Thursday, 9 May 2024
พระบรมสารีริกธาตุ

📝 จดเลย!! รวม ‘พิกัดวัน-สถานที่’📌 สักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ

📝 จดเลย!! รวม ‘พิกัดวัน-สถานที่’📌 สักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ศาสนวัตถุอันมีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชน ซึ่งเดินทางมากจากสาธารณรัฐอินเดีย 🇮🇳 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 

โดยเปิดให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.- 3 มี.ค. 67 หลังจากนั้นจะอัญเชิญไปประดิษฐานในส่วนภูมิภาค เพื่อให้พุทธศาสนิกชนท่านอื่นๆ ได้ร่วมสักการะอย่างทั่วกันต่อไป โดยวันและสถานที่มีดังนี้…

🗓️ 23 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2567
ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

🗓️ 4-8 มีนาคม 2567
ณ หอคำหลวง อุทยานราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

🗓️ 9-13 มีนาคม 2567
ณ วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี

🗓️ 14-18 มีนาคม 2567
ณ วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่

จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมเข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ได้ตามวัน เวลา และสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ตามความสะดวก ✨🙏🏻🇹🇭

‘ปชช.’ เข้าสักการะ ‘พระบรมสารีริกธาตุ’ ต่อเนื่อง ยอดรวมคนไทย-ต่างประเทศ 4 วัน ทะลุ 4 แสนคน

(27 ก.พ.67) นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เปิดเผยว่า จากการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานชั่วคราว ณ ประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยได้ประดิษฐาน ณ มณฑป มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เป็นที่แรก และเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีการประเมินตัวเลขประชาชนที่เข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ระหว่าง วันที่ 24-27 กุมภาพันธ์ มีกว่า 4 แสนคน

นายชัยพล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน จึงเห็นควรให้ขยายเวลาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ จากเดิมที่เปิดให้เข้า 09.00-20.00 น.ขยายเป็น เวลา 08.00-21.00 น. จนถึงวันที่ 3 มีนาคมนี้

รู้จัก ‘ภัณฑารักษ์’ ประจำพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอินเดีย ผู้ถือ-ดูแล ‘พระบรมสารีริกธาตุ-พระอรหันตธาตุ’ ด้วยชีวิต

เมื่อวานนี้ (5 มี.ค.67) จากช่องติ๊กต็อก ‘โลก กะ ธรรม กับ ม่อน’ ได้โพสต์คลิปวิดีโออธิบายเกี่ยวกับประเด็นที่มี ‘หญิงสาวอินเดีย’ รายหนึ่งกำลังใกล้ชิดและถือ ‘พระบรมสารีริกธาตุ’ อยู่ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าผู้หญิงสามารถใกล้ชิดได้หรือ? โดยระบุว่า….

ผู้หญิงท่านนี้เป็น ‘ภัณฑารักษ์’ ประจําพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอินเดีย ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างไทยกับอินเดียว่าเขาจะเป็นคนถือพระบรมสารีริกธาตุ ดังนั้นจะจัดใครมาอารักขาพระบรมสารีริกธาตุก็เป็นสิทธิ์ของเขา และเราไม่มีสิทธิ์ ซึ่งพวกเราได้บูชาพระบรมสารีริกธาตุก็ดีแล้ว ฉะนั้น ‘ภัณฑารักษ์’ ก็คือผู้ดูแลวัตถุโบราณของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอินเดียนั่นเอง ซึ่งก็มีหลายคนไม่ได้มีคนเดียว โดยเขาจะต้องดูแลวัตถุสิ่งของโบราณด้วยชีวิต ดังนั้นจะมาให้คนอื่นถือง่าย ๆ ไม่ได้ และจะต้องอยู่ในความดูแลของเขาเท่านั้น

ถัดมาก็จะมีคําถามว่าแล้วผู้หญิงควรจะใกล้ชิดพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระพุทธเจ้าเหรอ…พระพุทธเจ้าจะมีพระชนม์ชีพหรือปรินิพพานแล้วก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะใกล้พระองค์ขนาดนั้นถูกไหม? ซึ่งอย่างที่บอกว่าเป็นข้อตกลง มีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ ก็คือทางอินเดียจะเป็นคนพิจารณาคนที่เหมาะสมมาปกป้องดูแลพระบรมสารีริกธาตุ และจริง ๆ แล้วผู้หญิงจะมีความละเอียดรอบคอบมากกว่าผู้ชาย โดยบางทีเขาก็มองว่าผู้หญิงมีความรอบคอบกว่าและละเอียดกว่า ยกตัวอย่างเช่น ‘นางมัลลิกา’...

