Friday, 17 May 2024
พระสยามเทวาธิราช

คุ้มครองผู้ใฝ่ดี ‘พระสยามเทวาธิราช’ บุคลาธิษฐาน เทพยดาผู้คุ้มครองสยามประเทศ

ประเทศไทยนั้นมีความหมิ่นเหม่ในการเสียบ้าน เสียเมืองตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อาจจะเบาบางการรุกรานจากด้านพม่าแต่กับประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกที่ใช้การค้าขายมาเป็นปัจจัย บ้านเมืองใดไม่รู้ทันเหตุการณ์ภายนอกประเทศว่าทางตะวันตกมีอำนาจจากเรือปืน ใครไม่รู้จักโอนอ่อนผ่อนปรนก็ล้วนแล้วแต่ตกเป็นเมืองขึ้น ทั้งฝั่งซ้ายและขวาของเมืองสยามล้วนไม่มีรอดพ้น (อันนี้ไม่ขอพาดพิงเรื่องของผู้รู้ที่ออกมาแสดงทัศนคติเรื่องเราไม่เก่งภาษาอังกฤษเพราะเราไม่ได้เป็นเมืองขึ้น น่าตีปากจริงๆ) 

เรามีดีอันใด?  มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิ่งไหน? หรือเราจะมีเทพยดาคุ้มครองประเทศให้ปลอดภัย 

วันนี้ขอเล่าเรื่องเทวดาผู้คุ้มครองประเทศไทยบ้างนะ…

ใช่ครับ!! ผมกำลังจะเล่าถึง ‘พระสยามเทวาธิราช’ แต่เรื่องนี้แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคลนะครับ ผมไม่ก้าวล่วง 

โดยในช่วงสิงหาคมของปีก่อนมี ‘เพจราษฎรสเปช’ (หรือ ‘เปรต’ ดี) เล่าประวัติศาสตร์ได้ น่าปวดหัวมาก โยง ‘พระสยามเทวธิราช’ เป็น ‘ผี’ เพียงเพราะไปเห็นภาพ พระสยามเทวาธิราช ที่มีรูปร่างคล้ายรัชกาลที่ 4 (อันนั้นเขาเรียกพระป้าย) เลยทึกทักไปเองว่า ‘เป็นลัทธินับถือผีสาง’ โดยส่วนตัว (ซึ่งแล้วแต่วิจารณญาณนะครับ) มันก็ถูกเรื่อง ‘ผี’ แต่มัน ‘ไม่ใช่ลัทธิ’ หากแต่มันคือ ‘ความเชื่อ’ ที่แตกต่างไปจากศาสนาหลัก มันเป็นเฉพาะของภูมิภาค (ที่ไอ้บางพวกยังทะลึ่งไปกราบฝาส้วม กินขี้ เชื่อแต่เรื่องไม่จริงได้เลย แอบแรงเล็กน้อย) ซึ่งนับเป็นเรื่องตลกของคนที่ไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ อะไรเลย 

เรื่องนี้เอง ผมเคยนำมาเล่ามาแล้วครั้งหนึ่งใน Meet THE STATES TIMES โดยไปโยงกับความเรื่องการไหว้ผีบ้าน นับถือผีเมือง (ผีเสื้อเมือง ทรงเมือง หลักเมือง ก็ล้วนแล้วอยู่ในหลักนี้) แต่กระนั้นการไหว้ดังนี้มันก็ไม่ใช่จะเพิ่งเกิดมา แต่มันเป็นความเชื่อที่มีอยู่อย่างยาวนานคู่ดินแดนอุษาคเนย์ ซึ่งคติความเชื่อเรื่องเทวดาผู้คุ้มครองบ้านเมืองนั้นเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน และสร้างความร่มเย็นให้เกิดแก่บ้านเมืองนั้นๆ มานับร้อย นับพันปี 

