Saturday, 5 April 2025
ประธานาธิบดีเกาหลีใต้

‘ยุน ซุกยอล’ คว้าชัยเลือกตั้ง ขึ้นแท่นว่าที่ผู้นำ ‘เกาหลีใต้’ คนใหม่

ยุน ซุกยอล (Yoon Suk-yeol) ผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านสายอนุรักษนิยม คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ด้วยคะแนนเฉียดฉิวไม่ถึง 1% ขึ้นแท่นว่าที่ผู้นำประเทศคนใหม่ในปรากฏการณ์ที่ถูกเรียกว่าเป็น “แผ่นดินไหวการเมือง” สำหรับเกาหลีใต้ ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจนโยบายเศรษฐกิจและข่าวคราวอื้อฉาวต่างๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ชัยชนะของ ยุน นับเป็นจุดพลิกผันครั้งใหญ่สำหรับพรรคพลังประชาชนเกาหลีใต้ (People Power Party) ซึ่งอยู่ในสภาพซวนเซมาโดยตลอด หลังจากที่อดีตประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย ถูกรัฐสภาขับพ้นตำแหน่งเมื่อปี 2017

ยุน ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเข้ามาปราบการทุจริตรับสินบน ส่งเสริมความยุติธรรม และสนับสนุนการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างเปิดกว้าง ขณะเดียวกันก็ประกาศจะ “รีเซต” ความสัมพันธ์กับจีน และแสดงจุดยืนแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือ

ยุน ยังต้องเตรียมมาตรการรับมือวิกฤตที่ท้าทายหลายอย่าง ทั้งปัญหาช่องว่างระหว่างคนต่างเพศและต่างช่วงวัย, ความไม่เท่าเทียมทางสังคม รวมไปถึงราคาที่พักอาศัยที่พุ่งสูงขึ้น

ศึกเลือกตั้งคราวนี้นับว่าเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดและสูสีที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ยุคใหม่ โดย ยุน นั้นเฉือนเอาชนะ อี แจ-มยอง (Lee Jae-myung) จากพรรครัฐบาลเดโมเครติกปาร์ตีไปด้วยคะแนน 48.6% ต่อ 47.8% จากผลการนับคะแนนที่ผ่านไปแล้ว 99.8% เมื่อเวลา 5.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นวันนี้ (10 มี.ค.)

อี ได้ออกมาประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ และแสดงความยินดีกับคู่แข่งของเขาแล้ว

“ผมทำดีที่สุดแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้อย่างที่ทุกคนคาดหวัง” อี ระบุในงานแถลงข่าว พร้อมโทษว่าเป็นเพราะตนเอง “ยังมีข้อบกพร่องอยู่”

ความพ่ายแพ้ของ อี แจ-มยอง ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่านโยบายต่างๆ ที่เป็น “มรดก” ของประธานาธิบดี มุน แจอิน จะได้รับการสานต่อหรือไม่ โดยเฉพาะการเจรจากับเกาหลีเหนือ ซึ่งแทบจะหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2019

ผู้นำเกาหลีใต้คนใหม่จะต้องเตรียมรับมือวิกฤตความสัมพันธ์กับเปียงยาง ซึ่งกระแสข่าวระบุว่ามีแผนจะส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่อวกาศ และคาดว่าผู้นำโสมแดงอาจจะสั่งฟื้นการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) หรืออาวุธนิวเคลียร์ภายในปีนี้ หลังจากที่ระงับไปตั้งแต่ปี 2017

ยุน ประกาศจะสานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับสหรัฐฯ ท่ามกลางภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ และการแข่งขันกับจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของเกาหลีใต้

ด้านทำเนียบขาวได้มีถ้อยแถลงแสดงความยินดีต่อ ยุน พร้อมระบุว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดน รอคอยที่จะได้ร่วมงานกับเขาเพื่อสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม

ดูยอน คิม ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เพื่อความมั่นคงอเมริกันใหม่ (Center for a New American Security) ในกรุงโซล ชี้ว่า การก้าวสู่อำนาจของ ยุน “ทำให้คาดหวังได้ว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้จะราบรื่นและเข้าขากันมากยิ่งขึ้น ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือ จีน ภูมิภาค รวมถึงกิจการระดับโลก”

สำหรับศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้คราวนี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ราว 77% จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 44 ล้านคน แม้สถานการณ์โควิด-19 ในเกาหลีใต้จะยังคงหนักหนาสาหัส โดยมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่สูงถึง 342,446 รายเมื่อวันพุธ (9 ก.พ.) ก็ตาม

ยุน รับปากว่าจะทำงานร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน เพื่อเยียวยาการเมืองที่แตกแยกและสร้างความเป็นปึกแผ่นในชาติ

“การแข่งขันได้จบลงแล้ว” ยุน กล่าว พร้อมทั้งฝากถ้อยคำขอบคุณไปยัง อี และผู้สมัครคู่แข่งรายอื่นๆ “เราทุกคนต้องจับมือกัน ร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อประชาชนและประเทศชาติของเรา”

ว่าที่ผู้นำเกาหลีใต้คนใหม่ยังบอกกับบรรดาผู้สนับสนุนว่า การสร้างความสามัคคีภายในชาติคือสิ่งที่รัฐบาลของเขาจะให้ความสำคัญเป็นที่หนึ่ง และประชาชนทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โดยไม่แบ่งแยกภูมิภาค ขั้วการเมือง หรือสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

ที่มา: รอยเตอร์
https://mgronline.com/around/detail/9650000023651

สรุปเหตุการณ์ 'ยุนซอกยอล' ชิงประกาศกฎอัยการศึก แต่สภาปัดตกโหวตคว่ำ จบ 3 ชั่วโมงแห่งวิกฤตการเมืองโสมใต้

(4 ธ.ค. 67) เปิดไทม์ไลน์ประธานาธิบดียุนซอกยอลประกาศกฎอัยการศึก โกลาหลทั้งเกาหลีใต้ สุดท้ายสภาโหวตเอกฉันท์เป็นโมฆะ จับตาอนาคตผู้นำเกาหลีถูกถอดถอน 

ช่วงคืนวันที่ 3 ธ.ค.67 เกาหลีใต้เผชิญความสั่นคลอนทางการเมืองที่ตึงเครียดที่สุดในรอบหลายสิบปี เมื่อประธานาธิบดียุนซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉิน โดยอ้างว่ามี "กองกำลังต่อต้านรัฐที่ได้รับการสนับสนุนโดยเกาหลีเหนือ" ที่วางแผนก่อกบฏ เหตุการณ์นี้สร้างความตึงเครียดอย่างหนักทั่วประเทศ ก่อนที่สมาชิกรัฐสภาจะลงมติยกเลิกกฎอัยการศึกภายในเวลาเพียง 157 นาที

เวลา 22:23 น. ประธานาธิบดียุนแถลงผ่านโทรทัศน์ถึงการประกาศกฎอัยการศึกฉบับที่ 1 โดยให้เหตุผลอ้างว่าจำเป็นเพื่อปกป้องประชาธิปไตยและความปลอดภัยของประชาชนจากการโค่นล้มระบบรัฐบาล ข้อบังคับกฎอัยการจะสั่งระงับกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภท ควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด และกำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์กลับมาปฏิบัติหน้าที่  

คำสั่งนี้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยฝ่ายค้านนำโดยนายอี แจ-มยอง ประกาศประชุมฉุกเฉินเพื่อเพิกถอนคำสั่ง ขณะที่นายฮัน ดง-ฮุน หัวหน้าพรรคฝ่ายรัฐบาลเองก็ออกมาต่อต้านคำสั่งดังกล่าวด้วยเช่นกัน

เวลา 23:00 น. หลังกฎอัยการศึกเริ่มมีผลบังคับใช้ กองกำลังติดอาวุธเข้าควบคุมอาคารรัฐสภา สร้างความตึงเครียดสูงสุด สมาชิกรัฐสภาจำนวนมากพยายามฝ่าด่านเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าสู่อาคาร ท่ามกลางประชาชนชาวเกาหลีใต้กลุ่มใหญ่ออกมาชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อปิดกั้นทหารและพยายามเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าไปภายใน

เวลา 24:00 น. การประชุมรัฐสภาเริ่มต้นขึ้นอย่างทุลักทุเล เมื่อสมาชิกเกิน 150 คน เข้าร่วมครบองค์ประชุม ท่ามกลางแรงกดดันจากกองกำลังทหารที่พยายามปิดกั้นการประชุม  

