Sunday, 20 April 2025
พระรามสอง

‘ดร.เอ้ สุชัชวีร์’ ตั้งคำถาม!! สังคมไทยจะปลอดภัย กี่โมง ลั่น!! ‘เสียใจ-คับแค้นใจ’ ในความวิบัติของ ‘พระราม 2’

(16 มี.ค. 68) ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ‘ดร.เอ้’ นักวิชาการ อดีตนายกสภาวิศวกร อดีตอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ‘พระราม 2’ โดยมีใจความว่า ...

อีกแล้ว สะพานถล่ม คนตาย เพราะ "ไม่มีเจ้าภาพ" และ "ไม่ถอดบทเรียน 4 ข้อ" สังคมไทยจะปลอดภัย กี่โมง?

ผมได้ข่าว "สะพานถล่ม" แถวพระราม 2 ผมรู้สึก "เสียใจ" จนถึงระดับ "คับแค้นใจ" เพราะในฐานะวิศวกรโยธาคนหนึ่ง เป็นอดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ที่เห็น "ความวิบัติ" มานับครั้งไม่ถ้วน และเห็น "คนเจ็บ คนตาย" มานับไม่ถ้วนเช่นกัน แต่เหตุสลดก็ยังเกิดขึ้น ซ้ำซาก ในสังคมไทย

ผม "เตือนแล้ว" และ "แนะนำ" นับครั้งไม่ถ้วน แล้วเช่นกัน ทุกอย่างยังคงแย่เหมือนเดิม เพราะ "เราลืมง่าย" ทั้งผู้รับผิดชอบ หรือเจ้าของโครงการ ไม่จริงใจ "ไม่ถอดบทเรียน" เพื่อหาสาเหตุ นำไปสู่การ "เอาผิด" กับผู้กระทำผิด รอเรื่องเงียบ แล้วก็ปล่อยผ่าน คนทำผิดเขาก็รู้แกว ไม่ต้องใส่ใจ ไม่สนใจ จริงไหม

ผมขอเรียนว่า "สาเหตุการถล่ม" ของการก่อสร้าง มีไม่กี่เรื่อง วิศวกรโยธาเรียนกันมาทุกคน เพียงต้องถอดบทเรียน 4 ข้อ เพื่อหาสาเหตุ ดังนี้
1. ปัญหา "การออกแบบ" ไม่ได้มาตรฐาน
คือ วิศวกร หรือผู้ออกแบบ "คำนวนผิด" ทำให้การออกแบบต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อทำก่อสร้าง หรือเมื่อใช้งาน จึงไม่สามารถรับน้ำหนักได้ โครงสร้างจึงถล่ม 
กรณีนี้ ตรวจสอบได้จาก "รายการคำนวน" ก็บอกได้ว่า "ผู้ออกแบบ" ออกแบบผิดมารฐาน ต้องรับผิดชอบ 

2. ปัญหา "การก่อสร้าง" ไม่ได้มาตรฐาน
คือ "ผู้รับเหมา" และ "ผู้ควบคุมงาน" ไม่ทำตามแบบก่อสร้าง หรือ "ไม่ทำตามขั้นตอน" ที่ถูกต้อง โครงสร้างจึงถล่ม เพราะลดมาตรฐานการก่อสร้าง
กรณีนี้ ตรวจสอบด้วยการเก็บตัวอย่างเหล็ก ปูน มาทดสอบ ก็รู้ทันทีว่าทำผิด "ผู้รับเหมา" และ "ผู้คุมงาน" ต้องรับผิดชอบ

3. ปัญหา "การใช้งาน" ไม่ถูกต้อง
เมื่อออกแบบ และก่อสร้าง ถูกต้องตามมาตรฐาน แต่ "เจ้าของ" หรือ "ผู้ใช้งาน" ใช้งานผิดประเภท เช่น ออกแบบมาเป็นบ้านพักอาศัย แต่กลับแอบใช้เป็นโกดังเก็บของ น้ำหนักบรรทุกเกิน ก็พัง
กรณีนี้ เจ้าของ หรือผู้ใช้งาน ก็ต้องรับผิดชอบ

4. ปัญหา "ภัยพิบัติ' จากธรรมชาติ
หาก ออกแบบ ก่อสร้าง และใช้งาน "ถูกต้อง" แต่เกิดภัยธรรมชาติ เช่น "แผ่นดินไหว" หรือ "พายุรุนแรง" เกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฏหมาย
กรณีนี้ คงถือเป็น "เหตุสุดวิสัย" แต่ผมย้ำว่า ต้องเกินกว่าที่กฏหมายกำหนดไว้เท่านั้น ถึงจะอ้างข้อนี้ได้ เพราะมีหลาย กรณี ที่จะ "เบี่ยงเบน" ประเด็น อ้างว่าสุดวิสัย ทั้งๆที่ ทำผิดข้อ 1-3 ที่เรามักเห็นๆกันอยู่ จริงไหมครับ?

