Tuesday, 29 April 2025
ป้ายรถเมล์

เปิดมุมมืดในอเมริกา อันตราย ต้องระวังตัวไว้  ต้องมีสติในการท่องเที่ยว และต้องดูแลตัวเองให้ดี

ผู้ใช้ TikTok ที่มีชื่อว่า bemolibeam (เบโมลิบีม) ได้โพสต์คลิปสั้น เกี่ยวกับ ประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีใจความว่า ...

รวมมุมมืดในอเมริกา 
1 ทุบรถคือเรื่องปกติ สามารถพบเจอเศษกระจกได้โดยทั่วไปแจ้งตำรวจก็ไม่ได้ความคืบหน้า ไม่ค่อยจะได้อะไรเท่าไหร่ ที่ท่องเที่ยว แม้จะคนเยอะแต่ก็ไม่ปลอดภัย อาจจะต้องจ้างคนเฝ้ารถไว้ตลอดเวลา เราจึงไม่ควรเลือกขับรถเที่ยวที่ซานฟรานซิสโก 
2 คนไร้บ้านคือเรื่องปกติ สามารถพบเจอคนไร้บ้านทะเลาะกับคนกวาดถนนได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะทำอะไรเราเท่าไหร่ แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เพราะบางคนอาจจะมาตื้อขอเงิน 
3 รถไฟฟ้าใต้ดินเก่าและน่ากลัวมากๆ เป็นที่เสียขวัญของเรามากที่สุด จากประสบการณ์ที่ได้เข้าเมืองมาจากสนามบิน ก็ได้พบเจอกับแก๊งคนผิวสีที่ถือวิทยุและเปิดเพลงดังๆ กำลังรีดไถเงินคนอเมริกา อยู่ 
4 ถนนไม่ค่อยสะอาด สามารถเจอเศษอาหาร คราบขนม หรือบางครั้งก็เป็นรอยของสีที่คนเอามาสาดเล่น 
5 บางครั้งย่านอันตรายก็อยู่ติดกับย่านที่ปลอดภัยแค่เพียง 1 ช่วงตึก 
6 ป้ายรถเมล์ไม่มีบอกว่าเป็นป้ายรถเมล์ มีแค่กระดาษติดไว้แค่แผ่นเดียว ถ้าไม่มองให้ดีก็จะไม่เห็น 
7 อย่าเดินคนเดียวตอนกลางคืนเพราะยิ่งดึกยิ่งไม่ปลอดภัย 
8 เจอรถตำรวจเปิดไซเรนวิ่งอยู่ตลอดเวลา สำหรับที่นี่คือเรื่องปกติเพราะอาชญากรรมเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ต้องดูแลตัวเองให้ดี 
9 ตามสถานที่ท่องเที่ยวชอบมีคนมาพ่นสี เลยทำให้สถานที่สวยงามต้องเสียไปหมด 

และนี่คือตัวอย่างแต่ถ้ามีสติและดูแลตัวเองให้ดี ก็ไม่ได้น่ากลัวอะไรมาก

‘เพจดัง’ เปิดภาพ ‘ป้ายรถเมล์’ รักษ์สิ่งแวดล้อม แถวช่องนนทรี ชาวเน็ตจวกยับ!! เหตุมีสภาพ ‘แคบ-พื้นผิวไม่เรียบ-ขึ้นลงลำบาก’

(7 ส.ค. 67) กลายเป็นภาพที่สังคมให้ความสนใจ และหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในโลกโซเชียลฯ หลังเพจสะท้อนปัญหาทางเท้า อย่าง ‘ฟุตบาทไทยสไตล์’ โพสต์ภาพป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง ที่ถูกนำมาติดตั้งไว้อยู่ในพุ่มไม้ริมฟุตบาท ที่มีสภาพทั้งแคบและพื้นผิวไม่เรียบ ประชาชนเดินทางอย่างลำบาก

