Wednesday, 1 May 2024
ปัตตานี

5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ - ค่ายสิ่งแวดล้อมธรรมชาติเขาใหญ่ “สานใจไทยสู่ใจใต้” รุ่นที่ 38

วันที่ 6-8 เมษายน 2564 มูลนิธิรัฐบุรุษ มูลนิธิรักเมืองไทย และมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จัดค่ายสิ่งแวดล้อมธรรมชาติเขาใหญ่ ในโครงการ “สายใจไทย สู่ใต้” รุ่นที่ 38 ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยมีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี (ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ) เป็นประธานในพิธี และนายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการ มีเยาวชนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และสตูล จำนวน 320 คน เข้าร่วมโครงการ

สำหรับกิจกรรมของค่ายฯ ในวันที่ 6 เมษายน 2564 เวลา 16.30 น. คณะเยาวชนฯ เดินทางมาถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เข้าพักที่อาคารค่ายเยาวชนสุรัสวดี ช่วงค่ำแบ่งเยาวชนออกเป็น 2 กลุ่ม สลับกันเข้าร่วมกิจกรรม 2 กิจกรรม ได้แก่ การบรรยายโครงการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติ และการส่องสัตว์ศึกษาชีวิตสัตว์ป่าเวลากลางคืน

วันที่ 7 เมษายน 2564 เวลา 10.30 น. เป็นพิธีเปิดค่ายสิ่งแวดล้อมธรรมชาติเขาใหญ่ โครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่นที่ 38 โดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และบรรยายพิเศษ เรื่อง “การอนุรักษ์ธรรมชาติ” การจัดกิจกรรมอวยพรวันสงกรานต์ มอบของแก่คณะเยาวชนฯ ปลูกต้นไม้ ถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึก และกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ในภาคบ่ายเป็นกิจกรรมเข้าฐานศิลปะและดนตรี ประกอบด้วย ฐานสร้างสรรค์งานศิลป์จากวัสดุธรรมชาติ ฐานวาดภาพด้วยดินสอถ่านชาร์โคล ฐานวาดภาพแอบแสตรกต์ ฐานดนตรี ฐานดนตรีสากล ฐานภาพพิมพ์จากวัสดุธรรมชาติ และฐานภาพพิมพ์โฟมอัด ของชมรมศิลปะนางรองพิทฯ รร.นางรองพิทยาคม กลุ่มศิลปะเด็กบ้านลูกพิมพ์ และรร.เกล้าปัญญา จ.บุรีรัมย์ ส่วนในภาคกลางคืนเป็นการแสดงของเยาวชนฯ ทั้ง 5 จังหวัด และกิจกรรมอำลา ซึ่งก่อนพิธีเปิดค่ายฯ มีการสร้างบรรยากาศด้วยเสียงเพลงอย่างสนุกสนาน จากโจนัส แอนเดอร์สัน และร้องเพลงต้นไม้ของพ่อก่อนปลูกต้นไม้อีกด้วย

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ‘...ขอฝากให้เยาวชนช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยให้ทุกคนปลูกต้นไม้อย่างน้อยปีละ 1 ต้น รวมทั้งให้ทุกคนทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะคนที่ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็จะเป็นคนดีด้วย คนไม่ดีก็มักจะทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และขอให้การจัดกิจกรรมในโครงการฯ บรรลุตามวัตถุประสงค์ต่อไป...”

วันที่ 8 เมษายน 2564 เวลา 06.30 น. คณะเยาวชนฯ เดินทางจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และทัศนศึกษาอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาต่อไป


ภาพ/ข่าว  สมพุด เกตขจร ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดบุรีรัมย์

