Friday, 26 April 2024
ฝีดาษวานร

ฝีดาษลิงรายที่ 4 พบผู้ป่วยฝีดาษวานรรายที่ 4 ในไทย เป็นผู้หญิงใกล้ชิดต่างชาติเที่ยวกทม.

กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร รายที่ 4 ของประเทศไทย เป็นหญิงไทย มีประวัติเสี่ยงใกล้ชิดกับชายชาวต่างชาติ ที่สถานบันเทิง เบื้องต้นคาดว่าติดเชื้อจากการที่มีสัมผัสใกล้ชิด กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องค้นหาติดตามกลุ่มเสี่ยงต่อไป

(5 ส.ค. 65) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รับรายงานพบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร รายที่ 4 ของประเทศไทย เป็นหญิงไทย อายุ 22 ปี มีประวัติเสี่ยงไปเที่ยวสถานบันเทิง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ย่านที่ชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยว เป็นประจำประมาณสัปดาห์ละครั้ง และมีการสัมผัสใกล้ชิดกับชายชาวต่างชาติ โดยผู้ป่วยเริ่มมีไข้ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 แต่ยังไปเที่ยวสถานบันเทิงพร้อมเพื่อนชาวไทย และชาวต่างชาติ วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 เริ่มมีตุ่มขึ้นที่แขนขา แล้วลามไปทั่วร่างกาย ร่วมถึงอวัยะเพศ วันที่ 3 สิงหาคม 2565 จึงเดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และห้องปฏิบัติการที่ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก TRC-EIDCC โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยืนยันพบเชื้อฝีดาษวานร (Monkeypox virus) วันที่ 4 สิงหาคม 2565 ก่อนส่งตัวผู้ป่วยมารับการดูแลรักษาต่อที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค นับเป็นผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรเป็นรายที่ 4 และเป็นเพศหญิงรายแรกในประเทศ โดยผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นชายชาวไนจีเรียที่ภูเก็ต รายที่ 2 ชายชาวไทย ในกรุงเทพมหานคร และรายที่ 3 ชายชาวเยอรมันที่ภูเก็ต

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้กำชับให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี ประสานสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร เร่งติดตาม ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่เป็นเพื่อนร่วมห้องของผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ผู้สัมผัสคนอื่น ๆ และเร่งติดตามตัวชายชาวต่างชาติแล้ว และเน้นย้ำว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย ๆ ซึ่งจะติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดมาก ๆ จึงขอให้กลุ่มเสี่ยงเพิ่มความระมัดระวังและงดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้าเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษวานร

‘หมอยง’ เผย WHO กำหนดชื่อฝีดาษลิงเป็น Mpox แล้ว ช็อก!! ‘ไทย’ พบผู้ป่วยมากสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(2 ส.ค. 66) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘ฝีดาษวานร Mpox’ ระบุว่า

วานร องค์การอนามัยโลกกำหนดชื่อเป็น Mpox เพื่อไม่ต้องการให้ใช้ชื่อสัตว์ สถานที่ บุคคลมาตั้งชื่อ ให้เป็นตราบาป ดังเช่นถ้าเรียกฝีดาษลิง ทุกคนจะไปโทษลิง ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาดครั้งนี้

การระบาดทั่วโลกของฝีดาษ Mpox รวมทั้งสิ้น รวม 90,000 ราย พบมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทยมีรายงานแล้วมากกว่า 120 ราย สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะยอดในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากเดือนมิถุนายน ที่มีเทศกาล

โรคไม่รุนแรงจึงเห็นได้ว่าอัตราเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีการติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางด้านระบาดวิทยา สำหรับโรคที่ไม่รุนแรง จะยากในการควบคุม ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีการตรวจกรองเฝ้าระวัง การดูแลรักษา และวัคซีนป้องกัน ได้ดีกว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนกว่า

ในอนาคต โรคนี้คงไม่หมดไป เพราะเกี่ยวข้องกับสัมผัส เพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในกลุ่มพิเศษ และจะยังคงมีการระบาดในประเทศที่ระบบสาธารณสุข ที่ การควบคุม ป้องกัน และการศึกษา รวมทั้งวัคซีนในการป้องกันที่มีทรัพยากรน้อยกว่า

