Tuesday, 22 April 2025
ปลูกป่าชายเลน

‘ต๊ะ นารากร’ จี้!! หยุด CSR สร้างภาพ ต้นเหตุทำ ‘โลมา’ ตายที่บางขุนเทียน

‘ต๊ะ นารากร ติยายน’ ผู้ประกาศข่าวคนดัง โพสต์เฟซบุ๊กถึงผลเสียของการทำ CSR ปลูกป่าชายเลน ที่มาแค่สร้างภาพพีอาร์ ถ่ายรูปเสร็จ ก็กลับทิ้งแนวไผ่ที่ปักไว้ จนเป็นต้นเหตุให้โลมาตาย ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ที่ทนไม่ไหว ได้ส่งข้อมูลมาให้ ว่า...

หยุด CSR ปลูกป่าชายเลน ต้นเหตุทำโลมาตายที่บางขุนเทียน

การทำกิจกรรมปลูกป่าชายเลน จะมีการปักไม้ไผ่เป็นแนว บริษัทที่มาทำ CSR ปลูกป่า พอมาถึงก็จะถ่ายรูป พอได้รูปสำหรับการ PR เสร็จก็กลับ ทิ้งแนวไผ่ที่ปักไว้ บริษัทอื่นมาก็ทำแบบนี้ = ถ่ายรูปแล้วก็กลับ

พอระดับน้ำขึ้น (ตอนกลางคืน) ระดับน้ำสูงเลยแนวไผ่ โลมาก็จะว่ายเข้ามาหากินปลาดุก แต่พอรุ่งเช้า ระดับน้ำลด โลมาติดอยู่ในแนวไม้ไผ่ที่ปักไว้ ว่ายน้ำออกไปไม่ได้

ชาวบางขุนเทียนเสนอว่า ให้ ททท. ในพื้นที่ เข้ามาจัดระเบียบแนวไม้ไผ่ CSR ตามระดับน้ำขึ้นน้ำลง ให้โลมาว่ายหลบไปได้ หรือล้อมพื้นที่สำหรับการทำ CSR เพื่อป้องกันไม่ให้โลมาว่ายเข้ามาติดกับดักอีก

'อธิบดี ทช.' แจง!! ปลูกป่าชายเลน ไม่ใช่ต้นเหตุทำโลมาตาย ชี้!! เหตุเกยตื้น 'ไล่ล่าอาหาร-ซากถูกพัดไปหลังแนวไม้ไผ่'

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กล่าวชี้แจง กรณี ของคุณนารากร ติยายน ผู้ประกาศข่าว แสดงความกังวลผ่านทางสื่อโซเชียล Facebook ถึงผลเสียของการทำ CSR ปลูกป่าชายเลน ต้นเหตุทำโลมาตายที่บางขุนเทียน โดยระบุว่า การดำเนินการตามภารกิจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช) มีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้ง ป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อความมั่งคั่ง สมดุล และยั่งยืนของทะเลไทย และเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ พื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยความยาวกว่า 3,151.13 กิโลเมตร ยังคงประสบปัญหากัดเซาะชายฝั่งอีกกว่า 80 กิโลเมตร ใน 17 จังหวัด ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง กรม ทช. เลือกใช้มาตรการสีเขียวคือการเพิ่มพื้นที่ป่า ที่รู้จักกันในนามมาตรการขาว-เขียว-เทา ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งดำเนินการร่วมกับการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น เพื่อรักษาเสถียรภาพของชายฝั่งและลดความรุนแรงของคลื่นที่เข้าปะทะชายฝั่ง โดยในปี พ.ศ.2563 ทช.ร่วมกับ GISTDA แปลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง พบว่า มีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ 1.737 ล้านไร่ มีผลการวิจัยศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน รวมเฉลี่ย 15.79 ตันคาร์บอน/ไร่

สำหรับการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่นเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่หาดโคลน เป็นวิธีที่กรมเลือกใช้เป็นหลัก โดยมีพื้นฐานแนวคิดมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปักไม้ไผ่ทำโพงพางและทำคอกเลี้ยงหอยแมลงภู่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้ร่วมพัฒนาแนวคิดดังกล่าวกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำมาประยุกต์ร่วมกับหลักวิชาการ และศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และได้ถอดบทเรียนจากต่างชาติด้วย ซึ่งข้อดีของการใช้ไม้ไผ่ในการปักเพื่อชะลอความรุนแรงของคลื่นบริเวณหาดโคลน คือ เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ กระบวนการไม่ยุ่งยาก การรื้อถอนสามารถทำได้ง่าย ประยุกต์รูปแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้ ไม่กระทบต่อการเดินเรือและการทำประมงของชุมชน เป็นต้น แต่ก็ต้องยอมรับถึงอายุการใช้งานของโครงสร้างไม้ไผ่ ซึ่งโครงสร้างจะอยู่ได้อย่างน้อยประมาณ 5 ปี โดยการเสื่อมสภาพมักจะเกิดจากคลื่นลมรุนแรง คุณภาพน้ำ การเกาะและกัดแทะของสัตว์ทะเล

การปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น กรม ทช. ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันมีการปักไม้ไผ่ไปได้ระยะแล้วกว่า 104 กิโลเมตร ใน 46 พื้นที่ 13 จังหวัด สามารถเพิ่มพื้นที่หาดโคลนหลังแนวไม้ไผ่และปลูกป่าชายเลนได้กว่า 320 ไร่ สำหรับการดำเนินการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น สิ่งสำคัญที่เราให้ความสำคัญและเป็นนโยบายหลักของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่

ศรชล.ภาค 1 ร่วมจัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ ในหลวง ร.9

ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 1 (ศรชล.ภาค ) โดย ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จว.สมุทรสงคราม และศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือ จว.สมุทรสงคราม (ศรชล./ศคท.จว.สส.) โดย น.อ.อชิตะสิน กำมะณี รอง ผอ.ศรชล.จว.สส.ศรชล.ภาค 1 มอบหมายให้ ร.อ.ไพศาล อิสระฉันท์ จนท.วิเคราะห์นโยบายและแผน ศรชล.จว.สส. และ ร.ท.พรสวรรค์ พึ่งพร จนท.ยุทธการและการข่าว ศรชล.จว.สส. พร้อมด้วย ร.ท.สุชาติ เอี่ยมสะอาด  เจ้าหน้าที่ส่งกำลังบำรุง ศรชล.จว.สส. ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 กอ.รมน.สมุทรสงคราม มณฑลทหารบกที่ 16 ทสจ.สมุทรสงคราม ศูนย์ป่าไม้สมุทรสงคราม รร.วัดคลองโคน อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล จัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันพ่อแห่งชาติ วันชาติ และวันดินโลก วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2566

โดยมีนายเกรียง มหาศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางและชายฝั่งที่ 8 เป็นประธานในพิธี โดยปลูกป่าชายเลนภายในพื้นที่โครงการปลูกป่า เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ ป่าชายเลนและป้องกันไฟป่า จังหวัดสมุทรสงคราม บริเวณชายฝั่งทะเลตำบลคลองโคน อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสงคราม 

SET ส่งเสริมปลูกป่าชายเลน-ลดขยะทะเลชุมชนมอแกน สร้างแบบอย่าง สู่ วิถีองค์กรตระหนักลดคาร์บอนเครดิต

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รักษ์โลกสู่วีถียั่งยืน หนุนแนวคิด ESG (Environment, Social, และ Governance) ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยเน้นรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล แนวคิดนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากนักลงทุนทั่วโลก 

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญได้ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางด้านความยั่งยืน หรือ ESG ด้วยการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ พร้อมผู้บริหาร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ใน 3 ปีข้างหน้าเข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน เพื่อสร้างตลาดทุนที่มีคุณภาพ สู่การเติบโตที่ยั่งยืน รวมถึงยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน และเสริมศักยภาพการแข่งขัน 

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สร้างแพลตฟอร์ม SET Social Impact เพื่อเป็นแนวร่วมการแก้ไขปัญหาสังคม โดยสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมตื่นรู้ ผ่านการริเริ่ม สร้างความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยมุ่งหวังให้คนไทยเกิดการเรียนรู้ ร่วมรับรู้ ร่วมปรับพฤติกรรม และร่วมผลักดัน แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้

1.Care the Bear เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยระบบตรวจวัดการปล่อยก๊าซจากการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมการบริโภคคุ้มค่า ภายใต้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

2.Care the Whale เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการบริหารจัดการของเสีย และสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการทำงานเชิงพื้นที่ในถนนรัชดาภิเษก โดยร่วมกับอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และศูนย์การค้าบนถนน

3.Care the Wild เพื่อส่งเสริมการสร้างพื้นที่ป่า เพื่อสร้างสมดุลในระบบนิเวศ

ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ นำผู้บริหาร เจ้าหน้าที่องค์กร และสื่อมวลชน ร่วมมอบถุงยังชีพแก่ชาวชุมชนมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา และร่วมกันเก็บขยะทะเล ภายใต้โครงการ Care the Whale โดยมีอันดามันดิสคอฟเวอรี่ส์ ซึ่งเป็น SE ด้านพัฒนาชุมชน ในโครงการ SET Social Impact Gym ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้นำกิจกรรม

