Saturday, 5 April 2025
พระยาประดิพัทธภูบาล

‘พระยาประดิพัทธภูบาล’ ข้าราชการผู้ภักดี พระยายืนชิงช้าคนสุดท้าย ผู้ริเริ่มสารพันในสยาม

"พวกเกล้ากระหม่อมเป็นจีน ได้พระเจ้าแผ่นดินในพระราชวงศ์จักรีชุบเลี้ยง พระราชทานนามสกุล สุขสบายกันอยู่ในประเทศไทย ก็จะขอตอบแทนพระคุณในครั้งนี้ มันจะฆ่า ก็ไม่เสียดายชีวิต” 

ประโยคสำคัญจาก “มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) เมื่อครั้งที่ได้มาขอตามเสด็จฯ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” หลังจากที่พระองค์ทรงได้รับการปล่อยตัวจากคณะราษฎร โดยมีเงื่อนไขว่าพระองค์ต้องเสด็จฯ ออกจากสยาม ซึ่ง ณ ขณะนั้นพระองค์ยังไม่ทรงทราบว่าจะเสด็จฯ ไป ณ ที่ใด พระยาประดิพัทธฯ จึงได้ทูลกับพระองค์ว่า "ขอตามเสด็จฯ  จะขอพาไปอยู่บ้านของตระกูล ณ ระนอง ที่ปีนัง” โดยกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงตอบว่า "ทางคณะราษฎรประกาศว่า ใครมาติดต่อสนิทสนมกับพวกตระกูลบริพัตร จะถูกจับกุม ไต่สวนปลดออกจากตำแหน่งราชการ เจ้าคุณอย่ามากับฉันเลย” 

พระยาประดิพัทธฯ เป็นข้าราชการอีก ๑ ท่านที่แสดงให้เห็นชัดถึงความจงรักภักดี ไม่มีความเกรงกลัวคณะราษฎร ด้วยการเข้าเยี่ยมทูลกระหม่อมบริพัตรฯ อย่างสม่ำเสมอระหว่างที่พระองค์ถูกจับเป็นองค์ประกันของคณะราษฎร จนเมื่อพระองค์ได้รับการปล่อยตัว ก็ทูลฯ เชิญกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ไปพักอยู่บ้านของตระกูล ณ ระนอง ที่ปีนังจนได้ โดยพระองค์ไปประทับอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะย้ายไปประทับอยู่ที่บันดุง ประเทศอินโดนีเซียในเวลาต่อมา นอกจากเข้าเฝ้าฯ และทูลเชิญเสด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตแล้วนั้น พระยาประดิพัทธฯ ยังเดินทางไปเข้าเฝ้า ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่วัง หลังจากทราบข่าวว่าคณะราษฎรปล่อยตัวออกมา ทั้งยังไปเข้าเฝ้าฯ เจ้านายอีกหลายต่อหลายพระองค์ 

“มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) เป็นบุตรของ “พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี” (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง และสมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร เป็นหลานของ “พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี” (คอซู้เจียง ณ ระนอง) ชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓ ต้นสกุล ณ ระนอง “พระยาประดิพัทธภูบาล” เกิดที่เกาะปีนัง ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่ยังเด็ก จนเมื่อโตขึ้นพอจะสามารถศึกษาต่อ จึงได้กราบถวายบังคมลาไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศอังกฤษ โดยท่านเป็นคนไทยคนที่ ๒ ที่ได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ ก่อนจะกลับมารับราชการสนองพระเดชพระคุณล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ โดยเริ่มจากเป็นล่ามกิตติมศักดิ์ประจำสถานทูตลอนดอน ก่อนจะกลับมารับราชการในกระทรวงต่างประเทศ ทำหน้าที่สำคัญในฐานะผู้อำนวยการงานเสด็จฯ เยี่ยมเกาะลังกา จากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จฯ ไปยังยุโรปด้วยเป็นพิเศษในที่ “หลวงสุนทรโกษา” ได้ติดตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ ในราชการต่างประเทศเกือบทั่วโลก สามารถใช้ภาษาได้หลากหลายทั้ง ภาษาอังกฤษ มลายู และภาษาจีน 

ด้วยความรู้ด้านภาษา ทั้งยังจบเนติบัณฑิตจากอังกฤษ ทำให้เมื่อครั้งเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ในคดี “พระยอดเมืองขวาง” จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการ เพื่อร่วมว่าความในฐานะทนายแผ่นดิน  

ในรัชสมัยของ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๖ “พระยาประดิพัทธฯ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ประจำสิงคโปร์ ปีนัง สหพันธรัฐมลายา ซึ่งท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปฏิบัติหน้าที่นี้ ซ่งท่านก็ได้รับหน้าที่ทั้งยังประสานงานทั่วทิศ ทั้งในส่วนของรัฐต่าง ๆ ทั้งกลันตัน ตรังกานู ที่เคยอยู่ในอาณัติของสยาม นอกจากดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว ท่านยังเชื่อมต่อการค้าขาย ก่อให้เกิดเศรษฐกิจอันดีต่อภาคใต้ของสยามเรื่อยมา 

