Saturday, 26 April 2025
ผลประกอบการ

ปตท. เผยผลประกอบการไตรมาส 1/2566 เป็นไปตามแผนธุรกิจ ใช้งบกว่า 20,000 ล้านบาท ฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19

เมื่อวานนี้ (11 พ.ค. 66) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากปัญหาความขัดแย้งและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มประเทศ OPEC และชาติพันธมิตร จนถึงสิ้นปี 2566 และเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ส่งผลให้ไตรมาส 1 ปี 2566 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) ที่ 104,008 ล้านบาท ลดลง 36,904 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.2 จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่จำนวน 140,912 ล้านบาท โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ซึ่งมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง เช่น กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลงจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ตามราคาปิโตรเคมีในตลาดที่ใช้อ้างอิง ประกอบกับปริมาณการขายลดลงและต้นทุนค่าเนื้อก๊าซสูงขึ้น สำหรับกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามปริมาณการขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ที่ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อยในไตรมาส 1 ปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 27,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,063 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.4 จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่จำนวน 24,792 ล้านบาท 

ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ยึดมั่นพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และประเทศให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 - 2565 ได้ใช้งบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบของภาคประชาชนจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาทิ การสำรองน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรล การตรึงราคา NGV การช่วยเหลือราคา LPG แก่หาบเร่แผงลอยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และการขยายเทอมการชำระเงินแก่ กฟผ. เพื่อลดภาระค่า FT เป็นต้น 

ทั้งนี้ ปตท. เร่งเดินหน้ากลยุทธ์ ‘ปรับ เปลี่ยน ปลูก’ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2583 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายใน ปี 2593 ด้วยการทำงานเชิงรุก ปรับกระบวนการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ พร้อมเปลี่ยน สู่ธุรกิจพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขยายสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการ ปลูกป่าเพิ่ม 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อการมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า ส่งเสริมอาชีพ และรายได้ของชุมชนในพื้นที่ ในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 4.15 ล้านตัน/ปี 

“ปตท. มุ่งมั่นดำเนินงานในทุกมิติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย สนับสนุนการใช้พลังงานแห่งอนาคต สร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าสมบูรณ์แบบ พร้อมศึกษาพลังงานไฮโดรเจน และพลังงานหมุนเวียน เพื่อเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพลิกฟื้นผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์ นำพาประเทศบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายอรรถพล กล่าวเสริม

‘แสนสิริ’ ท็อปฟอร์ม!! กำไรสุทธิ 9 เดือนแรกแตะ 4.7 พันลบ. สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 39 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา

(29 พ.ย.66) ปี 2566 เป็นปีของ ‘แสนสิริ’ จริง ๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การประกาศเดินหน้าลงทุน 22 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 36,000 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 4/66 ซึ่งเป็นช่วงโค้งท้ายปีที่คู่แข่งขันจำนวนหนึ่งกำลังอ่อนแรง

หากแต่ผลประกอบการ 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2566) สามารถทำผลงานโดดเด่น ทำให้บริษัทพกความมั่นใจว่าจนถึงสิ้นปีนี้ แสนสิริจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับผลประกอบการที่ดีที่สุดในรอบ 39 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท

โดย ‘วิชาญ วิริยะภูษิต’ ประธานผู้บริหารสายงานการเงิน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยผลประกอบการรอบ 9 เดือนแรกปี 2566 มีกำไรสุทธิ 4,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91% จากช่วงเดียวกันของปี 2565

โดยเป็นกำไรสุทธิเฉพาะไตรมาส 3/66 จำนวน 1,557 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

คำอธิบายส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมทุน โดยเฉพาะการร่วมทุนกับบริษัท โตคิว คอร์ปอเรชั่น การควบคุมและบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งแสนสิริมีแผนพัฒนาโครงการร่วมทุนกับพันธมิตรธุรกิจต่าง ๆ มากขึ้นในอนาคต

จุดโฟกัส คือ กำไรในงวด 9 เดือนปีนี้ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 39 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และมากกว่ากำไรสุทธิทั้งปีของปี 2565 ที่มีจำนวน 4,280 ล้านบาท

สะท้อนถึงการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพของบริษัท เพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคต และนับเป็นผลการดำเนินงานที่เติบโตตาม business direction ที่วางไว้

