจารย์ 

ปะทะ หมอเลี้ยบ, คุณไหม มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพต่ำ การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐไม่ส่งผลมาต่อ GDP คุณหมอเลี้ยบบอกว่า เราไม่ได้เป็นลา แต่เป็นแค่ม้าป่วย ที่รักษาแล้วก็เป็นม้าที่แข็งแรง

หากเทียบกับ (สิงค์โปร์ที่ไม่มีทรัพยากร เขาก็พัฒนาจนก้าวหน้าได้ ไทยดีกว่านั้นเยอะ พัฒนาได้ อันนี้ผมเสริม)

ปะทะหมอมิ้ง, คุณไหม บอกว่าเงิน Digital สร้างภาระการคลัง ดอกเบี้ยจ่ายอย่างน้อย 50,000 ล้านบาท คุณหมอมิ้งสอนมวยว่า 30,000 ล้านเท่านั้นเพราะแผนการจะนำเงินงบประมาณมาชำระต้นและดอกเบี้ยทุกปี จะต้องมีการลดเงินต้นดอกเบี้ยก็ลดลง แถมโดนว่าเก่งบัญชีนิ

แต่มีผู้อ้างว่าตนเก่งการเงินไปย้อนคุณหมอว่า Bond fixed ดอกเบี้ย คุณไหมถูกแล้ว

ผมก็ขอเรียนว่า คนตอบแบบนี้ส่วนใหญ่เก่งแต่ในตำราเรียน ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานชั้นสูง คุณไหมเอง เป็นนักวิชาการเป็นแค่ที่ปรึกษา ไม่เคยทำงานจริง

การออก Bond นั้นเราสามารถกำหนดอายุ Bond และหากเรามีรายได้เพื่อชำระหนี้ก็สามารถกำหนดอายุชำระเงินต้นก่อน และดอกเบี้ยจ่ายก็ลดลง

หรือ หากไม่แน่ใจ เราก็ตั้งเงื่อนไขใน Bond ให้ผู้ออก Bond สามารถ Call ได้เพื่อลดภาระ

ถ้าหากมาถกเถียงเพื่อเกิดปัญญาก็ดี แต่หากมาบริหารราชการแล้วมีความรู้แค่ระดับนักวิชาการหรือ ที่ปรึกษามันจะทำให้ประเทศเราเสียหายมากนะครับ

ลองกลับไปทำงานประจำ แล้วค่อย ๆ ฝึกหัดเลื่อนตำแหน่งเป็น CFO บริษัทใหญ่ ๆ มียอดขายสัก แสนล้านก่อนค่อยมาอาสาเป็น ว่าที่ รมว.คลัง

การทำงานการเมืองไม่ได้เป็นของเล่นให้คนขาดประสบการณ์แต่เรียนเก่งมาทำงานครับ 

ต๊ะ พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ห่วง!! GDP ไทย Q3/66 โตต่ำ 1.5% แนะ!! ใช้คนให้ถูกกับงาน เพราะคนเก่งไม่กี่คนแบกประเทศไม่ได้

(21 พ.ย. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ระบุว่า…

GDP Q3 ประเทศไทยที่เรารัก โต 1.5% ซึ่งต่ำมาก ๆ ครับ เรามาแกะตัวเลขกันว่าปัญหาอยู่ตรงไหนต้องแก้อะไรบ้าง

1.โครงสร้าง GDP ประกอบไปด้วย การบริโภคภาคเอกชน การบริโภคภาครัฐ การลงทุน และการส่งออก หักการนำเข้า เป็นความรู้พื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค โดยเราควรติดตาม Capital flow ในส่วน Leakage and injection ด้วย

เราอยากให้ประเทศมีเศรษฐกิจเติบโต และกระจายไปอย่างทั่วถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน

2.ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ไม่ดี เราอยู่ในภาวะ Perfect strom ที่มีปัญหารุมมากมาย แต่ละประเทศก็แก้ไขต่างกัน แต่เรายังแก้ไขไม่ดีครับ ปัญหาที่โลกใบนี้เจอ คือ ของแพง จากราคาพลังงาน และอาหาร สาเหตุจากสงคราม รัสเซีย ยูเครน และ ฮามาสกับ อิสราเอล รวมถึงสงครามการค้าจีน สหรัฐ ยุโรป

นอกจากของแพง ดอกเบี้ยก็ขึ้นสูงทำให้การบริโภคและการลงทุนทำได้ไม่คล่องเหมือนภาวะปกติ
การลดปริมาณเงินของสหรัฐที่อัดฉีดเงินมายาวนานสิ้นสุดลง และกระทบตลาดหุ้น ตลาดทุน ของที่เคยแพงสินทรัพย์ ราคาหุ้น ก็ลดลงแรง

