Friday, 17 May 2024
ผู้แทนการค้าไทย

‘นลินี’ บิน ‘ญี่ปุ่น’ ดึง ‘SHARP’ ชวนลงทุน-ขยายฐานผลิตมาไทย ย้ำ!! ภาครัฐพร้อมหนุน เสริมข้อได้เปรียบ แถมสิทธิประโยชน์อื้อ!!

(11 พ.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผย ภายหลังเข้าร่วมพิธีเปิดงาน SHARP Tech-Day เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 111 ปี ของการก่อตั้งบริษัทชาร์ป และพบหารือกับนายโรเบิร์ต วู ประธานกรรมการบริษัท ชาร์ป คอร์ปอเรชัน ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ว่า นายโรเบิร์ตเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทชาร์ป ไทย เป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะได้รับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทชาร์ป เคยมีผลงานสำคัญ เช่น การจัดทำวิดีโอโปรโมทการท่องเที่ยวไทยร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อประชาสัมพันธ์บนโทรทัศน์ Sharp Aquos 8K ในหลายประเทศทั่วเอเชีย

ชาร์ปให้ความสำคัญกับไทย เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งในด้านที่ตั้ง และมีกำลังซื้อที่เติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโรงงานตั้งอยู่ในไทย 3 แห่ง คือ โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน โรงงานผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร และโรงงานผลิตโทรทัศน์ และยังสนใจจะพัฒนา AI Center และ Data Center เนื่องจาก ประเทศไทยมีบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมได้ในอนาคต โดยต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐของไทย เพื่อให้การดำเนินธุรกิจและขยายการลงทุนเป็นไปได้ด้วยดี

นอกจากนี้ การก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ชื่อ HORIZON+ ของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ที่ร่วมลงทุนกับบริษัท ปตท. ในไทยนั้น คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2567 โดยชาร์ปจะมีส่วนร่วมในการผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แผงวงจร หน้าจอรถยนต์

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ตนยังได้พบกับนายเคอิโซะ ฟูจิโมโต ผู้แทนบริษัท Kaneka Corporation ผู้ผลิตนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโฟมชั้นนำของญี่ปุ่น มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น โพลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

ปัจจุบัน Kaneka มีสำนักงานตั้งอยู่ใน 3 เมืองหลักของญี่ปุ่น คือ โตเกียว โอซากา และนาโกยา และร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ เช่น อังกฤษ เยอรมนี จีน และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังมีโรงงานผลิตอยู่ที่ จ.ระยอง ของไทยอีกด้วย โดย Kaneka เล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดอาเซียนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

ที่ผ่านมามีการลงทุนในมาเลเซีย แต่พบปัญหาเรื่องความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม จึงต้องการหันไปลงทุนในประเทศอื่น ซึ่งตนได้เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลให้การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ และไทยยังมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนทั้งภายใต้ BOI และ EEC ความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปอย่างภูมิภาคอื่นได้ และยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีที่ไทยมีกับประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย เพื่อช่วยเพิ่มความได้เปรียบทางด้านการค้าการลงทุนให้กับ Kaneka ได้เป็นอย่างดี

“แนวคิดหลักของการจัดงาน SHARP Tech-Day ครั้งนี้ คือ ‘Be a Game Changer’ หรือ เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคต โดยนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นแรงผลักดัน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน มีการจัดแสดงสินค้านวัตกรรมที่น่าสนใจ เช่น Super Silent Cleaner เครื่องดูดฝุ่นที่มีเสียงเบาแต่มีประสิทธิภาพสูง, High Speed Oven เครื่องอบความเร็วสูงที่สามารถอบเนื้อสัตว์ให้สุกได้ภายใน 5 นาที, Driver Monitoring Camera กล้องติดหน้ารถที่ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยประเมินประสิทธิภาพของคนขับรถเพื่อป้องกันการหลับใน เป็นต้น ซึ่งสามารถนำแนวคิดมาต่อยอดการพัฒนาในประเทศไทยต่อไปได้” นางนลินี กล่าว

‘รัฐบาลเช็ก’ สนใจลงทุน ‘รถยนต์-การแพทย์’ ในไทย เล็งเดินหน้าเจรจา FTA ‘ไทย-อียู’ ให้เสร็จตามแผน

(17 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยถึงการหารือกับนายปาเวล ปีเตล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย ว่า ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพของเช็ก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ โดยเช็กมีความสนใจที่จะสร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์กับไทย เพื่อดึงดูดให้บริษัทยานยนต์ของเช็กเข้ามาลงทุน พัฒนาเทคโนโลยี และตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการมาแล้วในอินเดีย เวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยบริษัทที่กำลังจะเข้ามาลงทุนในไทย คือ บริษัท สโกด้า (เครือโฟล์คสวาเกน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอีวี ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไทยด้วย 