ต่อมาในรัชสมัย ของ“พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๗ เมื่อท่านได้กลับมารับราชการในสยาม ท่านได้รับเกียรติให้เป็น “พระยายืนชิงช้า” ในพระราชพิธีตรียัมปวายในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ซึ่งเป็นพระยายืนชิงช้าคนสุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เหตุเพราะรัชกาลที่ ๗ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระราชประเพณีนี้ เพราะในขณะนั้นสภาพบ้านเมืองประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และการจัดพิธีนี้ในแต่ละครั้งก็ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศจำเป็นต้องประหยัดงบประมาณแผ่นดิน จึงทรงเห็นสมควรให้ยกเลิกพระราชพิธีตรียัมปวาย "โล้ชิงช้า" ตั้งแต่นั้น ตราบจนปัจจุบัน 

นอกจากเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์แล้ว ชื่อของ “มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) ยังปรากฏไปอีกหลายแห่ง สืบเนื่องจากคุณงามความดีที่ท่านได้กระทำไว้ ซึ่งผมขอยกมาเล่าให้อ่านกันเพลิน ๆ โดยสังเขปดังนี้ 

ถนน “ประดิพัทธ์” ถนนที่มีความยาวประมาณ ๑.๘ กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างถนนพหลโยธินตรงแยกสะพานควายไปยังถนนพระรามที่ ๖ ตรงแยกสะพานแดง เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการขยายกิจการของกรมทหารและกิจการของราชการขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้กรมกองต่าง ๆ ต้องออกมาตั้งที่ทำการในบริเวณทุ่งสะพานควายและใกล้เคียง แต่ถนนที่จะเชื่อมต่อถนนหลักกับถนนหลักนั้นยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากที่ดินบางผืนมีเจ้าของและต้องทำการซื้อเพื่อเวนคืน เมื่อการณ์เป็นดังนี้ “พระยาประดิพัทธฯ” จึงได้มอบที่ดินส่วนตัวเป็นประเดิมเพื่อให้ใช้ตัดถนนเชื่อมต่อดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ ทางการจึงให้เกียรติโดยนำชื่อของท่านมาตั้งเป็นชื่อถนน เดิมถนนเส้นนี้ชื่อ “ถนนพระยาประดิพัทธ์” แต่กาลเวลาทำให้กร่อนไปเหลือแค่ราชทินนามของท่าน (แต่ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ พื้นที่ถนนเส้นนี้กลับกลายเป็นที่รวมกำลังพลของคณะก่อการไปเสียฉิบ) 

นอกจากถนน “ประดิพัทธ์” แล้ว พระยาประดิพัทธฯ ได้มอบที่ดินจำนวน ๒๗ ไร่ ๒ งาน ๘ วา  เป็นโฉนดที่ดินที่ ๕๘๓๖ สาระบาญเล่มที่ ๕๙  น่าที่ ๓๖ ตั้งอยู่ในตำบลคลองเตย  อำเภอพระโขนง  จังหวัดพระประแดงนครเขื่อนขันธ์ ให้เป็นสาธารณประโยชน์ในช่วงปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ ๖ ที่ได้ตัดเป็นถนน “สุนทรโกษา” เดิมถนนเส้นนี้มีชื่อเต็ม ๆ ว่าถนน “หลวงสุนทรโกษา” ซึ่งราชทินนามของท่านเมื่อแรกรับราชการ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมศุลกากรในปัจจุบัน 

ที่ดินผืนนี้ในบริเวณใกล้กันยังได้ตัดเป็นทางเชื่อมแยก ที่เรียกกันว่าห้าแยก “ณ ระนอง” และถนน ณ ระนอง ซึ่งมีที่มาจากนามสกุลของท่าน โดยทั้งห้าแยกและถนนนี้อยู่ในพื้นที่คลองเตยเชื่อมต่อระหว่างถนนรัชดาภิเษก ถนนพระรามที่ ๓ ถนนสุนทรโกษา และถนน ณ ระนอง 

ที่สำคัญที่ดินผืนนี้ปัจจุบันนอกจากถนนที่ตัดผ่านและแยกดังกล่าวแล้วยังเป็นที่ตั้งของ “โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์” อีกด้วย 