ปัตตานี - เลขาธิการ ศอ.บต.พร้อมผู้บริหาร ลงพื้นที่เยี่ยมวัดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วย นายกฤษฎา เคลือบมณี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (สงป.) นายวิสันติ์ ประเสริฐศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.(รง.) นายอิสระ ละอองสกุล ผู้อำนวยการกองประสานและเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่พิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เยี่ยมวัดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ประกอบด้วย วัดพรหมประสิทธิ์ (เจ้าคณะอำเภอ พระครูสิริพรหมสุนทร) ตำบลบ้านนอก อำเภอปะนาเระ วัดประจันตคาม (พระครูปัจจันเขตบริรักษ์ เจ้าอาวาส) ตำบลบ้านนอก อำเภอปะนาเระ วัดปิยาราม (เจ้าคณะอำเภอ พระครูอุมธรรมาทร) ตำบลปินามุมัง  อำเภอยะหริ่ง และวัดกุสาวดี (วัดตาแกะ) (พระพันธ์ ธมมวิโส เจ้าอาวาส) ตำบลตาแกะ อำเภอยะหริ่ง โดยมี เจ้าคณะอำเภอ เจ้าอาวาส หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ บัณฑิตอาสาฯ และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อเยี่ยมสร้างขวัญกำลังใจและมอบกระเช้าแก่เจ้าคณะอำเภอ เจ้าอาวาส พร้อมพบปะเจ้าหน้าที่ส่วนงานราชการในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชนไทยพุทธในพื้นที่ ทั้งนี้เป็นการส่งเสริมทางศาสนาทุกศาสนาให้เป็นศูนย์กลางในการปลูกฝังจริยธรรม รวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา จชต. ที่เป็นนโยบายที่ ศอ.บต. กอ.รมน.ภาค 4 สน. และหน่วยงานในพื้นที่ร่วมส่งเสริมสนับสนุนตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาวัดร้าง วัดไม่มีพระสงฆ์ การซ่อมแซมบูรณะวัด การพัฒนาพื้นที่โดยรอบของวัดใน จชต. อีกด้วย

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการเยี่ยมพบปะสร้างขวัญและกำลังใจแก่พี่น้องประชาชนในยามที่วิกฤติสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่และจากสถานการณ์เหตุการณ์ในพื้นที่ จชต. ที่ผ่านมาทุกส่วนได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาซึ่งดีขึ้นตามลำดับ ด้วยการฟื้นฟูให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมท่ามกลางความหลากหลายทางศาสนาแต่สามารถดำรงชีวิตกันได้อย่างสันติสุข และขอให้ทุกส่วนราชการเติมเต็มการช่วยเหลือในด้านกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อสาธารณประโยนช์สร้างการมีส่วนร่วมที่ดี รวมทั้งขอให้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 อย่างเคร่งครัด มั่นใจได้ว่าเราจะข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

ปัตตานี - จัดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ 12 อำเภอ บรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรในสถานการณ์การโควิด-19เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ 26 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00 น. หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดปัตตานี ได้บูรณาการเปิดให้บริการประชาชนภายใต้โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานี

นายชาลี สิตบุศย์ เกษตรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า การจัดงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 14 หน่วยงาน กิจกรรมภายในงานมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ การปล่อยขบวนรถคาราวานออกให้บริการความรู้และปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกร ณ จุดให้บริการในพื้นที่ทั้ง 12 อำเภอ มีเป้าหมายเกษตรกร 360 ราย เพื่อให้บริการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างรวดเร็วทั่วถึงและครบถ้วน เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

ปัตตานี - ศอ.บต. ร่วมสนับสนุนกิจกรรมทอดกฐิน ปี 64 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำนุบำรุง แหล่งศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ จชต.

นายวิสันติ์ ประเสริฐศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมพิธีทอดกฐินพระราชทาน พร้อมถวายปัจจัย ในนาม ศอ.บต. เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทอดกฐิน ประจำปี 2564  โดยมีพระสิริจริยาลังการ รองเจ้าคณะภาค 18 /เจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสรพระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนางสุดา ก่อเกียรติพิทักษ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

สำหรับพิธีทอดกฐินพระราชทาน ณ วัดตานีนรสโมสร พระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน ให้ นางสุดา ก่อเกียรติพิทักษ์ ตามที่ขอพระราชทานเพื่อน้อมนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ซึ่งจากการทำบุญในครั้งนี้รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,111,111 บาท