ประเทศไทยที่พบกว่า 100 ราย ก็ไม่ได้น้อย และยังมีการพบประปรายอยู่ตลอด แต่ความตื่นตัว ของโรคนี้ในปัจจุบัน น้อยกว่าในระยะแรกๆ เราจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ความเข้าใจ การระบาดของโรคโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดการระบาดในประเทศไทย

‘กรมควบคุมโรค’ ชี้!! ยอดผู้ป่วย ‘ฝีดาษวานร’ เริ่มพุ่ง พบเพศชายส่วนใหญ่ ผลพวงจากการมีเซ็กซ์ไม่ปลอดภัย พื้นที่น่าห่วงสุด!! ‘กทม.-นนท์-ชลบุรี’

(20 ส.ค. 66) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) หรือชื่อใหม่ว่า Mpox ในประเทศไทย ว่า โรคฝีดาษวานร เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสโดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ก็ได้ เช่น ไปสัมผัสผิวหนังบริเวณที่เป็นตุ่มหนอง แล้วรับเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่ขณะนั้นอาจจะมีผิวแตก หรือเป็นแผลก็ได้ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยถือว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะยังมีความสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่แล้ว และสามารถแพร่ต่อได้

“ในช่วงแรก ประมาณเดือนกรกฎาคม 2565 - เมษายน 2566 จะเป็นต่างชาติจำนวนหนึ่ง แต่ในการติดเชื้อช่วงหลังๆ นี้ ผู้ติดเชื้อเป็นคนไทยเกือบทั้งหมด (หรือเกือบ 100%) ส่วนต่างชาติที่ติดเชื้อช่วงหลังก็เป็นการมาติดเชื้อในประเทศไทย ไม่ใช่เป็นการนำเชื้อมาจากต่างประเทศแล้ว อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปยังไม่ต้องกังวลมาก หากไม่มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยง ประชาชนทั่วไปแทบไม่มีโอกาสติดเลย อย่างช่วง 2-3 เดือนหลังนี้ ไม่มีผู้หญิงติดเชื้อเลย มีแต่ผู้ชายที่มีความเสี่ยงทางเรื่องเพศ เพราะจากการสอบสวนโรคพบว่าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย” นพ.โสภณ กล่าว และว่าฝีดาษวานรนั้น พบในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2565 โดยระหว่างเดือนกรกฎาคม จนถึงเมษายน 2566 พบแค่ 20 กว่าราย แต่ต่อมาเดือนพฤษภาคม พบ 20 กว่าราย เดือนมิถุนายน พบเกือบ 50 ราย เดือนกรกฎาคม พบเป็นร้อยราย ส่วนเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าจะเป็นหลักร้อยรายเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง คือ มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย มีคู่นอนที่ไม่รู้จัก เวลาไปในที่ที่ปิดไฟมิดๆ ให้มีกิจกรรมทางเพศต่อ” นพ.โสภณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีผู้เสียชีวิตรายแรกในประเทศไทย ซึ่งมีรายงานว่าติดเชื้อฝีดาษวานร และมีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย เสียชีวิตด้วยเชื้อตัวไหน นพ.โสภณ กล่าวว่า คาดว่าจะเป็นสาเหตุร่วมกัน

“เพราะผู้เสียชีวิตรายนี้ไม่เคยรู้ตัวว่าติดเชื้อเอชไอวีมาก่อน เลยไม่เคยเข้ารับการตรวจรักษาเอชไอวีเลย เพิ่งมารู้ว่าติดเอชไอวีก็ตอนที่ติดเชื้อฝีดาษวานรแล้ว ดังนั้น ภูมิคุ้มกันจึงต่ำมาก เพราะปกติคนติดเชื้อเอชไอวี หากไม่ได้รับการรักษา เม็ดเลือดขาว ซีดี 4 จะน้อย ซึ่งรายที่เสียชีวิตนี้ พบว่ามีระดับซีดี 4 เหลือเพียง 16 เท่านั้น อีกทั้งยังมีโรคซิฟิลิสด้วย เมื่อติดเชื้อฝีดาษวานรเลยทำให้เกิดเชื้อรา ติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นๆ ตามมา” นพ.โสภณ กล่าว