3.ประเทศไทยเรายังมีการบริโภคที่ดี โดยภาคบริการ การท่องเที่ยว ช่วยค้ำยัน อาหาร โรงแรม ให้เติบโตดี แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวไม่มากเท่าก่อนโควิด แต่ก็เติบโตดีมาก

4.ภาคการผลิต เริ่มจากภาคเกษตร ราคาสินค้าไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก มีบางหมวดที่ปรับขึ้นได้ แต่ผลิตภาพไม่ดี คือผลผลิตออกมาได้น้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนลงแรง ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรามุ่งอุดหนุนราคาเกษตรแต่ไม่ปรับผลิตภาพ (Productivity)

ภาคอุตสาหกรรม เน้นขายของในสต๊อกของใหม่ผลิตน้อยกลัวขายไม่ได้ และโดนสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตี ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และอีกหลาย Cluster ใหญ่ ๆ ทำให้ขายในประเทศก็ยาก ส่งออกก็ยากแม้ค่าเงินบาทจะอ่อนลงมากแต่ก็ขายไม่ได้ ขนาดในประเทศยังขายได้ยาก จะไปสู้ต่างประเทศยิ่งยาก ต้นทุนสูง ไม่ได้ Economic of scale แถมสินค้าเรากำลังตกยุคไม่ได้เป็นที่ต้องการตลาดโลก

5.ภาคส่งออกเป็นปัญหามายาวนาน ยุคอดีต รมว. พาณิชย์ พยายามปั้นแล้วแต่ไม่ฟื้น กระทรวงเศรษฐกิจแต่ไม่ได้คนเก่งเศรษฐกิจมาทำงานให้ข้าราชการทำงานเป็นหลัก คนให้ทิศทางไม่ชัดก็ไปต่อยาก วันนี้ได้เสาหลักมาจากท่องเที่ยวมาช่วย แต่ยังห่างไกลมากต้องทำงานอีกเยอะ ทีมเศรษฐกิจต้องแข็งจริง ร่วมมือกับเอกชน ถ้าตลาดในประเทศโดนต่างชาติมาตีตลาด ในบ้านขายไม่ออกส่งออกก็ยาก เพราะต้นทุนเฉลี่ยไม่ได้ Scale เอาใจช่วยมากครับ

6.การลงทุน และใช้จ่ายภาครัฐ สะดุดแรงช่วงเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาล Q3 จึงสะดุดแรงมากใครขายของภาครัฐนิ่งสงบ คาดว่า Q4 จะดีขึ้นเล็กน้อยแต่ต้องเร่ง งบประมาณรายจ่ายให้ไว ไม่งั้นจอด 

ปัญหาวันนี้เป็นที่โครงสร้างต้องใช้คนเก่งมาก ๆ มาช่วยกันทำงาน หากเป็น ครม. แบ่งโควตาไม่เน้นความสามารถปัญหานี้แก้ยากมาก เรียนด้วยความสัตย์จริงไม่ได้ว่าพรรคไหน หรือแขวะใคร วันนี้ต้องทำงานไว มี รมต. เก่งไม่กี่คนไม่สามารถแบกทีม แมนยู ให้ไปแชมเปียนส์ลีกได้ ควรจัดทีมให้เหมาะครับ

ต๊ะ พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์
บทความเชิงวิชาการส่วนตัว
ไม่ได้เกี่ยวข้องกับต้นสังกัดข้าพเจ้า

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ติง 2 ประเด็น 'สส.ก้าวไกล' อภิปรายงบการเงิน สะท้อนความสามารถแบบเด็กฝึกงาน เน้น 'มั่ว-มโน' ข้อมูลขึ้นมาเอง

(4 ม.ค. 67) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ในหัวข้อ 'อภิปรายงบประมาณของพรรคก้าวไกล' ระบุว่า...

1. สส. พรรคก้าวไกล อภิปรายฐานะการเงิน กฟผ. คาดเคลื่อน ตั้งสมมติฐานหรือได้ข้อมูลจากไหนไม่ทราบ ท่านพีระพันธุ์ ชี้แจง ก็ขอให้ท่านเปิดเผย ท่านพีระพันธุ์ แจ้งว่าข้อมูลนั้นเปิดเผยได้โปร่งใส แต่ท่านผู้อภิปรายนำข้อมูลที่มาพูดจากที่ใด ควรเปิดเผย

ผมเห็นว่า ฝ่ายค้าน นำข้อมูลเท็จมาอภิปรายใส่ร้ายผู้บริหารควรเผยที่มา หรือ วิธีการที่มั่วขึ้นมา และควรได้รับการลงโทษ ในฐานะใส่ร้ายผู้บริหารประเทศ 