โดยระบุว่า “เรื่องใหม่ครับ ฟุตบาท ถนนนราธิวาส #ช่องนนทรี แถวสถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรี ป้ายรถเมล์ที่เพิ่งทำใหม่ เป็นจุดจอดรถเมล์ ป้ายขึ้นลงรถ…ต้องแหวกแนวพรมแดนธรรมชาติ เพื่อขึ้นไปบนฟุตบาทครับ คงเป็นป้ายรถเมล์แบบใหม่รักษ์สิ่งแวดล้อม”

งานนี้หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีชาวเน็ตเข้ามาแชร์ประสบการณ์ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความปลอดภัยกันเพียบ

เพราะป้ายรถเมล์ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเดินทางในระบบขนส่งมวลชนของประชาชน และยังเป็นที่พักพิงสำคัญสำหรับการรอคอยที่แสนยาวนานอีกด้วย การมีป้ายรถเมล์ดี ๆ คือ หนึ่งในความอุ่นใจของผู้ใช้บริการที่จะช่วยให้รู้สึกปลอดภัย

สำหรับคอมเมนต์บางส่วนนั้น ต่างระบุว่า…

- ตามภาพ+ในเมื่อเป็นสถานที่ป้ายรถเมล์+ให้คนเขายืนรอ เมื่อรถเมล์เข้าจอดเพื่อให้คนรอเขาเดินขึ้นรถ+แต่ขอให้คณะจนท.ที่ทำ+ควรเคลียร์ให้พื้นที่โล่งพอสมควร+เพื่อจะได้ดูดี+และเพื่อความสะดวกของคนที่ยืนรอรถเมล์ด้วย
- สักพักมี​ ปชช.ตามริมฟุตบาทเสียชีวิต ไม่ใช่อุบัติเหตุรถชนนะงูกัด!
- อยากรู้เหมือนว่า การกำหนดตำแหน่งป้ายรถเมล์ ใครเป็นคนทำ แถว ๆ บ้านก็มีแบบนี้เหมือนกัน มั่วไปหมด ระยะห่างระหว่างป้ายแต่อัน ก็ไม่มีระยะที่แน่นอน เหมือนกับเอาที่xูสบายใจ ตามใจคนปักป้าย

ป้ายรถเมล์ ถูกเทปูนจนมิด เหลือแต่เก้าอี้ ชี้!! ผลงาน ‘สำนักการโยธา กทม.’

(7 ธ.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘สนามข่าวเมืองปราการ’ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า …

‘ไม่คุยกันอีกแล้ว รื้ออันไหนทำใหม่ดีล่ะ 7-11 ตรง ซ.เทพรัตนโมลี 21 ถ.หลวงแพ่ง’ 

พร้อมกับแนบภาพป้ายรถเมล์แห่งหนึ่ง ที่ระบุว่า อยู่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อชื่อดัง ซอยเทพรัตนโมลี 21 ถนนหลวงแพ่ง เป็นภาพที่กำลังก่อสร้างทางเดินเท้าใหม่ ทำให้มีการเทปูนทับพื้นเดิม ส่งผลให้ความสูงของพื้นปูนนั้น ขึ้นมาอยู่เทียบเท่ากับที่พักนั่งรอรถเมล์ของเดิม จนชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากนั้น

ลักษณะงานเป็นการปรับปรุงผิวจราจรและทางเท้า ท่อระบายน้ำ ฝาระบายทั้งระบบ แต่ภาพที่ได้เห็นไม่มีการรื้อศาลาที่พักผู้โดยสารออก กลับเทคอนกรีตทับไปเลย จากเก้าอี้นั่งปกติกลายเป็นเก้าอี้ไว้สำหรับนั่งพับเพียบตามมารยาทไทย

ในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างก็เหมือนเดิมตามสไตล์ กทม. ข้อมูลในระบบแจ้งว่าใช้วิธีประมูลงานแบบอีบิดดิ้ง แต่มีผู้ซื้อซอง ยื่นซอง เสนอราคา แค่เจ้าเดียวแล้วก็คว้างานไป

ชื่อโครงการปรับปรุงถนนหลวงแพ่ง ช่วงจากสำนักงานประปาสาขาสุวรรณภูมิ ถึงคลองพระยาเพชร พื้นที่เขตลาดกระบัง-กทม.

