Thursday, 9 May 2024
ผลไม้

เพชบูรณ์ - มณฑลทหารบกที่ 36 สนับสนุนผลผลิตลำใย ที่ได้รับผลกระทบผลไม้ล้นตลาดและราคาตกต่ำ ของเกษตรกรในพื้นที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 36 ได้มอบลำไยพันธ์อีดอ (เกรดเอ) ให้กับกำลังพลของหน่วย โดยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากกรณีผลไม้ล้นตลาด และราคาตกต่ำของเกษตรในพื้นที่ อ.จอมทอง จว.ช.ม. จำนวน 25 ตัน ผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)

โดย มณฑลทหารบกที่ 36 สนับสนุนการรับซื้อลำไยจากเกษตรกรที่ได้รับ ผลกระทบ จำนวน 350 กิโลกรัม (117 ตะกร้า) ณ กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 36 ค่ายพ่อขุนผาเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์

'เกษตรฯ' ดันแผนบริหารผลไม้ภาคตะวันออกรับฤดูกาลเก็บเกี่ยว

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างนี้เรื่อยไปจนถึงประมาณเดือนกันยายน เป็นช่วงที่ผลไม้ภาคตะวันออกให้ผลผลิต ผลไม้สำคัญหลายชนิดโดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และเงาะ ปีนี้ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา คาดว่าผลผลิตทุเรียนปีนี้อยู่ที่ประมาณ 744,549 ตัน มังคุด 210,864 ตัน และเงาะ 210,646 ตัน 

มีสาเหตุเนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งสภาพอากาศที่เหมาะสม จำหน่ายได้ราคาดีตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกและบำรุงรักษาผลไม้ดังกล่าวกันมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ และเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพมาตรฐานของผลผลิตไม้ผลภาคตะวันออกตลอดทั้งฤดูกาล โดยในปี 2564 ที่ผ่านมานั้นไทยสามารถส่งออกผลไม้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้จะเผชิญกับปัญหาการขนส่งโลจิสติกส์จากค่าระวางที่สูงขึ้น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการปิดด่านหลายครั้งจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ดังนั้นในปี 2565 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้กำหนดเป้าหมายในการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกเพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออก สร้างความเชื่อมั่นสู่ผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศและการส่งออกผลไม้ต้อง Zero COVID เท่านั้น โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทำแนวทางและวิธีการปฏิบัติร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดตั้งชุดเฉพาะกิจร่วมกับฝ่ายปกครองในพื้นที่ เพื่อสกัดกั้นทุเรียนอ่อนในจังหวัดแหล่งผลิตที่สำคัญ 

‘จีน’ ไม่แผ่ว!! นำเข้า ‘ทุเรียนไทย’ ต่อเนื่อง แม้มี ‘ทุเรียนไหหลำ’ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ตลาด

เมื่อไม่นานนี้ กระแสข่าวทุเรียนที่ปลูกในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน เตรียมออกวางตลาดในประเทศช่วงปลายเดือนมิถุนายน ได้ก่อให้เกิดความสนใจในหมู่ผู้บริโภค

บรรดาคนวงในมองว่าการผลิตทุเรียนภายในประเทศของจีนไม่ได้มีแนวโน้มแปรเปลี่ยนทิศทางการบริโภคทุเรียนของจีนที่พึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก และ ‘ทุเรียนไทย’ ยังเป็นที่ต้องการของตลาดจีน

เนื่องจากการผลิตทุเรียนในจีนยังอยู่ระยะแรกเริ่มเหมือนเด็กทารกหัดตั้งไข่ ไม่ได้มีพื้นที่เพาะปลูกมากมาย รวมถึงมีไม่กี่มณฑลที่สามารถปลูกได้ ทั้งจีนยังเป็นประเทศผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ด้วย