เวลา 01:01 น. ญัตติการยกเลิกกฎอัยการศึกถูกเสนอ ทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างลงเสียงเป็นเอกฉันท์ ในเวลา 01:04 น. กองกำลังติดอาวุธจึงเริ่มถอนตัวออกจากอาคารรัฐสภา แม้ว่ากองทัพจะยืนยันว่ากฎอัยการศึกยังมีผลอยู่ ขณะที่ประชาชนยังคงชุมนุมอยู่บริเวณด้านนอก เช่นเดียวกับสมาชิกรัฐสภาที่เข้าประชุมอยู่ภายในตลอดทั้งคืน จนกระทั่งเวลา 04:26 น. ประธานาธิบดียุนแถลงผ่านโทรทัศน์ ยอมรับมติรัฐสภาและสัญญาจะประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเลิกอย่างเป็นทางการ  

ต้นสายปลายเหตุของวิกฤตการเมืองครั้งนี้ต้องย้อนไปเมื่อ 11 เมษายน 67 ผลการเลือกตั้งในเกาหลีใต้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับรัฐบาลของ ประธานาธิบดียุน ซอคยอล โดยพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปไตย (DP) และพรรคพันธมิตร สามารถคว้าชัยชนะได้ 175 ที่นั่งในสภา เพิ่มขึ้นจากเดิม 169 ที่นั่ง ในขณะที่พรรครัฐบาล พรรคพลังประชาชน (PPP) และพันธมิตร ได้เพียง 108 ที่นั่ง ลดลงจากเดิม 131 ที่นั่ง จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 300 ที่นั่ง

ความไม่พอใจของประชาชน ต่อการบริหารงานของรัฐบาลยุนสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่งผลให้รัฐบาลกลายเป็น "รัฐบาลเสียงข้างน้อย" หรือที่หลายคนเรียกว่า "ยุนเป็ดง่อย" เพราะขาดเสียงสนับสนุนในสภา ในขณะที่รัฐบาลยุนเพิ่งครองอำนาจมาได้เพียง 1 ปีเศษ กว่าจะหมดว่าระในปี 2570 ทำให้รัฐบาลยุนแทบไม่สามารถขยับตัวทำอะไรได้มากนัก

เมื่อพรรคประชาธิปไตย (DP) และพรรคพันธมิตรสามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ ส่งผลให้เกิดการคว่ำร่างงบประมาณประจำปี ซึ่งตามธรรมเนียมการเมืองของโสมขาว อาจนำไปสู่การยุบสภาหรือการลาออกของประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดียุนกลับเลือกใช้วิธีการที่สร้างความตกตะลึง โดยประกาศกฎอัยการศึกและกล่าวหาว่าฝ่ายค้านมีความเชื่อมโยงกับเกาหลีเหนือ

ไม่เพียงแค่นั้น รัฐบาลของยุนยังต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากการบริหารประเทศที่ไร้เสถียรภาพและปัญหาด้านภาพลักษณ์ โดยเฉพาะกรณี ภรรยาของประธานาธิบดี ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการปั่นหุ้นและการรับของขวัญเกินมูลค่าที่กฎหมายกำหนด

เหตุการณ์ในคืนวันที่ 3 ธ.ค. ครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายวิจารณ์การบริหารงานของประธานาธิบดียุนว่าอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพ ตั้งแต่เขาเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากการบริหารประเทศไม่เป็นไปตามคาด และการสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาหลังพรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่ายุนใช้กฎอัยการศึกเพื่อแก้ปัญหาการเมืองที่ตึงเครียดจากการถูกคัดค้านในรัฐสภา แต่กลับสร้างแรงต้านมหาศาลทั้งในประเทศและจากนักการเมืองพรรคของเขาเอง  

คาดหมายกันว่าภายในไม่เกิน 2 วันข้างหน้าประธานาธิบดียุนอาจถูกรัฐสภายืนถอดถอนออกจากตำแหน่งก็เป็นได้ เกมการเมืองเกาหลีมีท่าว่าจะได้เปลี่ยนตัวประธานาธิบดีใหม่ในเร็วๆนี้ 

รู้จัก 'กลุ่มชุงอัม' พรรคพวก 'ยุนซอกยอล' เพื่อนร่วมรุ่นมัธยม กุมอำนาจฝ่ายความมั่นคงเกาหลีใต้

