Friday, 18 April 2025
ประมวลกฎหมายอาญา

‘สส.เท่าพิภพ’ เสนอแก้กฎหมาย เพื่อปลดล็อก ‘หนังโป๊-เซ็กซ์ทอย’ ชี้!! นำมาทำ ‘ให้ถูกต้อง-ได้มาตรฐาน’ จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ

เมื่อวานนี้ (21 ก.ค.67) นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพมหานคร เขต 22 พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.287 เพื่อปลดล็อกสื่อผู้ใหญ่ ของเล่นผู้ใหญ่ โดยระบุว่า ...

ปลดล็อกอุตสาหกรรมผู้ใหญ่ เปิดสภาถกเถียง ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.287 ปลดล็อกสื่อผู้ใหญ่ ของเล่นผู้ใหญ่ ยันมีการควบคุมอยู่ ย้ำไม่ได้เสรี 

‘ร่างดังกล่าวมีการแก้ไขเพียงมาตรา 287 มาตราเดียว’ ซึ่งปัจจุบันห้ามสื่อลามก และของเล่นผู้ใหญ่ แบบ Total Ban ซึ่งผมได้แก้ไขใหม่ดังนี้

1. สื่อชนิดต่าง ๆ ให้กระทำได้ แต่ห้ามให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี และต้องไม่มีเนื้อหารุนแรง เช่น ฉากข่มขืน ใช้กำลัง เป็นต้น

2. ปลดล็อกของเล่นผู้ใหญ่ เพื่อที่จะให้มาตรฐานทางอุตสาหกรรม (มอก.) และองค์การอาหารและยา (อย.) สามารถออกประกาศมาควบคุมมาตรฐานได้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ และลักลอบ

ผมทราบดีคนส่วนใหญ่ในลานทัวร์ในคอมเมนต์หรือรีพลายคงไม่ได้อ่านมาถึงตรงนี้ แต่ถึงอย่างไรผมก็พร้อมน้อมรับ คำวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของเนื้อหาทางกฎหมาย และมุมมองอื่น ๆ

ส่วนตัวผมไม่ได้เป็นคนที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากสิ่งที่ผมจะปลดล็อก แต่ผมเองในฐานะผู้แทนราษฎรผู้มีหน้าที่ผลักเพดาน ความคิด และขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า คิดว่าการนำเสนอประเด็นนี้เป็นการที่ทำให้สังคมไทยได้เรียนรู้ซึ่งกันแล้วกัน ร่วมกันหาทางออกประเทศด้วยการถกเถียงอย่างตรงไปตรงมา ไม่ดัดจริตผ่านกลไกประชาธิปไตย และกลไกสภา

เรื่องนี้ไม่ใช่เพราะอยากเห็นเหล่าเยาวชนเข้าถึงสื่อลามกง่ายขึ้น แต่อยากยกเรื่องนี้ขึ้นบนดิน เพื่อให้สิ่งนี้อยู่ในแสงสว่าง สามารถพูดถึงได้ วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบได้ตามครรลองเสียที เป็นทั้งประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ ทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่สามารถควบคุมเนื้อหาได้ ความปลอดภัยของประชาชน

อยากเชิญชวนให้ทุกคนติดตามการพิจารณากฎหมายนี้ที่จะเข้าสภาไม่เกินสัปดาห์ สองสัปดาห์นี้ ฝากแสดงความคิดเห็นถกเถียงกันได้เต็มที่ครับ

'อ.หริรักษ์' ชี้!! หากกฎหมายยุบพรรคการเมืองเป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย การแก้ไข 112 ตามมุม 44 สส. ก็เป็นการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อวานนี้ (9 ส.ค.67) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr โดยระบุว่า ในคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญตอบข้อโต้แย้งทั้งหมดของพรรคก้าวไกล และดูเหมือนศาลรัฐธรรมนูญจะให้ความสำคัญต่อกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกล 44 คนเข้าชื่อกันขอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ว่าเป็นเจตนาที่จะเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสำคัญ

ใครที่คิดว่าเป็นการดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติธรรมดา ต้องไปอ่านรายละเอียดเสียก่อนว่า เนื้อหาเป็นอย่างไร

ถ้าบอกว่ากฎหมายที่ให้มีการยุบพรรคการเมืองได้เป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย การแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของสส.44 คน ก็เป็นการยิ่งกว่าบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เสียอีก เพราะไปยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งผู้ที่หมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ มีโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล มาเป็นดังนี้

มาตรา 135/5 ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135/6 ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135/7 ผู้ใดติชม หรือแสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา 135/5 และมาตรา 135/6

มาตรา 135/8 ความผิดฐานในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ หากข้อที่กล่าวหาที่ว่าเป็นความผิดนั้น เป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

มาตรา 135/9 ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์...........