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่แปลงปลูกทุเรียนของบริษัท ไห่หนาน โยวฉี อะกรีคัลเจอร์ จำกัด ในเมืองซานย่า ซึ่งถือเป็นฐานปลูกทุเรียนขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในปัจจุบันด้วยขนาด 1.2 หมื่นหมู่ (ราว 5,000 ไร่)

ปัจจุบัน ทุเรียนที่ฐานปลูกแห่งนี้เริ่มสุก และคาดว่าจะทยอยถูกเก็บเกี่ยวเพื่อส่งขายช่วงปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าทุเรียนเหล่านี้จะช่วยลดราคา หรือกระทบความต้องการทุเรียนนำเข้าหรือไม่

‘ตู้ไป่จง’ จากฐานปลูกทุเรียนแห่งนี้เผยว่าตอนนี้ไห่หนานมีการปลูกทุเรียนรวมกว่า 3 หมื่นหมู่ (ราว 12,500 ไร่) แต่มีทุเรียนสุกพร้อมส่งขายในปีนี้เพียง 1 พันหมู่ (ราว 416 ไร่) หรือคิดเป็นปริมาณราว 50 ตัน

แม้ไห่หนานจะเป็นแหล่งผลิตทุเรียนแห่งหลักของจีน แต่ยังคงมีพื้นที่ที่เอื้อต่อการปลูกทุเรียนอยู่อย่างจำกัดมาก โดยต่อให้มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 10 เท่า ก็ยังถือเป็นแหล่งผลิต ‘ขนาดเล็ก’ อยู่ดี

“การปลูกทุเรียนภายในประเทศอาจได้ลดต้นทุนในการขนส่ง แต่ผลผลิตยังเป็นส่วนน้อยมากสำหรับส่วนแบ่งของตลาด” ตู้ไป่จง กล่าว พร้อมเสริมว่าผู้ประกอบการไม่ได้คิดเร่งเพิ่มการลงทุนและพื้นที่ปลูกอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าด้วย

ดังนั้น ผู้บริโภคชาวจีนนั้นชื่นชอบ ‘ราชาแห่งผลไม้’ อย่างทุเรียนกันมากจนทำให้จีนกลายเป็นตลาดผู้บริโภคทุเรียนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยทุเรียนเกือบทั้งหมดในจีนมาจากการนำเข้า ซึ่งข้อมูลสถิติพบว่าจีนนำเข้าทุเรียนในปี 2022 สูงถึง 8.25 แสนตัน และส่วนใหญ่มาจากไทย

‘เฉินเหล่ย’ เลขานุการสมาคมการตลาดผลไม้แห่งประเทศจีน กล่าวว่าการผลิตทุเรียนในประเทศยังอยู่ในขั้นทดลองปลูกขนาดเล็ก ยังไม่มีการปลูกเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ดังนั้นยังไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนในระยะสั้นนี้

“ราคาทุเรียนจะทรงตัวอยู่ระดับสูงในระยะยาวเมื่อเทียบกับผลไม้อื่นๆ โดยทุเรียนถือเป็น ‘ผลไม้หรู’ ชนิดหนึ่งในจีน แม้จะมีทุเรียนที่ปลูกในประเทศออกวางตลาด แต่ด้วยการปลูกขนาดเล็ก ทำให้ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าทุเรียนปริมาณมากในระยะยาว” เฉิน กล่าว

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร ชี้ว่า ต่อให้สภาพอากาศจะเอื้ออำนวย แต่จีนจะยังคงเผชิญปัญหาความยากลำบากทางเทคนิค ในการเพาะปลูกทุเรียนขนาดใหญ่

‘โจวจ้าวสี่’ ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถาบันทรัพยากรพันธุกรรมพืชเขตร้อน สังกัดสถาบันการเกษตรเขตร้อนแห่งชาติจีน ระบุว่าทุเรียนเป็นพืชต่างถิ่น การปลูกต้นกล้าในประเทศจึงเป็นเรื่องยากในระดับหนึ่ง มีเงื่อนไขทั้งเรื่องอากาศ ความชื้น แสงแดด อุณหภูมิ ปุ๋ย และน้ำ