เมื่อถามว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรขณะนี้ ซึ่งมีจำนวนมากที่พบว่าติดเชื้อเอชไอวีอยู่ก่อนแล้ว กลุ่มนี้ได้รับการรักษาเอชไอวีอยู่แล้วหรือไม่ กรณีที่มีการรักษาอยู่ก่อน หากรับเชื้อฝีดาษวานร จะทำให้โรคฝีดาษวานรแสดงอาการอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่รู้ตัวอยู่แล้ว และรับยาอยู่ แต่มีบางส่วนที่อาจจะไม่รู้ตัวว่าติดเอชไอวีมาก่อน ทำให้โรคฝีดาษวานร และการติดเชื้อเอชไอวีรุนแรงขึ้นจนเสียชีวิตเหมือนรายแรกที่เสียชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาเอชไอวี เมื่อติดเชื้อฝีดาษวานร ภูมิคุ้มกันต่ำจะทำให้ติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ กรณีที่ติดเชื้อเอชไอวี แล้วอยู่ในกระบวนการรักษา ได้รับยาต้านไวรัสสม่ำเสมอ จะไม่มีความผิดปกติอะไรที่แตกต่างจากคนที่ไม่ติดเชื้อ คือ ภูมิคุ้มกันใกล้เคียงปกติ

เมื่อถามว่า สถานการณ์ขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า น่าเป็นห่วงในกลุ่มเสี่ยงที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ส่วนประชาชนทั่วไปที่ไม่มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยง ไม่น่าห่วงมากนัก โดยพื้นที่ที่มีการติดเชื้อค่อนข้างมาก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงมาก

“ดังนั้น ขอให้ลดพฤติกรรมเสี่ยง เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่เชื้อกำลังเพิ่ม ถ้าเราสามารถลดพฤติกรรมเสี่ยง ก็จะปลอดภัย แต่หากไปมีความเสี่ยงมาแล้ว ก็ให้ตรวจสอบตัวเองว่า มีผื่น หรือตุ่มบริเวณที่สัมผัสหรือไม่ ทั้งอวัยวะเพศ ปาก หน้าท้อง แผ่นอก ถ้าลุกลามเป็นตุ่มหนองมากขึ้น บางคนมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีต่อมน้ำเหลืองโต ให้ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล สวมหน้ากากอนามัย เว้นการสัมผัสกับผู้อื่น ส่วนคนที่ไม่เป็นก็ขอให้ล้างมือบ่อยๆ อย่าใช้สิ่งของร่วมกับคนอื่น” นพ.โสภณ กล่าว

‘กรมควบคุมโรค’ เผย พัทยา-บางละมุง มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อ ‘Mpox’ พุ่ง พบส่วนใหญ่เป็นชายรักชาย เตือน!! ให้งดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า

(23 ก.ย.66) โดยมีรายงานจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในปัจจุบัน พบว่า อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือโรคฝีดาษลิง (Monkeypox หรือ Mpox) แล้วจำนวนหนึ่ง และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งยังพบว่ามีผู้เสียชีวิต

และผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายกลุ่มชายรักชาย ที่พักอาศัยในเขตเมืองพัทยา ซึ่งให้ประวัติสัมผัสโรคจากการมีเพศสัมพันธ์

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคขอให้ประชาชนเพศชายกลุ่มชายรักชายงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือเปลี่ยนคู่นอน หรืองดมีเพศสัมพันธ์ขณะที่ตนเองหรือคู่นอนมีไข้ หรือผื่น หรือตุ่มน้ำที่ปรากฏในร่างกาย เนื่องจากอาการเหล่านี้เป็นอาการในระยะแพร่โรค

อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดมีอาการสงสัยเป็นโรคฝีดาษวานร ให้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลบางละมุง หรือโรงพยาบาลเมืองพัทยา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดข้อแนะนำความรู้โรคฝีดาษวานรได้ตามลิงก์ https://ddc.moph.go.th/das/news.php?news=34402&deptcode=das 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top