จากนั้นในเวลาต่อมา ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ได้เดินทางไปร่วมพิธีทอดกฐินสามัคคี ณ วัดกุหร่า หรือวัดเกาะอภินิหาร บ้านสวนโอน ตำบลเปียน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา พร้อมถวายปัจจัยในนาม ศอ.บต. เพื่อสมทบทุนบูรณะวัด และก่อสร้างเสนาสนะ เป็นที่พักให้กับพระภิกษุ ใช้ในการทำกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งเป็นแหล่งศูนย์รวมจิตใจ ของพี่น้องประชาชนไทยพุทธในพื้นที่ โดยมี ข้าราชการ หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม ภายใต้การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

สำหรับวัดกุหร่า หรือวัดเกาะอภินิหาร เป็นวัดตามทำเนียบของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลา ซึ่งสันนิษฐานว่า สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยก่อนหน้านี้เกือบ 50 ปีไม่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา และตั้งแต่ปี 2563 ได้มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา 2 รูป ประจำวัดแห่งนี้ โดยศูนย์พัฒนาและส่งเสริมพระพุทธศาสนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะสงฆ์จังหวัดสงขลา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้จัดให้มีการทอดผ้าป่าสามัคคีขึ้น เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในการก่อสร้างเสนาสนะ เพื่อเป็นที่พักให้กับพระภิกษุและใช้สอยในการทำกิจกรรมทางศาสนา เป็นขวัญกำลังใจ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ ตลอดจนฟื้นฟูให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ตามระเบียบการปกครองของคณะสงฆ์ต่อไป ซึ่งจากการทำบุญในวันนี้ รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น กว่า 830,000 บาท

 

‘อธิบดีผู้พิพากษา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง’ เป็นประธานในพิธีอบรมและปฏิญาณตนของผู้พิพากษาสมทบ ในศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดสงขลา - ปัตตานี - สตูล และนครศรีธรรมราช

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08.45 – 16.00 น. ที่ผ่านมา ณ โรงแรม บีพี สมิหลา บีช สงขลา นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เป็นประธานในพิธีอบรมและปฏิญาณตนของผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา จำนวน 42 คนจังหวัดปัตตานี 26 คน จังหวัดสตูล 21 คน และจังหวัดนครศรีธรรมราช 36 คน รวมทั้งสิ้น 125 คน 

โดยได้รับเกียรติจากมี นางสาววิไล จิวังกูร ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9 นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา/ นายปัญญา ช่อมณี อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 / นายก่อเกียรติ สุพลพงษ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 9 / นายประคอง เตกฉัตร อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 / นายสถาพร ประสารวรรณ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 / นางวิรา ยากะจิ ณ พิกุล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล 

‘รมว.เฮ้ง’ ร่วมคณะนายก ลงปัตตานี พบปะสมาชิกกลุ่มเลี้ยงปูดำทะเล สร้างรายได้ชุมชน พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจอาสาสมัครและบัณฑิตแรงงาน 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพื่อตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพบปะสมาชิกกลุ่มเลี้ยงปูดำทะเล และประชาชนที่เชื่อมโยงกลุ่มอาชีพปูดำไปยังอาชีพอื่น โดยมี นายเกริกไกร นาสมยนต์ ผู้ตรวจราชการกรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรืออากาศเอกหญิงศุภพร อยู่วัฒนา ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม เข้าร่วมด้วย ณ ศูนย์เรียนรู้การเพาะเลี้ยงปูทะเล บ้านโต๊ะโสม ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี 

โดย นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายให้กระทรวงแรงงานบูรณาการช่วยเหลือและพัฒนาแรงงานไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการส่งเสริมดูแลกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้สามารถต่อยอดการประกอบอาชีพไปสู่ผู้ประกอบการ SMEs ได้ในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานผู้สูงอายุ แรงงานคนพิการ รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งจังหวัดยะลา เป็นเมืองท่องเที่ยวยั่งยืน คุณภาพชีวิตมั่นคง เกษตรมั่งคั่ง 