“แม้ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราค้นพบแนวทางการจัดการอย่างระบบน้ำหยดและบ่มเพาะต้นกล้าเตี้ย ๆ ที่ทนลมในไห่หนานได้ แต่การปลูกขนาดใหญ่ในท้องถิ่นทั้งหมดยังคงอยู่ขั้นทดลอง” โจว กล่าว

ปัจจุบันทุเรียนที่ปลูกในไห่หนานส่วนใหญ่เป็นต้นอ่อนไร้ผล และการปลูกยังคงเจอสารพัดปัญหาที่ต้องเอาชนะ ทั้งการเพาะและปลูกต้นกล้าคุณภาพสูง เทคนิคจัดการการปลูก และการควบคุมศัตรูพืช

คนวงในอุตสาหกรรมเชื่อว่า ไทยยังคงเป็นแหล่งทุเรียนนำเข้าแห่งหลักของจีนในระยะยาว เพราะทุเรียนไทยมีรสชาติอร่อยโดดเด่น เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบที่ทำให้ทุเรียนไทย จะยังครองตลาดการบริโภคทุเรียนของจีนในอนาคต

ด้านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ถือเป็นช่องทางหลักของการนำเข้าทุเรียนไทย

สถิติจากศุลกากรนครหนานหนิงของกว่างซี ระบุว่า ปริมาณการนำเข้าทุเรียนไทยผ่านด่านพรมแดนกว่างซี ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม สูงแตะ 1.5 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 381.1 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 5.51 พันล้านหยวน (ราว 2.69 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 403.9 เมื่อเทียบปีต่อปี

นครหนานหนิงของกว่างซีมี ‘ตลาดไห่จี๋ซิง’ เป็นตลาดค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดของเมือง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ค้าส่งทุเรียนอยู่ 32 ราย และปริมาณการค้าส่งทุเรียนในปีก่อนสูงราว 2.4 หมื่นตัน

ส่วนยอดจำหน่ายทุเรียนของตลาดฯ ช่วงเดือนมกราคมจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม รวมอยู่ที่ราว 1.7 หมื่นตันแล้ว ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 4 เท่า โดยมีทุเรียนหมอนทองของไทยครองตำแหน่งขายดีที่สุด

‘หวงเจี้ยนซิน’ ฝ่ายบริหารธุรกิจของบริษัทขนส่งสินค้าท้องถิ่นแห่งหนึ่ง เผยว่าแต่ละวันบริษัทรับรองการทำพิธีศุลกากรผ่านด่านโหย่วอี้ของทุเรียน 16 ตู้คอนเทนเนอร์ คิดเป็นปริมาณราว 200-300 ตัน

“ความต้องการและความนิยมทุเรียนไทยของตลาดผู้บริโภคชาวจีนนั้นสูงมาก ส่วนทุเรียนที่ปลูกในประเทศยังคงต้องรอผ่านบททดสอบเรื่องรสชาติก่อน” หวง กล่าว
.
‘โจวจ้าวสี่’ ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถาบันทรัพยากรพันธุกรรมพืชเขตร้อน สังกัดสถาบันการเกษตรเขตร้อนแห่งชาติจีน เสริมว่าจีนส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนที่มีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทุเรียนไห่หนานยังมีช่องโหว่ที่ต้องพัฒนาอีกมาก

“แม้จีนจะสามารถปลูกทุเรียนในประเทศได้ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านปัจจัยธรรมชาติและพื้นที่เพาะปลูก ทุเรียนนำเข้าจากไทยจึงยังจะเป็นส่วนเสริมสำคัญ” โจว กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : Xinhua Thai

‘บุฟเฟต์ทุเรียน’ ที่ปีนัง มาเลเซีย นุ่มลิ้นเหมือนกินคัสตาร์ด มีให้เลือกหลายสายพันธุ์ อิ่มได้ไม่อั้น แค่หัวละ 700 บาท!!

