Saturday, 18 May 2024
ปานปรีย์พหิทธานุกร

อดีตผู้แทนการค้ายุคทักษิณ-กุนซือเพื่อไทย  มัด!! 'พิธา' กุเรื่อง 'ถูกคลุมหัว-อายัดบัญชี'

(27 เม.ย.66) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะอดีตผู้แทนการค้าไทยสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ปี2549 กล่าวกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์อ้างว่าเดินทางกลับจากนิวยอร์กหลังถูกรัฐประหารปี 49 ซึ่งโดยสารเครื่องบินลำเดียวกับนายปานปรีย์ว่า ก่อนเครื่องขึ้นจากนิวยอร์ก มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งนำนายพิธามาฝาก โดยระบุว่าฝากน้องพิธากลับไทยด้วย แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่านายพิธามาจะมาเล่นการเมืองอะไรในอนาคต ขณะนั้นเข้าใจเพียงว่าเป็นน้องคนหนึ่ง ที่อาศัยเครื่องบินกลับมา เมื่อเครื่องมาถึงกรุงเทพฯ ตนก็ไม่คิดว่าจะเจออะไร เพราะได้ส่งนายทักษิณที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษแล้ว

"แต่เมื่อเครื่องถึงสนามบินดอนเมือง เครื่องบินลำดังกล่าวกลับจอดนิ่งประมาณครึ่งชั่วโมง ท่าทางไม่ค่อยดี ซึ่งตนในฐานะหัวหน้าคณะเดินทาง จึงเดินไปบอกคนในเครื่องรวมถึงนายพิธา ว่าเราคงไม่ได้ลงที่ดอนเมือง ตอนนี้เครื่องมาจอดที่ บน.6 แล้วขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบ เชื่อว่าไม่มีปัญหาเพราะเราไม่ใช่นักการเมือง"

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนั้นนายพิธาขึ้นเครื่องในฐานะที่เป็นทีมงานนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ในขณะนั้น หรือเป็นแค่คนไทยที่อาศัยเครื่องบินเดินทางกลับประเทศ นายปานปรีย์ กล่าวว่า ทราบเพียงว่าเป็นหลานของนายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตเลขาส่วนตัวนายกฯ ทักษิณ

‘ปานปรีย์’ ยัน!! ปรับขึ้นเงินเดือน ‘ข้าราชการ’ แน่นอน เตรียมชง ครม.พิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม 28 พ.ย.นี้

(24 พ.ย. 66) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวถึงการประชุมพิจารณา เรื่องการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า การประชุมดังกล่าวได้พิจารณารายละเอียดครั้งสุดท้าย ว่าอะไรที่ทำได้ในเวลานี้ อะไรที่ยังทำไม่ได้ และอะไรที่จะทำต่อไปในอนาคต แต่จะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการแน่นอน ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ตนขอนำเสนอเรื่องนี้เพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ก่อน เพราะ ครม.มอบหมายให้ตนกำกับดูแล

เมื่อถามว่า จะขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการระดับใดบ้าง และขึ้นเงินเดือนกี่เปอร์เซ็นต์ นายปานปรีย์ กล่าวว่า ขอให้รอดูรายละเอียดหลังจาก ครม.ให้ความเห็นชอบ

สถานทูตเมียนมา ส่งหนังสือลับถึง ก.ต่างประเทศไทย ห้ามจัดกิจกรรม  หวั่นกระทบความสัมพันธ์ ‘ปานปรีย์’ ไม่ไปร่วมงาน ด้าน ‘โรม’ ย้ำทำเพื่อสันติ

