Friday, 29 March 2024
พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ

‘ดร.ดิลก’ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี เจ้าชายนักเศรษฐศาสตร์คนแรกแห่งสยามที่คนไทยควรรู้จัก

หลังจากจบการประชุมเขตเศรษฐกิจ APEC 2022 เรื่องทางเศรษฐศาสตร์ก็ประดังประเดเข้าในหัวผม แต่มีเรื่องหนึ่งที่เด่นชัดและผมอยากนำมาเขียนเล่า ให้ท่านผู้ติดตามได้รู้จักกับ เจ้าชาย ‘นักเศรษฐศาสตร์’ ผู้รอบรู้ทางด้าน ‘ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ’ ของเมืองไทย และเป็นท่านแรกๆ ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐกิจของสยาม แต่ติดที่ว่าท่านทรงอาภัพด้วยทรงมีพระชนมายุค่อนข้างสั้น และเหตุแห่งการสิ้นพระชนม์นั้นไม่น่าจะที่จะมีใครอยากเอ่ยถึงนัก

พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 44 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทิพเกสร เมื่อวันเสาร์ เดือน 6 ขึ้น 9 ค่ำ ปีวอก ฉศก จ.ศ. 1246 ตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2427 โดยเจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกสร นับเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือท่านแรกที่เข้ามาเป็นบาทบริจาริกาในพระพุทธเจ้าหลวง ท่านเป็นหลานทวดของพระเจ้ากาวิละ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 เหตุที่ทรงมีสายพระโลหิตสัมพันธ์กับเจ้านายฝ่ายเหนือเช่นนี้จึงได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระราชบิดาว่า ‘ดิลกนพรัฐ’ อันมีความหมายว่า ‘ศรีเมืองเชียงใหม่’ 

พ.ศ. 2440 พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐได้ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนวอร์เรนฮิลล์ เพื่อศึกษาในระดับประถมศึกษาตอนปลาย ก่อนที่จะย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมชาร์เตอร์เฮ้าส์ ทั้งๆ ที่โรงเรียนมัธยมกินนอนที่อีตัน ได้ตกลงรับเข้าศึกษาแล้ว โดยเหตุผลที่พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ผู้ดูแลการศึกษาของพระราชโอรสในอังกฤษขณะนั้น มีความเห็นว่าพระเจ้าลูกยาเธอยังขาด ‘ความพร้อม’ ที่จะไปเรียนที่อีตัน 

ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2443 พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ได้เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพราะเจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกสรป่วยหนักและถึงแก่อนิจกรรม คราวนั้นพระเจ้าลูกยาเธอฯ ได้ประทับอยู่เมืองไทยนานถึง 8 เดือน จนกระทั่งเสร็จสิ้นงานศพของพระมารดา จึงได้เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่อังกฤษในเดือนมิถุนายน 2444 การว่างเว้นการเรียนไปนานหลายเดือน ทําให้พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงเรียนตามพระสหายในชั้นเรียนไม่ทัน จึงต้องทรงย้ายไปเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมของเอกชนที่ ‘แครมเม่อร์’ 

ในปีเดียวกันนี้ ปรากฏว่าพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงมีความขัดแย้งกับพระยาประสิทธิศัลยการและนายเวอร์นี ซึ่งได้รับหน้าที่ผู้ดูแลการศึกษาของบรรดาพระราชโอรสในอังกฤษ ณ ขณะนั้น พระองค์เจ้าดิลกฯ ได้ทรงมีลายหัตถ์ ถึงพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ปรารภถึงปัญหาการศึกษาเล่าเรียนว่าไม่ต้องพระประสงค์ที่จะอยู่โรงเรียนของเอกชน พระยาสุริยานุวัตร อัครราชทูต ณ กรุงปารีส ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลความว่า ผู้ดูแลฯ มักจะตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไปโดยไม่รับฟังเหตุผลจากพระเจ้าลูกยาเธอฯ 

ในหลวง ร.5 ทรงมีพระราชดําริว่า พระยาสุริยานุวัตร ดูเหมือนจะเชื่อพระเจ้าลูกยาเธอฯ มากเกินไป และทรงกล่าวถึงพระราชโอรสว่าเมื่อกลับเมืองไทยก็มิได้แสดงความเฉลียวฉลาด และก็ไม่ค่อยจะแข็งแรงด้วย หากเป็นผู้มีความเพียร ดังนั้นเมื่อเรียนที่อังกฤษมีปัญหาก็ควรจะให้ย้ายไปเรียนที่เยอรมัน แม้จะต้องเริ่มต้นกันใหม่ก็คงจะไม่ ‘ถอยหลังเข้าคลองเท่าไรนัก’ 

การย้ายไปเรียนเยอรมันนี่แหละถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเจ้าชายนักเศรษฐศาสตร์ พระองค์ย้ายไปศึกษาที่เยอรมนีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2444 โดยทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมที่เมืองฮาลเล ภายใต้การควบคุมดูแลของ ดร. ตริน ศาสตราจารย์ชาวเยอรมัน โดยพระองค์ทรงสําเร็จชั้นมัธยมศึกษาภายในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น

พ.ศ. 2446 เมื่อมีพระชันษา 15 ปีบริบูรณ์ และได้ประทับอยู่ในยุโรปมาแล้วกว่า 6 ปี พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ได้ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมิวนิคในหลักสูตรวิชา ‘เศรษฐกิจการเมือง’ ซึ่งก็คือ ‘เศรษฐศาสตร์’ ในปัจจุบันนั่นเอง 