(4 ธ.ค.67) การเมืองเกาหลีใต้ร้อนระอุ หลังประธานาธิบดียุนซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึกช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยกล่าวหาว่าพรรคฝ่ายค้านที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา มีพฤติการณ์ต่อต้านรัฐโดยได้รับการสนับสนุนจากเกาหลีเหนือ ส่งผลให้สมาชิกรัฐสภาเรียกประชุมฉุกเฉิน ทั้งสส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ลงมติเอกฉันท์โหวตคว่ำกฎอัยการศึก ส่งผลให้ต่อมาประธานาธิบดียุนซอกยอล ยอมยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกในที่สุด 

ในรายงานข่าวของสื่อเกาหลีใต้ระบุถึงแหล่งข่าวว่า การประกาศกฎอัยการศึกของยุนซอกยอลได้รับการวางแผนและการสนับสนุนจาก 'กลุ่มชุงอัม' (Chungam faction) ซึ่งเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมชุงอัมในกรุงโซล ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกันกับที่ยุนซอกยอลเรียนจบ

สมาชิกกลุ่มชุงอัม ถูกระบุว่าเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของยุนซอกยอล โดยศิษย์เก่าโรงเรียนชุงอัมหลายคน ปัจจุบันมีบทบาทใกล้ชิดประธานาธิบดียุนซอกยอล ทั้งสิ้น หลายคนดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลยุน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรอง หรือหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย

คีย์แมนคนสำคัญในเหตุการณ์คืนวันที่ 3 ธ.ค. คือ คิมยองฮยอน รัฐมนตรีกลาโหม ผู้เป็นอดีตรุ่นพี่ของประธานาธิบดียุนซอกยอนในโรงเรียนมัธยมชุงอัม ได้หลีกเลี่ยงที่จะรับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ แต่กลับรับคำสั่งโดยตรงจากประธานาธิบดี โดยคิมยองฮยอน ได้สั่งให้กองพลรบพิเศษทางอากาศที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยรบพิเศษ ที่ได้ฉายาว่า 'หน่วยอีเกิล' ภายใต้กองบัญชาการสงครามพิเศษของกองทัพบกเกาหลีบุกเข้าอาคารรัฐสภา

บุคคลสำคัญอีกรายคือ พลเอกปาร์กอันซู อดีตรุ่นน้องจากโรงเรียนมัธยมชุงอัน ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม ปี 66 ยุนซอกยอล ได้แต่งตั้งเขาให้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพบกเกาหลีใต้ ทั้งรับหน้าที่เป็นนายทหารผู้บังคับบัญชากฎอัยการศึกด้วย อย่างไรก็ตามมีรายงานอีกฝ่ายระบุว่า พลเอกปาร์กอันซู ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มชุงอันตามข่าว โดยว่าเขาจบจากโรงเรียนมัธยม Deokwon ในเมืองแดกู และเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยเกาหลีใต้รุ่นที่ 46 

นอกจากบรรดาสายทหารแล้ว ยุนซอกยอน ยังได้แต่ตั้งนาย อีซังมิน รุ่นน้องจากโรงเรียนมัธยิมชุงอัม อีกทั้งยังเป็นอดีตผู้พิพากษาให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในและความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลกองกำลังตำรวจโดยตรง ในคืนกฎอัยการศึกมีรายงานว่า นายอีซังมิน ได้สั่งการโดยตรงต่อตำรวจนครบาลกรุงโซลให้เขาควบคุมพื้นที่อาคารรัฐสภา โดยหลีกเลี่ยงที่จะสั่งการผ่านหน่วยงานตำรวจแห่งชาติเกาหลี

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านเคยออกมาเตือนเรื่องความเป็นไปได้ในการประกาศกฎอัยการศึกโดยกลุ่มชุงอัม แต่ทางสำนักประธานาธิบดีออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ในเกาหลีใต้ยังไม่มีความชัดเจน แต่นักวิเคราะห์การเมืองต่างเห็นพ้องกันว่าการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้สะท้อนถึงความตึงเครียดภายในรัฐบาลที่แตกขั้วอย่างชัดเจนเพราะในคณะรัฐมนตรีเกาหลีบางราย ไม่ทราบถึงการเตรียมประกาศกฎอัยการศึกมาก่อน จึงมองได้ว่าความวุ่นวายเมื่อคืนวันที่ 3 ธ.ค. เป็นความพยายามรักษาอำนาจของ 'กลุ่มชุงอัม' ของประธานาธิบดียุนซอกยอลอย่างชัดเจน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top