เมื่อวันที่1 มี.ค. 67 หนังสือราชการลับที่สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยส่งถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทย ลงวันที่ 1 มีนาคม 2024 นั้น มีเนื้อความระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา ขอคัดค้านอย่างรุนแรงต่อรัฐสภาของไทย ที่จะจัดสัมมนาดังกล่าว โดยระบุว่า จะสร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี ระหว่างเมียนมากับไทย และขอให้รัฐบาลไทยแจ้งให้รัฐสภาทราบถึงความกังวลของรัฐบาลเมียนมา และไม่ให้จัดกิจกรรมใดๆ ที่อาจขัดขวางความสัมพันธ์อันดีในอนาคต

สำหรับงานสัมมนาเมื่อวานนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดิมมีกำหนดขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ แต่ได้ยกเลิกหมายดังกล่าวไปโดยไม่ได้ระบุเหตุผล 

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศไทยปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น เช่นเดียวกับ โฆษกกองทัพเมียนมาที่ยังไม่ออกมา แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่อย่างใด

ทั้งนี้ เมียนมาตกอยู่ในสถานการณ์วุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2021 

ด้าน รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การสัมมนาที่รัฐสภาจัดขึ้นนั้นขัดแย้งกับความต้องการของรัฐบาลไทยที่ต้องการจะมีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารเมียนมา โดยการทำงานร่วมกับกองทัพเมียนมาและกลุ่มอื่นๆ เพื่อปูทางไปสู่การเจรจาร่วมกัน 
.
“การสัมมนาที่จัดโดยคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐสภาเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยมากขึ้น” รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว

สำหรับงานดังกล่าว รัฐสภาไทยได้เชิญตัวแทนของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมามาร่วมพูดคุยด้วย 

“สิ่งที่เราทำในวันนี้เป็นก้าวแรกในการนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ มาพูดคุยกัน” รังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้จัดการสัมมนา กล่าว “มันจะปูทางไปสู่การแก้ปัญหาทางการเมืองสำหรับเมียนมาอย่างสันติและยั่งยืน” 

การสัมมนา ‘3 ปีหลังรัฐประหาร สู่ประชาธิปไตยเมียนมา และผลกระทบต่อความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย’ จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ในวันที่ 2-3 มีนาคม 2024 วิทยากรประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือรัฐบาลเงาเมียนมา และกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลเมียนมา

2 รองนายกฯ ลั่น!! ไม่มีวันเอาเขตแดนไปแลกผลประโยชน์ อาณาเขตของประเทศไทยเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค.67) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาการอภิปรายทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 นั้น

ต่อมา เวลา 20.10 น. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ชี้แจงว่า ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเกิดขึ้นมาช้านานแล้ว มีการแบ่งเขตไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชาเริ่มมาตั้งแต่ปี 2513 จนกระทั่งทั้งสองประเทศไม่สามารถตกลงเรื่องไล่ทวีปได้ เพราะต่างคนต่างไปกำหนดเขตไหล่ทวีปกันเอง โดยกัมพูชาเริ่มก่อน โดยกำหนดเมื่อ พ.ศ. 2515 ส่วนประเทศไทยได้กำหนดในปี 2516 ต่อมาในปี 2544 ได้มีการลงนามบันทึกความตกลง (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทย และกัมพูชา และได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างไทยกัมพูชาด้านเทคนิคหรือเจทีซี ในปี 2557 รัฐบาลได้อนุมัติการเจรจาบนพื้นฐานเอ็มโอยู 2544 ซึ่งเอ็มโอยูยังคงดำรงต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ และทำไมการเจรจาไม่เสร็จสิ้นใช้เวลายาวนานมาก ซึ่งนายคำนูณพูดว่าตรงนี้เป็นขุมทรัพย์ทางทะเลที่มีมูลค่ามหาศาล อาจจะเป็นเพราะเนื้อหาในการเจรจามีประเด็นที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน และอ่อนไหวทั้งทางการเมืองภายในและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องดินแดนและผลประโยชน์ของชาติ