งบประมาณ 177,677,660 บาท

เลขที่โครงการ 66119124096

งานนี้ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขด่วน!!

‘ชัชชาติ’ แจง!! ป้ายรถเมล์โฉมใหม่ หลังละ ‘2.3 แสน - 3.2 แสน’ เป็นราคากลาง ชี้!! ไม่ได้ทำกันง่ายๆ วีลแชร์ต้องผ่านได้ คนใช้ทางเท้า ต้องเดินสะดวก กันแดดกันฝน

(9 ก.พ. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้แจงกรณีการก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางโฉมใหม่ ที่วิจารณ์ว่าค่าก่อสร้างสูงเกินความเป็นจริง ว่า กทม. มีที่หยุดรถประจำทาง 5,601 แห่ง แต่มีศาลาที่พักผู้โดยสารเพียง 2,520 แห่ง คงเหลือเต็นท์ชั่วคราวกว่า 3,000 แห่ง จึงมีความจำเป็นต้องก่อสร้างเพิ่มเติม โดยไม่ได้รื้อศาลาที่มีอยู่เดิม โดยการก่อสร้างต้องรื้อฟุตปาธออก เชื่อมต่อสาธารณูปโภคใต้ดิน เดินสายไฟเพิ่ม และก่อสร้างเฉพาะเวลากลางคืน เพื่อไม่ให้กีดขวางการสัญจร

โดยประเด็นค่าก่อสร้างราคาแพง นายชัชชาติ กล่าวว่า เป็นราคากลาง สามารถตรวจสอบได้ และทำตามระเบียบขั้นตอนของทางราชการ ชี้แจงได้ว่าก่อสร้างอย่างไร ฐานรากเท่าไหร่ มีการประกาศขึ้นเว็บไซต์ให้ผู้เข้าร่วมประมูลแข่งขัน ระหว่างขั้นตอนการจัดทำทีโออาร์ก็ไม่มีผู้ใดร้องเรียน แม้จะเปิดกว้างแต่ไม่ค่อยมีใครมาประมูล เพราะเป็นงานยาก พื้นที่อยู่กระจัดกระจายห่างกัน ซึ่ง กทม.ไม่ได้ปิดกั้น ผู้ประกอบการรายใดที่เคยทำงานก่อสร้างมูลค่าประมาณหลักล้านบาท ไม่ว่าเป็นของส่วนราชการหรือเอกชน ก็สามารถประมูลเข้ามาได้ ตอนนี้ก็เพิ่งทำไปได้ไม่กี่แห่ง ถ้าใครบอกว่าทำราคาได้ถูกกว่าแล้วก็เชิญเลย 6-7 หมื่นบาทก็ดีเลย ช่วยประหยัดได้อีก ตนยิ่งดีใจ เชิญมาร่วมประมูลได้เลย

