Monday, 28 April 2025
ผู้ใหญ่บ้าน

'นพพล' จี้ 'อนุพงษ์' เร่งเพิ่มค่าตอบแทนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อัดเงินค่าตอบแทนผู้นำท้องถิ่นน้อยกว่าเงินเติมน้ำมันรถประจำตำแหน่ง 'อนุพงษ์'

นายนพพล เหลืองทองนารา ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่งบประมาณ 2566 ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หวังว่าพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการะทรวงมหาดไทย ใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

นอกจากนี้อยากให้กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน มากขึ้น ที่ผ่านมากำนันผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศไทยทำงานหนักมาก โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิดหลายพื้นที่ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปกป้องชีวิตคนในพื้นที่ ทั้งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิด การจัดหาเครื่องนอน การจัดหาอาหารการกิน การประสาน ทุกหน่วยงานเพื่อดูแลผู้ตดเชื้อให้มีอาการดีขึ้น 

นายนพพล กล่าวด้วยว่า เงินที่มาทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชน ส่วนหนึ่งจะมาจากการบริจาคจากนักธุรกิจในพื้นที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันบริจาค ทั้งเงินทั้งของกิน ของใช้ เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด ทั้งนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐไม่เคยมีจัดสรรงบประมาณสนับสนุนผู้นำท้องถิ่นกลุ่มนี้ แต่อย่างใด

10 สิงหาคม พ.ศ. 2435 ถือกำเนิด ‘ผู้ใหญ่บ้าน’ ครั้งแรก ที่บ้านเกาะ อ.บางปะอิน จ.อยุธยา พระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล) คือบุคคลแรกที่ถูกเลือก

ทุกวันที่ 10 สิงหาคม ถือเป็น ‘วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน’ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงจัดระเบียบการการปกครองท้องที่ ในระดับตำบลหมู่บ้านขึ้นใหม่ โดยให้ราษฎรทำการเลือกผู้ใหญ่บ้านเป็นครั้งแรกที่บ้านเกาะ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2435

โดยกำนันผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ พระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล)

“ต่อมาถึง พ.ศ. 2437 ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ได้ทรงเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา เมื่อลงมือจัดการปกครองท้องที่ พวกราษฎรชาวบางปะอินเลือกพระยารัตนกุลฯ เปนผู้ใหญ่บ้าน แล้วเลือกเป็นกำนันด้วยอีกชั้น…” (พระยารัตนกุลอดุยภักดี (จำรัส รัตนกุล) ใน “คำนำ โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” หนังสือลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ 2, พ.ศ. 2465)

ส่วนประวัติของ พระยารัตนกุลอดุลยภักดี หรือ นายจำรัส รัตนกุล (พ.ศ. 2402-65)) ผู้ใหญ่บ้านและกำนันคนแรกของประเทศไทย เกิดในรัชกาลที่ 4 ตรงกับวันอังคารที่ 22 พ.ศ. 2402 ปีมะแม เป็นบุตรหลวงพิเศษสุวรรณกิจ (ชื่น) รับราชการตำแหน่งสุดท้ายเป็นสมุหเทศาภิบาล จนเมื่อ พ.ศ. 2452 ก็กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง

และในวันที่ 10 สิงหาคม ของทุกปี จึงถือเป็น ‘วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน’

อาลัย!! ‘ผู้ใหญ่บ้านฯ’ ช่วยลูกบ้านเหตุดินถล่มที่แม่อาย ผลักน้องผู้หญิงรอด ส่วนตัวเองถูกพัดไหลไปกับโคลน

(12 ก.ย. 67) จากเหตุการณ์ดินสไลด์ที่บ้านดอยแหลม หมู่ที่ 13 ต.ดอยแหลม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีประชาชนเสียชีวิต จำนวน 6 ราย บาดเจ็บ 3 ราย เจ้าหน้าที่สามารถกู้ร่างผู้สูญหายได้แล้วทั้งหมด โดยร่างสุดท้ายที่พบคือ ‘นายธีรยุท สิริวรรณสถิต’ ผู้ใหญ่บ้านดอยแหลม หมู่ที่ 13 อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุไกลถึง 10 กิโลเมตร

ขณะที่ ‘นายเจตกรวีร์ จิรารัชต์พงศ์’ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านดอยแหลม หมู่ที่ 13 ตำบลดอยแหลม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ตนและผู้ใหญ่บ้านมาดูสถานการณ์ที่จุดเกิดเหตุเพื่อเคลียร์ดินที่สไลด์ลงมาออก และเปิดทางให้น้ำไหลผ่านได้ จังหวะนั้นได้ยินเสียงคนตะโกนบอกว่าดินถล่ม ทำให้ทุกคนต่างพากันวิ่งหนีกระเจิดกระเจิง โดยตนกับผู้ใหญ่บ้านวิ่งหนีไปคนละทาง กระทั่งภายหลังน้องผู้หญิงที่วิ่งหนีไปทางเดียวกับผู้ใหญ่บ้านที่รอดชีวิตเล่าว่า ผู้ใหญ่บ้านได้ผลักให้เธอออกไปให้พ้นแนวดินที่ถล่มลงมาทำให้ครั้งนี้เธอรอดชีวิตมาได้ ส่วนผู้ใหญ่บ้านที่วิ่งหนีไม่ทันถูกโคลนที่ถล่มลงมาจากภูเขาพัดร่างไหลลงไปกับโคลน

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ภรรยาของผู้ใหญ่บ้านได้โพสต์เฟซบุ๊กตามหาผู้ใหญ่บ้านที่ออกไปช่วยลูกบ้านแล้วสูญหายไป โดยระบุว่า “ตอนนี้น้ำป่าไหลหลาก พ่อหลวงไปช่วยชาวบ้าน และสูญหายยังหาไม่เจอ ขอพี่น้องอธิษฐานเผื่อพ่อหลวงด้วยค่ะ”

แล้วก็ได้โพสต์อีกว่า “ช่วยเหลือชาวบ้านจนวินาทีสุดท้าย ดินสไลด์มายังตะโกนบอกชาวบ้านหนี และผลักเด็กผู้หญิงออกมาจนรอด แต่ยังหาตัวเองไม่เจอ ขอพระเจ้าโปรดเมตตาด้วย”

ล่าสุดได้โพสต์ภายหลังพบร่างของผู้ใหญ่บ้านว่า “ตอนนี้เจอศพพ่อหลวงแล้ว ไหลไปติดที่บ้านโฮ่งแม่อาย ขอบคุณทุกคนที่อธิษฐานเผื่อ”

ทำให้ลูกบ้านและคนที่ทราบข่าว ก็ต่างเข้ามาแสดงความเสียใจเป็นจำนวนมาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top