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘I will travel around the world’ ได้โพสต์ภาพร้อมข้อความเกี่ยว ‘บุฟเฟต์ทุเรียน MusangKing’ ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย โดยระบุว่า…

#มาเลเซีย
ปาร์ตี้ทุเรียนบุฟเฟต์ ปีนัง ประเทศมาเลเซีย
ร้านแบบนี้ฮิตมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ทุเรียนบ้านเขาจะรอสุกหล่นจากต้นแล้วเก็บเอามาทานทุเรียนบ้าน เม็ดเล็กๆ เนื้อบางๆ ขม บ้านเขาชอบกินทุเรียนเละๆ สุกๆ ซึ่งจะแตกต่างกับบ้านเรา  

บุฟเฟต์ที่นี่ หัวประมาณ 700 บาท กินไม่อั้น มีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งก้านยาว, D24, Musang King ร้านเปิดตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืน 

คนที่นี่พาลูกพาหลานมากันทั้งบ้าน ฟีลเหมือนมากินร้านไอติม

สำหรับพันธุ์ Musang King รสชาติค่อนข้างติดขมนิดๆ แต่เนื้อละเอียดเหมือนคัสตาร์ด ในร้านจะมีมังคุดให้ทานปิดท้าย

อิ่มมาก ออกจากป่ามาเจอบุฟเฟต์ทุเรียน 😆

‘น้องปาล์มมี่’ ช่วยแม่ขาย ‘น้ำลำไย’ เมนูคลายร้อนสุดฮิต ใช้ลำไยวันละ 70 กิโล ขายได้ 400 แก้ว สร้างรายได้ละวันหมื่น!!

ขนมาเท่าไรก็ขายหมด!! น้อง ม.6 ช่วยแม่หาเงิน ขายน้ำลำไย สร้างรายได้หลักหมื่นต่อวัน!!
ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา น้ำลำไย ถือเป็นเมนูคลายร้อนที่ได้รับความนิยมและยังฮอตฮิตไม่สร่าง กลายเป็นอาชีพ ขายน้ำลำไย ที่สร้างรายได้ได้ดีอาชีพหนึ่งเลยทีเดียว

เมื่อไม่นานนี้ ‘น้องปาล์มมี่’ น.ส.อภิสรา โกมลวัฒนะ สาวน้อยวัย 18 ปี จากโรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้ใช้เวลาว่างจากการเรียน มาขายน้ำลำไยในตลาดนัดกับครอบครัว ทำยอดขายต่อวันหลักหมื่น!!

น้องปาล์มมี่ เล่าว่า ปัจจุบันตนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทย์-คณิต ที่โรงเรียนสาธิตพิบูลบำเพ็ญ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยตั้งใจจะสอบเข้าในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพราะชอบวาดรูป นอกจากเรียน-ติวหนังสือ และซ้อมวอลเลย์บอลแล้ว เมื่อมีเวลาว่างก็ไปช่วยแม่ขายน้ำพริกไข่ปูที่ตลาดนัดเป็นปกติอยู่แล้ว

กระทั่งช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมากระแสของ น้ำลำไย ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก น้องปาล์มมี่จึงนำไอเดียที่ได้เห็นไปพูดคุยกับคุณแม่และคนที่บ้าน