ข้อสรุปที่สำคัญคือ
1. โทษจำคุกสูงสุดของผู้ที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์คือ 1 ปี หรือจะเสียค่าปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล เป็นการลดโทษลงมาให้เหลือเท่ากับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา และจำคุก 6 เดือน หรือปรับสองแสนบาทสำหรับ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งต่ำกว่าโทษจำคุกบุคคลธรรมดา
2. หากติชมหรือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่มีความผิด
3. หากพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่หมิ่นประมาท เป็นความจริง ไม่ต้องรับโทษ
4. ยอมความได้ เพราะเอาออกจากหมวดความมั่นคง
5. ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และเป็นผู้เสียหายแทน

อย่างนี้จะไม่เรียกว่า ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ สถาบันพระมหากษัตริย์แล้วจะเรียกว่าอะไร โทษจำคุกเพียง 1 ปี หรือน้อยกว่า เสียค่าปรับเอาก็ได้ ยอมความก็ได้ หรือไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ ก็เป็นไปได้

ถ้าให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ สำนักพระราชวังต้องใช้เจ้าหน้าที่กี่คนจึงจะปฏิบัติงานนี้ให้ได้ผลได้ เพราะเหตุนี้ประธานรัฐสภาจึงไม่กล้าบรรจุเข้าวาระการประชุม และอย่าได้อ้างว่าเป็นการกระทำของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เป็นการกระทำของพรรค เพราะการอ้างแบบนี้เป็นการอ้างแบบศรีธนญชัย ซึ่งใครๆก็มองออก และแท้ที่จริงแล้วต้องการยกเลิกมาตรา 112 แต่เห็นว่าเป็นไปได้ยาก จึงจะแก้ไขให้มีผลใกล้เคียงกับการยกเลิกมากที่สุด

การดิ้นรนต่อสู้ด้วยการอ้าง 14 ล้านเสียงที่เลือกมา ต้องบอกด้วยว่าใน 14 ล้านเสียงที่เลือกมา มีกี่ล้านเสียงที่เลือกไม่ใช่เพราะต้องการให้ไปแก้หรือยกเลิกมาตรา 112 มีจำนวนมากที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพรรคก้าวไกลจะทำแบบนี้ แต่เลือกเพราะอยากให้โอกาสคนหนุ่มสาวบ้างโดยที่ไม่ได้รู้เลยว่าหนุ่มสาวพวกนี้จะไปทำอะไรต่อประเทศ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์บ้าง และมีกี่ล้านเสียงที่เลือกเพราะไม่ต้องการให้มีการเกณฑ์ทหาร เลือกเพราะต้องการค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท เลือกเพราะต้องการเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท สารพัดเหตุผล การที่ประชาชนเลือกพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเลือกให้แล้ว จะไปทำอะไรก็ได้ ทำผิดกฎหมายก็ได้

การดิ้นรน การประกาศโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ การประกาศยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อในรูปแบบเดิม หมายถึงการที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ในแบบที่พรรคก้าวไกลต้องการให้ได้ และการที่สถานทูตฝั่งตะวันตก 18 ประเทศ การแถลงการณ์ของสหรัฐอเมริกา องค์การสหประชาชาติ องค์กรเอกชนที่เป็นแนวร่วม ตลอดจนสำนักข่าวฝั่งตะวันตก ต่างออกมาประสานเสียงว่า การยุบพรรคก้าวไกลเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ยิ่งทำให้น่าเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกับประเทศเหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน และน่าจะมีวาระหรือ agenda บางอย่างต่อประเทศไทย การยุบพรรคก้าวไกลอาจเป็นการขัดขวางวาระหรือ agenda นั้น ไม่ให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการก็ได้

