‘ไบโอดีเซล’ เชื้อเพลิงพลังงานชีวภาพ จากพระอัจฉริยภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9
พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงศึกษาวิจัยค้นคว้าพลังงานชีวภาพ แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล จากผลิตผลทางเกษตรในประเทศ และช่วยให้ประชาชนสามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในราคาถูก กว่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพของโครงการส่วนพระองค์จิตรลดา เริ่มต้นในปี 2528 ด้วยในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย มีพระราชดำริว่า ในอนาคตอาจเกิดการขาดแคลนน้ำมัน จึงมีพระราชประสงค์ให้นำอ้อยมาผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ต่อมาโครงการได้ศึกษาวิจัยการผลิตและกลั่นแอลกอฮอล์ จากพืชผลทางเกษตรหลายอย่าง เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง อ้อย มีการปรับปรุงการกลั่นเรื่อยมา จนสามารถผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% หรือที่เรียกว่า เอทานอล ไปกลั่นแยกน้ำ และใช้เป็นวัตถุดิบผสมน้ำมันเบนซินผลิตแก๊สโซฮอล์ โดยศึกษาทดลองสูตรการผสม และผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ใช้กับรถยนต์ทุกคันของโครงการส่วนพระองค์ฯ
ต่อมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้นำผลการศึกษาของโครงการส่วนพระองค์จิตรลดามาต่อยอด ผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เริ่มจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2545 ส่วน บริษัท บางจาก จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ศึกษาทดลองผลิตเอทานอลบริสุทธิ 99.5% จากมันสำปะหลัง แล้วนำมาผสมกับน้ำมันเบนซินในสัดส่วน 10% ทดแทนสาร เพิ่มออกเทน MTBE ที่ใช้แทนสารตะกั่ว ซึ่งต้องนำเข้าเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เริ่มจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก ถ.ติวานนท์
ปัจจุบันน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นที่นิยมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพราะราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซิน ซึ่งช่วยลดการนำเข้าน้ำมันได้ส่วนหนึ่ง และยังช่วยลดมลพิษในอากาศได้อีกด้วย เพราะแก๊สโซฮอล์ไม่ต้องเติมสารตะกั่ว และสารเพิ่มออกเทน MTBE
ไบโอดีเซลในประเทศไทย เริ่มพัฒนามาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2526 ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มทดลองขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จ.กระบี่ และอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา ในปี 2543 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และกองงานส่วนพระองค์ วังไกลกังวล หัวหิน เริ่มการทดลองนำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล จากการทดลองพบว่า น้ำมันปาล์ม บริสุทธิ์ 100% สามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลได้ โดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงอื่นฯ หรืออาจใช้ผสมกับน้ำมันดีเซลได้ ตั้งแต่น้อยสุด 1 - 99% ทั้งนี้องคมนตรี (อำพล เสนาณรงค์) เป็นผู้แทนในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้จดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ‘การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล’ แล้ว
จากโครงการพัฒนาและทดลองการผลิตการใช้น้ำมันไบโอดีเซลในโครงการส่วนพระองค์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนเทคโนโลยีการผลิตการใช้ไบโอดีเซลก้าวหน้า สามารถนำมาใช้ในเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในทางพาณิชย์ได้ ผลการวิจัยในการนำน้ำมันพืชมาใช้ผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทย พบว่าน้ำมันพืชที่เหมาะสมและมีศักยภาพในการผลิตไบโอดีเซล คือ น้ำมันปาล์ม
>> ไบโอดีเซลในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็นไบโอดีเซลชุมชน และไบโอเชิงพาณิชย์
ไบโอดีเซลชุมชน คือไบโอดีเซลที่กลั่นน้ำมันปาล์มออกมาเหมือนน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร เหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลสูบเดียว รอบเครื่องยนต์คงที่ เช่น รถไถนาเดินตาม รถอีแต๋น เครื่องสูบน้ำ แต่ไม่เหมาะกับการใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่มีหลายสูบ เช่นเครื่องยนต์ที่ใช้กับรถยนต์ เพราะระยะยาวจากเกิดยางเหนียวในเครื่องติดที่ลูกสูบ
สำหรับไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ คือ ไบโอดีเซลที่ใช้น้ำมันปาล์มผ่านกระบวนการไปผสมกับน้ำมันดีเซล โดยผู้ผลิตรถยนต์ทดสอบและให้การรับรองว่าใช้กับรถยนต์รุ่นที่ทดสอบแล้วได้
>> ไบโอดีเซลช่วยเกษตรกรชาวสวนปาล์ม
นอกจากการส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้ไบโอดีเซล เพื่อลดการการนำเข้าน้ำมันแล้ว ในยามที่ปาล์มมีราคาตกต่ำ รัฐบาลก็สนับสนุนส่งเสริมให้มีการผลิต การจำหน่าย การใช้ไบโอดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มในรถยนต์ด้วย
ที่ผ่านมาใช้น้ำมันดีเซลผสมกับน้ำมันปาล์มที่ผ่านกระบวนการในอัตรา 95 : 5 จะได้ไบโอดีเซล ที่เรียกว่า บี 5 ถ้าเป็นอัตรา 93 : 7 จะได้ไบโอดีเซลเรียกว่า บี 7 ซึ่งเป็นการเพิ่มความต้องการน้ำมันปาล์ม ที่สามารถยกระดับราคาปาล์ม ตามกลไกตลาดได้ระดับหนึ่ง
>> ปัจจุบันมีปัญหาราคาปาล์มตกต่ำอีก กระทรวงพลังงานจึงได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผลักดันไบโอดีเซล บี 10 เพื่อแก้วิกฤตราคาปาล์ม
บี 10 คือ น้ำมันไบโอดีเซล ที่มีอัตราผสมน้ำมันดีเซลอัตรา 90 ส่วน ต่อน้ำมันปาล์มผ่านกรรมวิธี 10 ส่วน ซึ่งจะสามารถเพิ่มความต้องการน้ำมันปาล์มได้ดีกว่า บี 5 และบี 7 นอกจากนี้ยังมีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล บี 20 ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มผ่านกรรมวิธี 20% ด้วย
ในการผลักดันการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซล นอกจากช่วยผู้ใช้รถประหยัดค่าใช้จ่ายจากราคาน้ำมันแล้ว ยังเป็นการช่วยชาวสวนปาล์มด้วยทางหนึ่ง