“ปกติคุณแม่ขายน้ำพริกไข่ปูอยู่ที่ตลาดนัดอยู่แล้วค่ะ แล้วหนูเป็นคนชอบเล่นโซเชียล ก็ไปเห็นว่า ช่วงนี้คนเขานิยมน้ำลำไยกัน ใน TikTok นี่ดังมาก เลยเอาไปให้แม่ดูและคุยกันว่า มาลองทำกินทำขายดีไหม เพราะหนูก็อยากกินด้วย แล้วถ้าทำขายมันก็น่าจะรุ่งนะ เพราะในตลาดนัดที่แม่ขายอยู่ ณ ตอนนั้น ยังไม่มีร้านน้ำลำไยขายเลย พอคุยกันเสร็จแม่ก็บอกลองดูก็ได้ เขาก็อยากหาอะไรใหม่ๆ มาขายเหมือนกัน เพราะน้ำพริกไข่ปูมันก็ไม่ได้ขายดีเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ก็เลยเปิดเน็ตดูว่าคนอื่นๆ เขาทำน้ำลำไยกันยังไง ให้พ่อให้พี่ให้น้องช่วยกันชิม ช่วยกันทำช่วยกันปรับสูตร ใช้เวลา 1 อาทิตย์ค่ะ ก็ได้สูตรที่ลงตัว ก็ไปขายกับแม่ที่ตลาดนัดเลย ตอนนี้ก็เปิดมาได้ 5 เดือนแล้วค่ะ” น้องปาล์มมี่ กล่าว

โดยร้านน้ำลำไยของน้องปาล์มมี่ ใช้ลำไยสายพันธุ์พวงทองในการทำ เพราะน้องบอกว่า ลำไยพันธุ์นี้รสชาติหวานและหอมกว่าพันธุ์อื่นๆ

“วันแรกที่ขายเลย เตรียมลำไยไปแค่ 10 กิโลเท่านั้นค่ะ ออกจากบ้านตั้งร้านบ่าย 2 โมง ประมาณ 5 โมงก็ขายหมดแล้วค่ะ มันเกินคาด เพราะหนูกับแม่ไปตั้งร้านเร็วด้วย ก็จะได้ลูกค้ากลุ่มแม่ค้าพ่อค้าที่เขามาตั้งร้านกันมาซื้อเป็นกลุ่มแรกๆ วันต่อๆ ไปก็เตรียมของเพิ่มขึ้นทีละนิดๆ จนปัจจุบัน ใช้ลำไยประมาณวันละ 70 กิโลค่ะ หนูขายแก้วละ 40 บาท ถ้าใส่ขวดหรือถุงก็ 50 บาท มันก็ขายได้ประมาณ 300-400 แก้วต่อวัน” น้องปาล์มมี่ กล่าว

ในเรื่องการลงทุน น้องปาล์มมี่ บอกว่า ส่วนนี้น้องไม่ทราบตัวเลขแน่ชัด เพราะคุณแม่เป็นคนจัดการทั้งหมด และได้บอกมาว่า ใน 1 วันที่ลงทุนซื้อของทำน้ำลำไย ลงทุนในเรื่อง ลำไย 70 กก. x 150 บาท น้ำตาล 600 บาท เตย 120 บาท ถุงแก้ว สติกเกอร์ 500 บาท และ น้ำแข็ง ประมาณ 1,000 บาท

“จริงๆ มันก็รู้สึกเหนื่อยนะคะ แต่ว่ามันสนุก เพราะเวลาไปตั้งร้านขาย เพื่อนๆ ก็จะแวะมาหากันเยอะ แต่ถ้าเรียนเสร็จกลับบ้านมาเฉยๆ มันก็เบื่อค่ะ” น้องปาล์มมี่ กล่าว

นอกจากกิจการน้ำลำไยที่ทำอยู่ น้องปาล์มมี่ยังเผยอีกว่า คุณแม่ได้ทดลองทำน้ำลำไยที่ผสมใบเตยลงไป เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้ลูกค้า อีกทั้งยังมีแพลนจะต่อยอดทำเป็นรถ Food Truck เพื่อเปิดเป็นร้านสาขา 2 ด้วย

พิกัดร้าน น้ำลำไยสด ของน้องปาล์มมี่อยู่ที่ ตลาดโต้รุ่ง จังหวัดชลบุรี หรือสอบถามได้ที่เบอร์ 095-141-6428

