Saturday, 4 May 2024
ฝุ่นจิ๋วอันตราย

รู้จัก ‘PM2.5’ ฝุ่นจิ๋วสุดอันตราย บ่อเกิดสารพัดโรคร้าย พร้อมรู้แนวทางรับมือ-ดูแลตัวเอง ให้ปลอดภัยจากฝุ่นพิษ


ช่วงนี้เรื่องฝุ่น PM 2.5 ได้กลับมาเป็นหัวข้อที่คนเริ่มพูดถึงกันอีกครั้ง เนื่องจากผู้คนสมัยใหม่เน้นดูแลเรื่องสุขภาพมากขึ้น จึงกังวลเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบตา ระบบผิวหนัง นอกจากนี้ยังเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากภาวะเส้นเลือดอุดตันในสมองอีกด้วย 

ฝุ่นละอองขนาดขนาดเล็ก แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ 

1. ฝุ่นละเอียด เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ฝุ่นละเอียดเกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะและผลผลิตทางการเกษตร กระบวนการผลิตในโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรม ควันที่เกิดจากหุงต้มอาหาร นอกจากนี้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX) และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) จะทำปฏิกิริยากับสารอื่นในอากาศทำให้เกิดเป็นฝุ่นละเอียดได้

2. ฝุ่นหยาบ เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-10 ไมครอน (PM10) เกิดจากการจราจร, การขนส่งหรือฝุ่นจากการบดย่อยหิน

ปัจจุบันพบว่าหลายพื้นที่มีฝุ่นละเอียด (PM2.5) เกินระดับมาตรฐาน ซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศและความกดอากาศ ทำให้การลอยตัวและการกระจายตัวของฝุ่นละเอียดอยู่ในระดับต่ำ การไหลเวียนและถ่ายเทอากาศไม่ดี จึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละเอียดเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับควันไอเสียรถยนต์และรถบรรทุกในที่มีการจราจรหนาแน่นหรือเขตอุตสาหกรรม รวมทั้งการเผาป่าหรือการเผาพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป

>> ดัชนีคุณภาพอากาศ 0 - 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

-คุณภาพอากาศดีมาก

-สามารถทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งได้

 

>> ดัชนีคุณภาพอากาศ 26 - 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

-มีผลกระทบต่อสุขภาพเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ, หญิงตั้งครรภ์, เด็กเล็กหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว)

-ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกําลังกายกลางแจ้ง เช่น ปั่นจักรยานหรือวิ่ง

-เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น เช่น หายใจลําบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด   แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าหรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบพบแพทย์

 

>> ดัชนีคุณภาพอากาศ 38 - 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

-มีผลกระทบต่อสุขภาพปานกลางโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง

-ลดระยะเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้านหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง

-เมื่อต้องออกนอกบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกัน PM2.5

-หากมีอาการไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติหรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบพบแพทย์

-ผู้ที่มีโรคประจำตัว เตรียมยาประจำตัวให้พร้อมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top