Friday, 19 April 2024
ประหยัดพลังงาน

ท่ามกลางวิกฤติราคาพลังงานที่แผ่ขยายไปทั้่วโลก หลากหลายมาตรการถูกงัดมาใช้รับมืออย่างเต็มที่ ประเทศไหนทำอะไรบ้าง ไปดูกัน

จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทางสหภาพยุโรปได้ประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย ขณะที่รัสเซียได้ตอบโต้โดยการไม่ส่งก๊าซธรรรมชาติและน้ำมันไปให้ในหลายประเทศยุโรป ส่งผลให้เกิดวิกฤติพลังงานในยุโรปและส่งผลกระทบไปทั่วโลกในขณะนี้ 

แม้กระทั่งประเทศในภูมิภาคเอเชีย ต่างก็เผชิญกับความท้าทายจากวิกฤติการณ์พลังงานครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ในบางประเทศราคาพลังงานพุ่งสูงเป็นประวัติการ รวมถึงขาดแคลนพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันอย่างหนัก ยกตัวอย่าง เช่น ศรีลังกา เป็นต้น

แน่นอนว่า วิกฤติราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายๆ ประเทศ จึงมีมาตรการประหยัดพลังงานออกมาช่วยบรรเทาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ไทย – รณรงค์ประหยัดพลังงานผ่านแนวทาง 4ป. 3ช.

สำหรับประเทศไทยเอง มีมาตรการด้านการประหยัดพลังงานออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การกำหนดมาตรฐานเครื่องใช้ไฟฟ้า เบอร์ 5 

ล่าสุด ภายใต้แคมเปญ 'ทราบแล้วเปลี่ยน' เป็นการรณรงค์ให้ทุกคนประหยัดพลังงาน ผ่านภาพยนตร์โฆษณาที่สื่อสารออกมาตรงๆ เลยว่า “ไม่ต้องประหยัดพลังงานเพื่อใคร ให้ประหยัดพลังงานเพื่อตนเอง” 

โดยแนะนำเคล็ดลับประหยัดพลังงานที่เรียกว่า 4 ป. 3 ช. ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานที่ทุกคนสามารถทำตามได้ง่ายๆ แต่จะช่วยประหยัดพลังงานได้อย่างมหาศาล ดังนี้...

>> 4 ป. ได้แก่ ปิดไฟ ปรับแอร์ ปลดปลั๊ก เปลี่ยนเป็นเบอร์ 5 
>> และ 3 ช. ได้แก่ เช็กรถ ชัวร์เส้นทาง ใช้รถสาธารณะ

แคนาดา-จัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ไม่ประหยัดพลังงาน

รัฐบาลแคนาดา ได้จัดทำข้อตกลงระหว่างรัฐต่าง ๆ ให้ออกมาตรการประหยัดพลังงานของอาคาร และอุปกรณ์พลังงานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานของประเทศ 

ขณะที่ในภาคขนส่งได้ออกกฎหมาย (Green Lavy) เพื่อจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ไม่ประหยัดพลังงาน เช่น รถประเภท Station Wagons รถเอสยูวี เป็นต้น โดยการคำนวณภาษีจะขึ้นอยู่กับอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันของรถดังกล่าว

ฝรั่งเศส-ห้ามเปิดไฟป้ายโฆษณาช่วงตี 1 ถึง 6 โมงเช้า

เนื่องจากฝรั่งเศสพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียถึง 1 ใน 5 ดังนั้นเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศแผนพลังงาน energy sobriety โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการร่างแผนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้เกิดมาตรการประหยัดพลังงานในฝรั่งเศส โดยตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2019 ภายในปี 2024

นอกจากนี้ รัฐบาลยังออกมาตรการประหยัดพลังงานโดยให้ห้างร้านต่างๆ ร่วมมือกันปิดประตูเข้าออก ในขณะเปิดเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อน และห้ามเปิดใช้ป้ายโฆษณาที่ใช้ไฟส่องสว่างในทุกเมืองระหว่างช่วงเวลา 1.00 น. ถึง 6.00 น. ซึ่งเป็นมาตรการที่บังคับใช้กับเมืองที่มีประชากรน้อยกว่า 800,000 คน 

เยอรมนี-อาคารสาธารณะ ห้ามเปิดฮีตเตอร์เกิน 19 องศา

ภายหลังสหภาพยุโรปคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้เยอรมนีปรับลดการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียลงเหลือเพียง 35% จากเดิมที่พึ่งพาการนำเข้ามากถึง 55% พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าจะยุติการนำเข้าทั้งหมด แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อพลังงานภายในประเทศอย่างหนัก และรัฐบาลได้ออกมาตรการประหยัดพลังงานสำหรับช่วงฤดูหนาว โดยจะจำกัดการใช้ไฟฟ้าภายในอาคารสาธารณะและอาคารสำนักงานต่างๆ ให้ปิดเครื่องทำความร้อนในห้องที่ไม่คนใช้งาน 

และนับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป อาคารสาธารณะนอกเหนือจากโรงพยาบาล จะต้องจำกัดอุณหภูมิเครื่องทำความร้อนอยู่ที่ 19 องศาเซลเซียส

สเปน-แนะเอกชนเลิกผูกเนกไทไปทำงาน ช่วยประหยัดพลังงาน 

นายเปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีของประเทศสเปน เรียกร้องให้รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ของรัฐ และพนักงานบริษัทเอกชนเลิกผูกเนกไทไปทำงานเพื่อช่วยประหยัดพลังงาน รวมถึงการรณรงค์ให้บริษัทต่าง ๆ ปิดประตูเพื่อกันความร้อนจากอากาศด้านนอกเข้ามาภายในอาคาร ช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ

อินเดีย-สิ่งปลูกสร้างใหม่ ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
.
รัฐบาลอินเดีย ได้ออกมาตรการสำหรับการปลูกสร้างอาคารที่พักอาศัยใหม่ โดยจะกำหนดให้ อาคารที่พักอาศัยปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งคาดว่าจะประหยัดไฟฟฟ้าได้ราว 120,000 ล้านรูปี ภายในยปี 2573 เพื่อลดการผลิตไฟฟ้า 3 แสนล้านหน่วย

'รฟท.' เร่งจัดหา 'รถไฟ EV ต้นแบบ' เพิ่ม 50 คันในปี 66 ชู ระบบรางไร้มลพิษ ยกระดับการขนส่ง-คมนาคม

รถไฟ EV ต้นแบบของไทยดังไกลถึงอาเซียน 'ชาวเวียดนาม' แห่ชื่นชม รฟท.เดินหน้าทดสอบ เตรียมจัดหาอีก 50 คัน ภายในปี 66 ใช้ลากขบวนโดยสารเข้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ลดมลพิษ

(20 ก.พ. 66) นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่การรถไฟฯ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA จัดทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ปรากฏว่า นอกจากจะได้รับความสนใจ และเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชนคนไทยแล้ว รถจักรคันดังกล่าวยังโด่งดังไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม ที่มีการแชร์เรื่องราวของรถจักรพลังงานไฟฟ้าลงในกลุ่มเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศของเวียดนาม ซึ่งมีการแสดงความชื่นชมยินดีกับประเทศไทย และพูดคุยแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย

นอกจากนี้ ยังมีชาวเวียดนามบางคนมาช่วยเพิ่มเติมข้อมูล และตอบคำถามในบางประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยกัน เช่น ทำไมถึงต้องใช้รถไฟแบตเตอรี่ ซึ่งประเด็นนี้ นอกจากจะใช้แบตเตอรี่เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันแล้ว ยังสามารถนำไปต่อยอด โดยการยกระดับขนส่งโดยสารของเมือง และรองรับการใช้งานในระบบรถไฟฟ้ารางเบา Light Rail Transit (LRT) ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีหลายคนยังเห็นด้วยว่า ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะการจะเริ่มต้นจากศูนย์ ทำเพียงคนเดียวอาจเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งเมื่อพัฒนาขึ้นมาได้แล้ว เทคโนโลยีนี้ก็จะอยู่กับประเทศไทยตลอดไป

สำหรับรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ประเทศไทยสามารถประกอบ ติดตั้งระบบแบตเตอรี่สำหรับรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเองได้ เสร็จเมื่อปี 2565 เป็นแห่งแรกของโลก ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยลดมลพิษ และบรรเทาภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในระบบขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573

ปัจจุบัน รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ได้ดำเนินการทดสอบเดินรถในเส้นทางต่าง ๆ แล้ว รวมถึงการทดสอบลากจูงขบวนรถโดยสารขึ้นมาบนสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือว่าประสบความสำเร็จเรียบร้อยดี ซึ่งหลังจากนี้การรถไฟฯ จะพิจารณานำไปลากจูงรถโดยสาร และรถสินค้าในโอกาสต่อไป

โดยในระยะแรก จะนำรถจักรดังกล่าวมาใช้ลากเป็นรถสับเปลี่ยน (Shunting) ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดมลพิษในอาคารสถานีชั้นที่ 2 ซึ่งจากผลการทดสอบของการรถไฟฯ สามารถลากขบวนรถจากย่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปที่ชานชาลาสถานีที่ชั้น 2 ได้จำนวน 12 เที่ยว ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ระยะเวลาการชาร์จจนแบตเตอรี่เต็มประมาณ 1 ชั่วโมง

จากนั้น ในระยะต่อไปจะทดลองวิ่งในระยะทางใกล้ เช่น ขบวนรถโดยสารชานเมือง ระยะทางประมาณ 30-50 กิโลเมตร และระยะทางที่ไกลมากขึ้น เช่น ขบวนรถข้ามจังหวัด ระยะทางประมาณ 100-200 กิโลเมตร และขบวนรถขนส่งสินค้า จาก ICD ลาดกระบัง ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น เพื่อทดสอบจนเกิดความมั่นใจและปลอดภัย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top