ขณะที่ประเด็นความสวยงาม นายชัชชาติ กล่าวว่า ศาลาที่พักผู้โดยสารไม่ได้ทำได้ง่าย ต้องไม่เป็นพื้นที่ปิดล้อม วีลแชร์ต้องผ่านได้ คนใช้ทางเท้าเดินสะดวก กันแดดกันฝนได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถปิดกั้นด้านข้างได้ เพราะต้องให้วีลแชร์ผ่านได้ ถ้าความสวยงามก็ยังดีกว่าในจุดเดิมที่ไม่มีร่มเงา หรือเป็นเต็นท์ การออกแบบเกิดจากห้องทดลองเมือง (CITY LAB) มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มาช่วยออกแบบ มีการจัดทำใน 2 รูปแบบ คือ Type M มี 3 ที่นั่ง และ Type L มี 6 ที่นั่ง ปรับใช้ตามความเหมาะสมของขนาดพื้นที่ เน้นประโยชน์ใช้สอย ไม่บดบังอาคารพาณิชย์ ซึ่งป้ายรถเมล์ทั่วประเทศ ก็พยายามออกแบบมาให้เรียบง่ายที่สุด อย่างไรก็ตาม ยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกคน สามารถแนะนำเรื่องการออกแบบมาได้

ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมไม่ให้เอกชนก่อสร้าง นายชัชชาติ กล่าวว่า หลายปีก่อนหน้านี้มีเอกชนมาทำให้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ฟรี บริษัทเอกชนมาช่วยปรับปรุงป้ายรถเมล์ที่มีอยู่เดิม 350 แห่ง และช่วยบำรุงรักษา 341 แห่ง รวม 691 แห่ง ซึ่งเป็นการปรับปรุงดูแล ไม่ได้เป็นการสร้างเพิ่มขึ้นมาใหม่ เอกชนมาทำให้ แต่แลกกับการใช้พื้นทางเท้าติดตั้งป้ายโฆษณารูปแบบป้ายสี่เหลี่ยม (แท่งไอติม) จำนวน 1,170 ป้ายทั่ว กทม. เป็นระยะเวลา 10 ปี ที่บอกว่าทำไมไม่ให้เอกชนทำฟรี ก็ต้องแลกกันกับการติดป้ายโฆษณา เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเก่าแล้ว ไม่อยากพูดอะไร มันมีที่มาที่ไป ถามว่าจะอยากแค่ให้ไปติดป้ายโฆษณาเพิ่ม ตนก็ไม่อยากให้ติดเพิ่ม เพราะจะดูเลอะเทอะมากขึ้นไปอีก

"ถ้าคนที่บอกว่าราคาแพงไป ก็มาช่วยกันทำราคาให้ถูกลงยิ่งดีเลย เราไม่ได้ปิดกั้นอะไร แล้วตอนที่เราให้ทำ ประชาพิจารณ์ก็เสนอแนะมาได้เลย แต่ทุกอย่างก็ได้ทำตามระเบียบอยู่แล้ว ศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ จะต้องมีความแข็งแรงมั่นคง ถ้าเกิดมันล้มทับคนมันก็มีความผิด มันมีเรื่องปัจจัยเสี่ยงในการทำงาน สุดท้ายนี้ขอขอบคุณที่ช่วยกันแนะนำเข้ามา เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกแล้ว ป้ายรถเมล์ทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมดอยู่ 5,601 แห่ง เป็นป้ายที่เป็นศาลาที่พักฯเพียง 2,520 แห่ง เอกชนรับไปดูแลปรับปรุง 350 แห่ง ไม่ได้สร้างใหม่ ป้ายที่เป็นเต็นท์ชั่วคราว 3,000 แห่ง เราไม่ได้รื้อของเก่าออกไป แต่เราสร้างขึ้นใหม่ ส่วนเรื่องป้ายโกโรโกโส อยู่ที่คนมอง แต่ละคนอาจจะมองไม่เหมือนกัน อาจจะเทียบกับแบบเก่าแบบใหม่ แต่เชื่อว่ามันก็ดีกว่าไม่มี แล้วก็อย่างที่บอกว่าเราไปออกแบบให้มันปิดกั้นไม่ได้ บางทีวีลแชร์ต้องผ่าน ที่นั่งแล้วก็ทำเป็นที่ที่ยาวไม่ได้ เพราะว่าเราก็กลัวคนจะมานอน ก็ต้องทำเป็นที่นั่ง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้กันทั่วโลก ทั้งหมดนี้เราก็ชี้แจงให้รับทราบถึงการปรับปรุงศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง" นายชัชชาติ กล่าว