นายปานปรีย์ กล่าวต่อว่า ตนทราบมาว่า ภายหลังปี 2544 มีการเจรจาที่เป็นทางการเพียง 4 ครั้ง และไม่เป็นทางการอีก 8 ครั้ง แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด และเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นโอกาสที่นายกฯ กัมพูชา มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และได้มีการหารือเจรจาในเรื่องของทวิภาคีหลายเรื่องระหว่างประเทศ ในเรื่องโอซีเอ ก็ได้มีการพูดคุยกันและสองฝ่ายก็มีการตกลงกันว่าเห็นพ้องที่จะประสานการหารือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรใต้ทะเล ในพื้นที่ทับซ้อน โดยหารือควบคู่กับการแบ่งเขตทะเล ซึ่งคิดว่า มีความชัดเจนในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคที่จะต้องพิจารณาว่าการเดินต่อตามเอ็มโอยูจะเดินต่อหรือไม่ ส่วนเรื่องแบ่งเขตแดน จะต้องเจรจาควบคู่กับการแบ่งผลประโยชน์หรือไม่ ตนคิดว่าควรจะเจรจาควบคู่กันไป ซึ่งเวลานี้กระทรวงการต่างประเทศไม่มีอำนาจในการที่จะเข้าไปตัดสินใจหรือจะให้ความเห็นใด ๆ เนื่องจากคณะกรรมการเจรจายังไม่ได้รับการแต่งตั้งเพราะต้องผ่าน ครม.

รมว.ต่างประเทศ กล่าวต่อว่า ส่วนเขตหลักทะเลเส้นลาดผ่านทับเกาะกูดนั้น ไม่มีข้อสงสัยอยู่แล้ว เนื่องจากหนังสือยืนยันระหว่างกรุงสยามกับฝรั่งเศส ค.ศ.​1907 ข้อ 2 ระบุชัดเจนว่ารัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนด้านซ้ายและเมืองตราด เกาะทั้งหลาย ซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูดนั้น ตนคิดว่าจึงไม่มีประเด็นโต้แย้งใด ๆ เหนือเกาะกูดของไทย ดังนั้นเกาะกูดเป็นของไทยแน่นอน และคงต้องแบ่งเขตไล่ทวีปให้ชัดแน่นอน เพราะถ้าแบ่งไม่ชัดก็จะไม่มีใครทราบว่า พื้นที่ของของกัมพูชาหรือของไทย ส่วนที่เป็นห่วงว่า จะมีขายชาติ เสียดินแดน ละเมิดอธิปไตย สิ่งเหล่านี้ตนเชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน รักชาติเท่ากันหมด ไม่มีใครคิดที่จะเอาชาติไทย หรือดินแดนของไทยไปยกให้ใครทั้งสิ้น และการที่เราจะใช้พลังงานที่อยู่ใต้ทะเลนำขึ้นมาใช้คงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 10 ปี ในเวลานี้เรื่องพลังงานเราก็กำลังมีปัญหาอยู่ เพราะฉะนั้นการเจรจาจะต้องเร่งดำเนินการภายใต้ความรอบคอบ ไม่ให้เราเสียผลประโยชน์ของชาติต่อไป

ด้าน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า ขอยืนยันไม่ว่าจะเป็นตนหรือนายกฯ รองนายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เราทุกคนรักประเทศไทยและเราก็หวงดินแดนไทย โดยเฉพาะตน วันนี้ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่ต้องห่วงตน จะไม่มีวันเอาทรัพยากรของชาติมาแลกกับเส้นเขตแดน ผลประโยชน์ของชาติ ความเป็นไทย เขตแดน อาณาเขตของประเทศไทยเป็นอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น ตนทราบว่า ปัญหาเรื่องพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับประเทศ การต้องเตรียมพร้อมเรื่องความพร้อมของพลังงาน แก๊ส เป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ว่าจะสำคัญอย่างไร ขอให้ท่านมั่นใจว่า ไม่มีอะไรสำคัญกว่าความเป็นไทย เอกราชและอาณาเขตของประเทศไทย 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top