Wednesday, 23 April 2025
พระพุทธรูป

‘น้องณะโม’ เด็ก 9 ขวบ ทักษะด้านศิลปะยอดเยี่ยม ชอบ ‘วาดภาพ - ปั้นพระพุทธรูป - ขับบทหนังตะลุง’

(18 ส.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านเลขที่ 32/2 หมู่ที่ 4 บ้านเขากอบ ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งเป็นบ้านของ ด.ช. สุวิจักขณ์ คงรอด หรือน้องณะโม อายุ 9 ขวบ นักเรียนชั้น ป.3 โรงเรียนรัตนศึกษา อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช น้องณะโมกำลังโชว์ฝีมือการปั้นพระพุทธรูปจากดินน้ำมัน ขนาดความสูง 1.5 ฟุต พร้อมวาดภาพพระพุทธรูปต่าง ๆ ที่ชื่นชอบ ก่อนจะลงสีให้เหมือนต้นฉบับ ซึ่งได้ศึกษามาจากยูทูบเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังนำมาต่อเป็นเลโกอีกหลายชิ้น

ล่าสุดนายพงศ์ชิตพล คงรอด อายุ 40 ปีซึ่งเป็นคุณพ่อและเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนวิเชียรมาตุ 3 จ.ตรัง กับนางนิรมล คงรอด อายุ 38 ปี คุณแม่ ซึ่งเป็นคุณครูอยู่ที่โรงเรียนทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ได้นำภาพพระพุทธรูปที่น้องณะโมวาด ไปทำเป็นเสื้อยืดคอกลมและคอวี นำออกจำหน่ายทางเพจ/เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า สอนศิลป์กับพิมพ์ไทย, เพจเด็กปั้น และเพจ niramol sommai ขายราคาตัวละ 300 บาท โดยเพิ่งวางขายไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ขายได้แล้วกว่า 10 ตัว ส่วนเงินรายได้นำไปเป็นทุนการศึกษาและซื้ออุปกรณ์การวาดภาพ ระบายสี เพื่อให้น้องณะโมมีกำลังใจในการสานฝันของตัวเอง ควบคู่ไปกับการได้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับน้องณะโม เริ่มวาดภาพพระพุทธรูปและปั้นดินน้ำมันเป็นรูปพระพุทธรูปองค์ต่าง ๆ พร้อมทั้งฝึกเล่นหนังตะลุงมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวที่ชอบศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน การไหว้พระ สวดมนต์ ซึ่งคุณพ่อเคยนำนักเรียนไปแข่งขันสวดมนต์ทำนองสรภัญญะและทำกิจกรรมส่งเสริมผู้เรียนด้านพระพุทธศาสนา จนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศมาแล้วหลายรางวัล เช่นเดียวกับคุณแม่ของน้องณะโมที่ชอบแนวเดียวกัน โดยจะพาน้องณะโมไปด้วยทุกที่ จึงทำให้น้องณะโมซึมซับสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ จนกลายเป็นความชอบและหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งจากยูทูบและจากคุณครูสอนศิลปะ จนสามารถวาดภาพพระพุทธรูปและปั้นดินน้ำมันได้อย่างคล่องแคล่ว ล่าสุดได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดวาดภาพที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

สำหรับชื่อ ‘ณะโม’ คุณพ่อเป็นคนตั้งให้ เพราะมีความหมายว่าผู้นอบน้อม ส่วนการเล่นหนังตะลุง เกิดจากการที่คุณพ่อซื้อรูปหนังตะลุงมาให้ น้องจึงหัดเล่นจากยูทูบ จนสามารถขับหนังตะลุงได้ โดยมีคุณพ่อเป็นลูกคู่หรือเป็นผู้ช่วยนายหนัง ซึ่งน้องณะโมได้ใช้เวลาว่างไปกับการวาดภาพพระพุทธรูปและการท่องเที่ยวไปตามโบราณสถานหลายแห่งทั้งในจ.ตรัง และ จ.นครศรีธรรมราช แต่ที่ชอบมากที่สุดคือศิลปะลาวล้านช้าง

ซึ่งปัจจุบัน น้องณะโมตามคุณแม่ที่เป็นคุณครูไปเรียนอยู่ที่อำเภอทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี มีสมาธิ และรู้จักความอดทนอดกลั้นได้มากกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน โตขึ้นน้องณะโมฝันอยากเป็นเกมเมอร์และวาดภาพพระพุทธรูปที่ชื่นชอบทั่วไทย ส่วนใครสนใจสามารถติดตามได้ทางเพจเด็กปั้น,เฟซบุ๊ก niramol sommai และเพจสอนศิลป์กับพิมพ์ไทย หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 081-370-0192