ครั้งนั้น ‘พระเจ้าปเสนทิโกศล’ ทําทานแข่งกับชาวบ้านแล้วก็ไม่ชนะสักที จึงทรงกุ้มพระทัยและเสียพระทัยจนพระนางมัลลิกาทราบข่าว ก็ยิ้มแบบขํา ๆ ประมาณว่าเรื่องแค่นี้เองเหรอ คือเป็นเรื่องง่าย ๆ สําหรับเธอ โดยเธอก็บอกว่าแค่ทําทานแข่งกับชาวบ้านพระราชายังทําแข่งกับชาวบ้านไม่ชนะสักที ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องยากสําหรับนางมัลลิกา และไม่ใช่เรื่องยากสําหรับผู้หญิงที่มีปัญญา โดยเธอก็บอกว่าชาวบ้านไม่มีช้าง ไม่มีเจ้าหญิง ไม่มีเศวตฉัตร ไม่มีเครื่องทรงที่วิจิตรเหมือนพระราชา และเธอก็ให้นําสิ่งของเหล่านี้ที่ชาวบ้านไม่มีมาประกอบในพิธีอธิษฐานคือฐานที่หาประมาณไม่ได้ ฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าผู้หญิงนั้นมีความละเอียดรอบคอบ ขนาดพระองค์ยังสรรเสริญผู้หญิงเลย

ดังนั้น ผู้หญิงที่ถือพระบรมสารีริกธาตุก็เป็นที่ไว้ใจของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอินเดีย ที่เขาเลือกคนที่เหมาะสมมาแล้วนั่นเอง….

กระบี่-พุทธศาสนิกชนส่งเสด็จแน่นสนามบินกระบี่ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุสู่กรุงเดลี ชาวบ้านโบกธงไทย-อินเดีย 2 ข้างทาง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่บริเวณภายในสนามบินนานาชาติ กระบี่ ซึ่งในวันนี้จะมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ กลับสู่ประเทศอินเดีย โดยตามกำหนดการเวลา 10.00 น. จะอัญเชิญออกจากห้องมั่นคง วัดมหาธาตุวชิรมงคล อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ มายังสนามบินนานาชาติ กระบี่

บรรยากาศทั่วไป มีประชาชนนุ่งขาวห่มขาว นั่งรอบริเวณหน้าประตูทางเข้าหมายเลข 7 ภายในอาคารสนามบิน โบกสะบัดธงชาติไทยและธงชาติสาธารณรัฐอินเดีย ขณะที่เส้นทางระหว่างวัดมหาธาตุวชิรมงคลสู่สนามบิน มีชาวบ้านยืนรอขบวนอัญเชิญพร้อมดอกไม้ธูปเทียน บางคนถึงกับน้ำตาใหลด้วยความปิตียินดีที่ครั้งหนึ่งในชีวิต ได้มีโอกาสกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ

กระทั่งเวลาราว 10.30 น. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม, นายนาเคศ สิงห์ (H.E. Mr. Nagesh Singh) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย, นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่, นายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ , นางชณิสา หาญภักดีปฏิมา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดกระบี่ ,ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980, นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รองเลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และบุคคลต่างๆ เดินทางมาถึง

ทั้งนี้ เมื่อพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ มาถึงยังสนามบิน ผู้แทนสาธารณรัฐอินเดียจะอัญเชิญเข้าสู่ห้องรับรอง พระเทพวชิรากร รองเจ้าคณะภาค 17  เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวชิรมงคล ประธานสงฆ์, ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และบุคคลต่างๆ ร่วมถวายพวงมาลัยดอกไม้สดสักการะ พร้อมทหารกองเกียรติยศจากนั้นได้อัญเชิญสู่เครื่องบินกองทัพอากาศ C130 ของอินเดีย  ไปยังกรุงเดลี สาธารณรัฐอินเดียต่อไป...

กระบี่///ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top