โดยการเก็บขยะทะเลที่หน้าหาดชุมชนมอแกน ในครั้งนี้ได้จำนวนกว่า 204 กิโลกรัม ตีเป็นมูลค่า 1,000 กว่าบาท ที่ถือว่าเป็นรายได้เสริมให้กับชาวชุมชนมอแกนและเป็นการช่วยลดปริมาณขยะทะเลที่เป็นพลาสติก เพราะถือว่า อันตรายที่สุดที่ทำให้ทะเลเกิดไมโครพลาสติกต่าง ๆ และสัตว์ทะเลต้องตายลงไป เพราะกินพวกพลาสติกที่อยู่ในท้องทะเล

โครงการนี้ถือว่าได้ผลดีมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ขยะทะเลค่อนข้างมาก กระทั่งช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดวิกฤตโควิด ชุมชนมอแกนไม่มีนักท่องเที่ยว ชุมชนมอแกนจึงได้รวมกลุ่มกันประมาณ 6 - 7 คน เพื่อจะเก็บขยะทะเล เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่หมู่บ้านมอแกน

อย่างไรก็ตาม จากความร่วมมือกันของหลายหน่วยงานทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทจดทะเบียน และอันดามันดิสคอฟเวอรี่ส์ ได้ร่วมกันให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ชุมชนมอแกนในการแยกขยะประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแยกฝา แยกขวด และแยกฉลาก เพื่อเพิ่มเสริมสร้างมูลค่าของขยะทะเลให้เป็นรายได้ที่มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน Care the Wild เพื่อส่งเสริมการสร้างพื้นที่ป่า เพื่อสร้างสมดุลในระบบนิเวศ เพื่อการทำซ้ำและขยายผลเชิงพื้นที่ต่อไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเช่นกัน จึงได้มีการเข้าร่วมปลูกป่าโกงกาง ที่ท่าดินแดง จังหวัดพังงา จำนวน 300 ต้น เนื่องจากป่าโกงกาง หรือป่าที่เกิดจากทะเลจะช่วย จะช่วยลดคาร์บอนเครดิต หรือ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมได้เป็นจำนวนมาก และสามารถผลิตก๊าซออกซิเจนได้สูงกว่าป่าทั่วไปที่เกิดขึ้นตามภูเขา อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนบ้านท่าดินแดงอีกด้วย

ทั้งนี้หากย้อนไปช่วงปี 2547 ที่เกิดเหตุการณ์สึนามิ ที่ซัดถล่มชายฝั่งอันดามัน ทำให้หลายหมู่บ้านได้รับความเสียหายในครั้งนั้นค่อนข้างมาก แต่หมู่บ้านท่าดินแดง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกป่าโกงกางค่อนข้างหนาแน่น ทำให้สามารถปกป้องหมู่บ้านไว้ได้ และหลังจากนั้นจึงได้มีการรณรงค์ปลูกป่าโกงกางโดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนและเข้ามาดูแล

และ Care the Bear ได้มีการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากเกิดขึ้นโดยการพยายามที่จะใช้รถโดยสารให้น้อยที่สุดหรือบรรจุคนในเรือให้เต็มลำ และคำนวณระยะทางของการใช้ยานพาหนะ โดยคำนวณเรือที่เดินทางไปหมู่เกาะสุรินทร์กี่กิโลเมตร รวมถึงวิเคราะห์ถึงอาหารที่รับประทานว่า เหลือทิ้งเท่าไร เป็นจำนวนกี่กิโลกรัม และขยะที่เกิดขึ้นบนหมู่เกาะสุรินทร์ เช่น กระดาษ ขวด กระเป๋า ก็จะเก็บนำมาคำนวณ ในการช่วยลดจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ได้

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังขับเคลื่อนวาระสำคัญของตลาดทุนไทยและประเทศสู่ความยั่งยืน มุ่งสู่ Net Zero ตามเป้าหมายในปี 2050 สอดคล้องมาตรฐาน SBTi และเข้าร่วมการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) โดยมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการด้าน ESG ภายในองค์กรอย่างเข้มข้น เช่น การต่อยอดโครงการ SET’s Journey Towards Net Zero เพื่อมุ่งสู่การเป็น Net Zero Organization การพัฒนาองค์กรให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (Culture transformation) พร้อมกับการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงและการกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพ (Risk management & Enhancing governance)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top