ทั้งนี้ มีแกนนำอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) ระดับตำบล และบัณฑิตแรงงานจังหวัดปัตตานี ซึ่งทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร งาน และภารกิจของกระทรวงแรงงานแก่ประชาชนในพื้นที่ มาร่วมให้การต้อนรับ โดยนายกรัฐมนตรีได้พบปะให้กำลังใจ และชื่นชมที่ช่วยเหลือภารกิจกระทรวงแรงงานและประชาชนในพื้นที่ 

นายธีวินท์ สิริบำรุง บัณฑิตแรงงานประจำตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่บัณฑิตแรงงานมา 14 ปีแล้ว มีความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการเชื่อมโยงภารกิจกระทรวงแรงงานไปสู่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ในวันนี้ดีใจที่ท่านนายกรัฐมนตรีและท่านรัฐมนตรีแรงงานได้มาเยี่ยมให้กำลังในการปฏิบัติงานเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพวกเราและประชาชนในพื้นที่ 

นราธิวาส - “นิพนธ์” ร่วมคณะนายกฯ ลงยะลา - ปัตตานี ติดตามงานพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้ พร้อมประสาน ก.เกษตรฯ ขยายพันธุ์ปูทะเล

นายอับดุลนัสเซอร์ หะมิ พัฒนาการอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย , นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมคณะลงพื้นที่ติดตามงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในมิติงานสำคัญ

ได้แก่ การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ผ่านโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” การบริหารจัดการด้านความมั่นคง และชายแดน การบริหารจัดการนำการดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 และการเตรียมการภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเชิงพื้นที่ในพื้นที่ รวมทั้งการติดตามการปฏิบัติราชการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในโครงการ “การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ภายใต้กรอบแนวทาง “1 ข้าราชการ ศอ.บต. 1 ครัวเรือนยากจน” พร้อมกันนี้ ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อีกด้วย 

ช่วงบ่ายลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการโครงการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมืองปูทะเลโลก ณ กลุ่มเลี้ยงปูดำทะล อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ตามกรอบแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดย ศอ.บต. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงปูทะเลให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ ร่วมกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนรวมทั้งมีการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่

ในการนี้ นายนิพนธ์ ได้ประสานงานให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้ทำความตกลงกับท่านอธิการบดี มอ. ในการตกลงร่วมมือกันเพิ่มพันธุ์ปูทะเล ให้มากขึ้นกว่าปัจจุบันโดยกระทรวงเกษตรฯ พร้อมสนับสนุนงบประมาณ ในการขยายพันธุ์ปูทะเล

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวว่า สำหรับข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีความพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการของรัฐบาลทุกประการ ซึ่งผมเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถื่นและอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งทั้งสองกรม มีงบประมาณส่วนหนึ่งและบุคลากรเต็มที่ทุกตำบลทั่วประเทศสามารถสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี โดยเฉพาะกรมการพัฒนาชุมชน มีตั้งแต่พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ และพัฒนากรตามอัตราครบทุกตำบลในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในโครงการ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน

 

ปัตตานี - "นิพนธ์" รุดลงปัตตานี นำความห่วงใยรัฐบาล เร่งช่วยเหลือ ปชช. ประสบอุทกภัยในพื้นที่ สั่งระดมทุกหน่วยผนึกกำลัง พร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด!!