2. คุณศิริกัญญา โชว์ความสามารถเด็กฝึกงานอีกแล้ว โดยมั่ว Nominal GDP กับ Real GDP ทั้งที่กระทรวงการคลังใช้วิธีดังกล่าวมายาวนาน ผมเห็นว่าคุณไหม ควรกลับไปทำงานประจำที่มีการฝึกสอน Training อย่างเข้มข้น จะได้ฝึกงานบริหารไปด้วยที่ผ่านมาทำแต่งานวิชาการ ที่ปรึกษา ยังไม่แม่นจริง แล้วยังไม่เคยผ่านงานบริหารคน อยากให้ก้าวไกลเอาทีมงานมาช่วยให้มากหน่อย ขายหน้าพรรคเปล่า ๆ ครับ

‘มือเศรษฐกิจจุลภาค’ มอง!! ศก.ไทยเหมือนร้านอาหาร เมนูส่วนใหญ่ ‘ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม-ไม่ปรับตัวตามเวลา’

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ (ต๊ะ) คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ทิศทางของเศรษฐกิจไทย เมื่อวันที่ 27 ม.ค.67 ระบุว่า…

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก อาจโตแบบช้า ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยหากมองไปที่สหรัฐอเมริกา คาดว่าจะมีการเติบโตสูงขึ้นในปี 2567 ทั้งที่ในปัจจุบันยังมีอัตราดอกเบี้ยสูง แต่อัตราการว่างงานไม่มากนัก ภาวะทางการคลังมีหนี้สูง แต่ก็เชื่อว่าจะผ่านไปได้ ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งติดต่อกัน เพื่อชะลอเงินเฟ้อไม่กระทบการเติบโตของสหรัฐฯ

ส่วนยุโรป ตอนนี้กำลังเผชิญปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ของแพง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่สมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องการนำเข้าส่งออก ปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อยาวนาน ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานและอาหารฝั่งยุโรปสูงขึ้น 

ขณะที่ญี่ปุ่น ยังติดกับดักเศรษฐกิจภาวะเงินฝืดมายาวนาน ซึ่งวันนี้ราคาสินค้าต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นแพงสําหรับคนญี่ปุ่น แต่กับคนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นจะรู้สึกได้ว่าค่าครองชีพที่นั่นถูกมากในรอบหลาย 10 ปี ฉะนั้นวันที่ภาพของญี่ปุ่น จึงเป็นภาพของการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงและการส่งออกที่ดีจากค่าเงินเยนอ่อน ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามผลักดัน ภายใต้สัญญาณการสิ้นสุดการหยุดดอกเบี้ยติดได้ลบเร็ว ๆ นี้ 

ข้ามมาที่ จีน ตอนนี้อยู่ในภาวะการปรับฐานเศรษฐกิจหลังจากที่เติบโตมายาวนาน ซึ่งทางการอยากให้โตช้าลง โดยเริ่มโฟกัสไปยังภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีน ด้วยการไม่อนุญาตให้ลงทุนกู้เงินซื้ออสังหาริมทรัพย์แบบเก็งกำไร เพื่อลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่หลาย ๆ แห่ง เริ่มมีปัญหาในลักษณะนี้แล้ว ทางการจีนจึงมีความเข้มงวดมากขึ้น

ด้านภาพรวมของเศรษฐกิจไทย คุณพลัฏฐ์ อธิบายว่า ประเทศไทยเราเหมือนร้านอาหารเป็นร้านอาหารที่ดีแต่โต๊ะเต็มแล้ว ต้องเพิ่มช่องว่างและศักยภาพทางการตลาด โดยเปลี่ยนวิธีใหม่ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น ปรับปรุงร้านใหม่ขายอาหารแพงขึ้น เปลี่ยนเป็นร้านอาหารที่ราคาสูงมีรายได้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนจากประเทศที่ขายของถูกกลายเป็นขายของแพง หรือ ลดต้นทุน เช่น ร้านอาหารนี้เคยใช้พนักงานจำนวนมาก ขายของไม่แพงเราก็เปลี่ยนมาใช้แอปพลิเคชันในการสั่งอาหาร และปรับใช้คนน้อยลง ก็สามารถทำให้ธุรกิจไปต่อได้

เปรียบแล้ว ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องมีเมนูใหม่ ๆ มาขาย ที่ผ่านมาเรามีแต่เมนูเดิม ๆ ถ้าเรานึกภาพว่าประเทศไทยส่งออกอะไรบ้างเมื่อ 20 ปีก่อน ก็ยังเหมือนกันกับ 10 ปีที่แล้ว และก็เหมือนกันมาจนถึงวันนี้ที่เราก็ยังส่งออกของเดิม ๆ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ 30 ปีที่แล้วส่งออกแบบหนึ่ง 20 ปีที่แล้วส่งออกอีกแบบหนึ่ง 10 ปีที่แล้วกับวันนี้ก็ส่งออกอีกแบบหนึ่ง เปลี่ยนไปตลอด เพราะเขาเปลี่ยนไปตามทิศทางของโลก