โดย ด.ช. สุวิจักขณ์ คงรอด หรือน้องณะโม เปิดเผยว่า ตนเป็นคนที่ชอบพระศิลปะลาวล้านช้าง เห็นแล้วรู้สึกชอบและศรัทธา ตอนนี้วาดและปั้นได้ ส่วนความสามารถในการขับหนัง มาจากการที่พ่อซื้อหนังตะลุงมาให้แล้วเอามาเล่นกับพ่อ ต่อมาจึงเปิดดูในยูทูบแล้วหัดพากย์ แต่ยังไม่ได้เคยไปเล่นโชว์ที่ไหนมาก่อน

อนาคตฝันอยากเป็นเกมเมอร์และวาดภาพต่อ โดยการปั้นไม่มีใครสอนปั้นเองดูจากยูทูบตอนอายุ 3 ขวบ ตอนนี้อายุ 9 ขวบแล้ว ปั้นมาเรื่อย ๆ ผลงานนำไปโชว์ที่ตลาดชุมทาง ที่ได้ขายคือทำเป็นเสื้อขายตัวละ 300 บาท ส่วนใครสนใจสามารถซื้อได้จากเพจเด็กปั้น

ด้านนายพงศ์ชิตพล และนางนิรมล คงรอด คุณพ่อกับคุณแม่ของน้องณะโม กล่าวว่า เริ่มต้นชอบของลักษณะอย่างนี้ตอนอายุประมาณ 3 ขวบ แต่ก่อนหน้านั้นก็มีแววชื่นชอบเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและโบราณสถานต่าง ๆ และได้ฝึกวาด ฝึกปั้นจนถึงตอนนี้อายุ 9 ขวบ ส่วนพ่อแม่เองก็ชอบด้านนี้มาตลอด และจะชอบไปโบราณสถานต่าง ๆ และไปไหว้พระทำบุญกันอยู่ตลอด โดยพาณะโมไปด้วย ทำให้ลูกซึมซับและจดจำมาตลอด อย่างหนึ่งที่ได้คือลูกได้สืบทอดพระพุทธศาสนา มีภูมิต้านทานทางด้านจิตใจที่กระแสสังคมเข้ามากระทบ แต่สิ่งเหล่านี้เข้ามาหล่อเลี้ยงจิตใจให้เขาเป็นคนดีได้

งานทุกชิ้นของเขาจะพูดกับเขาว่า เราจะปลูกฝังคุณค่าในตัวเองให้เขาได้มองเห็นว่าจากชิ้นงานศิลปะตรงนี้ พอลูกเอามาทำเสื้อหรือทำอย่างอื่นเอามาต่อยอดทำให้ซาบซึ้งคุณค่าในตัวเอง อยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้มีตรงนี้ ได้ตระหนักคุณค่าในตนเอง เพราะเรามองว่าจะเป็นการสร้างเกราะในจิตใจเขาในการอยู่ในสังคมในวันข้างหน้า ให้เขาเข้มแข็งจากตัวเขาจากคุณค่าของตัวเอง ซึ่งได้งานศิลปะเป็นตัวช่วย

หอยนางรมเกาะหิน คล้ายพระพุทธรูป ชาวบ้านแห่ ส่องเลขเด็ด เจ้าของ ยัน ไม่ขาย ตั้งใจเก็บไว้ให้ นทท.ดู ในงานเทศกาลกินหอย

(2 มี.ค. 67) ที่บ้านแหลม หมู่ที่ 3 ต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง มีชาวบ้านออกไปหาหอยนางรมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ นำมาขายให้ น.ส. มล ณะสม หรือ จ๊ะมล อายุ 50 ปี แม่ค้ารับซื้อหอยนางรมที่ท่าเรือบ้านแหลม

แต่ปรากฏว่ามีหอยนางรมสุดแปลกอยู่ 1 ตัวเกาะติดอยู่บนก้อนหินที่มีน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม โดยท้ายหอยปักลงด้านล่าง ส่วนตัวหอยอยู่ในแนวตั้ง มองดูคล้ายพระพุทธรูป ซึ่งชาวบ้านพยายามแกะหอยนางรมออกจากก้อนหินก้อนนี้เพื่อเอาแต่ตัวหอย แต่ไม่สามารถแกะออกได้ จึงยกมาขายทั้งหินทั้งหอย ราคา 25 บาท