ขอให้ข้อมูลว่า นาย Ben Cardin วุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย แสดงความกังวลเรื่องการวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นวุฒิสมาชิกที่พยายามยื่นให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ใครก็ตามกล่าวหา หรือโจมตีประเทศอิสราเอล ซึ่งมีการบังคับใช้อยู่ใน 38 รัฐในสหรัฐอเมริกา ให้กำหนดโทษเป็นคดีอาญาโดยให้ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก แต่ยังไม่สำเร็จ

ต้องขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยด้วยความไม่หวั่นไหวต่อการกดดันของพรรคก้าวไกลและแนวร่วมที่มีชื่อเสียงหลายคน จากเหตุผลและข้อมูลข้างต้น การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญนับเป็นผลดีต่อประเทศชาติ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องห่วงว่าการยุบพรรคก้าวไกลจะทำให้คนที่สนับสนุนโกรธแค้นจนไประเบิดในคูหาเลือกตั้งครั้งต่อๆไปอย่างที่อดีตหัวหน้าพรรคประกาศ เพราะความจริงได้รับการเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่ายังมีคนที่ยังมองไม่เห็นอีกไม่น้อย แต่รับรองว่าไม่ใช่ตายสิบเกิดแสนอย่างที่คุยโม้กัน

สำหรับสส. 44 คนของพรรคก้าวไกลที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ขอให้โชคดี เพราะพวกคุณต้องการคำนี้มากกว่าใครๆในขณะนี้

‘ประชาชน’ หวั่นนำคำว่า ‘ประชาชน’ ไปแอบอ้าง ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ ร่วมเคลื่อนไหวในโซเชียลฯ แชร์ข้อความ ย้ำ!! จุดยืน ไม่ร่วมล้มล้างการปกครอง

(10 ส.ค.67) จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคก้าวไกล ทำให้สส.จำนวน 143 คนของพรรคก้าวไกล ย้ายสังกัดพรรคใหม่ ในชื่อพรรคว่า ‘พรรคประชาชน’ โดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ยืนยันยังคงยึดมั่นอุดมการณ์เดิมของพรรคก้าวไกล และจะเดินหน้าแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อไป

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในโซเชียลฯ โดยชาวเน็ตมีการแชร์ต่อข้อความที่ว่า ข้าพเจ้า ขอประกาศ ณ ที่นี่ว่า คำว่า ‘ประชาชน’ ของพรรคประชาชน ไม่ได้รวมถึงข้าพเจ้าและครอบครัว แต่อย่างใด

ทั้งนี้เพื่อป้องกันการถูกนำไปแอบอ้างในการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันหลักของชาติ อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในอนาคต

‘นิพิฏฐ์’ โพสต์ให้ความรู้ ม.112 ย้ำชัด!! กฎหมายนี้ แก้ไขได้ ในอดีตก็เคยทำมาแล้ว ตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

(11 ส.ค. 67) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ทนายความ และอดีต ส.ส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ...

มาตรา 112 กับระบบปกครอง และ สถาบันพระมหากษัตริย์ (ตอนที่ 1)

ผมพยายามเขียนให้อ่านง่าย โดยยึดหลักกฎหมายและหลักระบอบการปกครอง สถาบันพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับระบบการปกครองด้วยแต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดถึงระบบการปกครองกัน

ใครจะเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่ไม่ควรแสดงความเห็นในที่นี้ (เพราะความเห็นที่ปราศจากความรู้) อาจมีความผิดตามกฎหมายได้ ทางที่ดีอ่านอย่างเดียวจะดีกว่า

คำถามแรก: คือ มาตรา 112 แก้ไขได้หรือไม่

ตอบ: แก้ไขได้ เพราะตั้งแต่มีประมวลกฎหมายอาญา ตั้งแต่ปี 2500 มาตรา 112 ก็เคยแก้ไขมาแล้ว คือ แก้ไขตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519

คำถามที่สอง: การแก้ไขมาตรา 112 แก้ให้โทษหนักขึ้นได้หรือไม่ ตอบว่า ‘ได้’ / หรือ แก้ให้โทษน้อยลงได้หรือไม่ ตอบว่า ‘ได้’

มาตรา 112 แก้ได้ ทั้งแก้ให้โทษสูงขึ้นหรือน้อยลง แล้วแต่ดุลพินิจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่เราเลือกเข้าไป

คำถามต่อไป คือ เมื่อแก้ไขได้ ทำไมพรรคการเมืองที่ทำการแก้ไข จึงถูกยุบพรรคคำถามนี้ ไว้ตอบตอนต่อไปครับ/

'อ.อุ๋ย-ปชป.' เตือน!! นักการเมืองแก้ รธน. ปมจริยธรรม มีความผิดประมวลกฎหมายอาญา โทษจำคุกถึง 10 ปี

เมื่อวานนี้ (22 ก.ย. 67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญปมจริยธรรมนักการเมือง ว่า...