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ก่อนหน้านี้ สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ได้ติดตั้งศาลาที่พักผู้โดยสารรูปแบบใหม่ มี 2 รูปแบบ คือ Type M ขนาด 2.3 x 3 เมตร มีจำนวน 3 ที่นั่ง และ Type L ขนาด 2.3 x 6 เมตร มีจำนวน 6 ที่นั่ง โดยในปีงบประมาณ 2566 ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 30 หลัง ปีงบประมาณ 2567 ก่อสร้างแล้วเสร็จ 60 หลัง อยู่ระหว่างก่อสร้าง 29 หลัง และปีงบประมาณ 2568 ได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง 300 หลัง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ กลายเป็นที่วิจารณ์ว่าแม้จะดูดีแต่ใช้ประโยชน์หลบแดดหลบฝนไม่ได้ ไม่เหมาะกับภูมิอากาศประเทศไทย สู้ศาลาริมทางแบบเดิมไม่ได้ อีกทั้งที่นั่งมีจำนวนน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับคนรอรถเมล์เยอะ

ทำให้นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทม. ได้ดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ Type M แบบ 3 ที่นั่ง ราคาประมาณหลังละ 230,000 บาท และ Type L แบบ 6 ที่นั่ง ราคาประมาณหลังละ 320,000 บาท งบประมาณที่ใช้ดำเนินการก่อสร้างครอบคลุมงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค งานฐานรากคอนกรีตเสริมเหล็ก งานเชื่อมประกอบโครงสร้างเหล็ก งานหลังคา Metal sheet งานรางน้ำ งานม้านั่ง งานระบบไฟฟ้าแสงสว่างภายใน และงานบรรจบไฟฟ้าสาธารณะกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นต้น ราคาค่าก่อสร้างศาลารถโดยสารรูปแบบใหม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเมื่อประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคาจึงต่ำลงอีก

นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่มทั้งผู้รอรถโดยสาธารณะและผู้ใช้งานทางเท้า ด้วยแนวคิด ‘ศาลารอรถเมล์ใหม่สำหรับทุกคน’ จึงออกแบบใหม่รองรับการใช้งานของผู้พิการ (Universal Design) มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถบังแดดบังฝนด้วยหลังคาขนาดใหญ่และแผ่นอะคริลิกใสด้านหลัง มีพื้นที่นั่งคอยเหมาะสม สวยงามกลมกลืน ไม่บดบังทัศนียภาพ ไม่สร้างจุดอับสายตา ที่สำคัญ คำนึงถึงการประหยัดพื้นที่ทางเท้า ไม่กีดขวางทางเดิน กระทบผู้ใช้งานทางเท้า การก่อสร้างแต่ละจุดจึงจำเป็นต้องรัดกุมเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคใต้ดินและแนวหน้าร้านของเอกชน ซึ่งล้วนมีรายละเอียดและข้อจำกัดที่แตกต่างกันและต้องใส่ใจอย่างมาก

“รถโดยสารสาธารณะเป็นรูปแบบการเดินทางหลักของคนกรุงเทพมหานคร รวมถึงผู้มีรายได้น้อยและนักเรียน-นักศึกษา ปัจจุบันมีการใช้งานมากกว่า 7-9 แสนเที่ยวต่อวัน การพัฒนาศาลารอรถเมล์เป็นหนึ่งในหัวใจในการดึงดูดให้ประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะ ควบคู่การเพิ่มป้ายหยุดรถโดยสารในจุดที่ขาด และการบอกข้อมูลการเดินทางและระยะเวลารอรถโดยสาร ซึ่งอยู่ระหว่างการขอข้อมูล GPS รถโดยสารสาธารณะจากกรมการขนส่งทางบกอีกด้วย” นายสิทธิพร กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top