โดย จ๊ะมล ให้ราคาตามขนาดของหอย คือเป็นหอยนางรมขนาดกลาง รับซื้อตัวละ 25 บาท แต่เห็นว่ามีรูปร่างแปลกตา จึงวางไว้หน้าร้าน ซึ่งเมื่อชาวบ้านผ่านมาพบเห็น ได้สร้างความฮือฮาและแห่เข้ามาดูอย่างต่อเนื่อง บ้างก็ว่ารูปร่างคล้ายพระพุทธรูปบ้าง คล้ายกับเด็กบ้าง คล้ายกับถ้วยรางวัลบ้าง

แต่ที่พลาดไม่ได้ การตีเป็นเลขเด็ดรับวันหวยออก โดยเอาเลขที่บ้านคือ 57 หมู่ที่ 3 ต.วังวน กับเลขที่เห็นจากหินและหอย เป็นเลข 8 บ้าง 9 บ้าง 4 บ้าง

ซึ่งบางคนก็เอามือมาลูบๆ คลำๆ และขอพรให้สมหวัง หากถูกรางวัลจะกลับมาตั้งศาลให้ ขณะที่บางคนบอกถ้างวดนี้ไม่ทัน งวดหน้าก็ยังไม่สาย

เจ๊มล เจ้าของแพรับซื้อ ได้นำไปแช่น้ำทะเลเป็นระยะ เพื่อไม่ให้หอยนางรมตาย และยังไม่ขาย เพราะอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีงานเทศกาลกินหอยนางรมบ้านแหลม จึงจะเก็บไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ดู เพื่อสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอนุบาลหอยนางรมแหล่งใหญ่ที่สุดใน จ.ตรัง ซึ่งอยู่ที่ตำบลวังวน อ.กันตัง จ.ตรัง

เจ๊มล กล่าวว่า รับซื้อมาตั้งแต่เมื่อวาน หลังชาวบ้านไปเก็บหอยนางรมมาขาย ตัวนี้ซื้อมา 25 บาทพร้อมก้อนหิน เห็นมันแปลกจึงจะเก็บไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดูว่า มีหอยนางรมที่สมบูรณ์ โดยชาวบ้านมาดูเป็นตัวเลขก็มี มาดูความแปลกใหม่ บางคนก็ตีไปตามสายตาของแต่ละคน บางคนว่าเหมือนพระพุทธรูป บางคนว่าเหมือนเด็ก และบางคนว่าเหมือนถ้วยรางวัล ซึ่งช่วงนี้ใกล้ถึงเทศกาลงานหอย จึงอยากให้คนนอกพื้นที่เข้ามาดู และยังไม่ขาย

'พระนิรันตราย' พระผู้ 'ปราศจากอันตราย' พระพุทธรูปสำคัญสมัย 'รัชกาลที่ ๔'

‘พระนิรันตราย’ พระสำคัญของชาติอีกองค์หนึ่ง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในหอพระสุราลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปโบราณสององค์ซ้อนกัน 'องค์เดิม' (องค์เดิมอยู่ด้านในก่อนสร้างอีกองค์ใหม่ / องค์นอก) เป็นพระพุทธรูปทองคำ ศิลปะแบบทวารวดี ราวพุทธศตวรรษ ๑๔-๑๕ ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ นิ้ว องค์สูง ๔ นิ้ว ขัดสมาธิเพชร ข้อพระบาทไขว้กันอย่างหลวม ๆ พระหัตถ์ประสานกันบนพระเพลา โดยพระหัตถ์ขวาซ้อนเหนือพระหัตถ์ซ้าย 

ส่วนพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงเป็นเส้นติดต่อกันคล้ายปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกป้าน พระโอษฐ์ค่อนข้างกว้าง พระกรรณยาวเกือบจรดพระอังสะ พระเศียรประกอบด้วยขมวดพระเกศา มีเกตุมาลาอยู่เบื้องบนปราศจากรัศมี องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์เรียบ ไม่มีริ้ว ห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวาของอุตราสงค์พาดผ่านข้อพระกรซ้าย ประทับนั่งบนปัทมาสน์ (ฐานดอกบัว) มีกลีบบัวคว่ำบัวหงายประกอบทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง ซึ่งฐานปัทมาสน์นี้ได้สร้างเพิ่มเติมในภายหลัง

ใน 'ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ' พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปที่กำนันอินและนายยังบุตรชาย ไปพบขณะขุดหามันนกในบริเวณชายป่าห่างจากดงศรีมหาโพธิ์ประมาณสามเส้น พบเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ จึงได้นำมามอบให้ 'พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ' ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา โดยขุดพบเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ พระเกรียงไกรกระบวนยุทธจึงบอกกรมการเมืองและ 'พระยาวิเศษฤๅไชย' เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา กรมการเมืองฉะเชิงเทราทั้งหลายจึงพร้อมใจกันนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จากนั้นพระองค์ก็ได้สอบถามที่ไปที่มาและได้พระราชทานเงินตรากับกรมการเมือง และ ๒ พ่อลูก โดยมีบันทึกไว้ว่า...