วันนี้ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังผู้ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมืองปัตตานี และอ.แม่ลาน จ.ปัตตานี พร้อมมอบถุงยังชีพและสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น บรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประสบภัย บริเวณ 2 จุด จำนวนกว่า 500 ชุด โดยมีนายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้นำท้องที่ ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

ภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.ปัตตานี ได้รับผลกระทบจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงใกล้เกาะบอร์เนียว เคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่าง ทำให้พื้นที่จังหวัดปัตตานีมีฝนตกหนักสะสม ตั้งแต่ช่วงวันที่ 23 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา 

จนกระทั่งวานนี้ (วันที่ 27 ก.พ. 65) หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณช่องแคบมะละกา ก็ยังคงเคลื่อนตัวทางตะวันตกเข้าปกคลุมเกาะสุมาตราตอนบน ในขณะที่ลมตะวันออกกำลังแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง จนเกิดฝนตกหนักสะสมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 6 อำเภอ 27 ตำบล 81 หมู่บ้าน 3 ชุมชน1,730 ครัวเรือน 5,598 คน ในส่วนของอำเภอเมืองปัตตานี ได้รับผลกระทบ จำนวน 3 ตำบล 4 หมู่บ้าน 2 ชุมชน 162 ครัวเรือน 810 คน และอำเภอแม่ลาน ได้รับผลกระทบ จำนวน 3 ตำบล 10 หมู่บ้าน 219 ครัวเรือน 913 คน ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆ อาทิ ด้านการเกษตรมีพื้นที่เสียหาย จำนวน 3,167 ไร่ ด้านประมงและปศุสัตว์ มีความเสียหายเล็กน้อยนอกจากนี้ในส่วนของสิ่งสาธารณูปโภค ถนนได้รับความเสียหาย 5 สาย และมัสยิด 1 แห่ง ทั้งนี้ อปท. ในพื้นที่ ได้ให้ความช่วยเหลือโดยการแจกถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นแล้ว

นายนิพนธ์ กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศในปีนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เกิดฝนนอกฤดูกาลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมจำนวนมาก ตนมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้ติดตาม/ประเมินสถานการณ์ พร้อมแจ้งเตือน/สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไปสู่พี่น้องประชาชนผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ปัจจุบัน กรมอุตุมนิยมวิทยา กับ ปภ. ได้ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น การคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ของกรมอุตุนิยมวิทยามีความแม่นยำ ทำให้มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าและรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยเองก็ได้ติดตามและเน้นย้ำแนวทางในการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยและวาตภัย เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ บูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมีการสั่งเตรียมความพร้อมในพื้นที่มาโดยตลอดตั้งแต่ระดับจังหวัดลงไปจนถึง อปท. ซึ่งได้ประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีทั้งเรื่องของบุคลากร ลงไปจนถึงอุปกรณ์เครื่องจักรกลต่าง ๆ อาทิ เรือท้องแบน รถราต่าง ๆ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เบื้องต้น อปท. ในพื้นที่ กับ ปภ. ได้ดำเนินการตามแผนอพยพประชาชนไปยังที่ปลอดภัย และดูแลเรื่องอาหารการกินต่าง ๆ อย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นายนิพนธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับแนวโน้มคาดการณ์ว่า จ.ปัตตานี สถานการณ์ในวันนี้ได้คลี่คลายลงแล้ว จนเกือบจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนปริมาณน้ำฝนที่ยังคั่งค้างอยู่ตามแนวเทือกเขาต่างๆ นั้น ก็จะไหลลงแม่น้ำหลัก อยากจะฝากไปถึงพี่น้องประชาชนให้ติดตามสถานการณ์และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และฝากเตือนถึงเรื่องการสัญจรไปมา ให้ใช้ความระมัดระวังมากขึ้น งดลงเล่นน้ำ เพราะหากมีเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากเกิดขึ้นอีก อาจได้รับอันตรายจนถึงชีวิตได้ ซึ่งหลังจากนี้ หากสถานการณ์ทุกอย่างได้คลี่คลายลงแล้ว ตนก็สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้สำรวจ ตรวจตราความปลอดภัยของบ้านเรือน และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน เพื่อบรรเทาความวิตกกังวล พร้อมสั่งดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายอย่างเร่งด่วน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ตามระเบียบของทางทางราชการกันต่อไปราชการ และนอกจากนี้ ตนยังมีความห่วงใยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยังคงมีการระบาด และมีผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือประชาชนทุกคนให้ปฏิบัติตนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เราทุกคนผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