“สวนสนประดิพัทธ์” ชื่อชายหาดแห่งนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับท่านโดยตรง เนื่องจากเป็นชื่อที่มาจาก “พันธุ์ต้นสน” ที่ท่านได้นำเข้ามาปลูกซึ่ง “สนประดิพัทธ์” นี้ เป็นสนใน “วงศ์สนทะเล” อันมีถิ่นกำเนิดในเกาะชวาและหมู่เกาะซุนดาน้อย ประเทศอินโดนีเซีย เหตุที่นำมาปลูกนั้นนอกจากความสวยงามแล้ว “ราก” ของสนพันธุ์นี้ เป็นปมคล้ายกับพืชตระกูลถั่ว ซึ่งช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน โดยการตรึงไนโตรเจนเช่นเดียวกับพืชตระกูลถั่ว อีกทั้งยังพบว่ามีเส้นใยขนาดเล็กมากมายภายในปม และจุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนตํ่าทำให้สามารถปลูกอื่น ๆ แซมได้ โดยมีสนปกคลุมในฐานะพืชยืนต้น ลดการพังทลายของดินและดินถล่ม ไม่แปลกที่ตลอดหาดในอำเภอหัวหินจะมีทิวสนประดิพัทธ์ปลูกตลอดแนวของชายหาด ก็เพื่อป้องกันการพังทลายของดินนั่นเอง

นอกจาก “สนประดิพัทธ์” แล้ว “พระยาประดิพัทธภูบาล” ยังเป็นผู้นำ “ปาล์มน้ำมัน” อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยเข้ามาริเริ่มปลูกขึ้นในที่สถานีทดลองยางคอหงส์ จังหวัดสงขลา และที่สถานีกสิกรรมพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี โดยแรกเริ่มนั้นนำมาปลูกในฐานะพืชประดับเพื่อความสวยงาม จนกระทั่งประเทศใกล้เคียงอย่างมาเลเซียมีการปลูกปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างได้ผล ทางไทยจึงได้เริ่มศึกษาอย่างจริงจัง และเห็นว่าทางภาคใต้มีภูมิอากาศคล้ายคลึงกับทางมาเลเซีย ประกอบกับต้นปาล์มน้ำมันที่นำเข้ามาก่อนหน้าเจริญเติบโตดี จึงได้มีการส่งเสริมปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างจริงจังในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยเริ่มที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล พื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ เป็นที่แรก 

มีข้อสังเกตว่าตระกูล “ณ ระนอง” ของท่าน “มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) นับเป็นตระกูลนักบุกเบิก ริเริ่ม ตัวจริง โดยเฉพาะการเพื่อต่อยอดด้านเศรษฐกิจ เช่น เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมแร่ดีบุก ตระกูลแรกในประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่มนำ “ยางพารา” มาปลูกในสยาม ฯลฯ ด้วยอาจจะเป็นเพราะตระกูลนี้มีความตั้งใจ มีความขยันหมั่นเพียรเป็นที่ตั้ง จึงทำให้การงานรุ่งเรืองขึ้นได้อย่างเด่นชัดแม่จะเริ่มต้นตระกูลจากการเป็น “กรรมกร” ก่อนจะผันตัวมาเป็นพ่อค้าก็ตาม อีกทั้งยังเป็นตระกูลที่มีความสำนึกในบุญคุณแผ่นดิน มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้มีแต่ความเจริญอยู่ในตระกูลมาอย่างยาวนาน เฉกเช่นกับการแสดงถึงความจงรักภักดีของ “พระยาประดิพัทธภูบาล” ที่ไม่เกรงกลัวภัยใด ๆ จากคณะราษฎร ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตนหรือคนในตระกูลก็ตาม ซึ่งตรงนี้สามารถยืนยันได้ด้วยบันทึกของ “พระองค์เจ้าอินทุรัตนาบริพัตร” พระธิดาของทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ในเหตุทูลฯ เชิญเสด็จบ้าน ณ ระนอง ที่ปีนัง โดยทรงนิพนธ์ไว้ว่า

“สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” ได้ทรงมีพระดำรัสต่อพระยาประดิพัทธฯ ว่า “เจ้าคุณมากับเรา แต่พวกลูกหลานในตระกูล ณ ระนอง ยังอยู่ในเมืองไทยกัน เขาจะลำบาก ถูกกลั่นแกล้ง” 

“พระยาประดิพัทธภูบาล” ท่านตอบว่า "ใต้ฝ่าพระบาทไม่ต้องเป็นห่วง เกล้ากระหม่อมก่อนจะมานี่ ได้เรียกพวกคนในตระกูล ณ ระนอง มาประชุมบอกแล้วว่าจะตามเสด็จฯ  แล้วถ้าเขาจะมาแกล้งก็ทนรับ เขาจะมาฆ่าก็ยอมตายกัน ตอบแทนผู้มีพระคุณ" 

“พระยาประดิพัทธภูบาล” ถึงแก้อนิจกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๙ ด้วยอายุสิริรวม ๙๖ ปี ขอกราบคารวะท่านสักหนึ่งคำรบ นี่ละครับ !!! ข้าราชการผู้ภักดีจากตระกูล ณ ระนอง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top