ภายหลังที่ได้ทรงศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมิวนิคเป็นเวลา 2 ปี ก็ได้ทรงย้ายไปศึกษาในแขนงวิชาเดียวกัน ณ มหาวิทยาลัยทึบบิงเงิน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของเยอรมนีตอนใต้อีกแห่งหนึ่ง พระองค์ได้ทรงสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า ‘ดอกเตอร์วิทสตาตส์วิสเซนชัฟท์’ (เยอรมัน: Doktor der Wirtschafts-wissenschaften) ใน พ.ศ. 2450 ขณะทรงมีชันษาได้ 23 ปี 

โดยวิทยานิพนธ์ของพระองค์มีชื่อว่า Die Landwirtschaft in Siam โดย Dilock Prinz Von Siam แปลว่า ‘การเศรษฐกิจในประเทศสยาม โดย พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ’  ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2449/2450 ซึ่งในสมัยนั้นการศึกษา ‘ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ’ เป็นที่สนใจ โดยเฉพาะประเทศในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังมีการศึกษาอยู่ค่อนข้างน้อย ก่อนหน้านี้หนังสือเล่มนี้หายากมากๆ แต่ปัจจุบันได้รับการแปลและสามารถหาอ่านได้ มีทั้งสิ้น 5 บท โดยสรุปเนื้อหาได้ดังนี้... 

บทแรก เป็นเรื่องกว้างๆ ทางด้านภูมิศาสตร์ของสยาม อันรวบรวมเอารัฐไทรบุรี, กะลันตัน และตรังกานู  เข้าไว้ด้วย ซึ่งในขณะนั้น ยังเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรสยามอยู่

บทที่สอง ทรงกล่าวถึงระบบกฎหมาย พระเจ้าแผ่นดินและบรมวงศานุวงศ์ เจ้าเมืองออก ขุนนาง ข้าราชการ ราษฎร ไพร่และทาส ในแต่ละส่วนนั้นก็ยังซอยย่อยลงไปอีกตามลำดับชั้น ทรงให้รายละเอียดเกี่ยวกับแรงงานเกณฑ์ไว้เป็นจำนวนมาก ตลอดถึงทั้งข้อสังเกตบางประการในเรื่องไพร่สม ซึ่งเป็นที่น่าสนใจต่อนักประวัติศาสตร์มากๆ 

ในบทต่อมา ทรงอธิบายการเศรษฐกิจของชาวสยาม ทรงกำหนดอธิบายประเทศสยามว่า เป็นรัฐเกษตรกรรมแท้ๆ โดยมีปัจจัย 3 ประการคือ...
- สยามขาดแคลนแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เหล็ก
- อยู่ในเขตอากาศร้อนไม่เหมาะกับการอุตสาหกรรม 
- เกษตรกรรมขยายต่อเนื่อง ได้ผลตอบแทนที่ง่ายและดีกว่า

ทรงตั้งข้อสังเกตว่า อุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสยามก็คือการขาดแคลนเงินทุน ทั้งทรงกล่าวถึงการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีแหละให้ทบทวนฐานรายได้ของรัฐเสียใหม่ด้วย รวมไปถึงการถือครองที่ดินและการเสียภาษีที่ดิน (โคตรทันสมัย !!!!) เพื่อนำเงินภาษีเหล่านั้นมาเป็นแหล่งเงินทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจ 

ทั้งยังได้เขียนถึงปัญหาผู้ใช้แรงงานสยาม ซึ่งถูกแย่งงานจากคนจีน ที่มีค่าแรงถูกและต้นทุนอื่นๆ ต่ำ โดยเหตุผลที่พระองค์ได้ทรงบันทึกไว้ ช่างเป็นภาพที่ชัดในหัวผมมากๆ ดังนี้…

“ชาวสยามยอมอดยากหิวโหยเสียดีกว่าที่จะยอมมีชีวิตแบบพวกกุลีจีน พวกเขายะโสกับความเป็นอิสระ เขาจะยอมเชื่อฟังก็แต่ในสิ่งที่เข้ากับเขาได้เท่านั้น นี้...ผู้ใช้แรงงานชาวสยามรักสนุกเฮฮา ผ้านุ่งห่มดีๆ แลของสวยของงาม...พวกเขาพร้อมเสมอที่จะชวนญาติมิตรมาร่วมวงกินอาหารมื้อใหญ่ มีมโหรีแลฟ้อนรำบำเรอ พวกเขายินดีที่จะจ่ายประดาสิ่งที่เขามีอยู่ทั้งหมดออกไป จะมีก็แต่ต่อเมื่อเขาจำเป็นจะต้องใช้เงินอีกคราวเท่านั้น เขาจึงจะหวนกลับไปทำงานกันอีก...อ่านแล้วคุ้นๆ กับปัจจุบันนี้พอสมควรเลย ใช่ไหม ???? (ทุกวันนี้เป็นแรงงานพม่า กัมพูชา ฯลฯ) 

พระองค์เจ้าดิลกฯ ‘นักเศรษฐศาสตร์พระองค์แรกแห่งสยาม’ | THE STATES TIMES STORY EP.96

พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี ‘นักเศรษฐศาสตร์พระองค์แรกแห่งสยาม’

.

ไปติดตามกันได้ใน THE STATES TIMES Story ใน EP. นี้ได้เลย

.

🎥 ช่องทางรับชม

Facebook: THE STATES TIMES PODCAST

YouTube: THE STATES TIMES PODCAST

TikTok: THE STATES TIMES PODCAST


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top