'นายกฯ' ชื่นชมวิสาหกิจสตรี 'บาราโหม' ปัตตานี ใช้ Soft Power สร้างรายได้-ชูเอกลักษณ์ท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันนโยบายส่งเสริมบทบาทสตรี ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มรายได้ครัวเรือน และพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างยั่งยืน ว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนหลายแห่ง เห็นได้ชัดเจนว่าผู้หญิงคือกำลังหลัก และมีศักยภาพเป็นผู้ประกอบการได้อย่างทัดเทียมผู้ชาย ภาครัฐจึงพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อต่อยอดดำเนินกิจการให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น

น.ส.รัชดา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนกลุ่มวิสหากิจชุมชนบาราโหม พลาซ่า ตำบลบาราโหม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ได้นำความห่วงใยของนายกรัฐมนตรี ไปบอกต่อประชาชนรับทราบ โดยกลุ่มสตรีฝากเสื้อเชิ้ตผ้าบาติกตัดเย็บสวยงาม ย้อมสีด้วยกาบมะพร้าวเพื่อมอบให้นายกรัฐมนตรี 

ทั้งนี้วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ เป็นหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยพลังผู้หญิงคนรุ่นใหม่ เป็นวิสาหกิจชุมชนที่ครบวงจร และใช้ศักยภาพพื้นที่อย่างเต็มที่ ครอบคลุมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่หลายร้อยปี สมัยเจ้าเมืองปัตตานีพระองค์แรกที่นับถือศาสนาอิสลาม และสถาปนาเมืองปัตตานีเป็น นครปาตานีดารุสลาม ศึกษาวิถีชาวพุทธ-มุสลิม ที่อยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ได้ท่องเที่ยวธรรมชาติ นั่งเรือชมป่าโกงกางและดูวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน มีร้านอาหารรสชาติท้องถิ่นดั้งเดิม สร้างรายได้ที่ดี จากที่เคยไปทำงานร้านต้มยำกุ้งฝั่งมาเลเซีย ไม่คิดจะกลับไปอีกแล้ว นอกจากนั้นยังมีร้านขายสินค้าผ้าบาติก ของที่ระลึกที่มีอัตลักษณ์บาราโหม ทั้งนี้รายได้จากการขายอาหารและสินค้าทุกชิ้น จะจัดสรรเพื่อการกุศลช่วยเหลือเด็กกำพร้าในพื้นที่

'ดร.ปิติ' หวั่น!! Patani Colonial Territory ล้างสมองเด็ก จี้!! ฝ่ายความมั่นคงควรสอบ 'มูลนิธิคณะก้าวหน้า'

ไม่นานมานี้ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า...

เห็นการประชาสัมพันธ์บอร์ดเกม Patani Colonial Territory ที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะก้าวหน้า แล้วค่อนข้างห่วงกังวล โดยเฉพาะประเด็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

อาทิ ภาพการ์ดในเกมที่นำมาประชาสัมพันธ์ยังมีการทำซ้ำในประเด็นอ่อนไหว เรื่อง 'เอ็นร้อยหวาย' ที่ปัจจุบันในวงวิชาการยอมรับว่าเป็น 'เรื่องเสริมแต่งเพิ่มในภายหลัง' ที่ไม่เป็นความจริง แต่เป็นเรื่องราวที่สร้างขึ้นเพื่อสร้างความเกลียดชัง 'รัฐสยาม'

แต่ในเกมยังเอาเรื่องราวสร้างความหวาดกลัวนี้มาใช้ในการประชาสัมพันธ์

ผมไม่เห็นด้วยในการใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ outdate มาสร้างความสุ่มเสี่ยงประเด็น Misinformation/Disinformation ในพื้นที่อ่อนไหวทางความมั่นคง ผ่านสื่อที่เข้าถึงเยาวชนที่อาจจะยังไม่รู้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

เรื่องนี้ ฝ่ายความมั่นคงควรนำมาพิจารณาครับ

สามารถอ่านข้อค้นพบทางประวัติศาสตร์ได้จากบทความนี้

https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rusamelae/article/download/127668/96233/

จากการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก Urban Creature พบข้อความระบุว่า...