‘วัยรุ่นดูไบเกาะสมุย’ รุมทึ้งมังคุด 10 กิโลฯ ภายใน 10 นาที หลังแกะกินเองไม่เป็น จนแม่ค้าผลไม้ว้าวุ่นต้องเข้ามาแกะให้

(19 ก.ย.66) จากกรณีผู้ใช้ชื่อ นัทธิชา เด๊กใต้ แม่ค้าผลไม้ ได้โพสต์โซเชียล เป็นภาพนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลาง ประมาณ 9 คน เช่ารถจักรยานยนต์ตระเวนเที่ยวรอบเกาะสมุย ล้อมวงรุมกินมังคุด ผลไม้ไทยอย่างเอร็ดอร่อย บริเวณริมเขื่อนชายทะเลหน้าทอน พร้อมข้อความ “แบบนี้สนุกพี่เขาล่ะ…แกะไม่เป็นต้องแกะให้ดู…10 นาที 10 กิโลฯ ไอ้เราก็ว้าวุ่นเลยทีนี้ #วัยรุ่นดูไบ”

ทั้งนี้ มีผู้เข้ามาคอมเมนต์แสดงความเห็นกันหลากหลาย อาทิ

- เซอร์วิสดีเริ่ด ได้ขายของด้วย เจ๋งมากเลยค่ะ
- ขับรถผ่านอยู่ค่ะว่าเขาสุมหัวมุงอะไรกันหลังรถเต็มเลย นึกว่าวัยรุ่นนักท่องเที่ยวตีกัน พอดูใกล้ๆ แต่ละคนถือมังคุดในมือกินกันแบบหน้าเขาดูอเมซิ่งมากกันทุกคนเลย เรานี่แอบยิ้ม
- ผลไม้บ้านเราราคาถูก รสชาติก็ดีที่สุด ต่างชาติเลิฟมากๆ เขาบอก
- แขกบอกมันสุดยอดไปเลยนั่งกินมังคุดสดๆ 4 โล 100 ริมทะเลหาได้ที่นี่ที่เดียวสมุย
- ใช่ค่ะ เพราะที่ดูไบผลไม้ของไทยแพงมาก มังคุด 8 ลูกราคาเกือบ 500 บาท
- อยากจะบอกว่าที่ออสเตรีย ขายแพ็คละ 350 บาท ได้ 4 ลูก

‘เวียดนาม’ ยิ้ม!! ‘ทุเรียน’ ผงาด 9 เดือนแรก ปี 66 แหล่งรายได้ใหญ่สุดในหมู่ ‘ผัก-ผลไม้’ ส่งออก

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ฮานอย เผยว่า สำนักข่าวท้องถิ่นของเวียดนามรายงานว่า มูลค่าการส่งออกทุเรียนของเวียดนาม ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2023 ทะลุ 1.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 5.89 หมื่นล้านบาท) ส่งผลให้ทุเรียนกลายเป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุด ในอุตสาหกรรมผักและผลไม้ของเวียดนาม

สำนักงานศุลกากรเวียดนามระบุว่า ตัวเลขข้างต้นสูงกว่าตัวเลขจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 14 เท่า

รายงานระบุว่า ยอดส่งออกทุเรียนแซงหน้าขนุน, แก้วมังกร, แตงโม, กล้วย และลิ้นจี่ จนขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่ง ครองสัดส่วนร้อยละ 38.7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของอุตสาหกรรมดังกล่าว

ปัจจุบัน ‘จีน’ ยังคงเป็นตลาดส่งออกทุเรียนที่สำคัญของเวียดนาม โดยเวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน 422 แห่ง และโรงบรรจุหีบห่อทุเรียน 153 แห่งที่ได้รับสิทธิส่งออกทุเรียนสู่จีน