อย่างภาคอีสานนั้นจะมีความเชื่อเรื่อง ‘มเหสักข์’ ซึ่งถือว่าเป็น ‘ผีผู้ทรงศักดิ์’ หรือ ‘เทวดาผู้คุ้มครองบ้านเมือง’ ให้อยู่อย่างร่มเย็น เป็นสุข โดยจังหวัดอย่าง ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด ฯลฯ ก็มีศาลมเหสักข์ ภาคเหนือเขาก็มี ‘ผีเสื้อเมือง’ ในหลายพื้นที่ ในกรุงเทพฯ ก็มี ‘พระเสื้อเมือง’ ในศาลหลักเมืองกรุงเทพ ฯ  โดย ‘มเหสักข์’ ก็คือเทพยดาผู้ให้ความร่มเย็นแก่จังหวัดนั้นๆ ส่วน ‘พระสยามเทวาธิราช’ นั้นก็มีคติที่เหมือนกัน เพียงแต่ท่านเป็นเทวดาที่ยกชั้นสูงขึ้นมาจากเทวดาผู้คุ้มครองเมือง เป็นเทวดาที่รวมเมืองต่างๆ ไว้ด้วยกัน ปกครองเมืองต่างๆ ไว้ด้วยบารมี โดยอาจจะเรียกได้ว่า เป็น ‘มเหสักข์หรือบุคลาธิษฐานแห่งสยามประเทศ’ เป็น ‘เทวดาผู้คุ้มครองประเทศ’ 

‘พระสยามเทวาธิราช’ เป็นเทวรูป หล่อด้วยทองคำสูง 8 นิ้ว กว้าง 2 นิ้ว ประทับยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราช ทรงฉลองพระองค์อย่างเครื่องของเทพารักษ์ มีมงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ ซ้ายยกขึ้นจีบดรรชนีเสมอพระอุระ

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการศึกษาประวัติศาสตร์ มีพระราชดำริว่า ประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นภยันตรายมาได้เสมอ คงจะมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาอยู่ สมควรที่จะทำรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นสักการบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ปั้นหล่อเทวรูปขึ้น ถวายพระนามว่า ‘พระสยามเทวาธิราช”ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรมในหมู่พระที่นั่งพุทธมณเฑียร ในพระอภิเนาว์นิเวศน์’ 

ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อหมู่พระที่นั่งพุทธมหามณเฑียรรวมทั้งพระที่นั่งทรงธรรม โปรดให้อัญเชิญ องค์พระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐานอยู่ในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์ ลักษณะแบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกเป็นภาษาจีนที่ผนังเบื้องหลัง แปลว่า ‘ที่สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช’ (暹國顯靈神位敬奉) อยู่ในมุขกลางของพระวิมานไม้แกะสลักปิดทอง ตั้งอยู่เหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ตอนกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง จวบจนทุกวันนี้

มีความเชื่อกันว่า ‘พระสยามเทวาธิราช’ ทรงเป็นประมุขของเทพารักษ์ที่ปกปักษ์รักษาบ้านเมือง มีเทพบริวารสำคัญ ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระหลักเมือง เป็นต้น ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเคารพบูชาพระสยามเทวาธิราชเป็นอย่างสูง ทรงถวายเครื่องสักการะเป็นประจำทุกวัน และทรงถวายเครื่องสังเวยทุกวันอังคารและวันเสาร์ก่อนเวลาเพล กับโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสังเวยเทวดาในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 อันตรงกับวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติแบบโบราณด้วย ทั้งเป็นที่ร่ำลือกันว่าพระสยามเทวาธิราชนั้นศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก

พระราชพิธีบวงสรวงใหญ่ ‘พระสยามเทวาธิราช’ ตามประเพณีกำหนดไว้ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามจันทรคติแบบโบราณ ส่วนเครื่องสังเวยที่ใช้บูชาพระสยามเทวาธิราชตามประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานั้นประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ เมี่ยงส้ม ทองหยิบ ฝอยทอง ส้มเขียวหวาน องุ่น มะตูมเชื่อม มะพร้าวอ่อน กล้วย หอมจันทร์ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ผลทับทิม และเทียนเงิน เทียนทอง ความสอดคล้องทางความเชื่อและพิธีกรรมของการบูชาพระสยามเทวาธิราช กับการ ‘ไหว้-พลี’ ให้กับ ‘พระขพุงผี’ ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า การบูชา ‘พระสยามเทวาธิราช’ เข้าลักษณะเป็น ‘พิธีผี’ ประการหนึ่ง…

“...การเซ่นสังเวยพระสยามเทวาธิราช การสังเวยเทพารักษ์ต่างๆ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง เหล่านี้จะเรียกว่าเกี่ยวกับศาสนาใดก็ไม่ได้ เพราะเทวดาเหล่านี้ก็ไม่มีในศาสนาพราหมณ์ ในศาสนาพุทธก็ไม่มี เห็นจะเป็นความเชื่อของคนไทยโดยเฉพาะที่นับถือผีมาตั้งแต่โบราณ...”