“สองพ่อลูกมีกตัญญูต่อพระพุทธศาสนาและพระเจ้าแผ่นดิน ขุดได้พระทองคำแล้วไม่ทำลาย หรือซื้อขายเป็นประโยชน์ส่วนตัว แล้วยังมีน้ำใจมาทูลเกล้าฯ ถวาย…” พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเงินตราให้เป็นรางวัล ๗ ชั่ง แล้วมีพระบรมราชโองการดำริให้ช่างทำฐานเงินกะไหล่ทองประดิษฐานไว้

จากนั้นจึงโปรดฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปทองคำไปประดิษฐาน ณ หอพระเสถียรธรรมปริตรคู่กับพระกริ่งทองคำองค์น้อย และพระพุทธรูปสำคัญอื่น ๆ อีกหลายองค์ โดยที่พระทองคำองค์นี้ยังไม่มีพระนามใด ๆ 

ที่มาแห่งชื่อ 'นิรันตราย' นั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ เกิดมีขโมยได้มาลักเอาพระกริ่งทองคำองค์น้อยไปถึงในหอพระ แทนที่จะลักพระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่กว่า และอยู่คู่กัน พระองค์ทรงมีพระราชดำริความว่า “พระพุทธรูปซึ่งกำนันอินทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นทองคำทั้งแท่งและใหญ่กว่าพระกริ่ง ควรที่คนร้ายจะลักเอาองค์ใหญ่ไป แต่กลับละไว้ เช่นเดียวกับผู้ที่ขุดได้ไม่ทำอันตราย เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่แคล้วคลาดถึง ๒ ครั้ง” พระองค์จึงทรงถวายพระนามพระพุทธรูปทองคำว่า 'พระนิรันตราย' แปลว่า 'ปราศจากอันตราย' และโปรดเกล้าฯ ให้ หล่อองค์ใหม่ครอบองค์เดิมมาจนถึงทุกวันนี้ 

โดยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ พระราชทานแบบส่วนให้ 'พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' และกลุ่มช่างในพระองค์ หล่อพระพุทธรูปประทับสมาธิเพชรให้ต้องตามพุทธลักษณะด้วยทองคำบริสุทธิ์ ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้วครึ่ง สวมครอบพระพุทธรูปนิรันตรายองค์เดิมอีกชั้นหนึ่ง และให้หล่อด้วยเงินบริสุทธิ์อีกองค์เป็นคู่กัน โปรดเกล้าฯ ให้ถวายพระนามว่าพระนิรันตรายทุกองค์ เฉพาะองค์ทองคำให้เชิญไปประดิษฐานในพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ อาทิ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พิธีทำบุญตรุษตัดส่งปีเก่า) พระราชพิธีสงกรานต์ 

ปัจจุบันเจ้าพนักงานภูษามาลายังคงรักษาแบบแผนโบราณราชประเพณี โดยอัญเชิญพระนิรันตรายไปประดิษฐานในพระราชพิธีสำคัญ ๆ ต่าง ๆ อาทิ ในการบำเพ็ญพระราชกุศลวันเฉลิมพระชนมพรรษา และงานพระราชกุศลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นต้น  

กลับมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ กันต่อ นอกจากพระองค์จะทรงหล่อ พระองค์ใหม่ / องค์นอก ครอบพระองค์เดิมแล้วนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปพิมพ์เดียวกันพระนิรันตราย (องค์นอก) เนื้อทองเหลือง มีลักษณะเพิ่มเติมจากพระนิรันตรายเดิม คือ ประดับด้วยซุ้มเรือนแก้ว ทำเป็นพุ่มพระศรีมหาโพธิ์ประกอบ ยอดซุ้มประดับลายพระมหามงกุฎ และจารึกบท 'อิติปิโส ภควา' ๙ วรรค เป็นอักษรขอมประดับตามซุ้ม ส่วนฐานประดับรูปโค เจาะรูบริเวณปากโค น้ำสรงพระนิรันตรายจะไหลออกทางปากโค ซึ่งศีรษะโค แสดงเครื่องหมายพระสกุล 'โคตมะ' ของพระพุทธเจ้า จัดสร้างขึ้นจำนวน ๑๘ องค์เท่ากับปีที่ครองราชย์ เพื่อพระราชทานพระอารามฝ่ายธรรมยุต จำนวน ๑๘ แห่ง แต่ยังไม่กะไหล่ทองก็สวรรคตเสียก่อน 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จและนำไปพระราชทานยังวัดธรรมยุตตามพระราชประสงค์ของพระบรมราชชนก โดยวัดทั้ง ๑๘ แห่ง ได้แก่...