อนึ่ง มูลค่าการส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนาม ช่วงเดือนมกราคม-กันยายน สูงถึง 4.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.52 แสนล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 72.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ยอดนำเข้า ‘ทุเรียนเวียดนาม’ สู่ ‘จีน’ พุ่งทะยานต่อเนื่อง หลังศุลกากรเปิดช่องทางพิเศษ หนุนการค้าทวิภาคีเติบโต

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, หนานหนิง รายงานข่าว ‘ด่านโหย่วอี้กวน’ ซึ่งเป็นด่านนำเข้าทุเรียนขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ และคุ้นเคยกับการนำเข้าทุเรียนจาก ‘ไทย’ เป็นหลัก ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนจาก ‘เวียดนาม’ นับตั้งแต่มีการอนุญาตทุเรียนเวียดนามเข้าถึงตลาดจีนเมื่อปีก่อน

‘หนงหลี่ชิง’ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนำเข้าและส่งออกแห่งหนึ่งในเมืองผิงเสียงของกว่างซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของด่านบกโหย่วอี้กวน สามารถประสานงานขนส่งทุเรียนสดใหม่ถึงมือลูกค้าในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ที่อยู่ใกล้เคียง และมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีนอย่างรวดเร็ว

“ปีนี้เรานำเข้าทุเรียนมากกว่า 1,600 ตู้คอนเทนเนอร์แล้วเมื่อนับถึงเดือนธันวาคม โดยนอกจากไทย เราได้เริ่มนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามด้วย” หนงกล่าว พร้อมเสริมว่าปัจจุบันมีการนำเข้าทุเรียนหลายสิบตู้คอนเทนเนอร์ในแต่ละวัน

อนึ่ง จีนนำเข้าทุเรียนในปี 2022 รวม 825,000 ตัน โดยข้อมูลศุลกากรระบุว่าการนำเข้าทุเรียนครองอันดับหนึ่งในหมู่ผลไม้นำเข้าของจีน คิดเป็นมูลค่า 4.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.43 แสนล้านบาท)

สำหรับทุเรียนเวียดนาม ซึ่งเป็นที่รู้จักว่ามีฤดูเก็บเกี่ยวยาวนานกว่าและราคาถูกกว่า ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงตลาดจีน ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในปี 2022 โดยปัจจุบันจีนกลายเป็นตลาดส่งออกทุเรียนแห่งหลักของเวียดนาม

“สักสิบกว่าปีก่อน ผลไม้จากประเทศอาเซียนอย่างทุเรียน มังคุด และมะพร้าว ถือเป็นของหายากในจีน แต่ตอนนี้พบเจอได้ตามแผงขายผลไม้ในแทบทุกเมืองใหญ่และมีราคาย่อมเยามากขึ้น” หวังเจิ้งโป๋ ประธานบริษัทผลไม้ในกว่างซี กล่าว

บริษัทของหวังก้าวเข้าแวดวงการนำเข้าทุเรียนเวียดนาม และลงนามสัญญากับสวนทุเรียนหลายแห่งในเวียดนาม ซึ่งมีพื้นที่รวมเกือบ 3,000 เฮกตาร์ (ราว 18,750 ไร่) เมื่อปีก่อน โดยหวังเผยว่าปีนี้มีแผนนำเข้าทุเรียนเวียดนามมากกว่า 3,000 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 60,000 ตัน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดจีน

‘ด่ง กวาง หาย’ นักธุรกิจชาวเวียดนามที่ทำธุรกิจเพาะปลูกทุเรียนในเวียดนามมานานนับสิบปี กล่าวว่าทุเรียนเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในจีน มีความต้องการจากผู้บริโภคและศักยภาพทางการตลาดสูงมาก

ปัจจุบันด่านโหยวอี้กวนกลายเป็นด่านบกสำหรับการแลกเปลี่ยนทางพรมแดน ระหว่างจีนและเวียดนามที่คึกคักและสะดวกมากที่สุด โดยสถานีตรวจสอบชายแดนขาเข้า-ขาออกที่ด่านโหยวอี้กวนได้รับรองยานพาหนะเข้าและออกในปีนี้ 400,000 คัน เมื่อนับถึงวันอังคารที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 122 เมื่อเทียบปีต่อปี