Patani Colonial​ Territory บอร์ดเกมที่ชวนทุกคนตามรอยประวัติศาสตร์ที่หายไปของปาตานี

Patani (ปาตานี) คือพื้นที่ที่ครอบคลุมจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ผู้คนที่อาศัยส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูและมุสลิม อาณาจักรปาตานีเคยรุ่งเรืองเมื่อสี่ร้อยปีก่อนจะถูกสยามยึดครองในช่วงต้นของยุครัตนโกสินทร์ และแบ่งพื้นที่สืบต่อมาเป็นจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้เช่นปัจจุบัน

‘Patani Colonial​ Territory’ คือบอร์ดเกมที่เป็นผลผลิตจากกลุ่ม ‘Chachiluk​ (จะจีลุ)’ ร่วมกับสำนักพิมพ์ KOPI และได้รับทุนสนับสนุนโดย Common School มูลนิธิคณะก้าวหน้า โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งต่อประวัติศาสตร์ของอาณาจักรนี้ไม่ให้หายไป

กลุ่มจะจีลุเล่าถึงที่มาของชื่อกลุ่มว่ามาจากการละเล่นพื้นบ้านของเด็กๆ ในพื้นที่ปาตานี โดยเหตุผลที่ใช้ชื่อนี้เพราะอยากทำหน้าที่เป็นตัวแทนความสนุกสนาน และหวังเป็นสื่อในการเชื่อมต่อผู้คนให้ได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ รวมถึงนำเสนอเรื่องราวของปาตานีผ่านความสนุกในโลกของบอร์ดเกมที่จะชวนผู้เล่นมาประลองไหวพริบและกระตุ้นเตือนความทรงจำ ​ท้าทายให้ทุกคนได้ลองร้อยเรียงลำดับเหตุการณ์​การผนวก​รวมปาตานีเข้ากับสยาม โดยเกมนี้จะใช้จำนวนผู้เล่น 3 - 5 คน กับระยะเวลาเล่นราว 15 - 30 นาที

ในบอร์ดเกมหนึ่งชุดนั้นประกอบด้วย...

1) การ์ดเกม 52 ใบ โดยแบ่งออกไปเป็น 4 สี สีละ 13 ใบ
2) โทเคน 30 ชิ้น ประกอบด้วยโทเคนที่มีตัวเลข 1 - 5 สีละหนึ่งชุด และโทเคนไม่มีตัวเลข 5 สี บรรจุในถุงผ้า
3) ใบกำกับกติกาการเล่นแบบ 2 กติกา พร้อมกระดานนับคะแนนที่อยู่ในแผ่นเดียวกัน แบ่งเป็นแผ่นหน้าและหลัง

บอร์ดเกม Patani Colonial​ Territory ผลิตออกมาทั้งหมด 50 ชุด ซึ่งในช่วงเริ่มต้นนี้ทางทีมงานได้มีมติว่า จะแจกบอร์ดเกมทั้งหมดให้องค์กรต่างๆ กลุ่มนักศึกษา และกลุ่มอื่นๆ ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ กรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง 'มูลนิธิคณะก้าวหน้า'

โดยประกาศดังกล่าวมีใจความว่า ด้วยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิคณะก้าวหน้า ต่อนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการศึกษา วิจัย ด้านสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และอื่นๆ ส่งเสริมการแปลหนังสือภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย เผยแพร่ความรู้หรือผลงานการศึกษาวิจัยด้านสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และอื่นๆ ให้แพร่หลายแก่ประชาชน ส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ดำเนินกิจกรรมค่ายศึกษาอบรมเกี่ยวกับการเสริมสร้างค่านิยมประชาธิปไตย ส่งเสริมและให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่ยากไร้ ส่งเสริมและสนับสนุนการสังคมสงเคราะห์ที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้สูงอายุคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการกีฬาทุกประเภทส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความเป็นกลาง และไม่ให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สินแก่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top