ผม และแนวร่วม "ภาควิชาการ" และ "ภาคประชาชน" จึงพยายาม "แก้ปัญหา" ด้วยการเสนอ "กฏหมายเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ" ฉบับประชาชน ที่ต้องรอพี่น้องประชาชนมาลงชื่อให้เกิน 10,000 ชื่อ

สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การมี “เจ้าภาพ” ในการรับเรื่องร้องเรียน ติดตามการแก้ปัญหา ถอดบทเรียน นำไปสู่การหา "ผู้รับผิดชอบ" และ "เยียวยา" ผู้ประสบภัย ให้ได้รับความเป็นธรรม และยังจะทำหน้าที่ "ตรวจสอบสาเหตุอุบัติภัย" แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส 

แต่พอเรื่องโรงงานระเบิด รถบัสไฟไหม้ สะพานถล่ม เงียบไป ก็ไม่มีใครมาลงชื่อ ความตั้งใจดีๆนี้ จึงไม่ไปถึงไหน สักที

ผมจึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมลงชื่อ เสนอพรบ.ความปลอดภัยสาธารณะ ที่ thaipublicsafety.org เพื่อมี "เจ้าภาพ" ดูแล "สังคมไทยปลอดภัย" อย่ารอให้คนเจ็บ คนตาย มากกว่านี้เลยครับ

ด้วยความห่วงใย

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

‘ดร.สามารถ’ ลั่น!! พูดได้ไง?? พระราม 2 ถล่ม เป็น ‘เหตุสุดวิสัย’ ชี้!! ‘วสท.’ ต้องเคลียร์ ไม่เปิดช่อง ให้คนผิด ปัดความรับผิดชอบ

(16 มี.ค. 68) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร สมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเหตุ ‘พระราม 2’ โดยมีใจความว่า …

เช้ามืดของวันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2568 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ซึ่งจะเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ที่กำลังก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย 

หลังจากเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) คนหนึ่งได้ไปตรวจดูพื้นที่พร้อมกับให้สัมภาษณ์ โดยสรุปได้ว่าอุบัติเหตุครั้งนี้ “เป็นเหตุสุดวิสัย” ที่เกิดจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของดิน ทำให้การรับน้ำหนักปูนกว่า 10 ตันเกิดการเอียง จนตัวแม่แบบหลุดออกมาและถล่ม

ผมในฐานะวิศวกรและสมาชิก วสท. คนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว เนื่องจากการอ้างว่า “เป็นเหตุสุดวิสัย” นั้น เป็นการให้สัมภาษณ์โดยที่ยังไม่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดตามหลักวิศวกรรม 

“เหตุสุดวิสัย” หมายถึงสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้รับผิดชอบ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ แม้ว่าจะใช้ความระมัดระวังหรือพยายามป้องกันแล้วก็ตาม แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้จริงหรือ? และผู้รับผิดชอบได้ใช้ความระมัดระวัง หรือได้พยายามป้องกันแล้วจริงหรือ??

ผมไม่เชื่อว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ ถ้าผู้รับผิดชอบได้ใช้ความระมัดระวัง หรือพยายามป้องกันอย่างเต็มที่ตามหลักวิศวกรรม

ด้วยเหตุนี้ การฟันธงลงไปว่า “เป็นเหตุสุดวิสัย” ในทางกฎหมายอาจถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อยกเว้นความผิด หากมีการระบุไว้ในสัญญาว่า กรณีเกิดเหตุสุดวิสัย ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

วสท.เป็นสมาคมวิชาชีพด้านวิศวกรรมที่มีความสำคัญ เป็นที่เชื่อถือและยอมรับของสังคม ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นในนาม วสท. จะต้องใช้ความเป็นมืออาชีพ ต้องยึดหลักวิศวกรรมเป็นสำคัญ สร้างความน่าเชื่อถือ ต้องไม่ทำให้สังคมเกิดความคลางแคลงใจ

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดีต่อ วสท. อยากให้ วสท.เป็นที่เชื่อถือและยอมรับจากสาธารณชนตลอดไป
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top