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 บัญญัติว่า ‘ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท’ ซึ่งมาตรา 4 แห่ง พรป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง พ.ศ. 2561 กำหนดให้ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็น สส. รัฐมนตรี หรือ สว. ถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ โดยเฉพาะ สส. มีหน้าที่ในการเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ใช้อำนาจนิติบัญญัติออกกฎหมายเพื่อบริหารและแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน ตามที่กำหนดไว้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น การที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางส่วน มีดำริที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดระดับมาตรฐานทางจริยธรรมลง ทำให้ตนเองและพวกพ้องถูกดำเนินคดีทางจริยธรรมได้ยากขึ้น จึงถือว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการแก้ไขกฎหมาย ทำการแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เป็นการกระทำอันเป็นผลประโยชน์ขัดกัน (Conflict of Interest) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี และปรับสูงสุดถึงสองแสนบาท 

นอกจากนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรม เพื่อลดมาตรฐานจริยธรรมลง ยังส่งผลให้ประชาชนสูญเสียโอกาสที่จะได้มีนักการเมืองที่มีจริยธรรมมาเป็นตัวแทนของตน ทำให้ประชาชนเสียหาย จึงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามมาตรา 157 อีกสถานหนึ่ง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี หรือปรับสูงสุดถึงสองแสนบาท 

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ยังกำหนดให้สมาชิกต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสูงสุด และห้ามกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม การที่นักการเมืองจะทำการแก้ไขกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องจึงถือว่าละเมิดจริยธรรมข้อนี้เช่นกัน 

ผมจึงอยากเตือนนักการเมืองทั้งหลาย ว่าคิดให้ดีว่าประชาชนเลือกท่านมาทำอะไรกันแน่ ด้วยความปรารถนาดี  

อัยการ เผย!! ‘ทนายตั้ม’ โดน ‘ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ’ ชี้!! ข้อหานี้ หาดูได้ยาก เพราะอยู่ในกฎหมายฟอกเงิน

(10 พ.ย. 67) ความคืบหน้ากรณีที่มีการยื่นคำร้องฝากขัง นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ในข้อหาฉ้อโกง, ฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (18), มาตรา 5, มาตรา 9 วรรคสอง และมาตรา 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

โดยมีรายงานว่า ในคำร้องฝากขังทนายตั้มได้มีการบรรยายว่า การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 (ทนายตั้ม) เป็นความผิดฐานฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 อยู่ด้วยนั้น

สำหรับ ‘ความผิดฐานฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ’ นั้นแหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นทางกฎหมายว่า คดีของทนายตั้มถือเป็นคดีแรกเท่าที่ตนเคยพบ ซึ่งไม่ค่อยพบว่าที่ผ่านมามีคนเคยถูกแจ้งข้อหาดังกล่าว การดำเนินคดีอาญาข้อหาฉ้อโกงเป็นปกติธุระ ถือว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการนำกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมาผสมผสานกัน กล่าวคือ ข้อหาฉ้อโกงเป็นความผิดที่อยู่ในกฎหมายอาญา โดยมีแต่เฉพาะการฉ้อโกงบุคคลทั่วไป มาตรา 341 กับการฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 343

โดยคำว่า ‘การฉ้อโกงเป็นปกติธุระ’ จะอยู่ในกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งเป็นมาตรการในการดำเนินคดีกับผู้โอน รับโอน ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด และการยึดอายัดทรัพย์สิน

ทั้งนี้ คำว่า ‘เป็นปกติธุระ’ อาจมีความหมายความว่า เป็นบุคคลผู้มีหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการมรดกหรือผู้จัดการทรัพย์สิน แล้วกระทำการฉ้อโกง โดยหลอกลวง แล้วเอาไปซึ่งทรัพย์สินของบุคคลอื่น ไปจำนวนหลายครั้งหลายครา ‘เป็นอาจิณ’

