Saturday, 18 May 2024
พลังงานทดแทน

ก้าวต่อไป ‘WHA’ ผู้ช่วยสร้างมูลค่าจีดีพีไทยกว่า 2 ล้านล้านบาท เข้าสู่สนามพลังงานทดแทน เล็ง!! เทรดดิ้งไฟฟ้าเสรี-คาร์บอนเครดิต

(16 ม.ค. 67) 'ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป' เปิด 4 กลุ่มธุรกิจ 'โลจิสติกส์-นิคมฯ-สาธารณูปโภคฯ-ดิจิทัล โซลูชัน' ดำเนินงานมา 21 ปี ช่วยสร้างมูลค่าจีดีพีไทยกว่า 2 ล้านล้านบาท สร้างงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง 

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จัดกิจกรรม WHA: We Shape the Future Journey เปิดอาณาจักรครอบคลุม 4 กลุ่มธุรกิจหลัก โลจิสติกส์, นิคมอุตสาหกรรม, สาธารณูปโภค/พลังงาน และดิจิทัล โซลูชัน โดย นายไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เผยถึงรายละเอียด ดังนี้...

- กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ : นับเป็นจุดเริ่มต้นของดับบลิวเอชเอ ก่อนที่จะเริ่มขยายไปสู่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ซึ่งดับบลิวเอชเอ เป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจนี้ ปัจจุบันมีพื้นที่รวมกว่า 2.9 ล้านตารางเมตร บนทำเลจุดยุทธศาสตร์ 52 แห่ง ทั่วประเทศ

- กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม : โครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณูปโภคครบวงจร ได้แก่ การผลิตน้ำประปา การบำบัดน้ำเสีย การทิ้งและฝังกลบขยะ และการผลิตพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 13 แห่ง บนพื้นที่กว่า 71,300 ไร่ ทั้งในประเทศไทย และประเทศเวียดนาม

- กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า : ให้บริการด้านสาธารณูปโภคแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ด้วยกำลังการผลิตน้ำรวมถึง 168 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของโรงไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์รวม 847 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังนำกระบวนการ 'Reverse Osmosis (RO)' มาประยุกต์ใช้ในโรงงานผลิตน้ำระบบอาร์โอ ผลิตน้ำ 2 ประเภท คือ Permeate น้ำที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตได้ และ Concentrate คือน้ำที่มีความเข้มข้นของสารละลายในน้ำสูง

รวมทั้งโครงการ 'Clean Water for Planet' การบำบัดและการจัดการน้ำเสีย ด้วยวิธีการทางชีวภาพมาปรับใช้ ขณะที่การผลิตไฟฟ้า บริษัทเริ่มจากการร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวม 847 เมกะวัตต์

"วันนี้เราขยับเข้าสู่การทำ Renewable Energy โดยเฉพาะ 'Solar Roof Top' ที่เราลงทุนเอง 100% ทั้ง Floating Solar บนทุ่นลอยน้ำของบ่อเก็บน้ำดิบ ภายในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ AAT กำลังผลิต 8 เมกะวัตต์

"คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 , Solar Carpark บนหลังคาที่จอดรถขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) 59,000 ตารางเมตร ขนาดไฟฟ้ารวม 7.7 เมกะวัตต์

"และพร้อมเปิดดำเนินจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ในปีนี้เช่นเดียวกันและสุดท้าย Solar Rooftop ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 24.24 เมกกะวัตต์" นายไกรลักขณ์ กล่าวเสริม

- กลุ่มธุรกิจดิจิทัล โซลูชัน : ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมระดับโลก โดยพัฒนาธุรกิจและทางเลือกด้านข้อมูลที่ครอบคลุมเพื่อสนับสนุนลูกค้านิคมอุตสาหกรรมทั้งจากบริษัทในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจในช่วง 21 ปีที่ผ่านมาของ WHA ช่วยสร้างจีดีพีให้กับประเทศไทยแล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) กว่า 1.6 ล้านบาท และช่วยจ้างงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง

‘พพ.’ ผนึกกำลังลงนาม MOU ‘3 สมาคมวิชาชีพ’ ยกระดับพัฒนาประสิทธิภาพ ‘พลังงาน-พลังงานทดแทน’

พพ. ผนึก 3 สมาคมวิชาชีพ สานต่อการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน มุ่งสร้างมาตรฐานวิชาชีพด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนให้เข้มแข็ง เตรียมผลิตบุคลากรด้านพลังงานกว่า 1,400 คน ขับเคลื่อนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การสนับสนุนและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน ระหว่างสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย โดย นายธวัช มีชัย นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร โดย ดร.พิชญะ จันทรานุวัฒน์ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมทัศน์ จิระเดชะ นายกสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย ณ อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี

ทั้งนี้ นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวเป็นการสานต่อความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ให้มีความต่อเนื่องจากบันทึกข้อตกลงเดิมได้สิ้นสุดลง โดยมีประเด็นสาระสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน ในด้านมาตรฐานการปฏิบัติงาน ระบบฐานข้อมูล การสนับสนุนองค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากร ให้กับวิศวกร สถาปนิก ผู้บริหารอาคารและโรงงาน เจ้าหน้าที่อาคารและโรงงานผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน ผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ผู้ตรวจสอบอาคาร ผู้ตรวจประเมินค่าอนุรักษ์พลังงาน ผู้ตรวจระบบผลิตพลังงานควบคุม และบุคคลทั่วไป เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยกิจกรรมแรกที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือนี้ คือ หลักสูตรอบรม ‘การจัดทำแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม’ กรณีผลิตพลังงานควบคุมจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพด้านพลังงานควบคุมเรื่องกำเนิดไฟฟ้า การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านพลังงานและแบ่งปันข้อมูลการใช้พลังงานสำหรับภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม และการพัฒนาบุคลากรจัดฝึกอบรมผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการตรวจสอบและจัดทำรายงานแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม เพื่อให้ความเห็นในการพิจารณาออกใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุมจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ผ่านการอบรมรวมจำนวน 181 คน โดย พพ.มีเป้าหมายผลิตผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมให้ได้กว่า 1,400 คน เพื่อให้เพียงพอและทันต่อกระแสการประหยัดพลังงาน การผลิตและใช้พลังงานทดแทน อาทิ การติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป การผลิตพลังงานจากระบบก๊าซชีวภาพ ของสถานประกอบการ เป็นต้น

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า “จากความร่วมมือนี้ นับเป็นร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับสมาคมวิชาชีพ เพื่อร่วมกันผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างมาตรฐานวิชาชีพด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ที่มีความเข้มแข็ง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายวัฒนพงษ์ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top