๑.วัดบวรนิเวศวิหาร 
๒.วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 
๓.วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 
๔.วัดเสนาสนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา 
๕.วัดนิเวศธรรมประวัติฯ จ.พระนครศรีอยุธยา 
๖.วัดบรมนิวาส 
๗.วัดมกุฏกษัตริยาราม 

๘.วัดเทพศริรินทราวาส 
๙.วัดโสมนัสวิหาร 
๑๐.วัดราชาธิวาส 
๑๑.วัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี 
๑๒.วัดปทุมวนาราม 
๑๓.วัดราชผาติการาม 
๑๔.วัดสัมพันธวงศาราม 
๑๕.วัดเครือวัลย์ 
๑๖.วัดบุปผาราม 
๑๗.วัดบุรณศิริมาตยาราม 
๑๘.วัดยุคันธราวาส จ.นนทบุรี

สำหรับท่านที่อยากไปสักการะพระนิรันตรายนั้นสามารถไปได้ตามรายชื่อวัดดังกล่าว เพียงแต่อาจจะต้องสอบถามก่อนว่าเปิดให้เข้าสักการะหรือไม่ 

เชื่อว่าถ้าท่านผู้อ่าน ๆ ได้เข้าไปสักการะองค์พระแล้ว ก็จะได้ 'ปราศจากอันตราย' เช่นเดียวกับนามขององค์พระ

กรมศิลปากรเตรียมแผนบูรณะ พระพุทธรูป 696 ปี วัดพระบรมธาตุฯ ชัยนาท หลังได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวในเขตประเทศเมียนมา

(30 มี.ค. 68) หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดในเขตประเทศเมียนมา ได้มีการตรวจสอบความเสียหายของโบราณสถานสำคัญในหลายพื้นที่ ล่าสุดพบว่าพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ประดิษฐานภายในวัดพระบรมธาตุวรวิหาร จังหวัดชัยนาท ได้รับความเสียหาย โดยมีรอยร้าวปรากฏเป็นทางยาวบริเวณด้านหลังและแขนขวาขององค์พระ

พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง มีอายุยาวนานกว่า 696 ปี ที่สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอู่ทอง และถือเป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรม 

จากการตรวจสอบเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร พบมีรอยแตกร้าวเป็นแนวยาวที่บริเวณด้านหลัง ตั้งแต่ต้นคอถึงกลางหลัง ยาวกว่า 2 เมตร และที่ใต้ศอกขวา และแขนขวาแตกร้าวยาวกว่า 1 เมตร
โดยรอยร้าวที่เกิดขึ้นมีความลึกและอาจส่งผลต่อโครงสร้างขององค์พระในระยะยาว

ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานศิลปากรที่ 4 สุพรรณบุรี ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย เพื่อประเมินแนวทางการบูรณะซ่อมแซมโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีการประสานงานกับพระภิกษุและชุมชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันดูแลและป้องกันไม่ให้ความเสียหายลุกลามมากขึ้น

หลังมีข่าวความเสียหายของพระพุทธรูปแพร่ออกไป มีประชาชนและผู้ศรัทธาจำนวนมากเดินทางมายังวัดพระบรมธาตุวรวิหาร เพื่อกราบไหว้สักการะและขอพร พร้อมร่วมกันถวายปัจจัยเพื่อสนับสนุนการบูรณะซ่อมแซมองค์พระให้กลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์อีกครั้ง

ทางกรมศิลปากรยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการซ่อมแซมพระพุทธรูปองค์นี้อย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ศิลปกรรมดั้งเดิมให้มากที่สุด และจะเฝ้าระวังโบราณสถานอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ต่อไป

ทั้งนี้ ทางวัดพระบรมธาตุวรวิหารยังคงเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะได้ตามปกติ พร้อมขอความร่วมมือให้ผู้ที่เข้าชมปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top