‘ถังซาน’ หัวหน้าศุลกากรด่านโหยวอี้กวน ระบุว่า ด่านโหยวอี้กวนเป็นด่านบกขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับส่งออกผลไม้เวียดนามสู่จีน มีรถบรรทุกขนส่งทุเรียน แก้วมังกร ขนุน และผลไม้อื่นๆ ของเวียดนามเข้าทำพิธีศุลกากรช่วงในฤดูกาลวันละเกือบ 300 คัน และมีการขนส่งทุเรียนเวียดนามช่วงนอกฤดูกาลวันละมากกว่า 30 ตู้คอนเทนเนอร์

“เราเริ่มนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเมื่อปีก่อน ทุเรียนเป็นหนึ่งในสินค้าผลไม้นำเข้าที่ขายดีที่สุด มีการจัดจำหน่ายทางออฟไลน์และออนไลน์ทั่วประเทศ” ‘ฟางช่วงเฉวียน’ ผู้ค้าผลไม้ในเมืองผิงเสียงกล่าว

โดยข้อมูลจากศุลกากรหนานหนิง ระบุว่า มูลค่าสินค้านำเข้าจากเวียดนามผ่านด่านโหยวอี้กวน ช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมของปีนี้ รวมอยู่ที่ 9.14 หมื่นล้านหยวน (ราว 4.47 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 271.8 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าผลไม้เวียดนาม 1.17 หมื่นล้านหยวน (ราว 5.73 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 637.9 โดยมูลค่าการนำเข้าทุเรียนรวมอยู่ที่ 1.11 หมื่นล้านหยวน (ราว 5.43 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3,084.2

การค้าทวิภาคีด้านผลิตภัณฑ์การเกษตรบนพรมแดนจีน-เวียดนาม ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยอานิสงส์จากการอนุมัตินำเข้าผลิตภัณฑ์การเกษตรหลายรายการจากเวียดนามสู่จีน กอปรกับการส่งออกผักผลไม้ที่มีคุณภาพจากกว่างซีสู่ตลาดเวียดนาม

นอกจากด่านโหยวอี้กวนแล้ว ด่านเหอโข่วในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ยังกลายเป็นด่านนำเข้าทุเรียนยอดนิยมของจีน นับตั้งแต่มีการอนุมัตินำเข้าทุเรียนผ่านด่านเหอโข่วเมื่อเดือนเมษายนปีนี้

‘ฟู่จิง’ ผู้ค้าผลไม้จากมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งคลุกคลีอยู่ในแวดวงการค้าผลไม้นำเข้ามานานมากกว่า 10 ปี ได้เริ่มนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเมื่อไม่นานนี้เช่นกัน โดยฝูบอกว่าขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่สะดวกรวดเร็วของด่านเหอโข่วเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราเลือกนำเข้าทุเรียนเวียดนาม

‘เหยาฉี’ ตำรวจหญิงประจำสถานีตรวจสอบชายแดนขาเข้า-ขาออกเหอโข่ว เผยว่า การนำเข้าทุเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากดึงดูดผู้คนมายังด่านเหอโข่วเพิ่มขึ้น มีบริษัทจำนวนมากเข้ามาตั้งสาขา หรือสำนักงานในอำเภออันเป็นที่ตั้งของด่านเหอโข่ว

ปัจจุบันด่านเหอโข่วรับรองยานพาหนะเข้าและออกเฉลี่ยวันละราว 700 คัน และจัดตั้งช่องทางด่วนสำหรับการทำพิธีการศุลกากร ของผลิตภัณฑ์การเกษตรและผลิตภัณฑ์ปลีกย่อย รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพของขั้นตอนพิธีการศุลกากรอย่างต่อเนื่อง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top