Sunday, 19 May 2024
ประเพณี

ทำความรู้จักกับ 'เทียน' ในหลากหลายความหมาย

5 ธันวาคม วันนี้คงเป็นอีกวันที่ ‘แสงเทียน’ จะสว่างไสว แต่รู้หรือไม่ ว่าแสงเรืองรองจากปลายเทียนที่เราจุดกันนี้ มีที่มาและความหมายอย่างไร ตามไปทำความรู้จักกันดีกว่า...

 

ที่มาของ ‘เทียน’

เทียน เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมากว่า 2,000 ปีก่อน ทำจากไขมันสัตว์ ไขมันพืช และขี้ผึ้ง โดยใช้แก่นของพืชมาเป็นไส้เทียนเพื่อให้ความส่องสว่าง ในยุโรป นิยมทำเทียนจากขี้ผึ้ง เพราะควันน้อย กลิ่นไม่เหม็น และมีความสะอาด แต่ราคาค่อนข้างแพง จึงนิยมใช้เทียนขี้ผึ้งนี้ในหมู่คนมีฐานะเสียมากกว่า ส่วนประเทศไทยเรานั้น ประเมินได้ว่า มีการใช้เทียนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เนื่องจากมีประเพณีการถวายเทียนเข้าพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีใหญ่มาตั้งแต่สมัยนั้น

 

ความหมายและสัญลักษณ์การจุดเทียน

ในทางพุทธศาสนา เรามักจุดเทียนไขคู่กัน 2 เล่มเสมอ โดยนัยยะเพื่อเป็นการบูชา ‘พระธรรม’ และ ‘พระวินัย’ ที่เป็นเสมือนดวงประทีปส่องสว่าง ทำให้คนมองเห็น ทำให้เกิดปัญญา มีความรู้ ความเข้าใจ แล้วรู้จักดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง

 

ในวัฒนธรรมของประเทศอื่น นอกจากจะให้แสงสว่าง เทียนยังเปรียบเสมือนการช่วยขับไล่ความมืด เป็นสัญลักษณ์ของการบูชา ความหวัง กำลังใจ ความรัก การระลึกถึง และการผ่อนคลาย

 

เทียนยังใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา อาทิ การจุดเทียนในโบสถ์คริสต์ รวมไปถึงการจุดเทียนในงานแต่งงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของบ่าวสาว ว่าแต่ละคนเกิดมามีชีวิตของตัวเอง (ถือเทียนคนละเล่ม) เมื่อมาแต่งงานกันก็มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ร่วมกันเป็นครอบครัว (นำเทียนของตัวเองไปจุดเทียนชีวิตคู่ ในพิธีจึงมีเทียนทั้งหมด 3 เล่ม) 

 

การจุดเทียนยังแสดงถึงความอาลัยเด็กๆ ที่เสียชีวิต โดยมีความเชื่อว่า แสงเทียนจะช่วยส่องทางให้แก่ดวงวิญญาณดวงน้อยที่จากไป ที่ผ่านมา มีองค์กรชื่อ The Compassionate Friends ในสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้ทุกๆ วันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนธันวาคมของทุกปี เป็น ‘วันจุดเทียนโลก’ (Worldwide Candle Lighting Day) เริ่มมาตั้งแต่ปี 1997 โดยผู้คนจะพร้อมใจกันออกมาจุดเทียนในเวลา 1 ทุ่มตรงตามเวลาท้องถิ่น เพื่อไว้อาลัยแก่เด็กๆ ที่เสียชีวิตจากการเจ็บป่วย และเหตุการณ์ต่างๆ ทั่วโลก

 

แม้โลกจะก้าวไปสู่ความทันสมัย แต่ ‘เทียน’ ก็ยังคงถูกนำมาใช้ในหลากหลายบริบท โดยเฉพาะการระลึกถึงบุคคลที่จากไป เป็นสัญลักษณ์ของความพร้อมใจกันระลึกถึงสิ่งดีงาม ดังเช่นเปลวแสงแห่งการส่องสว่างที่ได้จากเทียนนั่นเอง

 

อ้างอิง: https://mgronline.com/dhamma/detail/9590000065682

 

 

‘กัปตันเครื่องบิน’ เล่าประสบการณ์ ‘บั้งไฟ’ พุ่งเฉียดเครื่องบินสูง 8,000 ฟุต ยัน!! เข้าใจเรื่องประเพณี แต่ควรขอนุญาต-ไม่ควรผลิตให้พุ่งสูงขนาดนี้

(16 พ.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘บันทึกไม่ลับของคนขับเครื่องบิน’ ได้โพสต์เรื่องราวสุดช็อก เมื่อเจอบั้งไฟยิงผ่านเครื่องบินเกือบ 8,000 ฟุต โดยข้อความระบุว่า… 

"นอกจากทางทางเหนือมีโคมลอยแล้ว ทางภาคอีสานก็ยังมีบั้งไฟอีกที่เป็นอันตรายต่อการบินมาก

อันนี้ความเห็นส่วนตัวผมนะ เข้าใจว่ามันเป็นประเพณีที่ทำกันมายาวนาน แต่อยากให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมกับประเพณีนี้ขอให้มีจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยของส่วนรวมด้วย เพราะมันอันตรายกับอากาศยานมาก รวมถึงผู้โดยสารบนเครื่องบินครับ

ถ้าจะปล่อยบั้งไฟขอให้ขออนุญาตหน่วยงานด้านการบินก่อน และทำการปล่อยในจุดที่ขออนุญาต รวมถึงการเล่นการพนันขันต่อว่าบั้งไฟลูกไหนจะสูงกว่ากัน เลิกเถอะครับเพราะอันนี้มันไม่ใช่ประเพณีแล้ว ยิ่งมีคนเดิมพัน คนยิ่งผลิตก็ยิ่งพัฒนาให้บั้งไฟสูงขึ้นไปอีก

อย่างวันนี้ผมเทคออฟจากอุบล จากพิกัด radial 266 จากสนามบิน เจอบั้งไฟห่างจากเครื่องบินผมไม่ถึง 200 เมตร ขนาดผมอยู่ที่ความสูง 6,000 ฟุต บั้งไฟยังขึ้นไปสูงกว่าผมอีก (มองด้วยสายตาน่าจะความสูง 8,000 ฟุต) ซึ่งมันอันตรายมาก หายนะเกิดได้ง่าย ๆ เลยกับการกระทำแบบนี้ เพราะผมแจ้งหอว่าบริเวณนี้มีการปล่อยบั้งไฟ และหอไม่มีการรายงานการขออนุญาตในเขตพื้นที่แถว ๆ นี้ หลังจากนั้นเครื่องบิน ATR ของกองทัพอากาศก็รีพอร์ตบั้งไฟลูกอื่น ๆ ตามมา หอบังคับการบินต้องให้คำแนะนำทิศทาศนักบินบินหลบกันอุตลุด คิดดูมันอันตรายแค่ไหนครับ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top