กรณีที่เกิดขึ้นเป็นข่าวทางสื่อมวลชนในประเด็นที่ทนายความ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลซึ่งลูกความให้ความไว้วางใจมอบหมายให้ทำหน้าที่ในทางกฎหมายเกี่ยวกับคดีความของตน แต่ทนายความดังกล่าวกลับกระทำการผิดหน้าที่ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของลูกความไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำการดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมาย และเป็นการกระทำที่ผิดมรรยาททนายอีกด้วย

การดำเนินคดีกับทนายความในข้อหาดังกล่าวจึงถือว่าเป็นก้าวย่างสำคัญ เป็นปรากฏการณ์ทางกฎหมาย ด้วย ในอันที่จะตัดวงจรอาชญากรรม และบังคับใช้กฎหมาย เพื่อคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมกับสุจริตชนด้วย

หลังจากนี้ก็จะต้องมีการยึดอายัดทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติการฟอกเงินต่อไปอีก

เปิดคำพิพากษา จำคุก 2 ปี ‘ดร.พิรงรอง’ อดีตกรรมการ กสทช. ผิด!! ‘อาญา 157’ ฐานรายงานประชุมเท็จ ทำเอกชนเสียหาย

(9 ก.พ. 68) เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง’ ได้มีคำพิพากษาในคดีสำคัญ ซึ่งถือเป็นกรณีตัวอย่างในการยกระดับมาตรฐานของคณะกรรมการกำกับดูแล หรือ Regulator ของประเทศไทย ในการใช้อำนาจทางกฎหมายอย่างระมัดระวัง โดยจะต้องดำเนินการตามหลักความโปร่งใส ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตใจ หลีกเลี่ยงผลประโยชน์ที่ทับซ้อน 

โดย ‘ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง’ ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่ ‘บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด’ เป็นโจทก์ ฟ้อง!! ‘นางสาวพิรงรอง รามสูต’ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 

การกระทำของ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อดีตกรรมการ กสทช. ในการออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่า โจทก์เป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่าง ๆ ที่บริษัทส่งไปออกอากาศ ส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย 

โดยศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่สั่งการให้ส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 127 ราย เพื่อชะลอหรือขยายระยะเวลาเข้าทำนิติกรรมกับโจทก์นั้น เป็นการกระทำโดยมิชอบ ไม่ผ่านมติที่ประชุม  และมีการแก้ไขรายงานการประชุมเพื่อปกปิดความจริง  รวมถึงการใช้ถ้อยคำที่สื่อความหมายถึงการต้องการให้ธุรกิจของโจทก์ได้รับความเสียหาย เช่น  ‘ต้องเตรียมตัวจะล้มยักษ์’ ซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่า คำว่า ‘ยักษ์’ นั้นหมายความถึงโจทก์ ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการสื่อความหมายชัดเจนว่า ประสงค์ให้กิจการของโจทก์ได้รับความเสียหาย ศาลจึงเห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์

ประเด็นสำคัญที่ศาลได้ยกขึ้นพิจารณาก็คือ ‘กสทช.’ ไม่เคยกำหนดให้ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันประเภท ‘โอทีที’ ต้องขอใบอนุญาต  และการกระทำของจำเลยถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด  ส่งผลให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จากการที่ผู้ประกอบการหลายรายชะลอการทำนิติกรรมกับโจทก์

คำตัดสินของศาล

พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ โดยมีเจตนามุ่งประสงค์กลั่นแกล้งโจทก์ และใช้อำนาจหน้าที่ของตนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย 

เพราะภายหลังจากมีหนังสือดังกล่าวแจ้งไปยังผู้ประกอบการรวม 127 รายแล้ว มีผู้ประกอบกิจการหลายรายได้ชะลอหรือขยายระยะเวลา ในการเข้าทำนิติกรรมกับโจทก์ 

เมื่อศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของ ‘จำเลย’ ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของ ‘โจทก์’ ได้  

ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต อดีตกรรมการ กสทช. ได้กระทำความผิดจริงตามที่โจทก์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด (ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน True ID) ได้ยื่นฟ้อง 

จึงได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก จำเลย ‘นางสาวพิรงรอง’ เป็นเวลา 2 ปี ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 

นอกจากนี้ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 120,000 บาท และมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

คดีนี้ถือเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ ในการใช้อำนาจของทางภาครัฐ ผิดก็ว่ากันไปตามผิด ถูกก็ว่ากันไปตามถูก พิจารณากันอย่างเป็นธรรม    

ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย!! 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top