เมื่อถามถึงเรื่องพลังงาน คุณพลัฏฐ์ อธิบายว่า โครงสร้างพลังงานของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการมีส่วนได้เปรียบ เช่น ซื้อพลังงานด้วยถ่านหินแก๊สธรรมชาติหรืออะไรต่าง ๆ แล้วบริหารจัดการผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีต้นทุนสูง ทำให้ราคาพลังงานสูงตามไปด้วย จนไม่เกิดการแข่งขัน แต่กลับกันถ้าโรงไฟฟ้าสามารถขายตรงสู่ผู้บริโภคได้ ก็จะเกิดการแข่งขันกันทำโปรโมชัน ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์ 

ส่วนสาเหตุทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ก็เพราะว่าเรามีไฟฟ้าที่เหลืออยู่ในระบบเยอะมาก ทำให้ค่าเอฟทีแพง เพราะว่าเราต้องสำรองเรื่องนี้ แน่นอนว่าในข้อเสียก็มีข้อดีอยู่ เพราะถ้าหากเราเริ่มหนุนให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ยังคงมีเสถียรภาพของไฟฟ้าหมุนเวียนที่น้อย การมีไฟฟ้าที่เหลืออยู่ก็จะช่วยเข้ามาชดเชยตรงนี้ได้ 

โดยสรุปแล้วในส่วนของพลังงานไทย คุณพลัฏฐ์ มองว่า ประเทศไทยต้องก้าวตามเทรนด์พลังงานสีเขียวที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญมากขึ้น และมุ่งรณรงค์ให้ใช้รถไฟฟ้าอีวีมากขึ้น ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มตามมา แต่ผลของการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ ก็จะมีผลต่อค่าเอฟทีที่จะถูกลง ขณะเดียวกันมลพิษและอากาศจะเป็นสิ่งที่หายไป ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเชื่อว่าหลายฝ่ายกำลังเดินหน้าในเรื่องนี้ ไม่ว่าเป็นเรื่องของการตั้งโรงงานต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งจุดจ่ายไฟ หรือนโยบายที่จะมาสนับสนุน แต่จะมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องติดตามในรายละเอียดข้างหน้ากันต่อไป

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ยกเคส SHEIN แบรนด์แฟชันจีนสุดแรงแซงทุกโค้ง สะท้อนโลกธุรกิจยุคใหม่ อยากคว้าชัยเร็ว ก็ต้อง 'ปรับตัวไวและโคตรไว'

(29 ม.ค.67) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ในหัวข้อ 'ผู้ชนะวงการ Fashion' ระบุว่า...

ยุค 90 Giordano, Esprit, Mango, Benetton
ยุค 2000 Zara, H&M, Topshop, Uniqlo 
Today Is Shein

วงการเสื้อผ้ายุคดั้งเดิม เขาจะมีเสื้อขายปีละ 3-4 Seasons Summer, Spring, Autumn,Winter 1 ฤดูกาลจะมีเสื้อวางขายในร้าน 90 วัน+/- ของเข้าร้านใหม่ New Arrival ผ่านไปสักเดือนนิด ๆ ก็ Sale และก่อนปิดฤดูก็จะมี Final sale พฤติกรรมผู้บริโภคก็จะเดินเข้าไปเจอเสื้อเดิม ๆ 3 ตัว 

แต่คนเดินห้างเขาชอบเข้าร้านพวกนี้จนกระทั่ง...

ZARA ส่งเสื้อใหม่เข้าร้านทุก 2 สัปดาห์และเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็น Fast fashion 

UNIQLO เองแม้จะไม่ถึงกับเป็น Fast fashion แต่เขาก็ตั้งบริษัทชื่อ Fast retail ซึ่งกลุ่มนี้ได้เข้ามาเปลี่ยนโลกธุรกิจแฟชั่นจนร้านค้าเดิม ๆ เซไปเลย

วันนี้ SHIEN เข้ามาเปลี่ยนโลก Fast Fashion เป็น Ultra fast fashion ด้วยการใช้ internet, AI และ Online platform ส่งเสื้อเข้ามาสู่สายตาลูกค้าไวกว่าเดิม ผลิตไวกว่า ใช้ AI ส่องแฟชันตาม Social media และออกแบบทันที ผลิตไว และมีจำนวนสินค้าผลิตตาม Data Analysis วันนี้บริษัทนี้เป็นผู้ชนะแล้วครับ

นักธุรกิจรุ่นใหม่ต้องปรับตัวไว
พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์
มือเศรษฐกิจจุลภาค


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top