ความเชื่อเรื่องผีบ้านผีเมืองเมืองนี้ นับเป็นสิ่งที่แพร่หลายไปทั่วในกลุ่มวัฒนธรรมไทยและใกล้เคียง ซึ่งเป็นการบูชาผีบรรพบุรุษ แต่มิใช่บรรพบุรุษของชาวบ้านทั่วไป หากเป็นผีเจ้าเมืองที่เป็นผู้สร้างเมืองและเคยปกครองเมืองมาก่อน และเจ้าเมืองรุ่นหลังก็อัญเชิญให้ผีเจ้าเมืองผู้ผูกพันกับชุมชนให้ช่วยปกปักคุ้มครองรักษาบ้านเมือง ฉะนั้นเรื่องนี้จบไป แต่มันก็มีเรื่องอื่นที่วุ่นวายกับ พระสยามฯ ท่านไปอีก 

การไปวุ่นวายกับ ‘พระสยามเทวาธิราช’ ท่านนั้นก็มีในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย (จอมพล ป. ผู้พิบูลสงคราม นั่นเอง)  และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ก็ ‘ปรีดี พนมยงค์’ นั่นแหละ) ได้หารือกับทางสำนักพระราชวังเรื่องการเปลี่ยนนาม ‘พระสยามเทวาธิราช’ เป็น ‘พระไทยเทวาธิราช’ ในครั้งนั้น โดยไปขอความเห็นจากทางกรมศิลปากร ซึ่งกรมศิลปากรมีความเห็นว่า…

“ให้คงชื่อเดิมไว้ แต่ยกเลิกการสังเวยประจำปีหรืองานพิธีอื่นๆ เกี่ยวกับพระสยามเทวาธิราช แต่ถ้าไม่สามารถยกเลิกพิธีการที่เกี่ยวข้อง กรมศิลปากรก็มีข้อเสนอให้ 2 แนวทางคือ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘พระไทยเทวาธิราช’ หรือสร้าง พระไทยเทวาธิราชขึ้นมาอีกองค์ ในที่สุดคณะรัฐมนตรีลงความเห็นว่า ให้คงไว้ตามเดิมเพราะ ‘พระสยามเทวาธิราช’ ก็ไม่ได้มีการทำพิธีเป็นทางการแต่อย่างใด” (ผมขอกราบกรมศิลปากรและคณะรัฐมนตรี  1 คำรบ !!!) 

แต่กระนั้นพิธีการบวงสรวง ‘พระสยามเทวาธิราช’ ก็ไม่ได้มีอย่างสม่ำเสมอดังเช่น ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นี่กระมังทำให้ประเทศชาติเต็มไปด้วยความวุ่นวาย คณะราษฎรแก่งแย่งอำนาจกัน มีการใช้ประเทศเป็นเครื่องงัดข้อกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเหตุการณ์ใหญ่อีกหลายต่อหลายครั้งกระทบไปถึงความมั่นคงของชาติและราชบัลลังก์ 

‘พระสยามเทวาธิราช’ บุคลาธิษฐาน เทพยดาผู้คุ้มครองสยามประเทศ | THE STATES TIMES Story EP.130

วันนี้ขอเล่าเรื่องเทวดาผู้คุ้มครองประเทศไทย 'พระสยามเทวาธิราช’ . โดยในช่วงสิงหาคมของปีก่อนมี ‘เพจราษฎรสเปช’ (หรือ ‘เปรต’ ดี) เล่าประวัติศาสตร์ได้ น่าปวดหัวมาก โยง ‘พระสยามเทวธิราช’ เป็น ‘ผี’ เพียงเพราะไปเห็นภาพ พระสยามเทวาธิราช ที่มีรูปร่างคล้ายรัชกาลที่ 4 (อันนั้นเขาเรียกพระป้าย) เลยทึกทักไปเองว่า ‘เป็นลัทธินับถือผีสาง’ โดยส่วนตัว (ซึ่งแล้วแต่วิจารณญาณนะครับ) มันก็ถูกเรื่อง ‘ผี’ แต่มัน ‘ไม่ใช่ลัทธิ’ หากแต่มันคือ ‘ความเชื่อ’ ที่แตกต่างไปจากศาสนาหลัก มันเป็นเฉพาะของภูมิภาค (ที่ไอ้บางพวกยังทะลึ่งไปกราบฝาส้วม กินขี้ เชื่อแต่เรื่องไม่จริงได้เลย แอบแรงเล็กน้อย) ซึ่งนับเป็นเรื่องตลกของคนที่ไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ อะไรเลย...


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top