รายละเอียดรัว ๆ รายได้รวมรอบ 9 เดือนอยู่ที่ 28,047 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 70% ของเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ 40,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยเป็นรายได้รวมเฉพาะไตรมาส 3/66 ที่ 9,554 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/65 เป็นผลมาจากการเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งแนวราบและแนวสูง

“เป้ารายได้ทั้งปี 40,000 ล้านบาท ซึ่งงวด 9 เดือนเราบันทึกรายได้รวมไปแล้ว 28,047 ล้านบาท รายได้ที่เหลืออีก 12,000 ล้านบาท จะมาจาก backlog ของบ้านและคอนโดมิเนียมที่ขายแล้ว และกำลังทยอยส่งมอบ รวมถึงการขายโครงการใหม่ อาทิ เนีย บาย แสนสิริ และเศรษฐสิริ 5 โครงการใหม่”

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ SIRI ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2566 ในระดับ AA และติดอันดับหุ้นยั่งยืนต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

สะท้อนถึงแนวคิดของแสนสิริในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)

โดยการลงทุนในหุ้นยั่งยืนนี้ เป็นเทรนด์การลงทุนที่สำคัญของนักลงทุนทั่วโลกที่ใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุนในหุ้น ควบคู่ไปกับผลประกอบการทางธุรกิจ

ไฮไลต์ยังไม่หมด ล่าสุด แสนสิริ ได้รับความไว้วางใจให้เป็น Most Valuable Real Estate Brand 2023 หรือแบรนด์อันดับ 1 ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่มีมูลค่าแห่งอนาคตสูงสุดประจำปี 2023

โดยมีมูลค่าแบรนด์สูงสุดของวงการอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 1.46 หมื่นล้านบาท

โดยเป็นความร่วมมือของบารามีซี่ กรุ๊ป (Baramizi Group) และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการประเมินมูลค่าแบรนด์ ด้วยชุดเครื่องมือร่วมกันคิดค้นชุดใหม่ เรียกว่า Brand Future Valuation (BFV) ที่สามารถประเมินมูลค่าแบรนด์ได้รอบด้าน ทรงพลัง และสามารถประเมินไปถึงมูลค่าแบรนด์ในอนาคต

ปตท.สผ. เผย Q1/68 กำไรสุทธิ 1.6 หมื่นล้าน พร้อมส่งเงินเข้ารัฐกว่า 6.8 พันล้านบาท

(25 เม.ย. 68) ปตท.สผ. เผยความคืบหน้าการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2568 และความก้าวหน้าที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้ง สามารถนำส่งรายได้จากการดำเนินงานให้กับรัฐกว่า 6,800 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่าในไตรมาสที่ 1 และในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีความก้าวหน้าในการดำเนินธุรกิจหลายด้าน โดยล่าสุด ปตท.สผ. ได้ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่มของแหล่งอาทิตย์ กับ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ซื้อ เพื่อเพิ่มปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติต่อวันตามสัญญา (Daily Contract Quantity หรือ DCQ) ขึ้นเป็น 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมที่ปริมาณ 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2568 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประชาชน และส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 2568 ปตท.สผ. ยังได้เข้าซื้อสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเติมในบริษัท APICO LLC ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการสินภูฮ่อม แหล่งปิโตรเลียมบนบกที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ส่งผลให้ ปตท.สผ. ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในโครงการสินภูฮ่อมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90 จากเดิมร้อยละ 80.487 และได้รับปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในปี 2567 โครงการสินภูฮ่อมมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย 105 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสท 222 บาร์เรลต่อวัน

สำหรับการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ที่โครงการอาทิตย์ ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573 (Nationally Determined Contribution Action Plan Mitigation 2021-2030) แล้วในปี 2567 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการทำข้อตกลงต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) โดยคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 700,000 – 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี 

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง ต่อยอดองค์ความรู้ รวมทั้ง การพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไปในอนาคต 

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 1 ปี 2568 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 74,196 ล้านบาท (เทียบเท่า 2,185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 484,218 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอัตราการผลิตปิโตรเลียมของโครงการ G1/61 ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 45.74 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จึงส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 นี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 16,561 ล้านบาท (เทียบเท่า 488 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ปตท.สผ. ได้นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ ในไตรมาส 1 ปี 2568 จำนวนกว่า 6,800 ล้านบาท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐยังได้รับส่วนแบ่งของผลผลิตปิโตรเลียมจากโครงการ G1/61 และ G2/61 ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) เป็นรายได้ทางตรงจากการผลิตปิโตรเลียมที่รัฐนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอีกส่วนหนึ่งด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top