นอกจากนี้ เช็กยังมีชื่อเสียงในด้านการผลิตสินค้าเพื่อการป้องกันประเทศ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และเครื่องมือแพทย์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างส่งเสริมให้บริษัทด้านการแพทย์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

นางนลินี กล่าวว่า เช็กเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยไทยมีสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ทั้งภายใต้บีโอไอและอีอีซี ปัจจุบันรัฐบาลมีแผนพัฒนาประเทศ เพื่อก้าวไปสู่การเป็น World’s Wellness Capital จึงเชิญชวนให้บริษัทด้านการแพทย์ของเช็กเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และร่วมกันพัฒนาทักษะของแรงงานไทยให้มีมาตรฐานมากขึ้น สำหรับบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในเช็กปัจจุบันมีหลายบริษัท เช่น บริษัท อินโด รามาเวนเจอร์ ที่ตั้งโรงงานผลิตวัสดุเสริมแรงในยางรถยนต์ และในปี พ.ศ.2567 นี้ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและสาธารณรัฐเช็กจะครบรอบ 50 ปี จึงเป็นโอกาสอันดีหากผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองประเทศได้มีโอกาสพบหารือกัน

นางนลินี กล่าวว่า ทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่า การเจรจาความตกลงเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างกัน อย่างไรก็ตามเอฟทีเอ ดังกล่าว ถือเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง ไทยจึงขอให้เช็กช่วยสนับสนุนการเจรจาให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ โดยแม้ความตกลงจะมีรายละเอียดมาก และอาจต้องใช้เวลาปรับตัวในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อผ่านไปได้จะเกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและนักลงทุนเป็นอย่างมาก

‘ผู้แทนการค้าไทย’ บุก ‘อินเดีย’ ดึงภาคเอกชน ร่วมลงทุนใน EEC ชูจุดเด่นทักษะแรงงาน-สิทธิพิเศษ พร้อมเร่งผลักดันการค้าทั้ง 2 ฝ่าย

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 67 นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ตนพร้อม นายดนย์วิศว์ พูลสวัสดิ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ และทีมประเทศไทย ได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท TATA ในภาคส่วนของยานยนต์ และเหล็ก โดย TATA เป็นบริษัทชั้นนำในอินเดีย มีมูลค่าตลาด กว่า 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10.7 ล้านล้านบาท โดยเชิญชวนให้จัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ในพื้นที่อีอีซี และใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกไปยังประเทศอื่น ในอาเซียน ชูจุดเด่นด้านทักษะแรงงาน สถานที่ตั้งและสิทธิพิเศษด้านการลงทุน

ในขณะที่การหารือกับผู้บริหารบริษัท Mahindra ที่เป็นบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ การให้บริการด้านไอที และเป็นบริษัทที่จัดจำหน่ายรถเทรคเตอร์มากที่สุดในโลก ซึ่งทางบริษัทจะเริ่มนำรถแทรกเตอร์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยภายในกลางปีนี้ และหากยอดขายเป็นไปตามเป้า ทางบริษัทจะพิจารณาการจัดตั้งโรงงานในไทย เพื่อจัดจำหน่ายในไทย และส่งไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทย และเป็นการส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ โดยตนพร้อมจะสนับสนุนและประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

นางนลินี กล่าวว่า นอกจากนั้น ได้หารือประธาน IMC Chamber of Commerce and Industry ซึ่งเป็นหอการค้าที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1907 และมีสมาชิกกว่า 5,000 คน โดยได้เสนอให้พัฒนาความร่วมมือระหว่าง IMC Youth และผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้า (YEC) เนื่องจากคนรุ่นใหม่ของ 2 ประเทศ จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน และผลักดันความสัมพันธ์ทางการค้าต่อไป

นอกจากนี้ ตนยังได้เชิญชวนให้ใช้อีอีซี เป็นฐานในการผลิตไฟฟ้าอีวี และยาและเวชภัณฑ์เพื่อขายในภูมิภาค สำหรับการหารือกับ Confederation of Indian Industry (CII) ทั้งนี้ตนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญด้านการเชื่อมโยง โดยเฉพาะโครงการถนนสามฝ่ายอินเดีย-เมียนมา-ไทย เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทางการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ตนยังได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการชาวอินเดียลงทุนในอุตสาหกรรมโรงแรม เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของนักท่องเที่ยวอินเดียในไทย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top